xs
xsm
sm
md
lg

ครม.สั่งเตรียมรับมือ หลังรับรายงานสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง-อุทกภัยภาคใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รองโฆษกรัฐบาล แถลง ครม.รับรายงานรายงานสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งปี 2562/63 และพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ปี 2562 สั่งหน่วยเกี่ยวข้องเร่งหามาตราการรับมือป้องกัน

วันนี้ (29 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เผย ครม.รับทราบรายงานสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งปี 2562/63 และพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ปี 2562 พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามมาตรการรองรับโดยด่วนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น มีรายละเอียดดังนี้

พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งปี 2562/63 ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 มีดังนี้

1. พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค
1.1 พื้นที่ในเขตการประปาส่วนภูมิภาค ต้องเฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ จำนวน 22 จังหวัด 56 อำเภอ (รวม 42 สาขา) ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้ใช้น้ำ 7.17 แสนราย ได้แก่

- ภาคเหนือ จำนวน 7 จังหวัด 19 อำเภอ (12 สาขา) คือ เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา เชียงราย นครสวรรค์ พิจิตร และเพชรบูรณ์

- ภาคตะวันออกฉัยงเหนือ จำนวน 10 จังหวัด 32 อำเภอ (25 สาขา) คือ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย สกลนคร และบุรีรัมย์

- ภาคตะวันออก จำนวน 1 จังหวัด 1 อำเภอ (1 สาขา) คือ ชลบุรี

- ภาคใต้ จำนวน 4 จังหวัด 4 อำเภอ (4 สาขา) คือ พังงา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี

1.2 นอกเขตพื้นที่การประปาส่วนภูมิภาค ได้รับผลกระทบ จำนวน 38 จังหวัด ได้แก่ (1) ภาคเหนือ 16 จังหวัด (2) ภาคกลาง 10 จังหวัด (3) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด (4) ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และ (5) ภาคตะวันตก 2 จังหวัด

2. พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร
2.1 พื้นที่ในเขตชลประทาน
- มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร จำนวน 5 แห่ง ใน 8 จังหวัด ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกระเสียว (สุพรรณบุรี) ทับเสลา (อุทัยธานี) อุบลรัตน์ (ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์) ลำนางรอง (บุรีรัมย์) และจุฬาภรณ์ (ขอนแก่น ชัยภูมิ)

- มีปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อการเกษตรต่อเนื่อง (พืชไร่ พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น) จำนวน 9 แห่ง ใน 28 จังหวัด ได้แก่ 4 เขื่อนหลัก (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ครอบคลุม 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา) แม่กวงอุดมธารา (เชียงใหม่ ลำพูน) แม่มอก (ลำปาง สุโขทัย) มูลบน (นครราชสีมา) ลำพระเพลิง (นครราชสีมา) และคลองสียัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี)

- มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อเพื่อทำนาข้าวรอบที่ 2 บางพื้นที่ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล (เชียงใหม่) กิ่วลม (ลำปาง) กิ่วคอหมา (ลำปาง) น้ำอูน (สกลนคร) น้ำพุง (สกลนคร นครพนม) ลำตะคอง (นครราชสีมา) ลำแซะ (นครราชสีมา) บางพระ (ชลบุรี) ประแสร์ (ระยอง) รัชชประภา (สุราษฎร์ธานี) และบางลาง (ปัตตานี ยะลา)

2.2 พื้นที่นอกเขตชลประทานได้รับผลกระทบ 20 จังหวัด 54 อำเภอ ได้แก่

ภาคเหนือ จำนวน 9 จังหวัด 35 อำเภอ คือ เชียงราย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8 จังหวัด 13 อำเภอ คือ ยโสธร กนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา และเลย

ภาคกลาง จำนวน 2 จังหวัด 4 อำเภอ คือ ลพบุรี และสุพรรณบุรี

ภาคตะวันตก จำนวน 1 จังหวัด 2 อำเภอ คือ กาญจนบุรี

มาตรการรองรับพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ปี 2562/63 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ


1. ด้านน้ำต้นทุน (Supply)
1.1 จัดทำแผนสำรองน้ำและแหล่งน้ำสำรอง ขุดเจาะบ่อบาดาบในพื้นที่เสี่ยง ขุดลอกลำน้ำที่ตื้นเขิน และดึงน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง
1.2 ปฏิบัติการเติมน้ำในแหล่งน้ำและพื้นที่การเกษตร
1.3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ กำหนดปริมาณน้ำจัดสรรในฤดูแล้งให้ชัดเจน
1.4 จัดทำทะเบียนจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำและผู้ใช้น้ำ

2. ด้านควมต้องการใช้น้ำ (Demand)
2.1 เพื่อการอุปโภคบริโภค ควบคุมการใช้น้ำของพื้นที่ตอนบนให้เป็นไปตามแผน และควบคุมการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้เป็นไปตาม
2.2 การรักษาระบบนิเวศ ควบคุมการการปล่อยน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม ควบคุมและขึ้นทะเบียนการเลี้ยงปลากระชังในแหล่งน้ำ และเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดิบสำรองอย่างใกล้ชิด
2.3 การเกษตร ให้วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งและจัดทำทะเบียนผู้ปลูกโดยระบุพื้นที่เพราะปลูกและแหล่งน้ำที่ใช้ให้ชัดเจน

3. ติดตามและประเมินผลควบคุมการจัดสรรน้ำและประเมินสถานการณ์การใช้น้ำอย่างใกล้ชิด

4. ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้ทุกหน่วยงานและประชาชนทราบ

พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย น้ำล้นตลิ่ง และน้ำป่าไหลหลากภาคใต้ ปี2562 ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม 2562

มีจำนวน 7 จังหวัด 37 อำเภอ ได้แก่ ระนอง 3 อำเภอ ชุมพร 6 อำเภอ สุราษฎร์ธานี 7 อำเภอ นครศรีธรรมราช 12 อำเภอ พัทลุง 1อำเภอ สงขลา 4 อำเภอ และนราธิวาส 4 อำเภอ

มาตรการรองรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ปี 2562 ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ (1) ตรวจสภาพอาคารบังคับน้ำ ระบบระบายน้ำ ให้มีความพร้อมใช้งาน (2) สำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำและเร่งแก้ไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ (3) จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำหลากและแผนเผชิญอุทกภัย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์และมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า (4) สำรวจแหล่งน้ำที่มีปริมาณวิกฤตและพื้นที่เสียงอุทกภัย (5) เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อสนับสนุนในพื้นที่เสี่ยง และ (6) ใช้เกณฑ์บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ที่ได้ปรับปรุงใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น