เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – ซาอุดีอาระเบียประกาศในวันอาทิตย์ (3 พ.ย.) นำเอา “อารัมโก” รัฐวิสาหกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวคราวนี้ก็เป็นการตอกย้ำแผนการทะเยอทะยานของมกุฎราชกุมารเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ที่จะปรับปรุงยกเครื่องเศรษฐกิจของราชอาณาจักรแห่งนี้ ให้มีความกระจายตัวมากขึ้นและพึ่งพาอาศัยน้ำมันลดน้อยลง
หลังจากล่าช้ามาเป็นแรมปี อารัมโกแถลงว่ามีแผนการนำเอาหุ้นที่มิได้มีการระบุจำนวนชัดเจนของตน เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ตอดาวุล ซาอุดี (Tadawul Saudi) ของกรุงริยาด โดยเรียกว่าเป็นหลักหมาย “แห่งประวัติศาสตร์” หลักหนึ่งของกิจการที่มีผลกำไรสูงที่สุดในโลกแห่งนี้ และเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบประมาณ 10% ของน้ำมันทั่วโลก
อย่างไรก็ดี บริษัทรัฐวิสาหกิจแห่งนี้บอกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีแผนการที่จะไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ อันเป็นการบ่งบอกว่าเป้าหมายที่ได้มีการพูดจาถกเถียงกันมานานเรื่องจะทำไอพีโอครั้งที่ 2 ในตลาดหุ้นต่างประเทศด้วยนั้น ได้ถูกระงับเอาไว้ก่อน
การเริ่มกระบวนการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นคราวนี้ ซึ่งได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับตรวจสอบของซาอุดีฯแล้ว ถือเป็นกุญแจสำคัญที่สุดดอกหนึ่งในแผนการแสนทะเยอทะยานของเจ้าชายโมฮัมเหม็ดที่จะเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมราชอาณาจักรซึ่งเศรษฐกิจแทบจะพึ่งพาอาศัยน้ำมันเพียงอย่างเดียวแห่งนี้ โดยจะใช้เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งได้จากการขายหุ้นคราวนี้ ไปเป็นเงินทุนสำหรับโครงการเมกะโปรเจ็กต์ทั้งหลายและการสร้างอุตสาหกรรมแขนงใหม่ๆ
จากการที่พวกนักวิเคราะห์คาดหมายกันว่า ในการทำไอพีโอคราวนี้ เมื่อคำนวณแล้ว อารัมโกน่าจะถูกตีราคาว่าทั้งบริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ จึงมีศักยภาพที่จะกลายเป็นการทำไอพีโอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก โดยขึ้นอยู่กับปริมาณหุ้นที่บริษัทตัดสินใจนำออกมาจำหน่าย
“วันนี้เป็นการวางหลักหมายสำคัญหลักหมายหนึ่งในประวัติศาสตร์ของบริษัทแห่งนี้ และก็เป็นความก้าวหน้าอย่างสำคัญในการมุ่งปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ ‘ซาอุดีวิชั่น 2030’ ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวสำหรับการกระจายเศรษฐกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของราชอาณาจักรแห่งนี้” ยาซีร์ อัล-รูเมย์ยัน ประธานของอารัมโก แถลง
ราคาสุดท้ายที่จะเสนอขายในการทำไอพีโอ ตลอดจนจำนวนหุ้นที่จะนำออกมาจำหน่าย “จะวินิจฉัยกันในตอนสิ้นสุดระยะเวลาของการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (book-building period)” คำแถลงของอารัมโก ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่ที่เมืองดาห์รัน ทางภาคตะวันออกของซาอุดีฯ ระบุ
