xs
xsm
sm
md
lg

ใช้สถานการณ์ PM 2.5 อบรมครูเพื่อจัดการสอนโค้ดดิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธีเปิดงานอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง แนวทางการจัดการเรียนรู้โค้ดดิ้ง กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเรื่องค่าฝุ่น PM 2.5
สวทช. ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ จ.ปทุมฯ จัดอบรมเรียนรู้โค้ดดิงผ่านสถานการณ์ PM2.5 ให้แก่ผู้บริหารและครูในพื้นที่ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องฝุ่นละเอียด

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 (สพป.ปทุมธานี เขต 1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “แนวทางการจัดการเรียนรู้ Coding ด้วยสถานการณ์ PM2.5” ระหว่างวันที่ 22 - 24 พฤศจิกายน 2562 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศ จ.ปทุมธานี


การอบรมจัดขึ้นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสถานการณ์ PM2.5 ให้แก่บุคคลในพื้นที่ ด้วยการนำรูปแบบการเรียนรู้ที่ทันสมัยเรื่องโค้ดดิง (Coding) กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มาใช้เป็นแนวทางจัดการเรียนการรู้ในห้องเรียน จะส่งผลให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น

นายบุญเลิศ เนตรขำ ปลัดอาวุโสอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ประธานในพิธีกล่าวเปิดการอบรมว่า การอบรมเชิงปฏิบัติเรื่อง แนวทางการจัดการเรียนรู้ Coding ด้วยสถานการณ์ PM2.5 เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1 (สพป.ปทุมธานี เขต 1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่ให้การสนับสนุน

“ผมตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้บริหารโรงเรียน และคุณครูทุกท่านเป็นบุคคลที่มีความตั้งใจ และเสียสละ ในการปฏิบัติงานเป็นอย่างยิ่ง มีปณิธานเดียวกันที่ต้องการให้นักเรียนเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข ก้าวทันโลกในศตวรรษที่ 21 เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เป็นกำลังสำคัญที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้กับเด็กในเรื่อง การคิดอย่างเป็นตรรกะ การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และกระบวนการคิดอย่างมีเหตุและผล จะเป็นการสร้างรากฐานสำคัญของชีวิต และ จะนำไปสู่การดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำรูปแบบการเรียนรู้ที่ทันสมัย เรื่อง โค้ดดิง (Coding) กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เรื่อง ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน มาใช้เป็นแนวทางจัดการเรียนการรู้ในห้องเรียน จะส่งผลให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้นำความรู้กลับไปติดอาวุธทางปัญญาให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

บรรยากาศงานอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง แนวทางการจัดการเรียนรู้โค้ดดิ้ง กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเรื่องค่าฝุ่น PM 2.5
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า จากที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เป็นรายวิชาพื้นฐาน โดยที่สาระที่ 4 เทคโนโลยี ในส่วนที่เรียกว่า “วิทยาการคำนวณ” ให้เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นวิชาที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนให้เด็ก 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การคิดเชิงคำนวณ ส่วนที่ 2 ความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และ ส่วนที่ 3 การรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร ซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การคิดให้เหมือนคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่จะเป็นกระบวนการความคิดเชิงวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ โดยเป็นการสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานและแก้ไขปัญหาตามที่เราต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังเกี่ยวโยงกับการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อกิจกรรมการแก้ปัญหาในชีวิต ความรู้เกี่ยวกับวิทยาการคำนวณจึงเกี่ยวข้องกับกระบวนการคิด แก้ปัญหา เหมือนเป็นการสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ หรือภาษาโค้ดดิ้งนั่นเอง ประกอบกับพื้นที่จังหวัดปทุมธานีได้ประสบกับปัญหาสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินมาตรฐาน สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งด้านสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน กับเยาวชน ผู้สูงอายุ และประชาชนในพื้นที่


"แนวทางการแก้ไขปัญหาหนึ่งคือการสร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจ ผ่านการเรียนรู้เรื่อง โค้ดดิงเพื่อวัดค่า PM2.5 การทดสอบและเปรียบเทียบเครื่องฟอกอากาศที่สามารถสร้างได้เอง ต่อยอดสู่การเรียนรู้ในชั้นเรียน รวมถึงในการฝึกอบรมยังใช้สื่อการเรียนโค้ดดิ้ง (Coding) ผ่านบอร์ดสมองกลฝังตัวที่พัฒนาจากนักวิจัย สวทช. เรียกว่า บอร์ดคิดส์ไบร์ท (KidBright) ร่วมกับบอร์ดเสริมที่พัฒนาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกว่า บอร์ด GoGo Board อีกด้วย”

คณะอาจารย์ ดูงาน ณ ห้องปฏิบัติการ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ จ.ปทุมธานี

คณะอาจารย์ ดูงาน ณ ห้องปฏิบัติการ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ จ.ปทุมธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น