xs
xsm
sm
md
lg

แล้งถึงขีดสุด! นอภ.เมืองแปดริ้วเตือนชาวนาดื้อดึงปลูกข้าวนอกฤดูมีสิทธิ์ถูกปล่อยทิ้งยืนต้นตาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - แล้งถึงขีดสุด! นอภ.เมืองแปดริ้ว แจงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา วิกฤตสุด โดยเฉพาะ อ.เมืองฉะเชิงเทรา ที่ต้องใช้น้ำกร่อยแทนน้ำประปา เตือนชาวนาดื้อดึงปลูกข้าวนอกฤดูมีสิทธิ์ถูกปล่อยทิ้งยืนต้นตาย เผยขณะนี้มีแล้วไม่น้อยกว่า 4 หมื่นไร่  
 
วันนี้ (6 ม.ค.) นายประเทือง อยู่เกษม นายอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ได้นำข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงถึงสถานการณ์น้ำใน จ.ฉะเชิงเทรา ที่เริ่มขาดแคลนอย่างหนัก โดยอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ถือเป็นพื้นที่วิกฤตสุดใน 11 อำเภอ และปัจจุบันต้องสูบน้ำเค็มบางส่วนจากประตูน้ำบางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนบนที่มีค่าความเค็ม 1-2 กรัมต่อลิตร มาผสมกับน้ำจืดผลิตเป็นน้ำประปาให้ประชาชนได้ใช้ในสภาพของน้ำกร่อยเนื่องจากขาดแคลนน้ำดิบต้นทุน
 
ทั้งนี้ แม้ว่าขณะนี้ อ.เมืองฉะเชิงเทรา จะต้องเผชิญต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก แต่ก็ยังพบว่ามีชาวนาที่ฝืนทำนาในช่วงฤดูแล้งอยู่ประมาณ 79,210 ไร่ โดยไม่ฟังเสียงเตือนของกรมชลประทาน และยังพบว่าเป็นการทำนาแบบต่อเนื่อง จำนวน 3 หมื่นไร่ เมื่อช่วงกลางเดือน ต.ค.2562  ซึ่งเป็นช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้วเสร็จ และเพิ่งเริ่มลงมือทำข้าวนาปรังนารอบใหม่ เมื่อประมาณกลางเดือน พ.ย.2562 อีกประมาณ 4 หมื่นไร่

“ผลที่ตามมาคือ เมื่อระดับน้ำในลำคลองสาขาต่างๆ เริ่มลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงปลายเดือน พ.ย.2562 ทำให้นาข้าวที่เพิ่งลงมือทำตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ย.2562 จำนวน 49,473 ไร่ ได้รับความเสียหายจากภาวะภัยแล้งที่เริ่มเข้าขั้นวิกฤตจากการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก และนาข้าวในส่วนนี้ยังมีโอกาสยืนต้นตายสูง รวมทั้งไม่ได้ผลผลิตจากการทำนาในรอบนี้”

อย่างไรก็ดี มีรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ อ.เมืองฉะเชิงเทรา มีนาข้าวยืนต้นตายแล้วใน ต.บางเตย ต.บางกะไห ต.คลองเปรง และ ต.หนามแดง โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะชาวนาฝ่าฝืนการประกาศเตือน และยังจะทำให้ชาวนาไม่ได้รับเงินค่าชดเชย จำนวน 1,173 บาทต่อไร่ หรือเงินชดเชยใดๆ จากรัฐบาล เพราะถือเป็นพื้นที่ที่เคยถูกประกาศให้งดการทำนานอกฤดูกาล จากกรมชลประทาน มาก่อนแล้ว

นายอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันน้ำที่ จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับมาจากเขื่อนเก็บน้ำทางตอนบน ทั้งเขื่อนนฤบดินทรจินดา เขื่อนขุนด่านปราการชล และน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนบางส่วน รวมทั้งเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะถูกนำมาแบ่งใช้ในด้านการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันยังคงมีปริมาณน้ำที่ได้รับมาไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในพื้นที่

ด้าน นายปรีชากร พฤกษะวัน หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต กล่าวว่า กรมชลประทาน สามารถสูบรับน้ำจากแม่น้ำบางปะกงเข้ามายังลำคลองบางขนากได้เพียงเฉพาะในช่วงน้ำลงเท่านั้น เนื่องจากมีค่าความเค็มไม่เกิน 1 กรัมต่อลิตร หรือประมาณวันละ 3-4 ชั่วโมง ในอัตรา 0.47 ลบ.ม.ต่อวินาที

และล่าสุด ยังพบว่าน้ำเค็มได้ขึ้นมาถึงพื้นที่ ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรีแล้ว โดยมีค่าความเค็มสูงถึง 3 กรัมต่อลิตร ที่บริเวณประตูน้ำบางขนาก เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

ขณะที่ น.ส.ยุวดี ฮวดวิเศษ รักษาการเกษตรอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ระบุว่า ขณะนี้มีเกษตรกรที่ยินยอมและปล่อยทิ้งนาข้าวแล้ว แต่ก็มีบางส่วนที่ยังไม่ยอมรับต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นและพยายามที่จะดิ้นหาน้ำเพื่อสู้ต่อไป ขณะที่บางรายยอมทิ้งนาข้าวกว่า 50 ไร่ เพื่อรวมน้ำทั้งหมดมาหล่อเลี้ยงแปลงนาที่จะเก็บเกี่ยวไว้ทำข้าวปลูกเพียงประมาณ 5 ไร่เท่านั้น

“ที่ผ่านมา เกษตรอำเภอได้เคยประกาศเตือนมาก่อนแล้วและยังแนะนำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่า แต่ชาวนาจำนวนมากไม่มีความถนัดและยังเกรงว่าจะไม่มีตลาดรองรับ จึงไม่รู้ว่าหากเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น โดยเฉพาะข้าวโพด แล้วจะนำไปขายที่ใดจึงเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ชาวนาบางส่วนยังคงพยายามที่จะปลูกข้าวนอกฤดูกาลต่อไป” น.ส.ยุวดี กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น