เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – ปี 2019 ได้เห็นการปะทุของการชุมนุมเดินขบวนประท้วงตามที่ต่างๆ ทั่วโลก เมื่อประชาชนเรียกร้องให้แก้ไขยกเครื่องระบบการเมืองที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ไปจนถึงการปฏิบัติการเพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์อันปั่นป่วนผันผวนอย่างอื่นๆ อีก
หลายๆ เหตุการณ์ซึ่งน่าจะถือเป็นหลักหมายสำหรับปีนี้ มีดังนี้:
**ประท้วงทั่วละตินอเมริกา**
วันที่ 23 มกราคม ฆวน กวยโด ผู้นำฝ่ายค้านเวเนซุเอลา ประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว และทำให้วิกฤตเศรษฐกิจ-การเมืองเวเนซุเอลาร้อนระอุยิ่งขึ้น
กวยโดได้รับการยอมรับจากกว่า 50 ประเทศ นำโดยสหรัฐอเมริกา แต่กองทัพเวเนซุเอลายังจงรักภักดีและปกปักษ์ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร อยู่ในตำแหน่งมาจนถึงขณะนี้
กลางเดือนกันยายน เกิดการประท้วงใหญ่ในเฮติหลังน้ำมันขาดแคลน และประชาชนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจเวเนล มอยส์ ลาออก รายงานระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงนี้กว่า 40 คน
การขึ้นค่าตั๋วรถไฟใต้ดินในเมืองหลวงของชิลีเมื่อกลางเดือนตุลาคม ได้จุดชนวนการประท้วงที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 คน ก่อนที่จะมีการทำประชามติและเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้ปฏิรูปการเมือง
โบลิเวียเผชิญการประท้วงนาน 3 สัปดาห์นับจากที่ประธานาธิบดีอิโว มอราเลส อ้างชัยชนะในการเลือกตั้งเพื่อครองตำแหน่งวาระที่ 4 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้นับสิบ และโมราเลสตกลงลาออกในวันที่ 10 พฤศจิกายนก่อนหนีออกนอกประเทศ ขณะที่รัฐบาลชั่วคราวเตรียมจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยที่โมราเลสแถลงในเวลาต่อมาว่า เขาถูกรัฐประหารโค่นล้มยึดอำนาจโดยที่มีสหรัฐฯเป็นหัวโจก เพื่อจะได้เข้าถึงแหล่งแร่ “ลิเธียม” อันมหาศาลของโบลิเวีย
เอควาดอร์เป็นอัมพาตเกือบ 2 สัปดาห์จากการประท้วงในเดือนตุลาคม ส่วนโคลอมเบียมีการนัดหยุดงานและการประท้วงต่อต้านรัฐบาลปีกขวาที่เริ่มต้นมาตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน
**ผู้นำไอเอสสิ้นชื่อ**
หลังจากครอบครองพื้นที่กว้างขวางในอิรักจรดซีเรียและสถาปนารัฐอิสลาม (ไอเอส) ขึ้นมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เหล่านักรบญิฮาดกลุ่มนี้ถูกขับไล่พ้นที่มั่นสุดท้ายในเดือนมีนาคมด้วยฝีมือกองกำลังที่นำโดยกลุ่มเคิร์ด ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งแรงของสหรัฐฯ
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศว่า อบู บัคร์ อัล-บักดาดี ผู้นำไอเอส กดระเบิดฆ่าตัวตายหลังจนมุมเมื่อถูกทหารหน่วยรบพิเศษของอเมริที่บุกเข้าจู่โจมถึงแหล่งกบดานในซีเรีย
**โบอิ้ง แม็กซ์พักยาว**
โศกนาฏกรรมเครื่องบินโดยสารของเอธิโอเปียน แอร์ไลนส์ ตกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม นำไปสู่การระงับการใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ทั่วโลก โดย 6 เดือนก่อนหน้านั้น เครื่องบินรุ่นเดียวกันนี้ของไลอ้อน แอร์ แห่งอินโดนีเซีย ประสบชะตากรรมเดียวกัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมสองเหตุการณ์ 346 คน
