การประปานครหลวง แจงค่าความเค็มเข้ามาในระบบประปา รสชาติเปลี่ยนเล็กน้อยแต่ยังไม่กระทบสุขภาพ ห่วงใยผู้ป่วยโรคไต-ลดเค็ม และอุตสาหกรรมบางประเภท ส่งเจ้าหน้าที่ดูแล พบร่วมกับกรมชลฯ ทดลองไล่ลิ่มความเค็ม พร้อมปรับลดแรงดันน้ำช่วงกลางคืน เสริมน้ำจากฝั่งตะวันตกหนุน
วันนี้ (30 ธ.ค.) จากกรณีที่มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งรายงานว่า ความผิดปกติของคุณภาพน้ำประปากรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก (ฝั่งพระนคร) ที่รับน้ำจากคลองประปาจากสถานีสูบน้ำสำแล ต.สำแล อ.เมืองฯ จ.ปทุมธานี ซึ่งมีค่าความนำไฟฟ้า (Conductivity) สูงขึ้นอย่างผิดสังเกต จากระดับปกติประมาณ 300-400 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร (uS/cm) สูงถึง 1,300-1,800 uS/cm ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ใช้น้ำในระบบผลิตสินค้าบางประเภท ส่วนผู้ที่ใช้น้ำประปาผลิตน้ำดื่มอาจจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากรสชาติน้ำที่เปลี่ยนไป ซึ่งพบว่ามีบางพื้นที่พบค่าความนำไฟฟ้ามากที่สุด ส่วนค่าความเค็มพบว่ากร่อยเล็กน้อย ตามที่ MGR Online นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
อ่านประกอบ : ปะแล่มๆ! พบน้ำประปากรุงเทพฯ ค่าความนำไฟฟ้าพุ่ง แต่ความเค็มกร่อยเล็กน้อย
การประปานครหลวงชี้แจงว่า แนะนำประชาชนสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพน้ำประปาออนไลน์แบบเรียลไทม์ได้ด้วยตนเองทาง http://twqonline.mwa.co.th หรือ แอปพลิเคชัน MWA onMobile คลิกเมนู “คุณภาพน้ำ” โดยเฉพาะข้อมูลค่าความนำไฟฟ้า และค่าคลอไรด์ ซึ่งค่าความนำไฟฟ้า เป็นความสามารถที่ยอมให้ไฟฟ้าไหลผ่าน เนื่องจากมีแร่ธาตุในน้ำมาก ซึ่งส่วนหนึ่งคือเกลือ ส่วนน้ำกลั่นไม่มีแร่ธาตุเลย ค่าความนำไฟฟ้าคือศูนย์ ในขณะที่น้ำแร่ ถือเป็นน้ำที่มีแร่ธาตุสูง นั่นคือ มีค่าการนำไฟฟ้าสูงด้วยเช่นกัน โดยค่าความนำไฟฟ้าที่ไม่ส่งผลต่อรสชาติของน้ำประปา มีค่าไม่เกิน 1,200 หน่วย หรือค่าคลอไรด์ ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร
ก่อนหน้านี้ นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง เปิดเผยว่า ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น พร้อมประสานงานกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด ในขณะนี้ยังเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนอย่างต่อเนื่อง แม้การประปานครหลวงจะหลีกเลี่ยงการสูบน้ำดิบในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูงมาผลิตน้ำประปามาตลอด แต่ยังคงมีความเค็มหนุนสูงเข้ามาในระบบ จึงส่งผลให้รสชาติของน้ำประปาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนไปเล็กน้อย แต่ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ล่าสุด กรมชลประทาน และการประปานครหลวงได้ดำเนินการไล่ลิ่มความเค็มด้วยการทดลองกระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยวิธีผลักดันน้ำอย่างรุนแรงและฉับพลัน (Water Hammer of Chao Phraya River Flow Operation) ผลการทดลองพบว่า มีค่าความเค็มลดลง ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะติดตามข้อมูลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันหาแนวทางบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดต่อไป
นายปริญญากล่าวว่า ได้แสดงความห่วงใยผู้ใช้น้ำในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคไต หรือผู้ป่วยที่แพทย์ให้ควบคุมอาหารประเภทรสเค็ม รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ฟอกย้อม ยา เลนส์ กระจก เหล็ก ฯลฯ และโรงพยาบาล ซึ่งการประปานครหลวงได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลรักษาระบบสำรองน้ำประปา และระบบกรองน้ำของแต่ละหน่วยงานแล้ว
นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้น้ำเท่าที่จำเป็นเพื่อสงวนน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งต่อไป รวมทั้งขอให้ประชาชนช่วยตรวจสอบก๊อกน้ำ ท่อน้ำประปาภายในบ้าน และรีบซ่อมแซม หากมีการรั่วไหลเพื่อรักษาทรัพยากรน้ำอันมีค่า ซึ่งมีปริมาณน้ำที่น้อยลง เนื่องจากภัยแล้งในปัจจุบัน หากประชาชนพบท่อประปาแตกรั่ว โปรดแจ้งการประปานครหลวง โทร.1125 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแอปพลิเคชัน MWA onMobile และไลน์ @MWAthailand เพื่อช่วยกันลดน้ำที่จะสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ด้วย
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า การประปานครหลวงได้เปิดจุดจ่ายน้ำประปา 27 จุด ตั้งอยู่ภายในสำนักงานประปาสาขาทั้ง 18 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้หน่วยงานราชการในจังหวัดใกล้เคียง สามารถนำภาชนะหรือรถบรรทุกน้ำของทางราชการมาขอรับน้ำประปาได้ฟรี เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับปริมาณการสูบจ่ายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำดิบ เช่น ปรับลดแรงดันน้ำลงเล็กน้อยในช่วงเวลากลางคืน เนื่องจากเป็นช่วงที่คนใช้น้ำน้อย พร้อมผันน้ำจากโรงงานผลิตน้ำฝั่งตะวันตก (โรงผลิตน้ำประปามหาสวัสดิ์) มาสนับสนุนฝั่งตะวันออกซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำเค็มอีกด้วย