(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Sundar Pichai takes over as Alphabet CEO
By Rob Lever
05/12/2019
ซุนดาร์ พิชัย หนึ่งในซีอีโอเชื้อสายอินเดียที่กำลังก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุดของพวกบริษัทท็อประดับโลก ได้ชื่อว่าเป็นคนเงียบๆ ใจเย็น เขาถูกมองว่าจะสามารถนำเอาความสงบมั่นคงมาสู่อาณาจักครแอลฟาเบตได้ ขณะที่บริษัทแม่ของกูเกิลแห่งนี้กำลังถูกตรวจสอบเพ่งเล็งทั้งจากหน่วยงานผู้คุมกฎและนักเคลื่อนไหวในประเทศต่างๆ
ซุนดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ซึ่งเกิดในอินเดีย จะต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ หลากหลาย จากการเข้ากุมบังเหียนในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ แอลฟาเบต (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิล (Google) หนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ซึ่งเป็นเป้าหมายถูกปิดล้อมโจมตีทั้งจากพวกนักเคลื่อนไหวและเหล่าผู้นำทางการเมืองในหลายๆ ประเทศ
พิชัย ผู้ปัจจุบันอยู่ในวัย 47 ปี จะยังคงรั้งตำแหน่งซีอีโอของกูเกิลเอาไว้ นอกเหนือจากเข้านั่งเก้าอี้ตัวใหม่ตัวนี้ เขาได้รับการจับตามองว่าเป็นผู้ที่สามารถจะแผ่รัศมีอิทธิพลแห่งความมั่นคงสม่ำเสมอให้แก่แอลฟาเบต ในเวลาที่เครือกิจการยักษ์ใหญ่ซิลิคอนแวลลีย์รายนี้ ถูกเล่นงานทั้งจากพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบและจากฝ่ายอื่นๆ
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้บังเกิดขึ้น ขณะที่ แลร์รี เพจ (Larry Page) และ เซียร์เกย์ บริน (Sergey Brin) 2 ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล กำลังลดบทบาทของพวกเขาลงอย่างเป็นขั้นตอนในบริษัทซึ่งพวกเขาเริ่มต้นตั้งขึ้นมาเมื่อ 2 ทศวรรษก่อนในโรงรถแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย
พิชัยจะเข้าเทคโอเวอร์แทน เพจ ในฐานะซีอีโอของแอลฟาเบต ที่กิจการในเครือนอกจากกูเกิลแล้ว ยังรวมถึงพวกหน่วยธุรกิจซึ่งโฟกัสไปที่ “เดิมพันก้อนอื่นๆ” ในพื้นที่ด้านต่างๆ หลายหลาก เป็นต้นว่า รถที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง, วิทยาศาสตร์ชีวภาพ, และบรรดาโครงการ “ฝันไกล” นานา
สำหรับประวัติความเป็นมาของพิชัย เขาเกิดที่เมืองเจนไน (หรือมัทราส) เมืองท่าสำคัญทางภาคใต้ของอินเดีย และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางวิศวกรรมโลหการที่สถาบันเทคโนโลยีอินเดีย (Indian Institute of Technology ใช้อักษรย่อว่า IIT) ในเมืองขรัคปุระ (Kharagpur) ก่อนมุ่งหน้าไปยังอเมริกา
ในสหรัฐฯ เขาได้ปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์และวัสดุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รวมทั้งได้ปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากวิทยาลัยวอร์ตัน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (Wharton School at the University of Pennsylvania)
“เขาเฉลียวฉลาดมากๆ มีความสามารถมากๆ ดูเหมือนเป็นคนเงียบๆ และอารมณ์มั่นคงมาก” บ็อบ โอดอนเนลล์ (Bob O’Donnell) หัวหน้านักวิเคราะห์ที่ เทคนาไลซิส รีเสิร์ช (Technalysis Research) ให้ความเห็น
“ผมอยากจะมองว่า เขากำลังเป็นพลังที่จะทำให้เกิดความสงบโดยรวมขึ้นมา แต่เขาก็จะต้องรับมือกับประเด็นปัญหาบางอย่างเหล่านี้ด้วย”
วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง, การคุกคามระราน, ความเป็นส่วนตัว
ซุนดาร์ พิชัย ซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยจากการที่เจ้าตัวชมชอบสวมรองเท้าผ้าใบ “ลองแวง” (Lanvin) และใช้ชีวิตสไตล์เรียบๆ ง่ายๆ จะต้องก้าวเข้ารับบทบาทใหม่ๆ ขณะที่พวกหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดทั้งในสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, และที่อื่นๆ ต่างกำลังเพิ่มการตรวจสอบเพ่งเล็งกูเกิล ซึ่งเป็นเสิร์ชเอนจินในอินเทอร์เน็ตที่มีฐานะเหนือกว่าเจ้าอื่นๆ จนถึงมีอำนาจครอบงำวงการ นอกจากนั้น กูเกิลยังเป็นผู้ทำระบบปฏิบัติการสำหรับมือถือ “แอนดรอยด์” ที่เป็นผู้นำอยู่ในตลาดเวลานี้
บริษัทยังตกเป็นเป้าหมายอาจถูกเล่นงานจากวิธีการในการบริหารจัดการกับ “วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง” และคอนเทนต์ของพวกสุดโต่งที่แพร่กระจายทางออนไลน์ รวมทั้งวิธีการจัดการกับความเป็นส่วนตัวของเด็กๆ ในบริการวิดีโอ “ยูทิวป์” ของบริษัท
กระทั่งภายในบริษัทเอง เมื่อเร็วๆ นี้พวกพนักงานก็ได้รวมตัวจัดการประท้วงสิ่งที่บางคนบางฝ่ายระบุว่า คือเรื่องที่กูเกิลไม่ได้ลงมือทำอะไรเมื่อเกิดการคุกคามระรานทางเพศโดยฝีมือของพวกผู้บริหาร ตลอดจนเรื่องการรับมืออันเกี่ยวข้องพัวพันกับพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบทางการทหารและทางด้านความมั่นคงชายแดนของสหรัฐฯ
ตอนที่กูเกิลถอนตัวออกจากการประมูลประกวดราคาสัญญาจัดทำคลาวด์คอมพิวติ้งให้แก่ฝ่ายทหารอเมริกันที่มีมูลค่าสูงมาก บริษัทก็เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ากำลังแสดงออกซึ่งความไม่รักชาติ และพิชัยดูเหมือนจะเป็นผู้แสดงบทบาทในการผ่อนคลายความตึงเครียด ด้วยการเดินทางไปเยือนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แบบมุ่งที่จะพูดจาลดความหมางเมินระหว่างกัน
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว พิชัยซึ่งอยู่ในอาการใจเย็นเก็บอาการได้อยู่หมัด เมื่อไปให้ปากคำในรัฐสภา และต้องคอยหลบหลีกปัดป้องหมัดตรงหมัดสวนจากพวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯที่คร่ำครวญเรื่องกูเกิลมีอคติทางการเมือง ไปจนการการเก็บรวบรวมข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแบบก้าวก่ายความเป็นส่วนตัว
“เราสร้างผลิตภัณฑ์ของเราขึ้นมาในลักษณะที่วางตัวเป็นกลางครับ” พิชัยปล่อยคำพูดระหว่างการตอบโต้กันคราวหนึ่ง
ทำหน้าอุดช่องว่าง
“อารมณ์ของเขาดูนิ่งและมั่นคงมาก แต่ผมไม่คิดว่านี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เขากำลัง
ได้นั่งตำแหน่งระดับท็อปหรอกนะ” อาวี กรีนการ์ต แห่งบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษา เทคสโพเนนเชียล ให้ความเห็น
กรีนการ์ตบอกว่า พิชัยได้รับคัดเลือกให้เป็นหน้าตาที่เอาไว้แสดงออกต่อสาธารณชนของบริษัท ขณะที่ผู้ก่อตั้งทั้งเพจและบรินต่างกำลังถอยฉากไปอยู่เบื้องหลัง
“ในสภาพที่พวกบริษัทเทครายใหญ่ๆ ทั้งหลาย ต่างกำลังตกเป็นเป้าหมายถูกเล็งเล่นงานอยู่ในตอนนี้ คุณมีความจำเป็นที่จะต้องได้ใครบางคนซึ่งมีความยินดีที่จะนั่งในเก้าอี้ตัวนี้ และผมไม่คิดหรอกว่าทั้งเซียร์เกย์และแลชร์รีต่างมีความสนใจในเรื่องนี้” เขาบอก
กรีนการ์ตกล่าวต่อไปว่า การแต่งตั้งให้พิชัยรับผิดชอบทั้งแอลฟาเบตและกูเกิล อาจจะเป็นการยอมรับกลายๆ ว่าการปรับปรุงองค์กรครั้งใหญ่เมื่อปี 2015 เป็นความผิดพลาด และหน่วยปฏิบัติงานต่างๆ หลากหลายของบริษัทจำเป็นที่จะต้องบูรณการเข้ารวมด้วยอย่างกระชับแน่นมากขึ้น
