ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วันที่ ๑๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ถือเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของราชอาณาจักรไทย ด้วยเป็นวันเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดย “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” ซึ่งเป็นพิธีเบื้องปลายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑o
การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ ๙๔ ปี ห่างจากครั้งก่อนซึ่งจัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๔๖๘ ทั้งนี้ เนื่องเพราะในรัชกาลที่ ๘ ได้เสด็จสวรรคตก่อนที่จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และในรัชกาลที่ ๙ แม้จะมีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคถึง ๑๗ ครั้ง แต่ก็เป็นการจัดเพื่อเสด็จไปถวายผ้าพระกฐิน และวโรกาสอื่นๆ
ทั้งนี้ ตามหลักฐานเก่าแก่ที่สุดปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาลกล่าวว่า ในสมัยอยุธยาตอนต้น มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง กษัตริย์พระองค์แรกของกรุงศรีอยุธยา
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค คือขบวนเรือพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ในการเสด็จพระราชดำเนิน โดยการยกทัพไปทางเรือ เป็นการแสดงแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่เกรียงไกร แสดงถึงพระราชอำนาจและบารมีอันสูงส่งของพระมหากษัตริย์ ส่วนในเวลาว่างศึกสงคราม ก็มักโปรดเสด็จโดยขบวนเรือไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ เช่นถวายผ้าพระกฐิน หรือเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท โดยถือว่าเป็นการฝึกซ้อมกำลังพลไปด้วย
แม้จะมีการกล่าวถึงเรือพระราชพิธีและวิธีปฏิบัติที่เสมือนเป็นจารีตมาอย่างช้านาน แต่ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่สมบูรณ์แบบเหมือนอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้ ปรากฏหลักฐานในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นตำราใหญ่ที่เรียกว่า “ขบวนพยุหยาตราเพชรพวง” ซึ่งเป็นแบบแผนที่ถูกตราขึ้นเป็นตำราที่ใช้สืบเนื่องกันมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ระบุทั้งการจัดขบวนเรือ กฎเกณฑ์ รวมถึงการกำหนดเสื้อผ้าหรือการแต่งกายของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามบรรดาศักดิ์
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคได้สร้างความตื่นตาให้กับชาวตะวันตกที่เข้ามาเมืองไทยอย่างที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น และนำไปเล่าด้วยความประทับใจไว้มาก อย่าง ราชทูตนิโคลาส แชแวส์ เขียนถึงขบวนเรือที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงจัดมารับราชทูตจากฝรั่งเศสไว้ว่า
“...ไม่สามารถเปรียบเทียบความงามใดๆกับขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่าสองร้อยลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆ เรือพระที่นั่งใช้ฝีพายพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายจะพายพร้อมกันเป็นจังหวะ พายนั้นก็เป็นทองเช่นกัน เสียงพายกระทบทำเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน....”
และใน “จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่ประเทศสยาม” ที่บาทหลวงกีย์ ตาชาร์ด ชาวฝรั่งเศส บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.๒๒๒๘ เล่าถึงการจัดเรือมารับเครื่องราชบรรณาการว่า
“....มีเรือบัลลังก์ขนาดใหญ่มาสี่ลำ แต่ละลำมีฝีพายแปดสิบคน ซึ่งเราไม่เคยเห็นอะไรเช่นนี้มาก่อน...ลำแรกหัวเรือเหมือนม้าน้ำ ปิดทองทั้งลำ เห็นมาแต่ไกลในลำน้ำ เหมือนมีชีวิตชีวา....”
