xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่”เปิดประชุม ABIS 2019 ประเดิมงานซัมมิตอาเซียน ย้ำสร้างพลัง “อาเซียน 4.0”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกฯ เปิดประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ABIS 2019 ประเดิมงานประชุมสุดยอดอาเซียน ย้ำสร้างพลังอาเซียน 4.0 ใช้นวัตกรรมยกเศรษฐกิจทั้งมหภาคและจุลภาค ตอบสนองตลาด มีประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันนี้ (2 พ.ย.) การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานเ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 พ.ย.2562 ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยในช่วงการประชุมที่เกี่ยวข้องนั้น เริ่มที่การประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ASEAN Business and Investment Summit 2019 (ABIS 2019) ที่ฮอลล์ 6 อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในเวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในพิธีเปิดว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน ASEAN Business and Investment 2019 ซึ่งสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ASEAN Business Advisory Council (ASEAN-BAC) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้นในวันนี้ โดยในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่สำคัญของประเทศไทยนอกจากได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานอาเซียน ยังเป็นปีที่ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะองค์กรชั้นนำได้จัดเวทีเสวนาระดับนานาชาติภายใต้หัวข้อหลัก “สร้างพลังอาเซียน 4.0” เพื่อติดอาวุธทางปัญญาและปูแนวทางไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในยุค 4.0 ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญและผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ ใช้นวัตกรรมเป็นตัวช่วยยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งระดับมหภาคและจุลภาคของประเทศ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด และการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยและภาคธุรกิจได้ดำเนินการร่วมกันในหลายด้าน 1. มิติด้านความมั่นคง รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ 2. มิติด้านเศรษฐกิจ การลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (Public and private partnership or PPP) มีการร่วมทุนขนาดใหญ่ในโครงการEastern Economy Corridor (EEC) หลายโครงการ 3. มิติด้านสังคม การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นปัจจัยเร่งให้ประเทศไทยต้องปรับตัวด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามารองรับสังคมรูปแบบใหม่ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลก็เป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกประเทศจะต้องเตรียมความพร้อม โดยการติดต่อผ่านดิจิทัลจำเป็นต้องใช้เครือข่ายการประกอบธุรกิจในประเทศและระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง ภาครัฐจึงต้องช่วยสนับสนุน นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับภูมิภาคได้แก่ ACMECS RCEP และ GMS ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล และสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนจึงมีความสำคัญมากในการเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายการพบปะหารือนำเสนอข้อคิดเห็นในเชิงเศรษฐกิจเพื่อให้ภาครัฐได้นำมาพิจารณาปรับใช้กับยุทธศาสตร์ นายกรัฐมนตรีหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อคิดเห็นในหลายเรื่อง และจะเป็นเครื่องมือนำเสนอพัฒนาการในระบบการค้าและการลงทุนของโลก รวมถึงนำเสนอข้อเสนอแนะในการวางยุทธศาสตร์และแผนการรองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความพร้อมให้อาเซียนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะเศรษฐกิจของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายกฯ กล่าวในตอนท้ายว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องกำหนดเป้าหมายไปด้วยกัน หากกำหนดเป้าหมายไปคนละอันสองอันมันไปไม่ได้หรอก การทำเพื่อส่วนรวม แต่ในส่วนของธุรกิจก็เป็นเรื่องธุรกิจในการแข่งขันกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องมีส่วนร่วม ประเด็นที่สำคัญเราทำเพื่ออะไร เพื่อประชาชนของเราใช่ไหม เมื่อประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติก็ได้ประโยชน์ ธุรกิจเราก็เจริญเติบโต สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้คือการประกอบการธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ซึ่งวันนี้ก็มีการปฏิบัติในหลายๆ ประเทศแล้ว คือการต้องเคารพ เยียวยา มีหลักการ และในเรื่องการประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเสมอ หากทุกคนทำความเข้าใจไปด้วยกัน เพื่อจะได้เรียนรู้ว่ารัฐบาลเดินหน้าไปอย่างไร รัฐบาลก็จะเรียนรู้จากภาคธุรกิจและภาคเอกชน ว่าจะเดินหน้าอย่างไร และนำมาปรับให้เดินหน้าไปด้วยกัน เราไม่สามารถจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้เพียงลำพังแต่ผู้เดียว ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จและมีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเสริมสร้างอาเซียนให้มีความเข้มแข็ง และก้าวสู่สังคมดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนต่อไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรีไปเดินชมนิทรรศการของภาคเอกชน ซึ่งระหว่างแวะเยี่ยมชมบูธของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือเอสซีจี ได้จัดแสดงผลิตภัณฑ์กระเป๋าสานที่ทำจากวัสดุเหลือใช้ซึ่งผ่านการแปลงสภาพแล้ว อาทิ กระดาษ พลาสติก

นายกฯ ให้ความสนใจและสอบถามรายละเอียดของกระเป๋าดังกล่าว พร้อมกล่าวว่า น่าจะมีการรณรงค์ให้คนใช้กระเป๋าแบบนี้กันมากๆ เพราะมีราคาไม่แพง และยังช่วยส่งเสริมการนำวัสดุที่เหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ อีกทั้ง นายกฯ ได้ทดลองใช้งานบริการยืนยันตัวตนด้วยการสแกนเส้นเลือดในฝ่ามือ (Palm Vein) ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่บูธธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อนจะเดินไปชมนิทรรศการ “อาเซียน สไตล์” ซึ่งจัดโดยกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงได้ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย กาแสดงผลงานสินค้านวัตกรรม สินค้าที่มีการออกแบบดี สินค้าศิลปหัตถกรรมจากภูมิภาคต่างๆ ของไทย สินค้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน

ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ระหว่างชมนิทรรศการ ว่า ประเทศไทยเราต้องให้ความสำคัญกับสินค้าจากถิ่นกำเนิด (จีไอ) ให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งนายจุรินทร์ยืนยันกับนายกรัฐมนตรี ว่ากระทรวงพาณิชย์ถือเป็นนโยบายหลัก และได้ประสานงานผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศพร้อมกับพาณิชย์จังหวัดให้คัดเลือกสินค้าพร้อมกับจัดโมบายเพื่อให้ความรู้ด้านนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น