วันนี้...คงต้องขออนุญาตไปติดตามรายการ “จุดไฟในนาคร” หรือฉากเหตุการณ์ “การประท้วง” ซึ่งกำลังแพร่สะพัดไปทั่วทั้งโลกกันต่ออีกสักหน่อย เพราะด้วยอาการ “หัวร้อน” ของผู้คนในแต่ละแห่ง แต่ละที่ หรือแต่ละประเทศ มันออกจะเป็นอะไรที่น่ากลัว น่าตกตะลึงพรึงเพริดมิใช่น้อย...
ประท้วงที่โบลิเวียนั้น...ถึงกับลากเอานายกเทศมนตรีหญิง “นางPatricia Arce” ออกมากล้อนผมกันกลางถนน แถมเอาสีราดหัวเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปทั่วทั้งตัว เนื่องจากถูกหาว่าเป็นผู้ยุยงให้ผู้สนับสนุนประธานาธิบดี “อีโบ โมราเลส” (Evo Morales) เล่นงานผู้ก่อการประท้วง จนต้องบาดเจ็บล้มตายกันไปเป็นรายๆ ส่วนประท้วงที่ชิลี...เห็นว่ามหาวิทยาลัยซานติอาโกถูก “เผามันเลยครับพี่น้อง...ผมรับผิดชอบเอง” ไปเมื่อช่วงวันศุกร์ (8 พ.ย.) ที่ผ่านมา ส่วนที่หนักเอามากๆ เห็นจะเป็นการประท้วงในอิรัก ที่เท่าที่ผ่านมา ก็เล่นเอาผู้คนล้มตายกันไปแล้วไม่ต่ำกว่า 250 ราย บาดเจ็บอีกเท่าไหร่ก็ยังมิอาจสรุปได้ แต่กระทั่งช่วงวันเสาร์ (9 พ.ย.) นี่เอง ก็ยังอุตส่าห์เพิ่มจำนวนคนตายเพราะการปะทะกับเจ้าหน้าที่ผู้รักษาความสงบเรียบร้อยไปอีก 4 ราย บาดเจ็บกันอีกนับเป็นสิบ เป็นร้อย...
ส่วนฮ่องกงนั้น...แทบไม่ต้องเสียเวลาพูดถึง เพราะบรรดาผู้ประท้วงอย่าง “กุมารฮ่องกง” ในแต่ละราย ออกจะเอาเรื่องซะยิ่งกว่าวัยรุ่นบ้านเรา ประเภทที่ยกพวกตีกันแถวๆร้านอาหารอ่างทอง-อยุธยา แล้วยังต้องตามไปกระทืบคู่อริถึงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลอ่างทอง ดังที่กลายเป็นข่าวคราวไปแล้วเมื่อวานนี้ไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า เพราะตลอดร่วม 6 เดือน หรือตลอดช่วง 24 สัปดาห์ที่ผ่านมาแห่งการประท้วง ไม่ว่าจะเป็นอาคาร ร้านค้า สถานีรถไฟใต้ดิน ทรัพย์สินสาธารณะ ไปจนธุรกิจเอกชน ฯลฯ ต่างถูกทุบ ถูกเผา ชนิดแทบกลายเป็นซากปรักหักพังไปทั่วทั้งเกาะแล้วก็ว่าได้ รวมทั้งใครที่ออกอาการขัดหู ขัดตา ขัดใจวัยรุ่น ก็อาจถูกกระทืบ ถูกเสียบ ถูกรุมซ้อมกันไปเป็นรายๆ ล่าสุด...เมื่อมีข่าวคราวว่าผู้ประท้วงรายหนึ่งอายุ 22 ปี เกิดตกตึกตายระหว่างปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็เลยส่งผลให้เกิดการไล่ทุบ ไล่เผา ไล่กระทืบ อะไรต่อมิอะไรต่างๆ ชนิดมันซ์ซ์ซ์มือ มันซ์ซ์ซ์ตีน อย่างมิอาจปฏิเสธได้...