และในวันที่บาทหลวงตาชาร์ดเดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยา ก็ต้องตื่นตาตื่นใจกับขบวนเรือที่จัดมาส่งอีกครั้ง และบันทึกไว้ว่า
“...ขบวนอันยืดยาวของเรือบัลลังก์หลวง ซึ่งเคลื่อนที่ไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อย มีเรือถึงร้อยห้าสิบลำ ผนวกกับเรืออื่นๆอีก แน่นเต็มแม่น้ำแลไปได้สุดสายตา อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามนักหนา เสียงเห่แสดงความยินดีตามธรรมเนียมของสยาม คล้ายการรุกไล่ประชิดข้าศึกก้องไปสองฟากฝั่งแม่น้ำ จึงมีผู้คนล้นหลามมืดฟ้ามาคอยชมขบวนพยุหยาตราอันมโหฬารนี้”
ในบันทึกของชาวต่างชาตินี้ได้ยืนยันว่า เรือในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยอยุธยามีมากกว่า ๑๐๐ ลำ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๕๒ ลำเท่านั้น ก็เพราะได้รับความเสียหายเมื่อครั้งเสียกรุงแก่พม่าในปี ๒๓๑๐
พงศาวดารกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าอลองพญารุกเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงเกรงว่าเรือหลวงที่อยู่ในอู่ริมพระนครจะเสียหาย จึงโปรดให้ถอยเรือพระที่นั่งรวมทั้งเรือรบต่างๆ ไปไว้ที่ตำบลท้ายคูซึ่งอยู่ใต้ลงมา แต่ต่อมาพม่าตีท้ายคูแตกอีก เผาทำลายเรือส่วนใหญ่เสียหาย และแม่ทัพพม่ายังนำเรือพระที่นั่งลำหนึ่งส่งไปถวายพระเจ้าอังวะ
สำหรับขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ประกอบด้วยเรือ ๕๒ ลำ ใช้กําลังพลประจําเรือพระราชพิธีทั้งสิ้น ๒,๒๐๐ นาย
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปประทับ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ตามเสด็จในขบวนพยุหยาตรา
ส่วนเรือพระที่นั่งอีก ๒ ลำคือ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ ๙ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ทอดบัลลังก์กัญญาเป็นเรือพระที่นั่งรอง
นอกจากนี้ สิ่งที่สร้างความมีชีวิตชีวาในขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคอีกอย่างก็คือ เสียงเห่เรือที่ก้องกังวานไปทั้งคุ้งน้ำ ผู้สร้างแบบฉบับนี้ไว้ก็คือ “เจ้าฟ้ากุ้ง” หรือ "เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์" ผู้ครองบัลลังก์รัตนกวีแห่งกรุงศรีอยุธยา
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงนิพนธ์บทเห่เรืออันเป็นอมตะไว้ ๒ บท บทแรกสันนิษฐานว่าเป็นการชมเรือพระที่นั่งขณะตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระราชบิดา ไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี กล่าวชมขบวนเรือ ชมนกชมไม้ชมปลา เหมือนเป็นนิราศ โดยขึ้นต้นว่า
๏ พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
กิ่งแก้วแพร้วพรรณรายพายอ่อนหยับจับงามงอน
๏ นาวาแน่นเป็นขนัดล้วนรูปสัตว์แสนยากร
เรือริ้วทิวธงสลอน สาครลั่นครั่นครื้นฟอง
๏ เรือครุฑยุดนาคหิ้วลิ่วลอยมาพาผันผยอง
พลพายกรายพายทองร้องโห่เห่โอ้เห่มา
๏ สรมุขมุขสี่ด้าน เพียงพิมานผ่านเมฆา
ม่านกรองทองรจนา หลังคาแดงแย่งมังกร
๏ สมรรถไชยไกรกาบแก้วแสงแวววับจับสาคร
เรียบเรียงเคียงคู่จร ดั่งร่อนฟ้ามาแดนดิน
๏ สุวรรณหงส์ทรงภู่ห้อยงามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม
๏ เรือไชยไวว่องวิ่ง รวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม
เสียงเส้าเร้าระดมห่มท้ายเยิ่นเดินคู่กัน
๏ คชสีห์ทีผาดเผ่นดูดังเป็นเห็นขบขัน
ราชสีห์ทียืนยันคั่นสองคู่ดูยิ่งยง
๏ เรือม้าหน้ามุ่งน้ำแล่นเฉื่อยฉ่ำลำระหง
เพียงม้าอาชาทรงองค์พระพายผายผันผยอง
๏ เรือสิงห์วิ่งเผ่นโผนโจนตามคลื่นฝืนฝ่าฟอง
ดูยิ่งสิงห์ลำพองเป็นแถวท่องล่องตามกัน
๏ นาคาหน้าดังเป็นดูเขม่นเห็นขบขัน
มังกรถอนพายพันทันแข่งหน้าวาสุกรี
