เปิดฉากสัปดาห์นี้...สงสัยคงหนีไม่พ้นที่จะต้องย้อนกลับไปดูฉากสถานการณ์ “แนวรบในตะวันออกกลาง” กันอีกรอบ เพราะช่วงเมื่อวันศุกร์ (6 ธ.ค.) หรือช่วงปลายสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านมานี่เอง ก็ได้เกิดข่าวล่า-มาเรือ หรือ “ข่าวลือ” ว่าฝ่ายผู้บริหารในรัฐบาลอเมริกัน กำลังจะเตรียมส่งกองทหารอเมริกันอีกถึง 14,000 นาย เรือรบอีกเป็นโหลๆ กลับไปประจำการในแนวรบตะวันออกกลาง ทั้งๆ ที่ตลอดช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวที่แล้ว ผู้นำอเมริกันอย่าง “ทรัมป์บ้า” เคยออกมายืนหยัด ยืนยันเอาไว้โดยตลอด ว่าจะต้องถอนทหารอเมริกันออกจากภูมิภาคนี้ให้จงได้...
หรือเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง ขณะการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบใหม่ยังอยู่แค่อีกไม่ใกล้-ไม่ไกล แค่ประมาณเดือนพฤศจิกายนปีหน้านี่เอง ผู้นำอเมริกาก็ยังคงออกมา “ทวีต” เอาไว้ด้วยข้อความที่ว่า “The endless and ridiculous wars are ENDING.” หรือจะต้องหาทางหยุดยั้งสงครามประเภทที่ไม่มีวันรู้จบ สงครามที่ไร้สาระ ของชาวอเมริกัน ลงไปให้จงได้ แต่ด้วยเหตุผลกลใด มันถึงได้เกิดข่าวลือ ข่าวล่า-มาเรือ ว่าด้วยการที่กองทัพอเมริกันคิดจะยกทัพโยธากลับไปปักหลัก ตั้งมั่น อยู่ในแนวรบตะวันออกกลางกันใหม่ โดยผู้ที่ปล่อยข่าวลือชิ้นนี้ออกมา อย่างหนังสือพิมพ์ “The Wall Street Journal” ก็ได้อ้าง “แหล่งข่าวระดับสูง” ในคณะรัฐบาลอเมริกัน ให้น้ำหนักเอาไว้เสร็จสรรพ...
แม้มีการออกมาปฏิเสธว่าข่าวดังกล่าวยังไม่ใช่เรื่องจริง...แต่ก็น่าไม่ถึงขั้นเฟก นิวส์-ฟัก นิวส์ อะไรมาก เพราะอย่างน้อยระหว่างการให้การกับคณะกรรมาธิการทหารวุฒิสภาสหรัฐฯ ของ “นายจอห์น รูด” (John Rood) เลขานุการกระทรวงกลาโหม ก็ได้มีการกล่าวถึงการเตรียมพร้อมที่จะส่งทหารอเมริกันจำนวน 14,000 นาย ไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง เพียงแต่สิ่งเหล่านี้ยัง “อยู่ในระหว่างการตัดสินใจ” หรือยังไม่ได้ถึงกับ “ฟันธง” ลงไปแบบเต็มผืน เต็มด้าม เพราะต้องประเมินถึงท่าทีของผู้ซึ่งกำลังก่อการคุกคามต่อผลประโยชน์สหรัฐฯ ว่าจะเป็นไปในรูปไหนต่อไป เช่นเดียวกับผู้นำอเมริกัน อย่าง “ทรัมป์บ้า” เมื่อบรรดาผู้สื่อข่าวย้อนกลับไปตั้งคำถามกันอีกครั้ง ถึงกรณีดังกล่าว โดย “คำตอบ” ก็ยังออกไปทางก้ำๆ กึ่งๆ คือบอกเพียงแต่ว่ารัฐบาลกำลังเตรียมประกาศถึงเรื่องราวเหล่านี้ในอีกไม่นาน-ไม่ช้า โดยที่ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่า “ภัยคุกคาม” ของสหรัฐฯ นั้นจะเป็นไปในรูปไหน หรือถ้ามันเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ ขึ้นมาจริงๆ... “มันจะต้องได้รับการตอบโต้แบบสาสม” อะไรประมาณนั้น...