อาการ “หัวร้อน” ของผู้คน...ที่นำไปสู่รายการ “จุดไฟในนาคร” ขึ้นมาในแต่ละประเทศ แต่ละซีกโลกนั้น แม้ว่าโดย “เงื่อนไข” และ “เหตุปัจจัย” มันอาจผิดแผกแตกต่าง กันไปตามสภาพ แต่สิ่งที่น่าสนใจมิใช่น้อย ซึ่งบรรดาพวกนักวิเคราะห์ นักสังเกตการณ์ บางกลุ่ม บางราย เขาได้หยิบมาใช้เป็นข้อสังเกต ข้อสมมติฐาน ต่อเหตุการณ์ทำนองนี้ ก็อาจมีบางอย่าง บางประการ ที่ออกจะคล้ายๆ กัน หรืออาจเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” อยู่พอสมควรทีเดียวอย่างเช่น “ดร.Christopher Sabatini” ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสมาชิกวิจัยอาวุโส “SIPA” (The school of International and Public Affairs)แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ได้หยิบเอาการประท้วงในละตินอเมริกาช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ชิลี เอกวาดอร์ ไฮติ ไปจนถึงโบลิเวีย มาสังเคราะห์และวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และได้จำแนกแยกแยะออกมาเป็นองค์ประกอบต่างๆ ประมาณ 3-4 เรื่องด้วยกัน...
โดยอันดับแรก...ก็หนีไม่พ้นจาก “ความไม่เชื่อมั่น-ศรัทธา” ในความเป็นรัฐบาลของประเทศต่างๆ นั่นแหละ เป็นเบื้องต้น โดยได้ไปหยิบเอาตัวเลข สถิติจากการสำรวจ วิจัยของมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ หรือ “Vanderbilt University’s Latin America Public Opinion Project” มาอ้างอิงไว้เสร็จสรรพ โดยเฉพาะที่ระบุว่าบรรดาชาวละตินอเมริกาถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของทั่วทั้งทวีป ต่างเชื่อว่ารัฐบาลในประเทศตัวเองล้วนแล้วแต่ “คอร์รัปชัน” ไปด้วยกันทั้งสิ้น ในชิลี...ผู้ที่ไว้วางใจต่อรัฐบาล หรือต่อพรรคการเมืองที่ตัวเองให้การสนับสนุนมีแค่ 8.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไฮติมีอยู่ประมาณ 13.5 เปอร์เซ็นต์ และโบลิเวียมีอยู่ประมาณ 16.3 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ...
โดยภายใต้ “ความไม่เชื่อมั่น-ศรัทธา” เหล่านี้...เมื่อแต่ละประเทศ ต้องเจอกับภาวะความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วทั้งโลก ควบคู่ไปกับภาวะที่เรียกขานกันในนาม “กับดักรายได้ของชนชั้นกลาง” มาโดยตลอด คือแม้ว่าในบางช่วง บางระยะความเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ จะสามารถก่อให้เกิด “ชนชั้นกลาง” เพิ่มขึ้นถึงปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ชนิดปีต่อปี เช่นระหว่างช่วงปี ค.ศ. 2000-2012 เป็นต้น แต่เมื่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลังๆ มันชักมุดหัวลง เช่น โบลิเวียที่เคยโต 4.8 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ยมาตั้งปี ค.ศ. 2004-2017 แต่ปี ค.ศ. 2019 ดันทรุดลงไปเหลือแค่ 3.9 เปอร์เซ็นต์ หรือชิลีที่เคยโต 4.1 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย ลดเหลือ 2.5 เอกวาดอร์ที่เคยโต 2.7 ลดเหลือ 0.5 ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรเหล่านี้นี่แหละ เลยทำให้บรรดา “ชนชั้นกลาง” ที่มีรายได้จำกัด-จำเขี่ยประมาณ 10-50 ดอลลาร์ต่อวัน และต้องนำเอารายได้เหล่านี้มาใช้ในการผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ผ่อนทีวี ตู้เย็น ไปจนถึงผ่อนอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะมากมาย เลยเกิดอาการ “หัวร้อน” ขึ้นมาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้...