๏ เลียงผาง่าเท้าโผนเพียงโจนไปในวารี
นาวาหน้าอินทรีทีปีกเหมือนเลื่อนลอยโพยม
๏ ดนตรีมี่อึงอลก้องกาหลพลแห่โหม
โห่ฮึกครึกครื้นโครมโสมนัสชื่นรื่นเริงพล
๏ กรีฑาหมู่นาเวศจากนคเรศโดยสาชล
เหิมหื่นชื่นกระมลยลมัจฉาสารพันมี ฯ
บทเห่เรือนี้ต่อมาถูกนำมาเป็นบทเห่เรือหลวง แม้ในปัจจุบันจะมีการประพันธ์ขึ้นมาใหม่หลายสำนวน แต่ก็ยังอาศัยหลักเกณฑ์และรูปแบบของบทเห่เรือที่เจ้าฟ้ากุ้งทรงนิพนธ์ไว้ บางครั้งก็ยังใช้บทนิพนธ์ของพระองค์ในบางโอกาส
สำหรับบทเห่เรือในวันที่ ๑๒ ธันวาคมนี้ ผู้ประพันธ์ก็คือ นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ศิลปินแห่งชาติวัย ๗๒ ปี ซึ่งประพันธ์ใหม่ขึ้นมา ๓ บท บทที่สำคัญที่สุดคือ บทสรรเสริญพระบารมี เนื่องจากเป็นรัชกาลใหม่ ซึ่งจะเป็นรุ่งอรุณที่ตะวันส่องแสงสู่วันใหม่ อีก ๒ บทก็คือ บทชมความงดงามของเรือ และบทชมเมืองในเรื่องความเป็นอยู่ของคนไทย ผู้เห่เรือก็คือ นาวาเอก ณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ
ทั้งนี้ หลังจากริ้วกระบวนเทียบท่าราชวรดิฐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นประทับ ณ พลับพลา เพื่อทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย เพื่อขึ้นประทับ “พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์” หรือพระราชยานพุดตานทอง เข้าสู่ริ้วขบวนราบ โดยมีกำลังพลประมาณ ๘๐๐นาย
ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา จะทรงพระดำเนินเข้าริ้วขบวนราบในฐานะราชองครักษ์ประจำพระองค์คู่เคียงพระราชยานพุดตานทอง
โดยรูปแบบริ้วขบวนประกอบด้วย ๓ ขบวนหลัก คือ ๑.ขบวนทหารเกียรติยศนำ ซึ่งมีตำรวจม้านำ วงดุริยางค์ กองบังคับการกองผสม กองพันทหารเกียรติยศนำ
๒.ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ประกอบด้วย เจ้าพนักงานพระราชพิธีนำริ้ว ประตูหน้า ธง ๓ ชายหักทองขวาง สารวัตรกลองมโหระทึก มโหระทึก สารวัตรกลอง กลองชนะทอง-กลองชนะเงิน ขนาบซ้ายขวา จ่าปี่ จ่ากลอง สารวัตรแตร แตรฝรั่ง แตรงอน สังข์ เครื่องสูงหน้า บังแทรก นายทหารราชองครักษ์เชิญธงมหาราช พระราชยานถมอัญเชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ ๙ นำริ้วขบวนพระราชยานพุดตานทอง บังพระสูรย์ บังพระกลด พัดโบก คู่เคียงพระราชยานถม เครื่องสูงหักทองขวางหน้า กรับสัญญาณ พราหมณ์พิธีเป่าสังข์ 1 คู่ ตำรวจหลวงรักษาพระองค์นำเสด็จ นายทหารราชองครักษ์ เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ นายทหารราชองครักษ์ เชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธ พระราชยานพุดตานทอง พระแสงรายตีนตอง บังพระสูรย์ บังพระกลด พัดโบก อินทร์เชิญทวนเงิน พรหมเชิญทวนทอง แถวแซงเสด็จขนาบซ้ายขวา ตามหลังขบวนด้วยฉัตรเครื่องสูงหักทองขวางหลัง มหาดเล็กเชิญพระแสงหว่างเครื่องหลัง มหาดเล็กเชิญพระแสงสำคัญ มหาดเล็กเชิญเครื่องบรมราชอิสริยราชูปโภค ประตูหลัง
๓.ขบวนทหารเกียรติยศตาม อันเป็นขบวนหลัง ประกอบด้วย วงดุริยางค์วงตาม และกองพันทหารเกียรติยศตาม โดยริ้วขบวนราบเป็นรูปขบวนที่ย่อมาจากขบวนพยุหยาตราสถลมารค
ทั้งนี้ เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค เริ่มจากท่าราชวรดิฐ ไปตามถนนมหาราช เลี้ยวขวาถนนหน้าพระลาน แล้วเลี้ยวขวาเข้าประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง ไปยังพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ เพื่อเปลี่ยนฉลองพระองค์ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง กลับพระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นอันเสร็จสิ้นพระราชพิธี
นั่นคือโบราณราชประเพณีที่หาชมได้ยากยิ่ง และจะถูกจดจารจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทยตราบนานเท่านาน.