ซึ่งถ้าดูถึงสิ่งที่อาจถือเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อผลประโยชน์และกองกำลังสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง เมื่อช่วงไม่นานที่ผ่านมา ก็ดูจะไม่ถึงกับหนักหนาสาหัสระดับต้องเตรียมยกทัพโยธา โหลดกำลังทหารนับเป็นหมื่นๆ เรือรบอีกเป็นโหลๆ ย้อนกลับไปสู่แนวรบตะวันออกกลางแต่อย่างใด โดยเฉพาะถ้าผู้นำอเมริกันคิดจะถอนตัวออกจาก “สงครามที่ไม่มีวันยุติ” หรือ “สงครามที่ไร้สาระ” กันจริงๆ เช่น การคุกคามด้วยการยิงจรวดจาก “ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม” เข้าไปในฐานทัพอากาศอเมริกันที่ “Qayyara” ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ของเมืองโมซูล ประเทศอิรัก หรือยิงจรวดเข้าไปในเขต “Green Zone” ใกล้สถานที่ตั้งสถานทูตอเมริกันในอิรัก เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ไปจนการบุกโจมตีฐานกำลังของทหารอเมริกัน ที่ “al-Omar oil field” ที่อยู่ห่างไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง“Deir ez-Zor” ในประเทศซีเรีย เมื่อช่วงวันศุกร์ (6 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ด้วยเหตุเพราะกำลังทหารอเมริกันประมาณ 600 นายเองนั่นแหละ ดันคิดกลับไปยึดบ่อน้ำมันแต่ละบ่อในซีเรีย ทั้งๆ ที่ประกาศถอนทหารออกจากประเทศนี้อย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว...
อีกทั้งในช่วงระหว่างนี้...สหรัฐฯ ก็ยังสามารถอาศัย “สงครามรูปแบบใหม่” หรืออาศัย “การประท้วง” ที่ถูกจุดชนวนขึ้นมาทั้งในประเทศอิรักและอิหร่าน สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับทั้งสองประเทศ ชนิดแทบอ้วกแตก อ้วกแตน ไปเป็นรายๆ โดยเฉพาะสำหรับอิรักนั้น เล่นเอานายกรัฐมนตรี “Adel Abdul Mahdi” ที่ถูกกล่าวหาว่า “โปรอิหร่าน” หรือกำลังคิดจะเป็นตัวกลาง คนกลางให้กับการเจรจาประนีประนอม ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย เพื่อยุติความตึงเครียดภายในภูมิภาค ถึงขั้นต้องตัดสินใจยื่นจดหมายลาออกต่อรัฐสภาอิรักไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ไม่ต่างไปจากอิหร่าน ที่ไม่เพียงต้องเจอการลุกฮือขึ้นประท้วงในเมืองต่างๆ กว่า 40 เมือง เกิดการจลาจลเผาร้านค้า ธนาคาร สถานีจ่ายน้ำมัน จนต้องปิดประตูตีแมว ปิดระบบอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ เล่นงานผู้ประท้วง ผู้ก่อจลาจล ประเภท “ชายชุดดำ” ทั้งหลาย ตายไปเป็นร้อยๆ หรือเป็นพันๆ ก็ยังมิอาจสรุปได้ แถมยังเจอกับการยกระดับการประท้วงในอิรัก จากที่เป็นแค่การประท้วงเพื่อเรียกร้องการปรับปรุงบริการสาธารณะ กลายมาเป็น “การประท้วงอิหร่าน” ไปแล้ว ถึงขั้นบุกเผาสถานกงสุลอิหร่าน ในเมือง Najaf-Karbala มอดไหม้กันไปเป็นแถบๆ โอกาสที่จะมาสร้าง “ภัยคุกคาม” ต่อกองกำลังสหรัฐฯ จึงแทบไม่เหลือเอาเลยก็ว่าได้...