พูดง่ายๆ ว่า...เมื่อ “ความไม่เชื่อมั่น-ศรัทธา” ต่อรัฐบาล มันถูกนำไปผสมผสานกับ “ความเป็นตัวกู-ของกู” ซึ่งออกจะเดือดร้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มันจึงส่งผลให้โอกาสที่จะเกิดองค์ประกอบอื่นๆ ตามมา นั่นก็คือ “การแทรกแซงจากต่างชาติ” หรือการหยิบเอาเงื่อนไข-เหตุปัจจัยภายใน มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประสงค์จะแทรกแซงจากภายนอกแต่ไม่ประสงค์จะออกนามทั้งหลาย จนทำให้เกิดข้อกล่าวหาตามมาในแต่ละประเทศ เช่นอิรัก เลบานอน ที่หันไปกล่าวโทษการแทรกแซงจากอิสราเอล ซาอุฯ ยูเออี ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วง ชิลี และเอกวาดอร์ ที่หันไปกล่าวโทษคิวบา เวเนซุเอลา และรัสเซีย ว่าเป็นผู้ยุแยงตะแคงรั่ว หรือฮ่องกงที่หนีไม่พ้นต้องหันไปโทษอเมริกาและประเทศตะวันตกแบบเน้นๆ เนื้อๆ...
สรุปเอาเป็นว่า...มันจะจริง-ไม่จริง น่าเชื่อ-ไม่น่าเชื่อ ก็ลองเก็บไปคิดเป็นการบ้านก็แล้วกัน แต่อย่างน้อย...ก็น่าจะนำมาเป็นข้อคิดสะกิดใจ เป็นอุทาหรณ์สอนใจ ประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาได้มั่ง ไม่ว่ามากหรือน้อย เพราะท่ามกลาง “ความเชื่อมั่น-ศรัทธาขอเวลาอีกไม่นาน” ของรัฐบาล กำลังลดลงมาเรื่อยๆ ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มันชักหดๆ หายๆ ไปพร้อมๆ กับที่บรรดาชนชั้นกลางในบ้านเรา นับวัน...ก็ดูจะตกอยู่ในภาวะ “กับดักรายได้” หนักยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มันถึงทำให้ตัวเลข “หนี้สินครัวเรือน” ที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยเมื่อช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ปาเข้าไปถึง 13 ล้านล้านบาท หรือ 78.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเอาเลยถึงขั้นนั้น แถมยังจัดเป็น “หนี้ระยะสั้น” หรือหนี้ที่เกิดจากการผ่อนรถ ผ่อนทีวี ตู้เย็น ผ่อนมือถือ ผ่อนบัตรเครดิต ฯลฯ ตามแบบฉบับ “ไลฟ์สไตล์” ของบรรดาชนชั้นกลางทั้งหลาย จำนวนถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์ โอกาสที่จะนำไปสู่อาการ “หัวร้อน” ขึ้นมาอย่างมิได้นัดหมาย หรืออย่างที่บรรดาคนหนุ่ม คนรุ่นใหม่ ทั้งหลายเขากำลังนัดๆ ให้หันมา “อยู่-ไม่-เป็น” ในช่วงอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยจะมีผู้ไม่ประสงค์ออกนามแต่ประสงค์จะแทรกแซง เข้ามีส่วนร่วมด้วยหรือไม่? อย่างไร? อันนี้...ก็ลองเก็บไปคิดๆ กันตามบุคลิกลักษณะตามอุปนิสัยของฝ่ายใคร-ฝ่ายมันกันเอาเอง...