xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รันเวย์สั้น ขาดทุนยาว “สุเมธ” จะพา THAI Takeoff เหินฟ้าฝ่าวิกฤตไหวป่ะ!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สุเมธ ดำรงชัยธรรม
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จากรักคุณเท่าฟ้าถึงเวลานี้จะยังรักคุณอยู่อีกไหม ขายทิ้ง THAI สมบัติชาติที่กลายเป็นภาระของชาติ จะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ดีกว่าหรือเปล่า?

เป็นคำถามที่ สุเมธ ดำรงชัยธรรม “ดีดีการบินไทย” หลานชายของ อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งแกรมมี่ ซึ่งเป็นนักบริหารมืออาชีพระดับแถวหน้าของเมืองไทย รู้คำตอบอยู่แก่ใจ ถึงขั้นหลุดว่าเวลาของบินไทยนั้นเหลือแสนสั้น และถ้า operation #SaveTG #OneTG ที่ดีดีบินไทยปลุกระดมเพื่อนำพา THAI Takeoff ไม่ได้ผล “เจ้าจำปี” ดอกนี้ก็คงเหี่ยวเฉาร่วงโรยเหลือเพียงตำนาน มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง!

ความเชื่อมั่นที่ว่า “หลานชายอากู๋” ผู้สร้างชื่อเสียงในวงการธุรกิจจากฝีมือและความสามารถหารายได้จาก “ซากธุรกิจ” หดหายลงไปเรื่อยๆ เมื่อเจอการบินไทย สายการบินแห่งชาติที่เคยยิ่งใหญ่ แต่ถูกสูบเลือดไม่หยุด และถูก Disruption อย่างรุนแรงจนมีสภาพเหมือนซอมบี้ที่เหลือแต่ซาก มองไม่เห็นโอกาสฟื้นคืนชีพ และยังดูเลื่อนลอยมากกับเป้าหมายพาบินไทยกลับมากำไรในปีหน้า 2563 ตามที่ สุเมธ วาดฝันเอาไว้

ล่าสุด ตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 3/2562 ก็โชว์ให้เห็นผลงานการขาดทุนมโหฬารอีกครั้ง ถึงแม้ว่า สุเมธ จะสอบผ่านการประเมินตาม KPI ก็ตามทีเถอะ โดยบริษัทฯและบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 45,016 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 2,937 ล้านบาท หรือ 6.1% มีค่าใช้จ่ายรวม 47,858 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 4,029 ล้านบาท หรือลดลง 7.8% ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีขาดทุนสุทธิ 4,680 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 994 ล้านบาท (27.0%)

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ปี 2562 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 3.7% ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร ลดลง 0.6% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร เฉลี่ย 80.0% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.5% โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 6.06 ล้านคน สูงกว่าปีก่อน 0.8%

เมื่อดูตัวเลขรวมงวด 9 เดือนแรกปีนี้ การบินไทยและบริษัทย่อย มีผลขาดทุนสุทธิ 10,782 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 7,875 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 270% ปัจจุบัน การบินไทย มีทรัพย์สินเท่ากับ 268,721 ล้านบาท มีหนี้สิน 248,265 ล้านบาท

นับเป็นสภาพที่ยังจมอยู่กับปัญหาขาดทุนยืดเยื้อเรื้อรัง โดยบริษัทมียอดขาดทุนสะสมอยู่ที่ 28,533 ล้านบาท และน่าหวั่นใจสำหรับผู้ถือหุ้นที่ “ติดดอย” มานมนานจนบัดนี้คือไม่มีโบรกเกอร์สำนักไหนแนะให้นักลงทุนซื้อหุ้นเข้ามาถัวเฉลี่ยต้นทุนเดิม และ ไม่แนะแม้จะให้ถือรอคอย มีแต่เสนอแนวทางแก้ปัญหา โดยยอมตัดใจขายขาดทุน เพราะถือต่อไปมองไม่เห็นอนาคต จากราคาหุ้นในช่วงที่การบินไทยแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน เมื่อปี 2534 อยู่ที่ 60 บาท ไหลรูดเรื่อยมาจนถึงเวลานี้ที่ยืนอยู่เหนือ 7 บาท บวกลบเล็กน้อย เท่านั้น

สำหรับการขาดทุนในรอบไตรมาส 3 ที่เพิ่งผ่านมานี้ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้เหตุผลที่ขาดทุนเพราะ 1)สถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินมีปัจจัยลบหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจจนทำให้หลายสายการบินต้องปิดตัวลง โดยปีนี้มีปิดตัวไปแล้ว 20 สายการบิน และอีกหลายสายการบินต่างประสบปัญหาการขาดทุน เนื่องจากปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบอย่างรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจโลก

2)การแข่งขันในตลาดที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก 3)ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง 4)ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก 5)ค่าใช้จ่ายเรื่องอัตราชดเชยเพิ่มเติมกรณีเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย จำนวน 400 วัน และ 6)ปัจจัยภายในที่ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง คือปัญหาความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของบริษัทผู้ผลิต

อย่างไรก็ตาม ดีดีบินไทย คาดหมายว่า ในไตรมาส 4/62 การบินไทยจะขาดทุนลดลงจากไตรมาส 3/62 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 4.68 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้จะมากขึ้นตามฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น โดยขณะนี้มียอดจองตั๋วล่วงหน้ากว่า 80%

การเข้ามารับตำแหน่งดีดีบินไทยท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่ามาตามใบสั่ง ขณะที่นายสุเมธ ไม่ได้เติบโตมาในธุรกิจนี้ ทำให้การเข้ามาบริหารงานของนายสุเมธ ถูกจับตามองจากคนภายในและภายนอกบินไทยว่าจะนำพาการบินไทยไปรอดหรือไม่


นายสุเมธ รับรู้สภาพปัญหาที่ต้องเผชิญหน้าเป็นอย่างดี ทั้งนี้ โจทย์ใหญ่เมื่อนายสุเมธ เข้ามาแล้วได้ดูงบต่างๆ แม้จะขาดทุนแต่มี ‘ผลกำไรจากการดำเนินงาน’ หรือ Operating Profit เป็นบวก ดังนั้น ปัญหาที่ต้องเร่งแก้เป็นอันดับต้นๆ คือ ภาระการขาดทุนจากราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และการซ่อมเครื่องบินที่ไม่เป็นไปตามแผน ซึ่งเรื่องน้ำมันผ่านไปได้ แต่เมื่อเจอค่าเงินบาทแข็งโป๊กเป็นประวัติการณ์ การแข่งขันที่รุนแรง และค่าซ่อมเครื่องบินที่ยังจัดการไม่ได้ ทำให้บินไทยต้องขาดทุนต่อเนื่อง และผลกำไรจากการดำเนินงานที่เป็นบวกก็ติดลบ

นอกจากนั้น สิ่งที่ดีดีบินไทยต้องเผชิญและแก้ไขได้ยากที่สุดคือ วัฒนธรรมการทำงานของคนการบินไทย ที่ปรับตัวไม่ทันกับโลกการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วมากตามเทรนด์ของเทคโนโลยี ทั้งคู่แข่งขันจากสายการบินคุณภาพในระดับเดียวกันและโลว์คอร์ส แอร์ไลน์

ในการประชุมระดับบริหารหลายครั้งหลายครา นายสุเมธ แจ้งปัญหาการบินไทยที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตและเรียกร้องหาสปิริตจากคนการบินไทย นับตั้งแต่ระดับผู้บริหารลงมาถึงระดับพนักงาน โดยระดับผู้บริหารขอให้ลดเงินเดือน ค่าตอบแทน ซึ่งดีดีการบินไทย ถึงกับขอว่า “อะไรที่เสียสละได้ ต้องเสียสละ” และปลุกระดมพนักงานให้ตื่นตัวร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจังวางเดิมพันสู้กันเต็มที่ในปีหน้า เพราะถ้าไม่ทำก็หมดเวลาที่จะสู้กันแล้วเพราะเวลาเหลือน้อยมาก

“วันนี้ไม่มี Comfort Zone ทุกคนตายหมดถ้าเรือล่ม แต่ทุกคนช่วยกันได้ ถึงเวลาที่เราอย่าไป “ชี้” คนอื่นว่าทำอะไร แต่ทุกคนต้องช่วยกัน ผมไม่ต้องการกระทบพนักงาน ทุกคนมีภาระ ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกัน ทั้งนี้ต้องไม่กระทบต่อ “ความปลอดภัย” และไม่กระทบต่อ “ความพึงพอใจของลูกค้า” นี่คือหัวใจในการแก้ไขปัญหาของพวกเรา ช่วยกัน Save TG และเป็น One TG นะครับ” เป็นถ้อยคำของนายสุเมธ ถ่ายทอดโดยนายกฤษณรัตน์ บูรณะสัมฤทธิ Senior Supervisor ของการบินไทย ที่โพสต์ใน Facebook ส่วนตัว “Aaron Puranasamriddhi”

