ในช่วงปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานั้น...เป็นช่วงที่นักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองแห่งองค์กร “Anti-Imperialist human rights Organization” อย่าง “Roger D. Harris” ได้สรุปเอาไว้ในข้อเขียน บทความ เรื่อง “2019 Latin America in review: Year of the Revolt of the Dispossessed” ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ “MintPress News” เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ว่าถือเป็นปีแห่งการปฏิวัติการยึดครอง การยื้อแย่งขับไล่ไสส่งเอาเลยถึงขั้นนั้น...
หรือถือเป็นปีที่แสดงให้เห็นถึงความเอาจริง-เอาจังของอเมริกา ในการปัดกวาดสวนหลังบ้านของตัวเอง และส่งผลให้เกิดฉากสถานการณ์อันหลากหลายขึ้นมาในหลายต่อหลายประเทศ ทั้งในละตินอเมริกาไปจนถึงแคริบเบียนโน่นเลย เริ่มตั้งแต่ในเวเนซุเอลา ที่คุณพ่ออเมริกาพยายามไล่ทุบ ไล่บี้ อย่างชนิดเมื่อยมือ เมื่อยตีนกันไปพอสมควร แต่ความพยายามที่จะใช้ “อำนาจอย่างแข็ง” ตามสไตล์ดั้งเดิมของอเมริกา ด้วยการสถาปนา “นายฮวน กุยโด” ขึ้นเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว โดยมีบรรดาประเทศพันธมิตรอเมริกา 55 ประเทศให้การรับรอง แล้วหันมาถีบซ้าย ถีบขวา เพื่อให้รัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของประธานาธิบดี “นิโคลัส มาดูโร” เจ๊งลงไปให้จงได้ แต่ไม่ว่าออกเรี่ยว ออกแรงกันไปถึงขั้นไหน ทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังคงไม่บรรลุไปตามเป้าหมายจนตราบเท่าทุกวันนี้...
การจัดฉากส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจากโคลอมเบีย เข้าไปยังเวเนซุเอลา เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อที่จะอาศัยกองกำลังนักรบรับจ้าง เข้าไปเล่นงานรัฐบาล “นายมาดูโร” ประสบความล้มเหลวเอาดื้อๆ การดึงเอาทหารบางส่วนในกองทัพมาก่อการกบฏในเดือนเมษายน กลายเป็นการ “นัดแล้วไยไม่มา” พังตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มต้น ความพยายามประสานมวลชนเข้ากับกองกำลังอาวุธ เพื่อสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย หรือเพื่อ “วิ่งไล่ลุง” ในช่วงเดือนพฤศจิกายน สุดท้าย...มวลชนฝ่าย “นายกุยโด” ก็ดัน “เหี่ยวปลาย” ไปซะเอง ขณะมวลชนฝ่ายประธานาธิบดี “มาดูโร” ที่ร่วม “เดินเชียร์ลุง” กลับคึกคักเข้มแข็งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ฉากสถานการณ์ในเวเนซุเอลาทุกวันนี้ จึงเป็นไปในแบบที่แม้กระทั่งกระบอกเสียงของอเมริกา อย่าง “The Wall Street Journal” ยังอดไม่ได้ที่ต้องสารภาพเอาไว้ว่า... “นายมาดูโร ที่ใครต่อใครเคยคิดว่า น่าจะหมดสภาพไปนานแล้ว แต่เมื่อถึงบัดนี้เขายังดูแข็งแกร่งเอามากๆ ในสถานะตำแหน่งผู้นำประเทศเวเนซุเอลา...”