นอกจากนั้นโบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินหมายเลขหนึ่งของอเมริกา ยังถูกสอบสวนและฟ้องร้อง รวมถึงถูกบังคับให้ปรับปรุงระบบต่างๆ จากวิกฤตที่ทำให้บริษัทต้องเสียเงินหลายพันล้านดอลลาร์
กลางเดือนธันวาคมโบอิ้งประกาศพักการผลิต 737 แม็กซ์ไม่มีกำหนด ต่อมาในวันที่ 23 ธันวาคม เดนนิส มุยเลนเบิร์ก ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งประธานบริหารเซ่นวิกฤต 737 แม็กซ์
**มหากาพย์เบร็กซิต**
เส้นตายที่อังกฤษจะต้องถอนตัวจากสหภาพยุโรปตามผลการลงประชามติเมื่อปี 2016 ที่เดิมกำหนดไว้ในวันที่ 29 มีนาคม 2019 ได้ถูกเลื่อนถึง 3 ครั้ง เนื่องจากรัฐสภาอังกฤษไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับเงื่อนไขการถอนตัวที่เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไปเจรจาไว้กับบรัสเซลส์ และกระทั่งข้อตกลงรอบสองที่บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนต่อมาและคนปัจจุบัน ไปต่อรองกับอียูมาอีกรอบหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หลังจากพรรคอนุรักษนิยมของจอห์นสันชนะการเลือกตั้งทั่วไปในอังกฤษเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ข้อตกลงเบร็กซิตของเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากสภาสามัญชน และเขาเตรียมนำเข้าโหวตรอบสุดท้ายในวันที่ 9 มกราคมเพื่อให้อังกฤษออกจากอียูในวันที่ 31 มกราคม 2020
**ไฟไหม้มหาวิหารน็อทร์ดาม**
วันที่ 15 เมษายนเกิดเหตุไฟไหม้ใหญ่ที่เผาทำลายยอดแหลมและหลังคาของมหาวิหารน็อทร์ดามอันเป็นที่รักของปารีส อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถรักษาโครงสร้างอาคารยุคโกธิกนี้ไว้ได้ เช่นเดียวกับงานศิลปะและสมบัติล้ำค่าอีกหลายชิ้น
เหตุการณ์นี้ทำให้คนทั่วโลกร่วมบริจาคเพื่อบูรณะมหาวิหารน็อทร์ดามรวมเป็นเงินทั้งสิ้นเกือบ 1,000 ล้านยูโร (1,100 ล้านดอลลาร์) และถือเป็นครั้งแรกนับจากปี 1803 ที่น็อทร์ดามไม่มีส่วนร่วมในพิธีมิสซาฉลองเทศกาลคริสต์มาส
**อิหร่านแผลงฤทธิ์**
วันที่ 8 พฤษภาคม เตหะรานประกาศขั้นตอนแรกในการถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 หรือหนึ่งปีพอดิบพอดีหลังจากที่อเมริกาฉีกข้อตกลงดังกล่าวและฟื้นมาตรการแซงก์ชั่นอิหร่าน
หลายเดือนต่อมา อิหร่านกลับไปพัฒนาส่วนประกอบโครงการนิวเคลียร์ที่ระงับไป ซึ่งรวมถึงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม
สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้นเมื่อวอชิงตันกล่าวหาเตหะรานโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันหลายครั้งในอ่าวเปอร์เซียในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม
วันที่ 14 กันยายน อิหร่านถูกกล่าวหาอีกครั้ง หลังจากโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ของซาอุดีอาระเบียถูกกบฏฮูตีในเยเมนโจมตี ซึ่งแม้ให้การสนับสนุนกบฏกลุ่มนี้ แต่เตหะรานยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีดังกล่าว รวมถึงการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันก่อนหน้านั้น
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เตหะรานจัดเก็บยูเรเนียมเสริมสมรรถนะและน้ำมวลหนักเกินระดับที่ได้รับอนุญาตตามข้อตกลงนิวเคลียร์ รวมทั้งยังปรับปรุงเครื่องหมุนเหวี่ยงที่มีอยู่เดิม
**ฮ่องกงระเบิด**
วันที่ 9 มิถุนายนคือวันเริ่มต้นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดของฮ่องกง นับจากที่อังกฤษส่งมอบเกาะแห่งนี้คืนให้จีนในปี 1997 โดยมีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยแทบไม่เว้นแต่ละวันจนกระทั่งถึงช่วงเทศกาลความสุขส่งท้ายปีขณะนี้
การประท้วงเริ่มแรกถูกปลุกเร้าจากความพยายามของรัฐบาลในการผ่านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นการต่อต้านการปกครองของปักกิ่ง และเพรียกหาค่านิยมประชาธิปไตยตะวันตก
กระแสการประท้วงยังไม่มีท่าทีจืดจางลง แม้สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจของฮ่องกงมากขึ้นเรื่อยๆ
**เดือนที่ร้อนที่สุด**
อเมริกาและหลายประเทศในอียูพร้อมใจประกาศว่า อุณหภูมิในเดือนกรกฎาคมพุ่งกระฉูดที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา
อุณหภูมิในในยุโรปและขั้วโลกเหนือพุ่งขึ้นทำสถิติ ต่อมาในเดือนสิงหาคมธารน้ำแข็งในไอซ์แลนด์ละลายไม่เหลือเป็นครั้งแรกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่ป่าแอมะซอนในบราซิลและออสเตรเลียเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ ขณะที่เวนิสจมน้ำแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ
สภาพอากาศรุนแรงกระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนำไปสู่การรณรงค์แก้ปัญหาที่ริเริ่มโดยเกรตา ทุนเบิร์ก เด็กสาววัย 16 ปีจากสวีเดน ที่กลายเป็นกระแสตื่นตัวทั่วโลก
**ถอดถอนทรัมป์**
วันที่ 24 กันยายน สมาชิกเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎรเริ่มการสอบสวนเพื่อถอดถอนทรัมป์ หลังมีผู้รองเรียนว่า ประมุขทำเนียบขาวกดดันผู้นำยูเครนให้สอบสวนโจ ไบเดน คู่แข่งทางการเมืองในศึกเลือกตั้งปี 2020
เดือนธันวาคม สภาล่างที่เดโมแครตครองเสียงข้างมากโหวตรับรองข้อกล่าวหาทรัมป์ลุแก่อำนาจและขัดขวางการสอบสวนของสภา อย่างไรก็ตาม ไม่มีแนวโน้มว่า กระบวนการถอดถอนจะผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาที่ควบคุมโดยรีพับลิกันซึ่งคาดว่า จะเริ่มการไต่สวนในเดือนมกราคมปีหน้า
**ดัดนิสัยบิ๊กไฮเทค**
วันที่ 24 กรกฎาคม ผู้คุมกฎสหรัฐฯ สั่งปรับเฟซบุ๊กสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 5,000 ล้านดอลลาร์ ข้อหาละเมิดการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการครอบงำของยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียแห่งนี้ รวมถึงบิ๊กไฮเทคอย่างแอปเปิล, แอมะซอน และกูเกิล
บรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำเหล่านี้ที่ถูกวิจารณ์ว่า ล้มเหลวในการปกป้องผู้บริโภค รวมทั้งยังมีปัญหาภาษีและโฆษณา อาจถูกสอบสวน ปรับ และแม้แต่เฉือนกิจการ
**วิกฤตทางสังคมในฝรั่งเศส**
ถึงแม้ “ขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง” ในฝรั่งเศส มุ่งต่อต้านนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ซึ่งปะทุขึ้นตอนปลายปี 2018 จะฝ่อลงไปในตอนต้นปี 2019 ทว่าวิกฤตทางสังคมของแดนน้ำหอมก็ใช่ว่าจะคลี่คลาย
โดยเฉพาะช่วงใกล้สิ้นปี รัฐบาลฝรั่งเศสเผชิญหน้ากับแรงงานในอุตสาหกรรมขนส่งนับจากวันที่ 5 ที่ผ่านมาจนถึงสัปดาห์ส่งท้ายปี จากความไม่พอใจแผนปฏิรูประบบบำนาญของทางการ ซึ่งทำให้การเดินทางช่วงคริสต์มาสชุลมุนวุ่นวายอย่างยิ่ง
พนักงานของเอสเอ็นซีเอฟและอาร์เอทีพี บริษัทการรถไฟและขนส่งสาธารณะ ผละงานประท้วงแผนปฏิรูประบบบำนาญ ซึ่งจะมีการรวบยอดแผนบำนาญ 42 ระบบเป็นหนึ่งเดียว และทำให้ลูกจ้างรัฐบางส่วนสูญเสียสิทธิพิเศษ รวมทั้งยังกำหนดการปลดเกษียณเร็วขึ้น