พบคุณภาพน้ำประปากรุงเทพ ฝั่งตะวันออก ค่าความนำไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างผิดสังเกตตั้งแต่วันศุกร์ "สายไหม-สุวรรณภูมิ-มีนบุรี" มากสุด กระทบบางอุตสาหกรรม แต่ค่าความเค็มของน้ำกร่อยเล็กน้อย
วันนี้ (29 ธ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ได้มีบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำสำหรับอุตสาหกรรมบางประเภท ได้ประกาศแจ้งเตือนลูกค้าว่า มีความผิดปกติของคุณภาพน้ำประปากรุงเทพ ฝั่งตะวันออก (ฝั่งพระนคร) ที่รับน้ำจากคลองประปาจากสถานีสูบน้ำสำแล ต.สำแล อ.เมืองฯ จ.ปทุมธานี ซึ่งมีค่าความนำไฟฟ้า (Conductivity) สูงขึ้นอย่างผิดสังเกต จากระดับปกติประมาณ 300-400 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร (uS/cm) สูงถึง 1,300-1,800 uS/cm ตามระบบทดสอบคุณภาพน้ำประปาของการประปานครหลวง
ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ใช้น้ำในระบบผลิตสินค้าซึ่งมีระบบกรองด้วยระบบรีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis หรือ RO) อาจจะได้รับผลกระทบ จากค่าน้ำที่สูงขึ้นตามคุณภาพน้ำประปา ซึ่งอาจจะมีผลกระทบกับคุณภาพสินค้าที่ใช้น้ำเป็นส่วนประกอบ สำหรับผู้ใช้น้ำที่ใช้ระบบดิ ไอออนไนเซชัน (De-Ionization หรือ DI) โดยใช้ระบบอิเล็กทรอ ดิ ไอออนไนเซชัน (Electro De-Ionization หรือ EDI) ต้องเฝ้าระวังระบบกรองน้ำ RO ที่เป็นการกรองขั้นต้นของ EDI ให้ค่าน้ำไม่สูงเกินค่าที่กำหนด ซึ่งอาจจะส่งผลเสียกับระบบ EDI ในระยะยาวโดยตรง สำหรับลูกค้าที่ใช้ระบบผลิตน้ำดื่ม อาจจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากรสชาติน้ำที่เปลี่ยนไป
อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุดเมื่อเวลา 04.00 น. ที่ผ่านมา พบว่าสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำที่พบค่าความนำไฟฟ้ามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ โรงพยาบาลสายไหม 1,905.93 uS/cm สุวรรณภูมิ 1,820.82 uS/cm, สถานีสูบจ่ายน้ำมีนบุรี 1,622 uS/cm, สำนักงานประปาสาขาพญาไท 1,620 uS/cm และ บมจ. กระจกไทยอาซาฮี 1,531.68 uS/cm ส่วนค่าความเค็มพบว่า หลายสถานีอยู่ในระหว่างการซ่อมบำรุง วัดได้มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สำนักงานประปาสาขาพญาไท และสถานีสูบจ่ายน้ำมีนบุรี 0.82 กรัมต่อลิตร, สถานีสูบจ่ายน้ำลาดกระบัง 0.69 กรัมต่อลิตร, สถานีสูบจ่ายน้ำบางพลี 0.62 กรัมต่อลิตร และพระราชวังดุสิต สวนจิตรลดา 0.61 กรัมต่อลิตร
นอกจากนี้ยังพบว่า หลายสถานีมีค่าความนำไฟฟ้าสูงกว่า 400 uS/cm ขึ้นไป จะมีเฉพาะฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่รับน้ำจากคลองประปาจากเขื่อนแม่กลอง จ.กาญจนบุรี มายังโรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์เท่านั้นที่ค่าความนำไฟฟ้าต่ำ และค่าความเค็มต่ำ อยู่ที่ 0.10-0.15 กรัมต่อลิตร ยกเว้นโรงงานผลิตน้ำธนบุรี ที่ใช้น้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านท่อโรงสูบน้ำดิบบางซื่อ ซึ่งจ่ายน้ำในพื้นที่เขตบางกอกน้อย และบางพลัดเป็นหลัก ปัจจุบันค่าความเค็มอยู่ที่ 0.29 กรัมต่อลิตร ถึงกระนั้นค่าความเค็มในน้ำประปาที่จะเริ่มกร่อย อยู่ที่ 0.34 กรัมต่อลิตรขึ้นไป
อนึ่ง การประปานครหลวงได้อ้างอิงค่าความนำไฟฟ้า และค่าความเค็มของน้ำประปาในพื้นที่บริการ โดยน้ำประปาไม่กร่อย ค่าความนำไฟฟ้าน้อยกว่า 700 uS/cm และค่าความเค็มน้อยกว่า 0.34 กรัมต่อลิตร, น้ำประปาเริ่มกร่อย ค่าความนำไฟฟ้า 700-1,200 uS/cm และค่าความเค็ม 0.34-0.5 กรัมต่อลิตร, น้ำประปากร่อยเล็กน้อย ค่าความนำไฟฟ้า 1,200-2,000 uS/cm และค่าความเค็ม 0.5-1 กรัมต่อลิตร, น้ำประปากร่อยปานกลาง ค่าความนำไฟฟ้า 2,000-2,300 uS/cm และค่าความเค็ม 1-1.2 กรัมต่อลิตร และน้ำประปากร่อยมาก ค่าความนำไฟฟ้ามากกว่า 2,300 uS/cm และค่าความเค็ม 1.2 กรัมต่อลิตรขึ้นไป
เมื่อค่าความนำไฟฟ้า 400 uS/cm ขึ้นไป การประปานครหลวงจะเริ่มแจ้งข้อมูลโดยตรงให้โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ฟอกย้อม กระจก สี เลนส์ ฯลฯ เพื่อจัดเตรียมระบบรีเวอร์ส ออสโมซิส ปรับปรุงคุณภาพน้ำอีกขั้นตอนหนึ่ง และเมื่อค่าความนำไฟฟ้าในพื้นที่บริการแตะที่ระดับ 700 หน่วยขั้นไป จะแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อให้สำรองน้ำสำหรับดื่มกิน ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ twqonline.mwa.co.th และแอปพลิเคชัน MWA on Mobile ที่ผ่านมาพื้นที่ให้บริการที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ สำนักงานประปาสาขาสุขุมวิท พระโขนง สมุทรปราการ แม้นศรี ทุ่งมหาเมฆ ลาดพร้าว พญาไท มีนบุรี สุวรรณภูมิ ประชาชื่น และบางเขน
สำหรับสถานการณ์ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 27 ธ.ค. ตรวจวัดโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าสถานีประปาสำแล จ.ปทุมธานี ค่าความเค็ม 0.21 กรัมต่อลิตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนสถานีท่าน้ำนนทบุรี ค่าความเค็ม 4.20 กรัมต่อลิตร สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และสถานีกรมชลประทานสามเสน กรุงเทพฯ ค่าความเค็ม 5.43 กรัมต่อลิตร สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งค่าความเค็มของน้ำสำหรับการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร และสำหรับการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร