ไอบีเอ็ม (IBM) ประกาศเปิดตัวศูนย์ประมวลผลควอนตัมแห่งใหม่ที่นิวยอร์ค หวังขยายศักยภาพระบบควอนตัมที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้ครอบคลุมการใช้งานในเชิงพาณิชย์และการศึกษาวิจัย จากเดิมที่จำกัดอยู่แค่เพียงการใช้ในการทดลองในห้องปฏิบัติการ ความพิเศษคือศูนย์ฯ ดังกล่าวสามารถรองรับชุมชนผู้ใช้งาน (ที่ลงทะเบียนแล้ว) กว่า 150,000 ราย รวมถึงลูกค้าเชิงพาณิชย์ สถาบันการศึกษา และห้องปฏิบัติการวิจัยอีกเกือบ 80 แห่ง ทั้งหมดนี้จะผลักดันการประมวลผลเชิงควอนตัมให้ก้าวหน้า และขยายผลไปศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไปใช้งานจริงในด้านต่างๆ
นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่ากลยุทธ์ของไอบีเอ็ม นับตั้งแต่ที่เริ่มนำคอมพิวเตอร์ควอนตัมเครื่องแรกมาอยู่บนคลาวด์เมื่อปี 2559 ก็คือการนำควอนตัมคอมพิวติ้งที่เดิมเป็นเพียงการทดลองในห้องปฏิบัติการโดยองค์กรเพียงไม่กี่แห่งให้เข้าถึงผู้ใช้งานจำนวนมาก โดยล่าสุดได้พัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมระดับ 53 คิวบิตแล้ว
"ไอบีเอ็มเห็นความสำคัญของการเสริมศักยภาพให้กับชุมชนควอนตัมที่กำลังเติบโต ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักวิจัย และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ล้วนมีความตั้งใจจริงที่จะปฏิวัติระบบประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ โดยไอบีเอ็มหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษาของไทย ในการนำควอนตัมคอมพิวติ้งเข้ามาเสริมสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศไทย ตามนโยบายประเทศไทย 4.0"
3 ปีทำงานแล้ว 14 ล้านครั้ง
ไอบีเอ็มระบุว่าชุมชนผู้ใช้งานทั่วโลกได้เริ่มทำการทดลองต่างๆ บนระบบควอนตัมคอมพิวติ้งของไอบีเอ็มผ่านคลาวด์ไปแล้วกว่า 14 ล้านครั้งนับตั้งแต่ปี 2559 โดยได้มีการเผยแพร่เอกสารงานวิจัยวิทยาศาสตร์แล้วกว่า 200 ชิ้น และเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ที่ต้องการเข้าถึงระบบควอนตัมของจริงไอบีเอ็มจึงได้เปิดระบบประมวลผลควอนตัม 10 ระบบให้สามารถใช้งานออนไลน์ได้ผ่านศูนย์ประมวลผลควอนตัมของไอบีเอ็ม โดยประกอบด้วยระบบขนาด 20 คิวบิตจำนวน 5 ระบบ ขนาด 14 คิวบิต 1 ระบบ และขนาด 5 คิวบิตอีก 4 ระบบ
นอกจากนี้ยังมีถึง 5 ระบบที่มีควอนตัมวอลุ่ม หรือค่าที่ใช้วัดความประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ควอนตัมสูงถึง 16 ซึ่งถือเป็นอีกก้าวของความสำเร็จในการรักษาระดับประสิทธิภาพให้แรงต่อเนื่อง
แถลงการณ์ระบุว่าระบบควอนตัมของไอบีเอ็มได้รับการปรับแต่งมาเพื่อความน่าเชื่อถือ และเพื่อความสามารถในการดำเนินการระดับหลายคิวบิตซ้ำหลายครั้งผ่านการโปรแกรม และปัจจัยเหล่านี้เองก็ทำให้ระบบของไอบีเอ็มสามารถให้บริการด้านการศึกษาวิจัยที่ต้องอาศัยการประมวลผลเชิงควอนตัมอันล้ำสมัยด้วยระดับความพร้อมใช้งานสูงถึง 95%
ขยายผลรอบรับการทดลองสุดซับซ้อน
ภายในหนึ่งเดือน ระบบควอนตัมที่เปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ของไอบีเอ็มจะขยายเพิ่มเป็น 14 ระบบ และในจำนวนนี้รวมถึงคอมพิวเตอร์ควอนตัมระดับ 53 คิวบิต ซึ่งเป็นระบบควอนตัมเดี่ยวสำหรับงานทุกประเภทที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้ได้ด้วย โดยระบบใหม่นี้มีแลตทิซที่ใหญ่ขึ้นและช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำการทดลองที่มีทั้งความเชื่อมโยงและความยุ่งยากสลับซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
"ความก้าวหน้าด้านการประมวลผลเชิงควอนตัมอาจเปิดประตูสู่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในอนาคต เช่น ยาและวัสดุชนิดใหม่ ระบบซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพและลงตัวยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก รวมถึงวิธีใหม่ๆ ในการจำลองข้อมูลทางการเงินเพื่อการลงทุนที่ดียิ่งขึ้น" ไอบีเอ็มระบุ
หนึ่งในตัวอย่างผลงานเด่นที่ไอบีเอ็มร่วมมือกับลูกค้าและพันธมิตรต่างๆ คือเจพี มอร์แกน เชส (J.P. Morgan Chase) ที่สามารถพัฒนาวิธีการกำหนดราคาออพชันทางการเงินและพอร์ตโฟลิโอที่มีออพชันดังกล่าวบนคอมพิวเตอร์ควอนตัมแบบเกต ซึ่งในขณะที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปต้องใช้ตัวอย่างนับล้าน แต่การประมวลผลบนควอนตัมใช้เพียงไม่กี่พันตัวอย่างเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดียวกัน
ยังมีมิตซูบิชิ เคมีคัล (Mitsubishi Chemical) ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเคโอะและไอบีเอ็มในการจำลองขั้นตอนแรกเริ่มของกลไกการเกิดปฏิกิริยาระหว่างลิเธียมและออกซิเจนในแบตเตอรี่แบบลิเธียม-อากาศ กลายเป็นก้าวแรกของการจำลองปฏิกิริยาทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างลิเธียมและออกซิเจนบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม จากนั้นเมื่อมีความเข้าใจเกี่ยวกับปฏิกิริยานี้ดีขึ้นแล้วก็อาจนำไปสู่การคิดค้นแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นสำหรับอุปกรณ์พกพาหรือยานยนต์
นอกจากนี้คือไอบีเอ็ม คิว ฮับ (IBM Q Hub) ณ มหาวิทยาลัยเคโอ ที่ร่วมมือกับพันธมิตรคือมิซูฮู ไฟแนนเชียล กรุ้ป (Mizuhu Financial Group) และเอ็มยูเอฟจี (Mitsubishi UFJ Financial Group: MUFG) ในการนำเสนอแนวคิดอัลกอริทึมที่สามารถลดจำนวนของคิวบิตและความยาวของวงจรลงจากวิธีการเดิมที่เสนอไว้โดยไอบีเอ็มเพื่อใช้วิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงควอนตัมในทางการเงิน.