ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เอาล่ะสิ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ชักออกอาการให้เห็นกันแล้ว
ในจังหวะที่รัฐบาล-ฝ่ายค้าน งัด “เกมการเมือง” มาวอร์กันแบบรัวๆในสภาผู้แทนราษฎร จนเกิดเหตุการณ์ “สภาล่ม” ติดต่อกัน 2 วันซ้อนๆ เมื่อการประชุมเมื่อวันที่ 27 และ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา
ที่เป็นช่วงลงมติในวาระญัตติด่วนเรื่องให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “ญัตติเช็กบิล ม.44” ที่ “จารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กับคณะเป็นผู้เสนอ
แน่นอนว่าฝ่ายรัฐบาลที่มีเชื้อสายมาจาก คสช.ตั้งธงชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้มีการตั้ง กมธ.คณะนี้ขึ้น ด้วยเกรงว่าจะเป็นเปิดทางให้มีรายการ “รื้อขยะใต้พรม” จับประกาศ-คำสั่ง คสช.มารีวิวรายฉบับ ไม่เท่านั้นยังมีอำนาจเรียกผู้มีตำแหน่งใน คสช.ทั้งผู้ที่เฟดตัวออกจากการเมืองไปแล้ว รวมทั้งผู้ที่ยังมีตำแหน่งทั้งในราชการและในรัฐบาล มาให้ข้อมูลแบบที่หลีกเลี่ยงได้ยากอีกด้วย
โดยมี “ใบสั่ง” ตรงจาก “ตึกไทยคู่ฟ้า” ว่า กมธ.ชุดนี้ให้ตั้งไม่ได้เด็ดขาด
ในความเป็นจริงฝ่ายค้านเองก็ “ทำใจ” ไว้แล้วว่า ญัตติดังกล่าวคงไม่ผ่านที่ประชุมสภาฯ แม้ว่ารัฐบาลจะมี “เสียงปริ่มน้ำ” แต่หากโหวตกันจริงๆแล้ว ฝ่ายค้านย่อมแพ้อยู่วันยันค่ำ
ทว่าพอลงมติกันจริงเมื่อช่วงค่ำวันที่ 27 พ.ย. กลับมี “เซอร์ไพร์ส” เมื่อผลการลงมติญัตติตั้ง กมธ.เช็คบิล ม.44 ปรากฏว่า เห็นด้วย 234 เสียง ไม่เห็นด้วย 231 คน งดออกเสียง 2 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน
เท่ากับว่าที่ประชุมมีมติให้ตั้ง กมธ.เช็กบิล ม.44
ทำให้ฝ่ายรัฐบาล โดย “เฮียยักษ์” วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล ต้อง “แก้เกม” ทันควัน โดยการเสนอให้มีการ “นับคะแนนใหม่” โดยอ้างสิทธิ์ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 85 ที่สาระสำคัญระบุว่า ถ้าการลงมติคะแนนห่างกันไม่เกิน 25 เสียง มีสิทธิ์เสนอให้นับใหม่ได้ แต่ต้องประกอบกับข้อ 83 (2) ที่กำหนดให้ “เปลี่ยนวิธี” จากการกดบัตรผ่านเครื่องออกเสียงลงคะแนนเป็นการขานชื่อรายบุคคล
เมื่อมีผู้เสนอและมีผู้รับรองตามข้อบังคับ ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ก็จำต้องดำเนินการตามข้อบังคับ ส่งผลให้ฝ่ายค้านแสดงความไม่พอใจ ประณามฝ่ายรัฐบาลว่า “แพ้แล้วพาล” จนต้องมีการพักการประชุมเพื่อตกลงกัน
แต่ทางฝ่ายรัฐบาลก็ยืนกรานจะไม่ถอนญัตติที่ขอนับคะแนนใหม่ ทำให้ฝ่ายค้านชิงเสนอนับองค์ประชุม ก่อนวอล์กเอาท์จากที่ประชุม
ที่สุดองค์ประชุมไม่ครบ เป็นเหตุให้สภาล่มครั้งแรก ก่อนที่จะมาล่มซ้ำสอง เมื่อรัฐบาลก็ยังไม่สามารถควบคุมองค์ประชุมได้ถึงกึ่งหนึ่งของที่ประชุม ในเช้าวันต่อมา
“ฝ่ายค้าน” ตามน้ำ เปิดแผล “รบ.ไร้เอกภาพ”
พลันที่ทำการไล่เช็คผลการลงมติขอตั้ง กมธ.เช็กบิล ม.44 ที่ฝ่ายรัฐบาลซึ่งลงมติไม่เห็นด้วยนั้น มีเพียง 230 คน ขาดหายไปจากจำนวนเต็ม 252 เสียงในปัจจุบัน
และยังลดลงจากการโหวตเพื่อถอนญัตติขอให้ตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบการบังคับใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนหน้านั้นไม่นาน ที่ปรากฏมีผู้เห็นชอบ 240 เสียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อยู่แท้ๆ
ปรากฏว่า ไม่เพียงแต่ ส.ส.บางส่วนหายไปจากห้องประชุมเท่านั้น ยังมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 6 เสียง ที่ไปลงมติ “เห็นด้วย” อันเป็นทิศทางเดียวกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ประกอบด้วย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย - เทพไท เสนพงศ์-อันวาร์ สาและ- ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ - กันตวรรณ ตันเถียร - พนิต วิกิตเศรษฐ์
โดยกลุ่ม 6 ส.ส.ประชาธิปัตย์ ชี้กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็น “งูเห่าสีฟ้า” ว่า ญัตติดังกล่าวทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้เสนอไว้โดย “เฮียมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และคณะ รวมไปถึง “เสี่ยตาล- สาทิตย์” ส.ส.ตรัง ก็ได้เสนอ และอภิปรายสนับสนุนญัตติในทำนองเดียวกันไว้ด้วยเช่นกัน
“ไม่ได้คิดเรื่องเอาคืน หรือล้างแค้นอะไรทั้งสิ้น” คือคำชี้แจงของ “เสี่ยคึก- เทพไท” ซึ่งที่ผ่านมามักมีความคิดเห็นสวนทางกับรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐมาในหลายกรณี
เอาเข้าจริง “กระแสข่าว” ที่ว่าจะมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ 5-6 คน “แตกแถว” นั้นเป็นที่รับรู้กันทั่วสภาฯ และยังรั่วไปถึงซีกฝ่ายค้านด้วย แต่แกนนำฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ “ค่ายเพื่อไทย” เองก็หาได้ไว้ใจ “ผู้แทนฯ ค่ายสะตอ” ที่รู้มือกันดีเท่าไร อีกทั้งการตั้ง กมธ.เช็กบิล ม.44 ก็ไม่ได้เป็นวาระสำคัญของพรรคเพื่อไทย จึงไม่พยายามล็อบบี้อะไรมากมาย
พอผลออกมา ปรากฏชื่อ 6 ส.ส.ประชาธิปัตย์ โหวตสวนมติวิปรัฐบาล และทำให้ฝ่ายค้านเอาชนะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำได้ ก็กระหยิ่มยิ้มย่องในที แม้รู้ดีว่า หากกลับลงมติโดยการขานชื่อตามข้อบังคับ ฝ่ายรัฐบาลย่อมพลิกกลับมาชนะได้ไม่ยาก
เมื่อมีจังหวะก็ไม่ปล่อยให้เสียของ อาศัย “เล่นตามน้ำ” โดยการไม่ให้แสดงตัวต่อที่ประชุมเพื่อให้สภาล่ม หวัง “ตีรวน” ให้การทำงานสภาฯไปไม่ได้ 2 วันซ้อนๆ ก็เพียง “ขยายแผล” ความขัดแย้งภายในรัฐบาลให้เด่นชัดขึ้น
เรียกว่าเกมนี้ฝ่ายค้านมีแต่ “ได้กับได้” แม้จะต้องทอดเวลาญัตติสำคัญในการขอตั้ง กมธ.พิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ออกไปก็ตาม
ผนวกกับถอดรหัสคำสำคัญที่ว่า “เอาคืน- ล้างแค้น” ในคำชี้แจงของ “เทพไท” ส.ส.เมืองคอน พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นรู้กันว่าเป็นหนึ่งในคนสนิทของ “อภิสิทธิ์” ก็ยิ่งสะท้อนถึงความไม่พอใจบางประการของกลุ่ม ส.ส.ประชาธิปัตย์
เป็นอื่นไปไม่ได้นอกเหนือจากวาระการขอตั้ง กมธ.พิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ก่อนหน้านี้ “ค่ายสีฟ้า” มีมติพรรคเสนอชื่อ “อภิสิทธิ์” เป็นประธาน กมธ.คณะดังกล่าว
ที่ไม่เพียงไร้เสียงตอบรับจาก “ค่ายพลังประชารัฐ” เท่านั้น ยังมีการตีข่าวสกัด “อดีตนายกฯมาร์ค” ออกมาเป็นรายวันอีกต่างหาก สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ต้องกลับมติพรรคไม่ส่งชื่อ “อภิสิทธิ์” ร่วมเป็น กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรู้ว่าคงไม่ได้รับเสียงสนับสนุนให้นั่งหัวโต๊ะอย่างแน่นอน
คำว่า “เอาคืน -ล้างแค้น” ของ “เทพไท” ผู้ที่จุดพลุชื่อของอดีตเจ้านายอย่าง “อภิสิทธิ์” ออกมาเป็นคนแรก จึงสะท้อน “นัยทางการเมือง” ได้ไม่น้อย
ไม่เพียงเท่านั้น การที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์แหกมติวิปรัฐบาล ถือเป็น “ปรากฏการณ์” ที่ต้องจับตา เพราะสำหรับพรรคการเมืองเก่าแก่แห่งนี้ ยึดถือ “มติพรรค” ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าวัตถุมงคลในสากลโลกเสียอีก แต่การปล่อยให้มี ส.ส.ออกนอกลู่ โดยที่ทางพรรคไม่มีท่าทีใดๆ
ก็คล้ายส่งสัญญาณกระตุก “บิ๊กรัฐบาล” ให้รับรู้ว่า “ค่ายสะตอ” ยังคงมี “พิษสง” อยู่
จะว่าไปก็ตรงกับที่เคยมีการประเมินกันในช่วงตั้งรัฐบาลว่า การดึง “ค่ายประชาธิปัตย์” เข้ามาร่วมรัฐบาลนั้น ก็ไม่ต่างจากการเลี้ยง “งูพิษ” ที่รอวันแว้งกัดไว้นั่นเอง โดยเฉพาะเรื่องเกมการเมืองที่ถือเป็นเต้ยในเมืองไทย
อีกทั้งที่ผ่านมา ดีลต่อรองต่างๆของพรรคพลังประชารัฐ มักตกเป็นรองพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อครั้งเลือกประธานสภาฯ ที่แหกประเพณีการเมือง เมื่อจู่ๆ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ แกนนำจัดตั้งรัฐบาลเทเสียงสนับสนุนให้ “นายหัวชวน” ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุข ฝ่ายนิติบัญญัติ แทนที่จะเป็น “พ่อมดดำ” สุชาติ ตันเจริญ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้รับการวางตัวมาตั้งแต่เลือกตั้งเสร็จใหม่ๆ
อันทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถกำหนด “เกมในสภา” ได้เหนือกว่าพรรคพลังประชารัฐ สะท้อนให้เห็นถึงกลเกมต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ที่ไม่ธรรมดา
และเมื่อไม่ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ก็เลยงัด “เกมสั่งสอน” ให้รู้ว่าเป็น “พรรคเก่า เก๋าเกม” ไม่ได้ไร้พิษสงอย่างที่คิด
อาฟเตอร์ช็อกจากปฏิบัติการงวดนี้ หาใช้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียงดังมากขึ้นเท่านั้น ยังทำให้บรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย หรือโดยเฉพาะพรรคเล็ก-พรรคจิ๋ว สามารถ “โก่งราคา” ได้อีกด้วย
“...ผมถือว่าผมเป็นทหารเก่า ฉะนั้นถือว่าสัญญาลูกผู้ชายสุภาพบุรุษสำคัญที่สุด การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องร่วมรัฐบาลจริงๆ ในสิ่งที่รัฐบาลทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ต่อสู้กันทางการเมืองอย่างเดียว...”
เป็นเสียงคำรามดังๆ จาก “หมองู” อย่าง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาล ที่เดิมเคยวางตัวไม่ยุ่งเกี่ยวการทำงานของสภาฯ แต่คงจับได้ไล่ทันว่าบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลกำลัง “เล่นเกมการเมือง” บางประการ
เพราะมันชักลามมาสะเทือนมาถึงเสถียรภาพของรัฐบาลแล้ว
“ทีมเศรษฐกิจ” ไร้ทีมเวิร์ก 3 ก๊กเล่นคนละคีย์
ไม่ใช่แค่ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” เกมการเมืองในสภาฯเท่านั้นที่มีปัญหา ใน “ฝ่ายบริหาร” การขับเคลื่อนงานของรัฐบาลเองก็ดูจะไม่ไหลลื่น ไม่ใช่แค่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น กับ “พรรคภูมิใจไทย” ก็มีความขุ่นข้องหมองใจกันไม่น้อย
หลายกรณี “พรรคร่วมฯ” เลือก “เล่นคนละคีย์” แบบไม่คิดจะคุยกันก่อน
ง่ายๆ กับประเด็นร้อน “แบน 3 สารพิษ” ที่ทางพรรคภูมิใจไทย ทั้ง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ให้ท้าย “มาดามแหม่ม” มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร แบบไม่มีทางให้เลี้ยวกลับ แถมเปิดหน้าชนกับ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จนแทบมองหน้ากันไม่ติด
กระทั่งผลักดันให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติ “แบน” สารเคมีกำจัดวัชพืชอันตรายร้ายแรงทั้ง 3 ตัว อย่าง พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ได้เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ดีเดย์เริ่ม 1 ธ.ค. เป็นของต้องห้ามทั่วราชอาณาจักร
แต่เกมเปลี่ยนทันทีเมื่อ “เดอะซัน” สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นหัวโต๊ะประชุมอีกรอบเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา พลิกมติเลื่อนการแบน 2 สารเคมี คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 6 เดือน ส่วน “ไกลโฟเซต” ยกเลิกการแบนทุกกรณี โดยระบุว่าเพื่อหา “ทางเลือก” ให้แก่เกษตรกรได้เสียก่อน
แถมงานนี้เห็นได้ชัดว่า “แท็กทีม” กับ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” รมว.เกษตรฯจากประชาธิปัตย์อีกต่างหาก
ทำเอา “ค่ายภูมิใจไทย” ออกการกระฟัดกระเฟียดไม่พอใจอย่างมาก
แต่ปมปัญหาที่ทำให้ “เรือเหล็กลุงตู่” ถูกขนานนามว่าเป็น “รัฐบาล 3 ก๊ก” ในขณะนี้ หลักใหญ่ใจความอยู่ที่งานด้านเศรษฐกิจที่ควรเป็นกลจักรสำคัญในการเรียกเรตติ้งให้รัฐบาล กลับ “ฟอร์มแผ่ว” จนน่าใจหาย กลายเป็นเป้านิ่งให้ฝ่ายตรงข้ามถล่มได้ไม่เว้นวัน
เรียกว่าไม่ไว้หน้า “นายกฯ ประยุทธ์” ผู้ยึดหัวหาดเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนปัจจุบันเอาเสียเลย
อย่างไรก็ดีต้องเข้าใจธรรมชาติของ “รัฐบาลผสม” ที่ยากที่จะมี “ทีมเวิร์ก” ทำงานเข้าขากันอยู่เป็นทุน ยิ่งการแบ่งกระทรวงเศรษฐกิจหลักงวดนี้ ต่างจากสมัย “รัฐบาล คสช.” ที่มี “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็น “แม่ทัพเศรษฐกิจ” และขับเคลื่อนงานอย่างมันมือ ติดก็แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่ค่อยเป็นใจเท่าไร
