xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำห้าวโบลิเวียจอดป้าย

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์


ประธานาธิบดีอีโว โมราเลส แห่งประเทศโบลิเวีย
หลังจากได้พยายามยื้อเกาะเก้าอี้ไว้อย่างเหนียวแน่นตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม และการประท้วงต่อเนื่องของประชาชนที่ไม่พอใจต่อผลการเลือกตั้ง ในที่สุด อีโว หรืออีโบ โมราเลส ขวัญใจคนจนประเทศโบลิเวีย ต้องจำใจก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี อ้างว่าเพื่อให้บ้านเมืองอยู่ในความสงบสุข

กว่า 13 ปีที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศซึ่งดำเนินนโยบายสังคมนิยมภายใต้สายตาความเกลียดชังของสหรัฐอเมริกา โมราเลสต้องยอมรับสภาพว่า ความนิยมที่เคยมีได้สิ้นสุดลงเพราะข้อกล่าวหาว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่โปร่งใสบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง

ฐานความนิยมภายใต้โครงการประชานิยมเพื่อคนยากจน ด้อยสิทธิ ไม่เพียงพอเมื่อการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้โมราเลสลาออกได้ลามไปทั่วประเทศ สุดท้ายต้องประเชิญกับแรงกดดันจากตำรวจและกองทัพ ซึ่งผู้นำของสองหน่วยงาน ได้เรียกร้องให้โมราเลสลาออกก่อนจะมีเหตุรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่

มีผู้เสียชีวิต 2-3 รายและบาดเจ็บหลายคนจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่

โมราเลสอ้างว่าเป็นการ “รัฐประหาร” บีบให้ออกจากตำแหน่ง แต่จะไม่ยอมหนีไปต่างประเทศ ถ้าใครมีหลักฐานว่าตัวเองมีการทุจริต คอร์รัปชัน ก็เอามาโชว์ได้ ข้อมูลเรื่องการเงินมีตัวเลขว่าโมราเลสมีความมั่งคั่งสุทธิเพียง 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ

มีแค่ประมาณ 15 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าจิ๊บจ๊อยสำหรับผู้นำโบลิเวีย ดินแดนแห่งโคเคน สารเสพติดราคาแพงซึ่งมีตลาดใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ และเกือบทั่วโลก

โมราเลสเป็นคนท้องถิ่นของโบลิเวีย รูปร่างหน้าตาไม่ทันสมัย แต่ประสบความสำเร็จด้านการเมืองด้วยการเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ ต่างจากผู้นำคนก่อนซึ่งมีเชื้อสายชาวยุโรปและไม่ใช่คนท้องถิ่น และได้เป็นขวัญใจคนจนอย่างแท้จริง

โมราเลสอ้างว่าต้องทำเพื่อคนยากจนด้อยสิทธิ ด้วยการเอาธุรกิจของต่างชาติและของเอกชนมารวมเป็นของรัฐบาล และขับเคลื่อนนโยบายสังคมนิยมเชิงประชานิยม ทำให้ไม่สบอารมณ์ของสหรัฐฯ ซึ่งมองว่าโมราเลสเป็นเหมือนหอกข้างแคร่

ด้วยวัย 60 ปีโมราเลส ประกาศว่าจะยังขอต่อสู้ต่อไปตามวิถีทางการเมืองซึ่งดูแล้วคงจะยากเมื่อฐานอำนาจเดิมอยู่ในสภาพอ่อนล้าเพราะปัญหาเศรษฐกิจและข้อกล่าวหาด้านความไม่โปร่งใสในการบริหารบ้านเมือง ทำให้โครงสร้างประเทศอ่อนล้า

ในการเลือกตั้ง โมราเลสมีคะแนนนำคู่แข่งซึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดีคาร์ลอส เมซา อยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อไม่ชนะเด็ดขาดก็น่าจะมีผลให้ต้องเลือกตั้งใหม่ วัดดวงอีกรอบในเดือนธันวาคม แต่การประท้วงลุกลามได้บีบโมราเลสให้ลาออก

