วิกฤตแล้งแย่งน้ำปี 63 รัฐเครียด คุมเกษตรกรสูบน้ำเข้านาปรังไม่ได้ หวั่นน้ำอุปโภคบริโภคไม่พอใช้ถึงกลางปี เผยแผนผันน้ำแม่กลองลงเจ้าพระยาผลักดันน้ำเค็ม
... รายงานพิเศษ
สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเวลานี้ สามารถใช้คำว่า “สาหัสสากรรจ์” ได้เลย
เพราะจนถึงขณะนี้ แค่การบริหารน้ำที่มีเหลืออยู่ให้พอใช้ถึงสิ้นฤดูร้อน 30 เม.ย. 2563 ก็ยากแล้ว แต่ยังมีโอกาสที่ฝนจะทิ้งช่วงไปจนถึงเดือนมิถุนายน
ซึ่งหมายความว่า เอาแค่น้ำกินน้ำใช้ก็จะมีไม่พออยู่แล้ว จึงลืมเรื่องการใช้น้ำเพื่อทำการเกษตรไปได้เลย ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงกลางปี
มาเริ่มที่สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก
เขื่อนภูมิพล เหลือน้ำใช้การได้ 1707 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของเขื่อน
เขื่อนสิริกิติ์ เหลือน้ำใช้การได้ 1920 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของเขื่อน
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เหลือน้ำใช้การได้ 383 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของเขื่อน
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เหลือน้ำใช้การได้ 217 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ของเขื่อน
รวม 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยาวันนี้ (6 ม.ค. 2563) มีน้ำใช้การได้รวม 4,226 ล้าน ลบ.ม. ที่ต้องบริหารให้ใช้พออย่างน้อยไปจนถึงสิ้นฤดูร้อน 30 เม.ย. 2563
นั่นหมายความว่า มีน้ำพอสำหรับเพื่ออุปโภคบริโภคเท่านั้น ไม่มีโควตาสำหรับทำการเกษตรเลย
มาดูตัวเลขย้อนไปเมื่อ 1 พ.ย. 2562 น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำอยู่ประมาณ 5,700 ล้าน ลบ.ม. และนับจากวันนั้นไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 ทุกฝ่ายมีข้อมูลตรงกันว่า จะต้องใช้น้ำ 3,500 ล้าน ลบ.ม. ไว้สำหรับเป็นน้ำกินน้ำใช้
ผ่านมา 2 เดือน จนวันนี้ 6 ม.ค. 2563 น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ถูกระบายลงมาเพื่อใช้เป็นน้ำกินน้ำใช้ไปแล้ว 1,400 ล้าน ลบ.ม. เมื่อหักจาก 3,500 ล้าน ลบ.ม. แปลว่าจะต้องใช้อีก 2,100 ล้าน ลบ.ม.
เมื่อดูจากสถานการณ์ในวันนี้ คือ เหลือน้ำประมาณ 4,200 ล้าน ลบ.ม. จะต้องกันไว้เป็นน้ำกินน้ำใช้ 2,100 ล้าน ลบ.ม. ในเงื่อนไขว่านับแค่ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563 จะเหลือน้ำอยู่เพียงประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม. ในระบบ
แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญในการอ่านและจัดทำข้อมูลน้ำยอมรับว่า “หนักหนาสาหัส” จริงๆ
เขาบอกว่า ถ้าจะผ่านฤดูแล้ง คือ 30 เม.ย. ปีนี้ไปได้ ก็น่าผ่านไปได้อย่าง “กระท่อนกระแท่น” และต้องไม่ใช้น้ำเพื่อทำการเกษตรเลยอย่างเด็ดขาด
แต่ถ้าหลัง 30 เม.ย. คือ เดือน พ.ค. และ มิ.ย. ฝนยังไม่มา หรือมีฝนน้อย วิกฤตแล้งปีนี้ ก็จะ “หนักมาก”
