ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประกาศ 2 ฉบับ ของ "อธิบดีกรมสรรพากร" นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาค อธิบดีกรมสรรพากร ที่มีผลให้ใช้บังคับในปีภาษี 2562 ทั้งสองฉบับ ว่าด้วย "การลดหย่อนเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมือง"
ประกอบด้วย ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการหักลดหย่อนเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมือง หรือเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ให้เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 358) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับรายจ่ายซึ่งเป็นเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมือง ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
ฉบับแรก ฉบับที่ 357 มีใจความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 47 (1) (ฏ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 51) พ.ศ. 2562
อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการหักลดหย่อนเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมือง หรือเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ให้เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ผู้มีเงินได้ที่มีสิทธิหักลดหย่อนต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีสัญชาติ'ไทย
ข้อ 2 ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (ฏ) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกรณี ดังต่อไปนี้
(1) การบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมือง ซึ่งผู้มีเงินได้สามารถกระทำได้ตลอดปีภาษี
(2) การสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง หมายถึง การสนับสนุนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ให้แก่พรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งผู้มีเงินได้สามารถกระทำได้ในช่วงระยะเวลาที่พรรคการเมืองจัดกิจกรรมระดมทุนเท่านั้น
ข้อ 3 ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนเงินที่บริจาคให้แก่พรรคการเมืองตามข้อ 2 (1) หรือ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองตามข้อ 2 (2) ไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรค แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ข้อ 4 ประเภทของทรัพย์สิน และการคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ให้เพื่อสนับสนุน การจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย การคำนวณมูลค่าให้ถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น
(2) ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน ดังต่อไปนี้
(ก) รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย การคำนวณมูลค่าให้ใช้ราคาประเมินราคารถ สำหรับปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ในการโอนกรรมสิทธิซื้อขายรถดังกล่าว ที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้คำนวณมูลค่าตามราคาเฉลี่ยระหว่างราคาประเมินสูงสุด และราคาประเมินตํ่าสุดของราคาประเมินรถนั้น ในกรณีที่ไม่มีมูลคำตามราคาประเมิน ให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้น
(ข) เรือหรือเครื่องบิน การคำนวณมูลค่าให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคลหรือ หน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพของประเทศนั้นๆ เกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้น
(3) ทรัพย์สินอื่นหรือสินค้า
(ก) ทรัพย์สินอื่นต้องเป็นทรัพย์สินที่ซื้อมาในปีเดียวกับปีภาษีที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนและ ให้ถือมูลค่าตามหลักฐานการได้มาของทรัพย์สินเป็นมูลค่าที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิน่ามาหักลดหย่อน แต่มูลค่าดังกล่าวต้องไม่เกินราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ให้ทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง
(ข) สินค้าไม่ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตเองหรือซื้อมาเพื่อขาย ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนของสินค้า ดังกล่าวที่มีหลักฐานสามารถพิสูจน์ได้ เป็นมูลค่าของสินค้าที่ผู้มีเงินได้มีสิทธินำมาหักลดหย่อน แต่มูลค่าดังกล่าวต้องไม่เกินราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ให้สินค้าเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง
ข้อ 5 ประโยชน์อื่นใดที่ให้เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง ต้องเป็นประโยชน์อื่นใดที่เป็นการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง ดังต่อไปนี้
(1) การให้บริการเช่าหรือใช้พื้นที่อาคารหรือสถานที่ใด ๆ
(2) การให้บริการใช้ยานพาหนะ
การคำนวณมูลค่าของประโยชน์อื่นใด ซึ่งเป็นการให้บริการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือราคาหรือค่าอันพึงมี ในวันที่พรรคการเมืองได้ใช้บริการนั้น
ข้อ 6 ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานประกอบการใช้สิทธิหักลดหย่อนตามข้อ 4 ดังนี้
(1) กรณีบริจาคเป็นเงินจะต้องมีใบเสร็จรับเงิน (แบบ พ.ก. 11) ที่ออกโดยพรรคการเมือง ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
(2) กรณีให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง จะต้องมีใบเสร็จรับเงิน (แบบ พ.ก. 9) ที่ออกโดยพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และมีเอกสารดังต่อไปนี้ พร้อมให้เจ้าพนักงานประเมิน ตรวจสอบได้