พอปรับโหมดมาเป็น “รัฐบาลเลือกตั้ง” แม้ “เฮียกวง” จะเหนียวแน่นในตำแหน่งรองนายกฯ แต่บทบาทอำนาจสั่งการก็ดูจะไม่เด่นชัดเท่าเดิม กลายเป็น “ยักษ์ขาดกระบอง” ผลจากการที่ “นายกฯตู่” เลือกที่จะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และฟื้นการประชุม “ครม.เศรษฐกิจ” ขึ้นมา
สำคัญที่ “กระทรวงเศรษฐกิจ” ที่เคยขับเคลื่อนเป็นอันหนึ่งอันเดียวภายใต้ชื่อ “ทีมเฮียกวง” ก็แตกฉานซ่านเซ็นไปอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง “ค่ายสีฟ้า” ที่ยึดเอากระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ รมช.คมนาคม ไป ส่วน “ค่ายบุรีรัมย์” ก็ฮุบกระทรวงคมนาคม, กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พ่วงด้วย รมช.พาณิชย์ ไป
ขณะที่ “ค่ายพลังประชารัฐ” ในคาถา “สมคิด” เหลือเพียง 3 กระทรวงเศรษฐกิจเท่านั้น คือ กระทรวงการคลัง, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน เท่านั้น
กลายเป็นว่ากระทรวงเศรษฐกิจที่ควรมี “ทีมเวิร์ก” สูง ต้องอยู่ภายใต้การบริหารของ 3 พรรคการเมือง ที่ “รสนิยม” ต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล ที่มุ่งหมายใช้โอกาสคุม “กระทรวงเกรดเอ” ในการ “โกยผลงาน-ตุนกระสุน” ทั้ง “ทางลับ - ทางแจ้ง” ไว้สู้ศึกเลือกตั้งในอนาคต
เป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ด้วยต้องบริหารงานบนเงื่อนไขที่ไม่เอื้ออำนวย ขณะที่โลโก้ “กระบี่เศรษฐกิจมือหนึ่ง” แปะอยู่ที่หน้าผาก “เฮียกวง”
ครั้นจะประคองตัวเอาแค่ไม่ให้อาการทรุดหนักกว่าที่เป็นอยู่พอไปไหว แต่การผลักดันนโยบาย-โครงการ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศสามารถผงกหัวขึ้นมาได้ เป็นไปได้ยาก
ด้วยเครื่องมือในการกระตุ้นไม่ขยับ ในอารมณ์หัวส่าย หางไม่ค่อยขยับ
เป็นที่มาของ “วรรคทอง” ในระหว่างที่ “รองฯสมคิด” ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานการประชุมความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า
“...ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ การดูแลเศรษฐกิจเหลืออยู่ขาเดียว ขณะที่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น มีกลไกที่เกี่ยวข้องมากคือ เรื่องการส่งออก เรื่องของค่าครองชีพ การเบิกจ่ายภาครัฐ การดูแลภาคเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ ฉะนั้น เครื่องยนต์เหล่านี้จะต้องเดินทุกตัว ในส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น กระทรวงการคลังก็จะทำในส่วนที่ตัวเองสามารถทำได้ นั่นคือ การกระตุ้นการบริโภค ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น และดึงเอกชนเข้าลงทุนเหล่านี้ ส่วนอื่นๆนั้น ต้องไปถามผู้ที่รับผิดชอบ แต่ตนก็คิดว่า เขาก็พยายามอยู่แล้ว แต่ว่า ถ้าอยากจะรู้ก็ต้องไปถาม เมื่อก่อนมี 4 ขา ตอนนี้ มีขาเดียว จะทำอย่างไร ฉะนั้น การดูแลเศรษฐกิจจะต้องเดินไปด้วยกัน เพียงแต่ว่า แต่ละกระทรวงก็มีหน้าที่ขับเคลื่อน ส่วนกระทรวงการคลังก็ไม่ได้มีหน้าที่ทำเรื่องส่งออก...”