นั่นเป็นเพราะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งพบว่าจากคะแนนสูสีกัน และการพักการนับคะแนนนานถึง 24 ชั่วโมงได้มีเหตุผิดปกติ เพราะนับคะแนนใหม่แล้วโมราเลสมีคะแนนนำคู่แข่งอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนไม่พอใจ นำไปสู่การประท้วง

จากเรื่องเลือกตั้งก็ลามไปสู่ข้อกล่าวหาอื่นๆ ทำให้ผู้นำเหล่าทัพฉวยจังหวะนั้นกดดันโมราเลสซึ่งรู้ตัวดีว่าถ้าไม่มีแรงหนุนจากกองทัพแล้วโอกาสรอดแทบไม่มี

โมราเลสก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำพร้อมด้วยรองประธานาธิบดี และประธานวุฒิสภา ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครจะรับตำแหน่งรักษาการก่อนจัดการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ ต้องดูว่าผู้นำคนใหม่จะดำเนินนโยบายอย่างไรให้เป็นที่พอใจของประชาชนที่เสพติดนโยบายประชานิยม จะยอมรับการคืนสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมหรือไม่

แน่นอนสหรัฐอเมริกาคงไม่ต้องการให้โบลิเวียอยู่ในระบอบสังคมนิยมตามที่โมราเลสได้วางรากฐานไว้ และจะต้องดูว่ามีใครพร้อมจะเป็นผู้นำซึ่งจะแปรสภาพเป็นเด็กดี เป็นเด็กว่านอนสอนง่ายของสหรัฐฯ ด้วยหรือไม่

ต้องดูด้วยเช่นกันว่าถ้าโบลิเวียเปลี่ยนแปลงนโยบายจะทำให้ความสัมพันธ์ในกลุ่มของประเทศละตินอเมริกาเป็นอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้โมราเลสได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชิลี เวเนซุเอลา คิวบา และประเทศอื่นที่อยู่ในสภาพเดียวกัน

นั่นคือมีการประท้วง เรียกร้องของประชาชนเพราะความไม่พอใจปัญหาปากท้อง การทุจริตคอร์รัปชันในกลุ่มผู้นำรัฐบาล ผู้กุมอำนาจในภาคเศรษฐกิจ และความด้อยโอกาสในการทำมาหากินและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยเฉพาะในชิลี

การลงจากเก้าอี้ผู้นำประเทศครั้งนี้จะถือว่าเป็นความล้มเหลวก็ไม่ถูกต้องนักเพราะโมราเลสได้กุมอำนาจนานเกือบ 14 ปี มีทั้งคนชอบและคนชัง เมื่ออยู่ในอำนาจนาน ไม่มีอะไรใหม่ ประชาชนย่อมเบื่อหน่ายเป็นธรรมดาของการเมือง

แต่การเมืองเป็นอาชีพที่ตายแล้วเกิดใหม่ได้ ถ้าชาวบ้านยังเห็นว่าไม่มีคนอื่นที่ดีกว่าหรือคนที่มาแทนโมราเลสมีผลงานเลวร้ายกว่าเดิม แต่กลุ่มทุนซึ่งมีเครือข่ายผลประโยชน์ร่วมกับผู้นำกองทัพและชนชั้นสูงย่อมจะไม่ต้องการโมราเลสอีก

โดยเฉพาะนโยบายสังคมนิยมหรือประชานิยมเข้ามากำหนดเส้นทางประเทศอีก เพราะมีตัวอย่างความเสียหายให้เห็นในเวเนซุเอลา อาร์เจนตินา ฯลฯ

ต่อให้เป็นนโยบายประชานิยมสุดโต่งอย่างไรก็ไปไม่รอด เพราะถ้าทำถึงจุดหนึ่งแล้วแม้ผู้นำจะอยู่ได้แต่ฐานะการเงินการคลังของประเทศอันเกิดจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายจะทำให้มีปัญหาดังที่เคยได้เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ

โมราเลสก็ไม่ได้อยู่เหนือกฎเกณฑ์นี้ และเป็นเหยื่อรายล่าสุดในบรรดาผู้นำประเทศละตินอเมริกา ซึ่งไม่สามารถต้านทานแรงกดดันจากการชุมนุมประท้วงของประชาชนซึ่งมีพลังขับเคลื่อนมากมาย และในโบลิเวียใช้เวลาเพียงเดือนกว่าเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น