ที่น่าจับตาคือ ดีดีบินไทย จะดึงเอาจุดแข็งของการบินไทย ซึ่งแบรนด์ยังปัง สลอตการบินยังถือว่าดีสุด มีเส้นทางการบินและตารางเวลาบินที่ดีทั้งในทวีปยุโรปและญี่ปุ่น บวกการเป็น hub ด้านการบินของไทย รวมทั้งบุคลากรที่มากประสบการณ์ มาพัฒนาต่อยอดเพื่อไปต่อได้อย่างไรในภารกิจที่ท้าทายตั้งเป้ากำไรในปีหน้าตามที่นายสุเมธ วางแผนว่าจะลุยเต็มสูบ ทั้งการจัดหาฝูงบิน ทั้งการยกเครื่องเทคโนโลยีสู่ความเป็น Digital Airlines Transformation ทั้งจะรื้อเรื่องการตลาดหันมาใช้ Social Media Marketing ให้มากขึ้น รวมทั้งอีคอมเมิร์ซ ผ่านแบรนด์การบินไทย ฯลฯ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การบินไทยนั้น เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมามักมี “การเมือง” เข้าแทรกตลอดในแทบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการตั้ง ดีดี, บอร์ด, ประธานบอร์ด อย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มานั่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม พร้อมวาระล้างบอร์ดรัฐวิสาหกิจใต้สังกัดคมนาคมเพื่อเอาคนใหม่เข้ามาแทน เป็นผลให้นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ที่มานั่งประธานบอร์ดการบินไทย อยู่ไม่ได้ต้องลุกไปในที่สุดโดยมีผลเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ตอนนี้ก็ต้องสรรหาคนใหม่มาแทน

ต้องไม่ลืมว่า ประธานบอร์ดบินไทยคนใหม่ มีงานที่สำคัญที่รอสนองตอบฝ่ายการเมืองอยู่คือ การจัดหาฝูงบินใหม่ ซึ่งเป็นขนมหวานเพราะมีคอมมิชชั่นติดปลายนวม ตอนนี้ตามแผนจัดหาฝูงบิน 38 ลำ ก็ยังค้างเติ่งอยู่ตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา และคราวนี้ รัฐมนตรีที่คุมคมนาคมมาจากต่างพรรค เรื่องก็คงตกลงกันยากขึ้นไปอีก การจะหาเครื่องบินใหม่ ขายทิ้งเครื่องเก่า เพื่อยกระดับการบริการลูกค้าก็ต้องรอกันไปท่ามกลางข่าวร่ำลือมีล็อกสเปกเหมือนเคย

เมื่อการบินไทยจะรอดหรือไม่รอดขึ้นอยู่กับการเมืองเป็นสำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่ฝีมือการบริหารของ ดีดี ฉะนี้แล้ว ถึงแม้ว่า“หลานอากู๋” จะเค้นสมองคิดหาทางพาบินไทยไปให้พ้นจากการขาดทุน ก็ต้องชำเลืองดูฝ่ายการเมืองด้วยว่าจะเอาด้วยไหม ยังไม่ต้องเรื่องใหญ่อย่างจัดหาฝูงบิน เอาแค่รับลูกเรือ นายสุเมธ ก็เจอคำสั่งจากนายศักดิ์สยาม ให้ทบทวนใหม่และต้องคืนเงินผู้สมัครกันแล้ว

ส่วนนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลงานในน่านฟ้าทั้งหลายทั้งปวง ก็ไม่ปรากฏผลงานเป็นชิ้นเป็นอันในการช่วยหนุนส่งให้เจ้าจำปีมีโอกาสฟื้นคืนชีพ ถึงเวลาทีมเศรษฐกิจประชาธิปัตย์ โชว์ฝีมือหน่อย อย่าปล่อยให้แต่ภูมิใจไทยตีกิน

ละจากการบินไทย หันมาดูผลประกอบการของสายการบินอื่นในรอบไตรมาส 3/2562 และตัวเลขรวม 9 เดือนในปีนี้กันบ้าง

บางกอกแอร์เวย์ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยผลประกอบการในไตรมาส 3/2019 พบว่ามีรายได้รวมอยู่ที่ 6,698.9 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 65.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ส่วนผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 พบว่าสายการบินบางกอกแอร์เวย์มีรายได้รวมอยู่ที่ 20,540.2 ล้านบาท ลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และขาดทุนสุทธิ 121.3 ล้านบาท

ส่วน นกแอร์ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในไตรมาส 3/2562 พบว่าบริษัทมีรายได้จากค่าโดยสารอยู่ที่ 2,437.76 ล้านบาท เติบโต 0.07% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2562 (ไม่รวมบริษัทย่อย) พบว่าขาดทุน 486.86 ล้านบาท ด้านผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 บริษัท ขาดทุนอยู่ที่ 1,240.95 ล้านบาท ลดลง 29.02% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน

สำหรับ แอร์เอเชีย บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการในไตรมาส 3/2562 พบว่าในไตรมาส 3/2562 มีรายได้รวม 9,661.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 10,143.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีตัวเลขขาดทุน 416.6 ล้านบาท โดยผลประกอบในช่วง 9 เดือนแรกของ 2562 พบว่ามีรายได้ 31,218.6 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 736.9 ล้านบาท

เรียกว่าขาดทุนกันถ้วนหน้า แต่ยังไม่หนักหนาเท่ากับการบินไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น