ส่วนที่อาจบรรลุเป้าหมายไปในบางส่วน...ก็คงเป็นประเทศ “โบลิเวีย” นั่นเอง ที่สามารถไล่ถีบประธานาธิบดีนักสังคมนิยม ชาวพื้นเมืองรายแรกอย่าง “นายอีโว โมราเลส” ออกจากตำแหน่งและออกจากประเทศได้สำเร็จ แต่การสถาปนารองประธานรัฐสภาที่เคยเหยียดหยาม ดูหมิ่น พวกชาวพื้นเมืองโบลิเวียแบบรุนแรงเอามากๆ อย่าง “นางJeanine Anez” ขึ้นเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว อาจกลายเป็น “ชัยชนะที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้” ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ย่อมได้ เพราะผู้ที่ถูกเชิดขึ้นมาเป็น “หุ่น” ของคุณพ่ออเมริการายนี้ เธอออกจะดุ และห้าวซะเหลือเกิน ไม่เพียงแต่ไล่ปราบ ไล่ฆ่า บรรดาผู้ประท้วงที่ยังภักดีต่อประธานาธิบดีคนเก่าแบบชนิด “ล้างเผ่าพันธุ์” กันเลยถึงขั้นนั้น จับกุมคุมขังนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเข้าคุกกันเป็นกระบิๆ กวาดล้างนักหนังสือพิมพ์และเครือข่ายสื่อมวลชนที่ต่อต้านตัวเอง ฯลฯ เธอยังใจร้อน ใจเร็ว เอามากๆ ในการเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนระบอบ จากสังคมนิยมประชานิยมให้กลายเป็น “ทุนนิยมเสรี” แบบฉับพลันทันที ด้วยการประกาศแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่ละชนิด จนก่อให้เกิดความกลัวว่า การแปรรูปการประปาให้เป็นของเอกชน มันจะนำเอา “สงครามน้ำ” กลับคืนมาสู่โบลิเวียอีกหรือไม่ อย่างไร? รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงผู้ได้รับสัมปทานทรัพยากรสำคัญในโบลิเวีย อย่างเหมืองแร่ “ลิเธียม” จะเปลี่ยนมือจากจีนไปสู่บริษัทของอเมริกาในตอนไหน แบบไหน? ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่นำมาซึ่งความไม่แน่นอน และอาจทำให้ “การเลือกตั้งรอบใหม่”สามารถพลิกกลับมาเป็นชัยชนะของพรรคการเมืองที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีคนเดิม อย่างพรรค “MAS” ได้เสมอๆ โดยเฉพาะถ้าหากไม่ถูกกีดกันออกจากการเลือกตั้งไปซะก่อนหน้านั้น...
สำหรับ “บราซิล” ที่ถือเป็นประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา และเป็นอันดับ 8 ของโลก อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ “BRICs” อันประกอบไปด้วยรัสเซีย จีน และแอฟริกาใต้ร่วมอยู่ด้วย การได้รับชัยชนะเลือกตั้งของประธานาธิบดี “ขวาจัด” อย่าง “นายฌาอีร์ โบลโซนารู” (Jair Bolsonaro) ที่ได้ชื่อฉายาว่า “ทรัมป์แห่งบราซิล” ด้วยเหตุเพราะ “บ้า” ไม่ต่างไปจากกันสักเท่าไหร่นักถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญในการปัดกวาดสวนหลังบ้านของอเมริกาเอาเลยก็ว่าได้ แต่การเล่นงานพวก “ฝ่ายซ้าย” อย่างอดีตประธานาธิบดี “Lula da Silva” ให้ต้องติดคุกไปซะก่อน และถอดถอนผู้สืบทอดตำแหน่งอย่าง “นางDilma Rousseff” ให้พ้นไปจากตำแหน่งประธานาธิบดีก่อนเลือกตั้ง ออกจะเป็น “เกมการเมือง” ที่ค่อนข้าง “สกปรก” อยู่พอสมควร ดังนั้น...การหวนกลับคืนมาของ “รัฐบาลฝ่ายซ้าย” ที่เป็นมิตรกับจีนและรัสเซีย ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้ไม่วันหนึ่งก็วันใดอีกไม่นานนับจากนี้...
