รศ.พัชรา พัชราวนิช คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงเรื่อง "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562" ว่า จะมาแทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ (คือคนที่เคยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่นั้น ตั้งแต่ปี 2563 จะไม่ต้องเสียภาษีเหล่านี้ แต่จะเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน) เรามาทำความรู้จักกับพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 เพื่อความเข้าใจ สามารถแบ่งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
1.ฐานภาษี คือ จำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษี เกิดจากมูลค่าที่ดินรวมกับสิ่งปลูกสร้าง ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากกรมธนารักษ์ โดยสามารถค้นหาราคาที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และอาคารชุดจากเว็บไซต์ http://property.treasury.go.th/pvmwebsite/ ซึ่งจะแยกราคาตามประเภทและจังหวัด
2.ผู้เสียภาษี คือ เจ้าของที่ดิน เจ้าของสิ่งปลูกสร้าง เจ้าของห้องชุด หรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือทำประโยชน์ในทรัพย์สิน (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ของรัฐ ณ วันที่ 1 มกราคมของปีใด ต้องสียภาษี ณ ปีนั้น
3.ผู้จัดเก็บภาษี คือ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต) กรุงเทพฯ เมืองพัทยา
การคำนวณภาษีเพื่อหาจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย
จำนวนภาษี (บาท) = {(มูลค่าที่ดิน + (มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง-ค่าเสื่อมราคา))– มูลค่าที่ได้รับยกเว้น}x อัตราภาษี
มูลค่าที่ดิน (บาท) = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินจากกรมธนารักษ์ (บาทต่อตร.วา) x พื้นที่ที่ดิน (ตร.วา)
มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง (บาท) = {ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างจากกรมธนารักษ์ (บาทต่อ ตร.ม.) x พื้นที่สิ่งปลูกสร้าง (ตร.ม.)} - ค่าเสื่อมราคา
อัตราภาษีแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามการใช้ประโยชน์ ณ ปัจจุบันโดยอัตราภาษี 2 ปีแรก (2563-2564) มีดังนี้
1.เกษตรกรรม ฐานภาษีเริ่มต้น 0-75 ล้านบาท อัตราภาษีร้อยละ 0.01% (ภาษี ล้านละ100 บาท)
2.บ้านพักอาศัย ฐานภาษีเริ่มต้น 0-50 ล้านบาท อัตราภาษีร้อยละ 0.02% (ภาษี ล้านละ 200 บาท)
3.ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากเกษตรและที่อยู่อาศัย ฐานภาษีเริ่มต้น 0-50 ล้านบาท อัตราภาษีร้อยละ 0.3% (ภาษี ล้านละ 3,000 บาท)
4.ที่รกร้างว่างเปล่า ฐานภาษีเริ่มต้น 0-50 ล้านบาท อัตราภาษีร้อยละ 0.3% (ภาษี ล้านละ 3,000 บาท)
ข้อยกเว้น
1.เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อเกษตรกรรม ได้รับยกเว้นภาษี ในปี 2563-2565 หลังจากนั้น ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าฐานภาษีรวมกันไม่เกินท50 ล้านบาทต่อเขตองค์กรปกครองท้องถิ่นหนึ่ง (ม.40, ม.96)
2.เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายทะเบียนราษฎร ในวันที่ 1 มกราคมของปีนั้น ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าฐานภาษีรวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท (ม.41)
3.เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้สิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายทะเบียนราษฎร ในวันที่ 1 มกราคมของปีนั้น ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าฐานภาษีรวมกันไม่เกิน 10 ล้านบาท (ม.41)
ตัวอย่าง นายสมชาย เป็นเจ้าของที่ดินอยู่จังหวัดสุพรรณบุรี 2 ไร่ 2 งาน แบ่งเป็นทำการเกษตร 2 ไร่ บ้านเดี่ยวอยู่อาศัย (มีชื่อนายสมชายในทะเบียนบ้าน) บ้านประเภทตึกพื้นที่ดิน 2 งาน มีพื้นที่ก่อสร้าง 120 ตร.ม. บ้านสร้างมาแล้ว 10 ปี เมื่อตรวจสอบราคาประเมินจากเว็บไซด์กรมธนารักษ์แล้ว พบว่า ราคาประเมินที่ดินตร.วาละ 2,000 บาท ราคาประเมินสิ่งปลูกสร้าง ตร.ม.ละ 6,600 บาท ค่าเสื่อมราคาประเภทตึกอายุ 10 ปี คิดร้อยละ 10
เกษตร มูลค่าที่ดิน = 800 (ตร.วา)x2,000 (ต่อ ตร.วา)=1,600,000 บาท
ภาษีที่ดินด้านเกษตร = 1,600,000 x 0.01% (เกษตรกรรม) = 160 บาท
นายสมชาย เป็นบุคคลธรรมดาใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้รับยกเว้นภาษีในปี 2563-2565
บ้านอยู่อาศัย;มูลค่าที่ดิน = 200 (ตร.วา)x2,000 (ต่อ ตร.วา) = 400,000 บาท
มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = 120 (ตร.ม.) x 6,600 (ต่อ ตร.ม.) = 792,000 บาท
ค่าเสื่อมราคาตึก 10 ปี = 792,000x10% = 79,200 บาท
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง = 400,000+(792,000-79,200) = 1,112,800 บาท
ภาษีด้านที่อยู่ศัย = 1,112,800x0.02% (ที่อยู่อาศัย) = 222.56 บาท
นายสมชาย เป็นบุคคลธรรมดาใช้ที่ดินและบ้านอยู่อาศัย มีชื่อในทะเบียนบ้าน มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า นายสมชาย ไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากนายสมชาย เป็นบุคคลธรรมดา ใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยจึงได้รับยกเว้น จะเห็นได้ว่าเมื่อเราลองคิดภาษีที่จะต้องเสียแล้วนั้น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดเลย
“รู้ลึก รู้จริง เรื่องอสังหาริมทรัพย์ ”
โครงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เปิดรับสมัครผู้จบปริญญาตรีทุกสาขา เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท
โครงการปริญญาโทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รุ่นที่ 20
ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563
สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2613-2260, 0-2613-2297, 0-2623-5105
หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.re.tbs.tu.ac.th