xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บ้านหรู 50 ล้านขึ้น หมื่นรายเจอรีดแน่ แลนด์ลอร์ดปรับพอร์ตที่ดินทำไร่ไถนาพรึ่บ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปั่นกระแสกันสนั่นโลกโซเซียลว่ารัฐบาลดีเดย์รีดภาษีบ้าน คอนโดมิเนียม และที่ดิน ถ้วนหน้า ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้มกราคม ปี 2563 มีบ้านและคอนโดฯหรูราคาเกิน 50 ล้านขึ้นไปที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีเพียงหมื่นกว่าหลังเท่านั้น

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีบ้านและคอนโดฯ หลังแรก ราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้าน ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

หรือหากใครมีบ้านหรือคอนโดฯ หลังที่สองหรือหลังถัดไปที่อยู่อาศัยจริง เสียภาษีเริ่มต้นเพียงเล็กน้อย

ตามที่ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ออกมาให้รายละเอียดเรื่องภาษีบ้าน คอนโดฯ ที่ดิน ตามกฎหมายใหม่ที่กำลังเป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ เม้าท์กันสนั่นเมืองด้วยความวิตกกังวลว่าจะเจอรีดภาษีหรือไม่ เอากันให้ชัดๆ ก็คือ จากการสำรวจพบว่า บ้านอยู่อาศัยและคอนโดมิเนียม ราคาเกิน 50 ล้านบาท พบอยู่ในปัจจุบันต้องเสียภาษีมีเพียง 10,000 หลังเท่านั้น ขณะที่ผู้มีบ้านหลังที่ 2 หรือหลังถัดไปและอยู่อาศัยอยู่จริง เสียภาษีในอัตราต่ำ เช่น บ้านราคา 1 ล้านบาท เสียภาษีเริ่มต้นแค่ 200 บาทต่อปี

ดังนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ในสัดส่วนร้อยละ 99.6 ที่มีบ้านและคอนโดมิเนียมเข้าอยู่อาศัยหลังแรกเป็นหลัก หากราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี จึงไม่เป็นภาระเพิ่มขึ้นสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ ขณะที่ผู้ที่มีบ้านหลังที่สองหรือหลังถัดไปและอยู่อาศัยจริง ก็เสียภาษีในอัตราต่ำเพียงล้านละ 200 บาทต่อปี เท่านั้น และขณะนี้รัฐบาลได้เลื่อนเวลาชำระภาษีปี 2563 จากเดือน เมษายน 2563 เป็นเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นเตรียมการให้พร้อม

นอกจากนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ผู้ได้รับผลกระทบในช่วง 3 ปีแรก รัฐบาลจะบรรเทาภาระให้แก่ผู้เสียภาษีโดยมีส่วนลดร้อยละ 25-75 เช่น จากเดิมเคยเสียภาษี 1,000 บาท แต่ภาระภาษีที่ดินฉบับใหม่ต้องจ่ายเพิ่มถึง 2,000 บาท จะได้รับส่วนลดจ่ายเพียงร้อยละ 25 ในส่วนที่เพิ่มขึ้น 1,000 บาท หรือต้องจ่ายจริงเพียง 1,250 บาท

ส่วนที่ดินเพื่อการเกษตรได้รับยกเว้นเก็บภาษี หากราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นบุคคลธรรมดาเช่นกัน ยกเว้นที่ดินเพื่อการเกษตรที่เป็นของนิติบุคคลจะถูกเก็บภาษีตามกำหนดเริ่มต้นล้านละ 100 บาท ส่วนการถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ หมายถึงการใช้งานเพื่ออุตสาหกรรม การพาณิชย์ การปล่อยเช่า รวมถึงที่ดินเปล่าผู้ถือครองจะเสียภาษีแบบขั้นบันไดเริ่มต้นล้านละ 3,000 บาท จนสูงสุดล้านละ 7,000 บาท ที่สำคัญ

สำหรับที่ดินเปล่าจะเก็บภาษีเพิ่มทุกปีอีกร้อยละ 0.3 จนไปเต็มเพดานร้อยละ 3 เพื่อช่วยกระตุ้นให้คนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากนำไปพัฒนาใช้ให้เกิดประโยชน์ (ดูกราฟฟิก ประกอบ)

“.... จากการคำนวณแล้ว พบว่าหากใช้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จะสามารถเพิ่มรายได้เข้ารัฐได้มากขึ้น 10,000 ล้านบาท จากทุกๆ ปี จัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท” นายลวรณ กล่าวถึงเม็ดเงินที่จะจัดเก็บเข้ารัฐได้มากขึ้น

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบายความโดยแยกแยะให้เห็นชัดๆ ว่า ภาษีที่ดินฯ จะเก็บจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถือครอง โดยอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจะดูจากการใช้ประโยชน์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ประกอบด้วย อัตราภาษี 4 ประเภท ได้แก่ 1.เกษตรกรรม 2.อยู่อาศัย 3.อื่นๆที่ไม่ใช่เกษตรกรรมและอยู่อาศัย และ 4.รกร้างว่างเปล่า ซึ่งผู้เสียภาษีจะต้องเสียภาษีทุกปี และต้องชำระภายในเดือนเมษายนของปีนั้นๆ ยกเว้นปี 2563 สามารถชำระภาษีได้ถึงเดือนสิงหาคม 2563

ส่วนการหามูลค่าของ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมทั้งห้องชุด ให้นำราคาประเมินทุนทรัพย์ (ราคาประเมินฯ) ของกรมธนารักษ์ มาใช้คำนวณ แต่สำหรับปี 2563 นี้ให้นำบัญชีราคาประเมินฯปี 2559-2562 มาใช้ก่อน

สำหรับประกอบเกษตรกรรม จะยกเว้นภาษีให้แก่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ใช้ประโยชน์ที่ดินทำเกษตรกรรม ในปี 2563-2565 หลังจากนั้น ตั้งแต่ปี 2566 มูลค่าที่ดิน 50 ล้านบาทแรก จะได้รับการยกเว้น จากนั้นที่มูลค่า 51 ล้านบาทขึ้นไปถึง 75 ล้านบาท เสียอัตรา 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท อัตรา 0.03% ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียอัตรา 0.3% และเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปีแต่อัตราภาษีรวมไม่เกิน 30%

สำหรับที่อยู่อาศัย กรณีเป็นบ้านหลังหลัก และมีชื่อเป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือห้องชุด จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับมูลค่าที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท

ส่วนบ้านหลังที่สองหรือหลังอื่นๆ หากมีชื่อเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียว หรือปลูกสร้างบนที่ดินบุคคลอื่น จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับสิ่งปลูกสร้างที่มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท
สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีชื่อเป็นเจ้าของ แต่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและไม่ได้นำไปให้เช่า จะถือเป็นบ้านหลังอื่นๆ ซึ่งต้องเสียภาษีอัตรา 0.3% ต่อปี

ทั้งนี้ ผู้ที่เคยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือภาษีบำรุงท้องที่ และต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมเนื่องจากกฎหมายนี้ จะได้บรรเทาภาระภาษีของส่วนต่างเมื่อเทียบกับภาษีที่เคยเสียในปี 2562 ดังนี้ ปีที่ 1 ภาษีเดิมปี 2562 + 25% ของส่วนต่างปีที่ 2 ภาษีเดิมปี 2562 + 50% ของส่วนต่าง และปีที่ 3 ภาษีเดิมปี 2562 + 75% ของส่วนต่าง

ในระหว่างนี้ ผู้ที่เสียภาษีต้องให้ความสำคัญ 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1. ตรวจสอบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า มีการระบุประเภท ขนาด และลักษณะการใช้ประโยชน์ว่าถูกต้องหรือไม่ หากผู้เสียภาษีพบว่า บัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของตนเองไม่ถูกต้อง สามารถยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อขอแก้ไขให้ถูกต้องได้

2.ตรวจสอบแบบประเมินภาษีที่ อปท. แจ้งประเมินภาษีแก่ผู้เสียภาษี โดยผู้เสียภาษีจะต้องตรวจสอบการประเมินภาษีดังกล่าวว่า ใช้ราคาประเมิน ทุนทรัพย์และอัตราภาษีตรงตามมูลค่าและการใช้ประโยชน์หรือไม่ รวมถึงการคำนวณภาษีว่าถูกต้องหรือไม่ หากผู้เสียภาษีพบว่า การประเมินภาษีไม่ถูกต้อง สามารถยื่นเรื่องคัดค้าน และอุทธรณ์ภายใน 30 วัน

และ 3.ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด โดยกระทรวงมหาดไทย ประกาศขยายเวลาในการชำระภาษี ให้สามารถชำระได้ภายในเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อจะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ เป็นแรงกระตุ้นให้บรรดาแลนด์ลอร์ดทั้งในเมืองกรุงและภูมิภาค ต่างนำแลนด์แบงก์ออกมาทำประโยชน์เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูง เพราะพื้นที่ที่ถูกปล่อยรกร้างจะเจอรีดภาษีหนักกว่า เช่น ที่ดินเปล่ากลางเมืองหลวง ผืนใหญ่ 24 ไร่ ติดถนนรัชดาภิเษก ทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีศูนย์วัฒนธรรม ของกลุ่มแหลมทองค้าสัตว์ มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท มีการล้อมรั้ว ปรับที่ปลูกมะนาวร่วม 4 พันต้น ส่วนที่ดินของ นพ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ผู้ถือหุ้นใหญ่โรงพยาบาลกรุงเทพ เนื้อที่ 28 ไร่ ที่เคยประกาศขายในราคาสูงเฉียดหมื่นล้านเมื่อปีที่แล้วถึงตอนนี้ก็ปลูกต้นไม้ไว้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน ตระกูลแลนด์ลอร์ด เศรษฐีที่ดิน ต่างตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจการเกษตร ทำไร่ ทำนา ทำสวน รวมทั้งการให้เช่าที่ดิน เช่น ตระกูลโอสถานุเคราะห์ ตั้งบริษัทเอส.เอส.เรียล (สวนหลวง) และ บริษัท เอส.เอส.เรียล (หลังสวน), ตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง ที่ตั้งบริษัทบี วี เอส แลนด์ และ บริษัทบี วี เอส เอสเตท, ดร.ชัชวิน-คุณหญิงดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ นักธุรกิจชื่อดัง ตั้ง บจ.เทอร์รา เวนเจอร์ และ บจ.เทอร์รา เวสท์ , นายไชย ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บจ.ไทยประกันชีวิต ตั้ง บจ.ทรัพย์มีสุข บริษัทเหล่านี้ต่างทำธุรกิจให้เช่าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสิ่งปลูกสร้าง

ส่วนเศรษฐีภูธรที่ตั้งบริษัทประกอบกิจการเกษตร ทำนา ทำสวน ทำไร่ เช่น ตระกูลแพทยานันท์ กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.เจ้าพระยามหานคร ตั้งบริษัทใหม่ 3 บริษัท คือ บจ.ทีเอ็มเอวัน บจ.ทีเอ็มเอทู และ บจ.ทีเอ็มเอทรี, ตระกูลสันติวัฒนา เจ้าของกิจการน้ำมันพืช “คิง” ตั้ง บจ.สันติ ร่วมใจ, ตระกูลสัจจาไชยนนท์ ตั้ง บจ.สัจจไพศาล และ บจ.สัจจรุ่งโรจน์ ประกอบกิจการทางด้านเกษตรกรรม นายเจริญพร สุจินตะบัณฑิต กรรมการและผู้บริหาร สภาหอการค้าไทย-จีน เจ้าของ บจ.พรชัย อิควิปเมนท์ ตั้ง บจ.วิโปซาโต ประกอบกิจการทำนา ทำสวน ทำไร่ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2561 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุดร้อยละ 10 ถือครองที่ดิน 94.86 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 61.5 ขณะที่ประชากรที่ยากจนที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศ ถือครองที่ดินรวมกันเพียง 68,330 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.1 หรือแตกต่างกันกว่า 853.6 เท่า สาเหตุหนึ่งมาจากมาตรการทางภาษีที่ไม่มีการเก็บภาษีที่ดินในลักษณะอัตราก้าวหน้า โดยผู้ที่มีที่ดินมากที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดรวมกันมากถึงร้อยละ 80 ของที่ดินโฉนดทั้งหมด แต่ผู้ที่มีที่ดินต่ำสุดร้อยละ 20 เป็นเจ้าของเพียงร้อยละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ของโฉนดที่ดินทั้งหมดในประเทศ และผู้ที่มีที่ดินมากกว่า 1,000 ไร่ (1001,-500,000 ไร่) มีอยู่เพียง 837 ราย

ติดตามกันต่อไปว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ จะตามไล่เบี้ยเก็บภาษีจากเศรษฐีที่ดินได้สักกี่มากน้อย และจะทำให้มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินรกร้างว่างเปล่าสมดังเจตนารมณ์ของรัฐหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น