นครสวรรค์/อุทัยธานี - ภัยแล้งลามรุนแรง..คลองบางเคียน เมืองปากน้ำโพแห้งขอดจนเรือนแพชาวชุมแสงเกยตื้น-ลูกบวบแตกพังยับ ขณะที่ชาวอุทัยฯ ต้องรวมตัวตั้งเครื่องสูบน้ำเรียงเป็นตับ หวังชุบชีวิตนาข้าวที่กำลังแห้งตายให้ได้
ขณะนี้ชาวเรือนแพ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ เริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก หลังคลองบางเคียน ซึ่งเป็นคลองสาขาของแม่น้ำยมที่ไหลมาจากพิจิตรเริ่มแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามฝั่งได้
นายสมพงษ์ เปี่ยมมูล ชาวแพในพื้นที่หมู่ 13 บอกว่า ภัยแล้งในปีนี้ส่อเค้ารุนแรงหนัก เรือนแพของชาวบ้านในคลองบางเคียนกว่า 30 หลังคาเรือนต้องเกยตื้นอยู่กลางคลองแล้ว หลังระดับน้ำได้แห้งขอดลงจนเหลือแต่พื้นดิน เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์มีฝนตกน้อยกว่าทุกปี ทำน้ำในคลองมีน้อยและแห้งหมดไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับในพื้นที่ยังมีการสูบน้ำทำนากันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าน้ำที่เหลืออยู่ในก้นคลองอีกเพียงเล็กน้อยจะแห้งหมดไปก่อนที่จะถึงสิ้นปีนี้
ล่าสุดเรือนแพยังคงตั้งอยู่บนพื้นดินกลางลำคลองไม่สามารถขยับเรือนแพไปไหนได้ หลายหลังลาดเอียงลูกบวบแตกได้รับความเสียหาย บางหลังเสียหายอย่างหนักต้องใช้เงินในการซ่อมแซมนับหมื่นบาท ซึ่งคาดว่าปัญหาภัยแล้งและน้ำแห้งดังกล่าวนี้จะยาวนานต่อออกไปอีกหลายเดือนและส่งผลกระทบจนถึงปีหน้า
เช่นเดียวกับพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีที่ประสบภัยแล้งต่อเนื่อง เกษตรกรพื้นที่หมู่ 1 ต.ทุ่งใหญ่ อ.เมืองอุทัยธานี ขาดแคลนแหล่งน้ำใช้ ต้องรวมตัวตั้งเครื่องสูบน้ำจากคลองชลประทานอุทัยธานีเพื่อส่งต่อไปยังคลองส่งน้ำธรรมชาติ ก่อนไหลเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกนาข้าวของตนเองให้รอด
นายฐกร กาญจน์จิรเดช ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุทัยธานี เปิดเผยว่า เกิดภาวะความแห้งแล้ง-ฝนทิ้งช่วงในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานียาวนานต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยแล้วจะมีอยู่ประมาณร้อยละ 50 มีฝนตกประมาณ 650 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยมาก
ส่วนประเด็นในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือนั้นมีอยู่ 2 ส่วน โดยส่วนแรกก็คือ โครงการชลประทานอุทัยธานี ได้ทำเรื่องขออนุมัติงบประมาณกับทางอธิบดีกรมชลประทาน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางกรมฯ ได้อนุมัติค่ากระแสไฟฟ้า ทำการสูบน้ำจากที่บ้านจักษาขึ้นมาเติมในแก้มลิง และในระหว่างทางตัวท่อที่มีความยาวประมาณ 15 กิโลเมตรจะมีจุดที่จะสามารถส่งน้ำให้พี่น้องเกษตรกรได้เป็นจุดๆ จนถึงวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมาเราได้สูบน้ำไปแล้วกว่า 4 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถที่จะสนับสนุนในเรื่องของพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวที่เกือบจะตาย ให้สามารถกลับมาเก็บเกี่ยวได้อีกครั้งประมาณ 5,000 ไร่
รวมทั้งสนับสนุนในเรื่องของน้ำใช้สำหรับทำการอุปโภคบริโภคให้กับสระในเขตของหมู่บ้านต่างๆ หลายๆ หมู่บ้าน และในหลายๆ ตำบล ยกตัวอย่างเช่น ตำบลหนองไผ่ ตำบลเนินแจง ตำบลทุ่งใหญ่ ตำบลหนองเต่า ตำบลหนองแก ตำบลหนองพังค่า ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน ปัจจุบันสามารถบรรเทาไปได้มาก ตรงจุดนี้ถือว่าเป็นการช่วยในเรื่องของภัยแล้ง
นอกจากนี้ โครงการชลประทานอุทัยธานียังได้รับงบประมาณจากผู้ว่าฯ อุทัยธานีภายใต้แผนงานแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ อันเนื่องมาจากภัยแล้งและอุทกภัยในจังหวัด ดำเนินการขุดลอกสระเก็บน้ำท้ายเขื่อนวังล่มเกล้า ต.ทุ่งใหญ่ อ.เมืองอุทัยธานี ช่วยในเรื่องของการเก็บกักน้ำ และเป็นการเตรียมสถานที่ที่จะรองรับน้ำฝนในปีหน้า ซึ่งถือว่าเกษตรกรรวมทั้งชลประทานได้ประโยชน์มาก