ขณะที่ใน “ชิลี” รัฐบาลของประธานาธิบดี “Sebastian Pinera” อดีตนักธุรกิจพันล้าน ก็ชักทำท่าว่าไม่รู้จะอยู่-จะไปเมื่อไหร่ เนื่องจากกระแสต่อต้าน “เสรีนิยมใหม่” โผล่พรวดพราดขึ้นมาท่ามกลางความถดถอยทางเศรษฐกิจ ผู้คนนับล้านๆ จากจำนวนประชากร 19 ล้านคน แห่กัน “ลงถนน” พร้อมด้วยคำขวัญประมาณว่า “เสรีนิยมใหม่เกิดขึ้นในชิลี...และจะต้องตายในชิลี” ส่งผลให้ต้องเกิดรายการไล่ทุบ ไล่ตี ไล่ยิง ไล่ฆ่า บรรดาชาวชิลีชนิดพอๆ กับยุค “เผด็จการปิโนเชต์” คือตายกันไปเป็นร้อยๆ ถูกจับเข้าคุกไปแล้ว 8,000 บาดเจ็บสาหัสไป 3,000 ต้องประกาศกฎอัยการศึก ยกเลิกรัฐธรรมนูญในบางส่วน...
สำหรับ “เอกวาดอร์” และ “เปรู” ก็หนักหนาสาหัสไม่ต่างไปจากกัน โดยเฉพาะเปรูนั้น ถึงขั้นอดีตประธานาธิบดี “Alan Garcia” ต้องคว้าปืนมายิงหัวตัวเองตาย ก่อนถูกจับกุมข้อหาคอร์รัปชัน ส่วน “อาร์เจนตินา” การปฏิรูปเศรษฐกิจเสรีของประธานาธิบดีฝ่ายขวาอย่าง “Mauricio Macri” ส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งพรวดๆ พราดๆ ค่าเงินเสื่อม นักลงทุนเผ่นหนีออกจากประเทศ เปิดทางให้ฝ่ายกลาง-ซ้ายอย่าง “นายAlberto Fernandez” มีโอกาสเข้ามาเปลี่ยนทิศ เปลี่ยนทาง หรือเปลี่ยนข้าง ย้ายข้าง อันจะนำไปสู่การ “เปลี่ยนดุลอำนาจ” ในละตินอเมริกาได้เสมอ...
ส่วน “คิวบา” “นิการากัว” นั้น...ย่อมแน่นอนอยู่แล้วว่าหันไปซบไออุ่นจากหมีขาวรัสเซีย อย่างไม่มีวันหันมาหาอีแร้งอเมริกาโดยเด็ดขาด ขณะที่ “เม็กซิโก” ไม่เพียงแต่ฝ่ายกลาง-ซ้ายอย่าง “นายAMLO” หรือ “Andres Manuel Lopez Obrador” จะมีโอกาสผงาดขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีเท่านั้น ความพยายามข่มขู่ กดดันเม็กซิโก โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องผู้อพยพ ไปจนการสร้าง “กำแพงทรัมป์” ขึ้นมาเป็นอนุสาวรีย์แห่งความจงเกลียด จงชัง ยังทำให้ความกลางๆ ของเม็กซิโก มีสิทธิ์ออกไปทางซ้ายๆ ได้ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ใครที่อยากรู้รายละเอียดมากกว่านี้...คงต้องไปหาข้อเขียน บทความของ “นายRoger D. Harris” ที่ได้อัปเดตฉากสถานการณ์แต่ละประเทศเอาไว้ครบเอาเองก็แล้วกัน แต่ถ้าสรุปโดยคร่าวๆ...ความพยายาม “ปัดกวาดสวนหลังบ้าน” ของอเมริกาเที่ยวนี้ มันออกจะเป็นอะไรที่โบราณ ตามไม่ได้-ไล่ไม่ทัน กับสถานการณ์โลกยุคใหม่ ที่พ้นไปจากยุค “สงครามเย็น” มานานแล้ว คือเป็นโลกที่ประกอบไปด้วย “หลายขั้วอำนาจ” ไม่ใช่ “ขั้วอำนาจเดียว” อีกต่อไป ความพยายามดำรงสถานะตำแหน่ง “ประมุขโลก” หรือความพยายามที่จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง จึงไม่ต่างอะไรไปจากความพยายามของ “จักรวรรดิโรมัน” ในช่วงที่กำลังใกล้เสื่อมสลายลงไปนั่นเอง...