เป็นเสียงกระแอมไปแรงๆ ถึง “เครื่องยนต์ 3 ตัว” และถามถึง “ผู้รับผิดชอบ” อันได้แก่ “การส่งออก-การดูแลภาคเกษตร” ของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ที่ดูแลโดยพรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึง “การเบิกจ่ายภาครัฐ” ที่ไม่พ้นเมกะโปรเจ็กต์ภายใต้กำกับของกระทรวงคมนาคม ที่มีพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้ดูแลหลัก
หนักไปกว่านั้นคือ การที่ “เทพไท” ที่สงสัยว่างจัดเลยออกเดินตลาดยืมปากแม่ค้าด่ากราดทีมเศรษฐกิจคนกันเอง เน้นๆ เนื้อๆ ว่าไม่มีฝีมือ ปล่อยราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ชาวบ้านหน้าเหี่ยว กระเป๋าตังแฟบ
ซ้ำยังจัดหนักซัด “ลุงตู่” ว่าเป็นนายทหารเก่า ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ ผิดพลาดใช้คนไม่ตรงงาน และเหมายกเข่งทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลลุงตู่ ชุดนี้ล้มเหลว!
สงสัยจะลืมไปว่า ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งออกหด มีปัญหาค่าครองชีพ ตกงานกันเป็นลูกโซ่นั้น ก็เป็นงานในมือของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นั่งแป้นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ คนกันเองแท้ๆ
ไม่ต้องพูดถึงรัฐมนตรีเศรษฐกิจอีกหน่อหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ที่โลกลืม ก็คือ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งไม่เห็นผลงานกระตุ้นเศรษฐกิจปรากฏต่อสังคมเลยก็ว่าได้
เมื่อ เทพไท แรงมา สมคิดก็แรงไป ซัดหมัดตรงๆ ว่า “มาตรการของกระทรวงการคลังที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ผมได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และ มีแนวโน้มจะออกมาตรการเพิ่มด้วย เพราะอยู่ในความรับผิดชอบ ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากคลัง จะต้องไปถามเจ้ากระทรวงเอง เพราะอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบ ไม่สามารถตอบได้ และในกรณีที่ยังมีข้อสงสัยถึงความเป็นเอกภาพของทีมเศรษฐกิจ หลังไม่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ๆ โดยรวมจากทุกกระทรวงดังเช่นที่ผ่านมา ส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจ มีไม่มากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงขับเคลื่อนจาก 4 ขา แต่ในปัจจุบัน จะเหลือเพียง 1 ขา คือ ขาที่มาจากกระทรวงการคลังเท่านั้น”
แบบนี้ชัดพอมั้ย? วัดกันมาเลยใครทำ ใครไม่ทำ?
นอกเหนือจากมาตรการชิม ช้อป ใช้ แล้ว ล่าสุด กระทรวงการคลัง ยังอัดแพกเกจ กระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีมติอนุมัติตามที่คลังเสนอ โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า ที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 3 โครงการ คือ โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการบ้านดีมีดาวน์
การเล่นคนละคีย์ ทำงานคนละท่วงทำนองของกระทรวงเศรษฐกิจ กลายเป็นการบ้านสำคัญที่กัปตันทีมเศรษฐกิจอย่าง “นายกฯลุงตู่” คงต้องลงมาขันนอตเสียที
เพราะขืนปล่อยให้ทำงานแบบ “ตัวใคร ตัวมัน” จนเครื่องสะดุด เรือเหล็กคงแล่นไม่ถึงฝั่งเป็นแน่