อย่างที่บอกว่า ตัวเลขปริมาตรน้ำที่คำนวนกันไว้นี้ คิดจากการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเท่านั้น และต้องไม่ใช้น้ำเพื่อทำการเกษตรเด็ดขาด โดยเฉพาะ “นาปรัง”
แต่จากข้อมูลที่รัฐมีในวันนี้ พบว่า ในพื้นที่ภาคกลาง มีพื้นที่ที่ทำนาปรังไปแล้วประมาณ 3 ล้านไร่
“ไม่สนใจคำเตือน”
มีตัวอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นจากข้อมูลการระบายน้ำเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ คือ น้ำถูกระบายลงมาจากเขื่อนภูมิพล (จ.ตาก) และเขื่อนสิริกิติ์ (จ.อุตรดิตถิ์) 18 ล้าน ลบ.ม. โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นน้ำกินน้ำใช้ ระบายลงมาในคลองชลประทานเพื่อผลิตน้ำประปา
แต่... เมื่อมวลน้ำจากทั้ง 2 เขื่อน ไหลลงมาถึง จ.นครสวรรค์ กลับพบว่า หายไปประมาณ “ครึ่งหนึ่ง” ของน้ำที่ระบายลงมา จากการถูกสูบไประหว่างทางที่ จ.กำแพงเพชร
ใต้เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ก็มีพื้นที่ที่กำลังทำนาบริเวณ คลองชัยนาท-ป่าสัก ก็มีนาปรังที่ทำกันอยู่ นี่คือปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ และหากคิดแบบไม่เลวร้ายนัก อาจจะมีน้ำหายไปจากการถูกสูบเช่นนี้อีกประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น ตัวเลข 2,000 ที่คิดไว้ตอนต้นว่าจะเป็นน้ำที่เหลืออยู่ ก็อาจเหลือแค่ 1,500 ล้าน ลบ.ม.
แต่ถ้าคิดแบบเลวร้าย ตัวเลขน้ำที่ถูกสูบออกไป ก็อาจสูงกว่านั้น
อย่าลืมว่า พ.ค. คือฤดูกาลที่เริ่มเข้าสู่การทำ “นาปี” ถ้าห้ามทำนาอีกฤดูติดต่อกัน คงวุ่นวายแน่ๆ
วิกฤตภัยแล้งเมื่อปี 2558 ถ้าจำกันได้ จะเห็นว่า รัฐบาลต้องใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ไปประจำการคุมตามจุดต่างๆของคลองชลประทาน ที่เสี่ยงจะถูกลักลอบสูบน้ำไปเพื่อการเกษตร เพราะสถานการณ์คล้ายๆ กันนี้ คือ “ห้ามใช้น้ำสำหรับการเกษตร”
แต่รอบนี้ ปี 2563 อย่าลืมว่าไม่ใช่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกแล้ว แต่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น การจะใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไปคุม ไปห้ามสูบน้ำ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนครั้งนั้นแน่นอน และอาจจะไม่เกิดขึ้นด้วย
ดังนั้น ยุทธศาสตร์คือ รักษาน้ำที่มีอยู่ “น้อยนิด” ในลุ่มเจ้าพระยาไว้อย่างดีที่สุด
แต่จะทำได้อย่างไร เพราะลำพังแค่รักษาน้ำเพื่อกิน เพื่อใช้ก็ยากอยู่แล้ว จากปัญหา “ความเค็มของน้ำประปา” เพราะมีน้ำจืดน้อยเกินไปจนไม่สามารถผลักดันน้ำทะเลได้ในหลายพื้นที่ เช่น เมื่อวันที่ 27-28 ธ.ค. ที่ผ่านมา น้ำทะเลหนุนสูงรุกเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ต้องระบายน้ำจืดเพิ่มจากแผนที่วางไว้เพื่อผลักดันน้ำเค็มมารอบหนึ่งแล้ว
เสียน้ำไปอีก
หรือการผลิตน้ำประปาที่ จ.ลพบุรี ก็มีปัญหามาตลอดเพราะน้ำจืดที่ระบายลงมาหายไประหว่างวทาง จนไม่พอที่จะผลิตประปา
และผลกระทบจากการถูกน้ำเค็มรุกเพราะน้ำจืดมีน้อยเกินไปในเวลานี้ กำลังส่งผลต่อ “สวนทุเรียนเมืองนนท์” และกำลังจะเกิดผลกระทบในเวลาอันใกล้กับผักสวนครัวแหล่งใหญ่ที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ถ้าไม่สามารถผลักดันน้ำเค็มได้ทัน
