ปูนซิเมนต์ไทยลงนามสัญญาความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) เพื่อร่วมมือวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เน้น 5 อุตสาหกรรมในอนาคต หวังตอบโจทย์ผู้บริโภคในอาเซียน โดยเบื้องต้นทุ่ม 500 ล้านบาทจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมที่ปทุมธานี และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ คาดชัดเจนใน 1-2 ปีข้างหน้า
วันนี้ (5 พ.ย.) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) ได้ลงนามสัญญาความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences - CAS) ซึ่งเป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ระดับสูงที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเป็นแหล่งกำเนิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญของจีน ผ่านสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพฯ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS Innovation Cooperation Center (Bangkok) - CAS ICCB) โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่มต้นความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนมาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เทรนด์อนาคต โดยนำเทคโนโลยีมาทดลองใช้เพื่อต่อยอดในอนาคต (Proof Of Concept - POC) เช่น Sensor / IoT อาคารและโรงงานอัจฉริยะ และการจัดการมลพิษ เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วภูมิภาคอาเซียนได้อย่างรวดเร็วและตรงจุดยิ่งขึ้น
การลงนามสัญญาดังกล่าวจะเน้นใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต คือ 1. เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เช่น อาคารอัจฉริยะ (Smart building) การบริหารพลังงาน 2. ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ (AI / Machine learning and Robotics) 3. เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Chemicals) 4. ธุรกิจพลังงานใหม่ เช่น พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) แบตเตอรี่ หรือระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และ 5. สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจสูง
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายจะเห็นความชัดเจนในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่บริษัทมีเทคโนโลยีอยู่แล้วในช่วง 1-2 ปีนี้ เช่น สมาร์ทบิลดิ้ง พลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์เซลล์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านหยวน หรือราว 500 ล้านบาท โดยงบลงทุนนี้จะใช้เป็นต้นทุนนักวิจัย เทคโนโลยี สถานที่และเครื่องมือในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งมีการตั้งศูนย์ความร่วมมือ “SCG-CAS ICCB Innovation Hub” ณ อาคาร INC2 Tower D สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยพัฒนา Open Innovation Center ของบริษัทบางส่วน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งในการสร้างความร่วมมือกับภายนอก ให้เป็นพื้นที่สำหรับการจัดแสดงผลงานนวัตกรรม การบ่มเพาะธุรกิจและการทดลองเชิงพาณิชย์ (Startup incubation and acceleration) เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพจากจีนที่มีศักยภาพและสนใจมาทำธุรกิจในอาเซียนร่วมกับบริษัทฯ ทั้งในรูปแบบของการให้คำปรึกษา การทำโครงการร่วมกัน หรือการทดลองใช้นวัตกรรมเพื่อขยายตลาด
ในปี 2561 บริษัทมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) มากถึง 184,965 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39 ของยอดขายรวม โดยทุ่มงบวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 4,674 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของยอดขายรวม คาดว่าปีหน้าบริษัทจะตั้งงบวิจัยและพัฒนาจะเพิ่มสูงขึ้นอีก
นายเจียง เปียว ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพฯ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่า CAS ICCB เป็นหนึ่งในสำนักงานต่างประเทศ 9 สาขาของ CAS ที่มีบทบาทสำคัญในการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำต่างๆ ในแต่ละประเทศ เพื่อถ่ายทอดผลงานทางวิทยาศาสตร์ของ CAS ซึ่งมีสถาบันวิจัยมากกว่า 100 แห่งในจีน นักวิจัยและทีมงานกว่า 70,000 คน เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ระดับเมธีวิจัยอาวุโสมากกว่า 800 คน และมหาวิทยาลัยในสังกัด 3 แห่ง
CAS ICCB เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของทั้งไทยและจีน จากการที่ CAS จะได้มีโอกาสในการทดลองตลาดนวัตกรรมในประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ตามแนวทาง Belt and Road Initiative (BRI) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน
นายเปียวกล่าวต่อไปว่า มีการนำเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย ผ่านการถ่ายทอดและอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี ทั้งในรูปแบบการนำเทคโนโลยีที่ CAS หรือเครือข่ายสตาร์ทอัพของ CAS มีอยู่มาประยุกต์ใช้ในด้านอื่นหรือพัฒนาเป็นโซลูชันใหม่ และการขออนุญาตใช้สิทธิในเทคโนโลยีหรือทรัพย์สินทางปัญญาของ CAS ที่มีความจำเพาะเพื่อนำมาพัฒนานวัตกรรมต่อไป รวมทั้งการร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่มธุรกิจบริษัทฯ
นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาบุคลากรของประเทศไทยและจีน รวมทั้งการสร้างความร่วมมือด้านการลงทุนเพื่อแสวงหาโอกาสในการลงทุนในกองทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์สูงในประเทศจีน หรือศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน