การจัดตั้งหน่วยงานนโยบายหรือหน่วยงานกลางบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยฝีมือทำคลอดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
ถือกำเนิดเต็มตัวในนาม “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)” เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 กลับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าจะมีคำถามต่อ ก็แล้วไง?
ความหมายคือ เมื่อมี สทนช.เป็นกลไกบริหาร แล้วช่วยให้การจัดการน้ำของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าประการใดบ้าง
สทนช.เพิ่งเดินทางมาครบ 2 ขวบปีเต็ม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562
อายุแค่นี้ยังเพิ่งพ้นสภาพทารกแบเบาะ มาเป็นเด็กเริ่มหัดเดิน แต่ สทนช.ก้าวกระโดดมาเป็นหนุ่มสาวที่ต้องทำงานหนัก กำหนดเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึงแต่ละช่วงปีชัดเจน ทั้งที่จำนวนคนน้อยนิด
ที่สำคัญ “ขาไม่ลอย” ลบคำปรามาสเป็นเพียงแค่หน่วยงานนโยบาย กำกับกว่า 40 หน่วยงานด้านน้ำไม่อยู่
เพราะสามารถนำวิชาการที่ผ่านการปฏิบัติไปวางแผนเรื่องน้ำของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แตกแขนงเป็นแผน 6 ด้านครอบคลุมเรื่องน้ำทุกมิติ ตั้งแต่น้ำกิน น้ำใช้ น้ำเพื่อการผลิต การพัฒนาแหล่งน้ำ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เป็นแผนแม่บทน้ำที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เมื่อ 18 มิถุนายน 2562 หลัง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้แค่ 5 เดือนเศษ สะท้อนชัดว่า สทนช. เร่งทำงานตั้งแต่ พ.ร.บ.ยังไม่คลอด เช่นเดียวกับหลายๆ เรื่องที่ปักหมุดตารางเวลาล่วงหน้า ทำงานกันล่วงหน้าจึงปรากฏผลออกมาได้
แผนแม่บทน้ำอย่างเดียวก็ล่องลอย สทนช.จึงมีแผนปฏิบัติการ บูรณาการไปกับงบประมาณโครงการที่ปรับให้สอดประสานกัน ลดความซ้ำซ้อน ลดความสิ้นเปลืองงบฯ ลงได้มาก ไล่ไปจนถึงการดึงทุกหน่วยมาอยู่ในตะกร้าเดียวกัน เปิดโอกาสให้ทุกหน่วยมีส่วนร่วมพัฒนามากขึ้น แทนต่างคนต่างทำ บางหน่วยแทบไม่มีโอกาสได้ทำทั้งที่อยู่ในพื้นที่และในขอบเขตอำนาจ และ ฯลฯ
เห็นเป็นภาพการขับเคลื่อนเรื่องน้ำชัดเจนอย่างไม่เคยมีมาก่อน
“เราให้ความสำคัญกับแผนแม่บทที่มีการบูรณาการจากทุกภาคส่วน กฎหมายที่ชัดเจน ไม่ทับซ้อน การมีส่วนร่วมขององค์กรและภาคีเครือข่ายในทุกระดับและสาขา และองค์ความรู้จากการประสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับเทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐานสากล” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าวสรุป
องค์กร สทนช.ล่องลอย ไร้ข้อมูลที่ถูกต้องแน่นอน หากตั้งมั่นอยู่ในส่วนกลางอย่างเดียว จึงมีการปรับปรุงกำหนดลุ่มน้ำของประเทศใหม่ เป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก จากเดิม 25 ลุ่มน้ำหลักที่ใช้กันมานานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมากมาย เพื่อให้การจัดการมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ได้ดีกว่า โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำเป็นผู้กำกับ สทนช. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ ต้องทำงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของแหล่งข้อมูลปัญหา ผสานกับหน่วยงานนโยบาย คือ สนทช.ภาค 4 ภาค
สทนช.จึงกลายเป็นตัวกลางสะท้อนปัญหาและความต้องการระหว่างพื้นที่กับฝ่ายนโยบาย คือ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
เช่นเดียวกับข้อมูลน้ำที่กระจัดกระจายมากมาย สทนช.ก็ดำเนินการ ทั้งการสร้างมาตรฐานข้อมูลเดียวกัน ดึงข้อมูลร่วมกับบางหน่วยงาน เพื่อให้สามารถบริหาร Big Data ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับการเร่งจัดทำผังน้ำ บัญชีน้ำ ที่เป็นระบบและครอบคลุมทั่วประเทศ เข้าถึงได้และใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ไม่นับการเคลื่อนตัวของ สทนช. สู่การเป็นหน่วยงานกลางเรื่องข้อมูลน้ำในการติดต่อประสานงานความร่วมมือด้านน้ำกับนานาประเทศ และความร่วมมือในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เพื่อบริหารข้อมูลให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิก รวมทั้งไทยด้วย โดยได้รับความร่วมมือด้วยดีจากจีนซึ่งอยู่แม่น้ำโขงตอนบน และ สปป.ลาว ที่อยู่ตอนล่าง หรือการยกระดับการทำงานของ สทนช.ในช่วงวิกฤต โดยยกเครื่องข้อมูลทันสมัยขึ้น
ยังมีเรื่องการขับเคลื่อนโครงการสำคัญและโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เป็นความหวังของชาวชัยภูมิมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในการดำเนินการตามแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน และโครงการอื่นๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศอีกจำนวนมาก
สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกถึงรูปธรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของ สทนช. ที่อายุทารกเป็นเพียงตัวเลข อายุจริงวัดด้วยนโยบายเชิงรูปธรรมที่สัมผัสได้ชัดเจนในชั่วเวลาเพียง 2 ขวบปีเท่านั้น