เคยเป็นที่คาดหมายกันในช่วงแรกๆ ว่า อารัมโกจะนำเอาหุ้นของตนจำนวนทั้งหมด 5% ออกมาแบ่งจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่ง โดยที่ 2% แรกจะเข้าตลาดหุ้นตอดาวุล ซาอุดี แล้วจึงติดตามด้วยการนำเอาอีก 3% เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ
“สำหรับในส่วนของการจดทะเบียนซื้อขาย (ในตลาดระหว่างประเทศ) เราจะแจ้งให้ทราบเมื่อถึงเวลานั้น เท่าที่จะแจ้งได้ในตอนนี้มีเพียงส่วนที่เข้าตลาดตอดาวุล” รูเมย์ยัน กล่าว ท่ามกลางรายงานข่าวที่ว่าบริษัทกำลังดิ้นรนหนักทีเดียวในการดึงดูดให้พวกนักลงทุนสถาบันเข้ามาซื้อหุ้น สืบเนื่องจากคำถามเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาล
“ความเป็นจริงของตลาด”
มกุฎราชกุมารเจ้าชายโมฮัมหมัด ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้ปกครองซาอุดีอาระเบียในทางพฤตินัยในเวลานี้ ได้แถลงข่าวเรื่องจะนำอารัมโกมาทำไอพีโอตั้งแต่ปี 2016 แล้ว แต่ก็ถูกเลื่อนออกไปหลายๆ ครั้ง โดยมีรายงานว่าเนื่องจากพระองค์ยังไม่พอพระทับกับมูลค่าของอารัมโกที่ถูกคำนวณออกมา ซึ่งไม่ถึงระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์ที่พระองค์ทรงหวังเอาไว้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “เอเนอร์จีอินเทลลิเจนซ์” (Energy Intelligence) บริษัทข้อมูลข่าวสารด้านพลังงาน รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวหลายแหล่งระบุว่า พวกเขาคาดหมายว่าถึงเวลานี้ทางซาอุดีฯจะยินยอมรับการคำนวณที่ราคาระหว่าง 1.6 ล้านล้าน ถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์
ยังต้องติดตามกันต่อไปว่า ทางการซาอุดีอาระเบียจะประสบความสำเร็จหรือไม่ในการเสาะหา “หนทางประนีประนอมระหว่างราคาที่เจ้าชายมกุฎราชกุมารระบุว่าพึงพอใจ กับความเป็นจริงของตลาดในการคำนวณมูลค่าของอารัมโก” คริสเทียน อุลริชเสน นักวิจัยของสถาบันเบเกอร์ แห่งมหาวิทยาลัยไรซ์ ในสหรัฐฯ กล่าวให้ความเห็น
“ขณะที่กระบวนการต้องมีการเลื่อนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า และก็ถูกระบุเรื่อยมาว่าเป็นส่วนประกอบที่ไม่อาจขาดไปได้ในแผนการของเจ้าชายมกุฎราชกุมารที่จะพลิกโฉมซาอุดีอาระเบีย ดังนี้นพวกนักลงทุนระหว่างประเทศจะให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดยิ่งในเรื่องที่ว่าอารัมโกทำได้ดีแค่ไหนในตลาดหลักทรัพย์ภายในประเทศ” อุลริชเสน กล่าว
อารัมโก ซึ่งทำให้ซาอุดีอาระเบียมีฐานะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ถูกมองเรื่อยมาว่าเป็นเสมือนเพชรประดับมงกุฎของราชอาณาจักรแห่งนี้ และก็เป็นกระดูกสันหลังแห่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและทางสังคมของซาอุดีฯ
ในปี 2018 อารัมโก มีผลกำไรสุทธิ 111,100 ล้านดอลลาร์ สูงกว่ากำไรของแอปเปิ, กูเกิล, และเอซซอนโมบิล รวมกันเสียอีก
อารัมโกเพิ่งเริ่มต้นเผยแพร่รายงานด้านการเงินของบริษัทเมื่อไม่นานมานี้เอง เมื่อวันอาทิตย์ (3) บริษัทแถลงผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ โดยระบุว่าทำกำไรสุทธิได้ 68,000 ล้านดอลลาร์