ถ้าดูค่า “คุณภาพน้ำ” ที่บริเวณสถานีผลิตน้ำประปาแหล่งต่างๆ ก็จะพบว่า เกินมาตรฐานไปมาก ทั้งที่จุดท่าน้ำนนทบุรี และท่าน้ำกรมชลประทาน สามเสน ค่าความเค็มสูงกว่ามาตรฐานไปไกลถึง 4-5 กรัมต่อลิตร
ส่วนที่จุดปากคลองสำแล จ.ปทุมธานี ซึ่งผลิตน้ำประปาป้อนฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ถ้าดูค่ารายวัน จะพบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานพอดี คือ 0.25 กรัมต่อลิตร แต่ถ้าดูตัวเลขเป็นรายชั่วโมงก็จะได้ค่าที่ต่างออกไป เพราะมีจำนวนชั่วโมงที่ค่าความเค็ม “เกินมาตรฐาน” มากกว่าชั่วโมงที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐน เช่น ช่วงเย็นเมื่อวานนี้ (5 ม.ค. 2563) มีค่าสูงถึง 1 กรัมต่อลิตร
และยิ่งน่าเป็นห่วงสถานการณ์ในเดือน ก.พ. เพราะในช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน จะมีลมทางใต้พัดมาจากอ่าว ก.ไก่ (อ่าวไทย) ซึ่งจะส่งผลให้ทะเลมีคลื่นสูงเป็นประจำ ทำให้น้ำเค็มรุกเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน ก.พ. ถึง เม.ย. ในช่วงนั้น จึงจำเป็นต้องมีน้ำจืดเพียงพอมาผลักดันน้ำเค็ม
เมื่อต้องรักษาน้ำในลุ่มเจ้าพระยาไว้ให้นานที่สุด แต่ก็ต้องแก้ปัญหาความเค็มของน้ำประปาด้วย แผน ณ เวลานี้ ที่ถกกันในที่ประชุมสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คือ การใช้ตัวอย่างจากปี 2557 ซึ่งสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เคยทำมาแล้ว คือ จะผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง ลงมาช่วยผลักดันน้ำเค็มที่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งต้องทำทันที
แผนคือ กรมชลประทานจะใช้น้ำจาก 2 เขื่อนใหญ่ภาคตะวันตกที่มีน้ำมากอยู่ในขณะนี้ คือ “เขื่อนวชิราลงกรณ์” และ “เขื่อนศรีนครินทร์” จ.กาญจนบุรี ระบายลงสู่แม่น้ำแม่กลอง จากนั้นระบายน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง ไปที่แม่น้ำท่าจีน และผันไปที่คลองพระยาบันลือ เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณรอยต่อที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
แผนนี้ถูกสั่งการให้เร่งทำแบบเต็มศักยภาพของการผันน้ำทันที
แต่ ... การผันน้ำแม่กลองมาลงเจ้าพระยา เป็นเพียงเพื่อลดการใช้น้ำจากเจ้าพระยามาผลักดันน้ำเค็มเท่านั้น อย่างที่บอกคือ เพื่อรักษาปริมาณน้ำในลุ่มเจ้าพระยาไว้ให้ได้มากที่สุด
แผนนี้ จึงทำได้เพียงการแก้ปัญหาน้ำประปามีรสเค็ม แต่ปัญหา “น้ำไม่พอ” ยังคงอยู่ และยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต
มีรายงานข่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา สรุปปริมาณฝนประเทศไทย ปี 2562 พบว่า มีฝนน้อยที่สุด เป็นอันดับที่ 2 ตั้งแต่ที่กรมอุตุฯเคยตรวจวัดและเก็บสถิติมา (น้อยที่สุดอันดับที่ 1 คือ ปี 2522)
ส่วนปี 2563 ถูกคาดการณ์ว่า สถานการณ์จะคล้ายกับปี 2538 คือ มีฝนน้อยไปจนถึงปลายเดือน มิ.ย.