(ก) การสนับสนุนทรัพย์สินตามข้อ 4 (1) และ (2) จะต้องมีหลักฐานการโอนกรรมสิทธิในทรัพย์สิน เช่น สัญญาโอนทรัพย์สิน โฉนดที่ดิน หรือเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ หลักฐานการจดทะเบียนเรือ หรืออากาศยาน แล้วแต่กรณี เป็นต้น
(ข) การสนับสนุนทรัพย์สินอื่นหรือสินค้าตามข้อ 4 (3) จะต้องมีหลักฐานแสดงการได้มาของทรัพย์สินที่ระบุจำนวน มูลค่า และวัน เดือน ปี ที่ได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้น หรือหลักฐานแสดงมูลค่า ต้นทุนของสินค้าที่พิสูจน์ได้ แล้วแต่กรณี
(ค) การสนับสนุนประโยชน์อื่นใดตามข้อ 5 จะต้องมีหลักฐานที่แสดงหรือพิสูจน์ถึงมูลค่า ของการให้บริการซึ่งเป็นประโยชน์อื่นใดนั้น เช่น ใบแจ้งราคาค่าบริการตามปกติทางการค้าหรือ หลักฐานอื่นใด ที่พิสูจน์ถึงมูลค่าหรืออัตราค่าบริการในช่วงระยะเวลาที่ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรม ระดมทุนของพรรคการเมือง เป็นต้น
ข้อ 7 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปีภาษี พ.ศ. 2561 ที่ต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
ส่วน ฉบับที่สอง ฉบับที่ 358 มีใจความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 ตรี (3) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 51) พ.ศ. 2562
อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขสำหรับรายจ่ายซึ่งเป็นเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมืองตามกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสิทธิน่าเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมืองไปเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (3) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร
"จะต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และไม่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งต้องห้ามมิให้บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง"
ข้อ 2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อ 1 มีสิทธินำเงินที่บริจาคแก่พรรคการเมือง ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคไปเป็นรายจ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่เกินห้าหมื่นบาทในรอบระยะเวลาบัญชีที่บริจาคนั้น
ข้อ 3 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองจะต้องมีหลักฐาน ใบเสร็จรับเงิน (แบบ พ.ก. 11) ที่ออกโดยพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองพร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
กรมสรรพากร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง ตั้งแต่ปีภาษี 2551 บุคคลธรรมดา ที่มีสัญชาติไทย (ไม่รวมถึง ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคล ที่มิใช่ นิติบุคคล และกองมรดก ที่ยังไม่ได้แบ่ง) สามารถบริจาคเงินภาษี ให้แก่พรรคการเมืองได้
ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 โดยแสดง เจตนาบริจาคเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง พร้อมการยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปี โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการ ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ ( ฉบับที่ 176 ) โดยผู้มีเงินได้ เมื่อคำนวณภาษี ตามแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 แล้ว มีเงินภาษีที่ต้องชำระ ตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป
ก่อนที่จะมีการประกาศ 2 ฉบับนี้ ที่ผ่านมา กรมสรรพากร ได้เปิดรับฟังความเห็น "ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร กรณีการหักลดหย่อนและการหักรายจ่ายสำหรับการบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560" ในช่วงเดือน ต.ค.61
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายกำหนดให้บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมือง สามารถนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนที่บริจาคแต่รวมกันไม่เกิน 1 หมื่นบาท ในปีภาษีนั้น
ขณะที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมือง สามารถนำเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่บริจาคนั้น ไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามจำนวนที่บริจาคแต่รวมกันแล้วไม่เกิน 5 หมื่นบาท ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
โดยสาเหตุของความจำเป็นต้องออกกฎหมายดังกล่าว เพราะพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่มีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การส่งเสริมให้พรรคการเมืองดำรงอยู่เป็นตัวแทนเจตจำนงทางความคิดของประชาชนนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการในการเสริมสร้างระบบพรรคการเมืองโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งมาตรการหนึ่งที่จะนำมาใช้คือ ให้ประชาชนผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองที่สนับสนุน เพื่อให้พรรคการเมืองมีเงินที่จะใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมือง หรือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้ มาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้บริจาคเงินแก่พรรคการเมืองมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนและรายจ่ายทางภาษีตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้
จึงสมควรกำหนดให้บุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่เสียภาษี หรือนิติบุคคลที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำเงินที่บริจาคมาหักลดหย่อนในการคำนวณเงินได้สุทธิหรือนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
วันนี้ ประกาศ "อธิบดีกรมสรรพากร" มีผลบังคับใช้แล้ว.