“ผมไม่เข้าใจโครงสร้างของแอลฟาเบตเอาเสียเลย” กรีนการ์ตบ่น “มีแพลตฟอร์ตทางเทคโนโลยีต่างๆ (ภายในแอลฟาเบต) ซึ่งความจริงแล้วจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกัน”
นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวต่อไปว่า พิชัยกำลังทำงานอย่างได้ผลในการช่วยเหลือความพยายามบุกเจาะด้านฮาร์ดแวร์ของกูเกิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยผลิตภัณฑ์จำพวกดิจิตอลโฮมของบริษัท ซึ่งอาจช่วยให้กูเกิลสามารถลดการพึ่งพาอาศัยรายได้เงินโฆษณาทางออนไลน์ลง
“ดูเหมือนจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า พวกข้อสรุปสุดท้ายที่เป็นฮาร์ดแวร์ดทั้งหลาย คือส่วนที่ใหญ่โตทีเดียวในยุทธศาสตร์กูเกิลของเขา” กรีนการ์ตกล่าว
ทางด้าน แพตริก มัวร์เฮด แห่ง มัวร์ อินไซต์ส แอนด์ สเทรเทจี มีความเห็นว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปหน่อยที่จะประเมินได้อย่างชัดเจนว่า พิชัยจะสามารถรับภาระที่แอลฟาเบตได้หรือไม่
เขากล่าวว่า เรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ที่พิชัยจะต้องทำ ควรเป็นเรื่อง “การรับมือกับความท้าทายในเรื่องความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นความท้าทายที่ใหญ่โตมากและถูกขับดันให้เกิดขึ้นโดยโมเดลการรับโฆษณาในปัจจุบัน ... ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันตัวไม่ให้ถูกพวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบลงโทษด้วยการสั่งแตกบริษัท และในท้ายที่สุด จึงเป็นเรื่องการค้นหาพวกธุรกิจที่ไม่ใช่การหารายได้จากการโฆษณา มาสร้างความเติบโต”
“ผลิตภัณฑ์ส่งออก” จากอินเดีย
สไตล์แบบเก็บตัวไม่ค่อยโฉ่งฉ่างของพิชัย ทำให้เขาไม่ได้ถูกจับตามองจากแสงสปอตไลต์สาธารณะ เป็นที่รู้กันวงในว่าเขาเป็นคนที่ชื่นชอบสนใจกีฬาอย่างฟุตบอลและคริกเก็ต เขาแต่งงานแล้วกับ อันจาลี พิชัย เพื่อนนักศึกษาร่วมสถาบัน IIT และมีลูกด้วยกัน 2 คน
เขาเข้าร่วมอยู่ในบัญชีรายชื่ออันยาวเหยียดของซีอีโอบริษัทใหญ่ระดับโลกที่ถือกำเนิดในอินเดีย
ในหมู่ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดดเด่นที่สุด ได้แก่ สัตยา นาเดลลา แห่งไมโครซอฟท์ ซึ่งเกิดที่เมืองไฮเดอราบัด นอกจากนั้นยังมี ราจีฟ ซูรี แห่งโนเกีย, ชานทานู นาราเยน แห่ง อะโดบี, และจวบจนกระทั่งเธอพ้นตำแหน่งไปเมื่อปีที่แล้ว นั่นคือ อินทรา นูยี แห่งเป๊ปซี่โค
มานู กุมาร จาอิน ผู้ถือกำเนิดในอินเดียที่เวลานี้เป็นรองประธานบริหารของเสี่ยวมี่ บริษัทเทคสัญชาติจีน กล่าวแสดงความยินดีกับการได้ตำแหน่งซีอีโอแอลฟาเบตของพิชัย
“จากการศึกษาเล่าเรียน alphabets (ตัวอักษร) ใน (โรงเรียน) จาวาฮาร์ วิทยาลัย (Jawahar Vidyalaya) จนกระทั่งได้เป็นผู้นำ “#Alphabet” หนึ่งในบริษัทเทคที่มูลค่าสูงที่สุด ขอแสดงความยินดีกับ @sundarpichai คุณเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ทุกๆ คน” จาอิน ทวิตข้อความเช่นนี้
ขณะที่ อานันท์ มหินทรา อภิมหาเศรษฐีชาวอินเดีย ซึ่งอาณาจักรธุรกิจของเขาครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ กล่าวแสดงความยินดีกับพิชัย ด้วยการปล่อยมุกว่า “ผลิตภัณฑ์ส่งออกที่เข้มแข็งที่สุด (ของอินเดีย) บางทีน่าจะเป็น ‘ซีอีโอระดับโลก’ นี่แหละ”
(ข้อเขียนนี้มาจากสำนักข่าวเอเอฟพี)