การที่จะหาคำตอบ คำอธิบาย ว่าเหตุใดถึงได้เกิดแนวคิด หรือเกิดความเป็นไปได้ ในการส่งทหารอเมริกันนับเป็นหมื่นๆ ราย กลับไปสู่แนวรบในตะวันออกกลาง ไปปฏิบัติการใน “สงครามที่ไม่มีวันยุติ” หรือ “สงครามที่ไร้สาระ” กันอีกครั้ง เลยคงหนีไม่พ้นต้องหันไปฟังข้อคิด ความเห็นของนักวิเคราะห์และนักกฎหมายระหว่างประเทศชาวนิวซีแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางและแปซิฟิก อย่าง “นายDarius Shahtahmasebi” กันดูอีกสักรอบ ซึ่งได้พยายามให้คำตอบ คำอธิบายในเรื่องทำนองนี้ไว้ในข้อเขียน บทความ เรื่อง “China-not-Iran-is the real reason Us troops will never leave Iraq” หรือเพราะ “จีน” นั่นแหละ ไม่ใช่ “อิหร่าน” ที่ถือเป็นเหตุผลอันแท้จริง ซึ่งทำให้กองทัพอเมริกันไม่มีวันที่จะออกไปจากอิรักอะไรประมาณนั้น ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ สำนักข่าว “RT” มาตั้งแต่ต้นเดือนที่แล้ว...
คือถ้าว่ากันโดยสรุปคร่าวๆ แล้ว...ก็เพราะการลากเลื้อยๆ เข้าไปอย่างเงียบๆ ของ “พญามังกรจีน” ตามแบบฉบับ “One Belt, One Road” ไปยังประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองอันดับต้นๆ ของโลกอย่างอิรักนั่นเอง ซึ่งรัฐบาลอเมริกันเคยทุ่มทุนไว้เป็นจำนวนมหาศาลนับแต่การโค่นล้ม “ซัดดัม ฮุสเซน” เป็นต้นมา ที่นักวิเคราะห์ชาวนิวซีแลนด์ผู้นี้ ท่านเห็นว่าก่อให้เกิดความสะดุ้งจนเรือนไหวต่อคุณพ่ออเมริกายิ่งกว่าชัยชนะของรัสเซียและอิหร่านในซีเรียซะอีกต่างหาก โดยเฉพาะในช่วงล่าสุด หรือเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี่เอง ที่รัฐมนตรีน้ำมันของอิรัก ได้ประกาศให้สัมปทานแหล่งน้ำมัน “Qurna-1” ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 50 กิโลเมตรจากกรุงบัสรา อันเป็นแหล่งน้ำมันที่มีกำลังการผลิตในไม่น้อยกว่า 465,000 บาร์เรลต่อวันให้เป็นของบริษัท “CPECC” (China Petroleum Engineering & Construction Corp) ของจีน แทนที่จะเป็นบริษัทอเมริกัน ที่พยายามยื้อแย่งแข่งขันกันมานาน แถมยังเตรียมเปิดโอกาสให้บริษัท “CCNPC” (China National Petroleum Corp) และ “Hailong Oil Service & Engineering” เข้าไปขุดเจาะน้ำมันและแก๊สในอิรัก ไม่ว่าแหล่ง “West Qurna” หรือ “Majnoon” ฯลฯ ที่เต็มไปด้วยแก๊สและน้ำมันจำนวนมหาศาลระดับ 200 ปีก็ยังใช้ไม่หมดถึงขั้นนั้น...
แม้นายกรัฐมนตรี “Adel Abdul Mahdi” จะถูกผู้ประท้วงในอิรัก ใช้ “สงครามรูปแบบใหม่” โค่นล้มจนต้องลาออกกันไปแล้ว แต่รัฐบาลใหม่ที่กำลังปรากฏโฉมให้เห็นภายใน 30 วันหลังจากนั้น จะยอมเปลี่ยนใจหันไปให้สัมปทานบริษัทอเมริกันกันแทนที่หรือไม่ อย่างไร ก็ยังมิอาจสรุปได้ มีแต่ต้องอาศัย “สงครามในรูปแบบเดิมๆ” เท่านั้น ถึงจะสามารถสร้างหลักประกันให้กับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในประเทศนี้ได้อย่างจริงๆ จังๆ หรือแม้อาจต้อง “แยกประเทศอิรัก” ออกไปเป็นส่วนๆ หรือ 3-5 ส่วน อย่างที่สมาชิกสภาอิรัก “นายHunain al-Qadd” เคยบอกเล่า เก้าสิบ ต่อสำนักข่าว “Sputnik” ถึงแผนการรัฐบาลอเมริกันที่จะหนุนให้บรรดาชาวเคิร์ดในอิรัก แยกตัวเองออกมาตั้งประเทศใหม่ เอาเลยถึงขั้นนั้น จริง-ไม่จริง ก็คงต้องติดตามกันต่อไป...