มท.เร่งผู้ว่าฯ แจงใช้งบกลาง 1.58 หมื่นล้าน ตามมติ ครม.แจก 76 จังหวัด แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง หลัง กมธ.ปภ.จี้ “บิ๊กป๊อก-บิ๊กฉิ่ง” ให้ข้อมูล อ้างได้รับร้องเรียนหลายจังหวัดมีทุจริต เผยข้อมูลกลางเดือน ต.ค.พบอนุมัติ 18,954 โครงการ รวมวงเงิน 13,757.12 ล้าน หรือร้อยละ 87.07 พบเป็นแผนจัดการน้ำเพื่อการเกษตร มากสุด 5,315.65 ล้าน บรรเทาความเดือดร้อนฯ 4,112.01 ล้าน จัดการน้ำอุปโภคบริโภค 3,979.41 ล้าน การแก้ปัญหา-รักษาระบบนิเวศ 291.06 ล้าน อนุมัติอีสานมากสุด 6,745 โครงการ
วันนี้ (29 ต.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยหลายแห่ง และจังหวัดที่รับงบประมาณ ได้เร่งทำหนังสือรายงานความคืบหน้า ต่อโครงการที่มีการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบระมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 15,800 ล้านบาท เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด
โดยล่าสุด นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีโทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทยด่วนที่สุด ที่ มท 0211.2/ว 21350 เมื่อ 28 ต.ค. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเร่งรายงานความก้าวหน้าของโครงการ/แผนงานต่อกระทรวงมหาดไทยโดยด่วน เพื่อเป็นข้อมูลให้ รมว.มหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย ใช้ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ งบประมาณก้อนดังกล่าวคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 27 ส.ค. เห็นชอบตามที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เสนอในกรอบวงเงิน 15,800 ล้านบาท แยกเป็นสำหรับ 74 จังหวัด แห่งละ 200 ล้านบาท ส่วน จ.สุรินทร์-จ.บุรีรัมย์ ได้รับแห่งละ 500 ล้านบาท โดยให้จังหวัดเป็นหน่วยงานรับงบประมาณเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัยในจังหวัด
ข้อมูลเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2563 มีการเปิดเผยตัวเลขโครงการที่ขอรับงบประมาณจากกองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ (CBO) โดยได้รับอนุมัติโครงการ ใน 76 จังหวัด จำนวน 18,954 โครงการ รวมวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวนทั้งสิ้น 13,757.12 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87.07 ของกรอบวงเงินที่ได้รับจัดสรร จำนวน 15,800 ล้านบาท
“ประเภทโครงการที้ได้รับจัดสรรมากที่สุด เป็นโครงการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร วงเงิน 5,315.65 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38.64 รองลงมาตามลำดับประกอบด้วย การบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งและอุทกภัย 4,112.01 ล้านบาท หรือ 29.89 การจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 3,979.41 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.93 การแก้ปัญหา การรักษาระบบนิเวศ 291.06 ล้านบาท และการสร้าง สร้างรายได้ และจ้างแรงงาน 58.98 ล้านบาท หรือ 0.43”
ยังพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อนุมัติ 6,745 โครงการ ภาคเหนือ 5,540 โครงการ ภาคกลาง 2,402 โครงการ ภาคใต้ 2,233 โครงการ ภาคตะวันออก 1,902 โครงการ และภาคใต้ชายแดน 132 โครงการ
สำหรับการใช้งบประมาณดังกล่าว คณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเชิญ พล.อ.อนุพงษ์ และนายฉัตรชัย รวมถึงผู้ว่าราชการบางจังหวัด มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการใช้งบประมาณ 15,800 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมว่าทำอะไรไปบ้างและได้ผลสัมฤทธิ์แค่ไหน เพราะคณะกรรมาธิการได้รับการร้องเรียนมาหลายจังหวัดว่าอาจจะมีการทุจริตเกิดขึ้น