xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.จับมือ สอว.ดึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ประเมินขีดความสามารถอุทยานวิทย์ฯ ทั่ว ปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยความคืบหน้าโครงการยกระดับขีดความสามารถของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีด้วย Maturity Model ที่ดำเนินงานมาได้ 2 ปี โดย สวทช.ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี ร่วมกับสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ได้พัฒนาเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการทั่วประเทศผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ


ล่าสุด สวทช.ได้ทำการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจากหน่วยบ่มเพาะฯ โดยดึงผู้เชี่ยวชาญระดับสูงระดับโลกสถาบัน CREEDA (ครีด้า) ประเมินและยกระดับขีดความสามารถอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคต่างๆ ด้วยรูปแบบ Maturity Model ที่ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย การส่งเสริมกิจกรรมด้านการบ่มเพาะฯ ซึ่งปีนี้ดำเนินการไป 8 แห่ง ได้แก่ ม.วลัยลักษณ์ ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม ม.แม่ฟ้าหลวง ม.แม่โจ้ ม.นเรศวร ม.มหาสารคาม และ ม.เทคโนโลยีสุรนารี

สำหรับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีนับว่ามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ สวทช.มอบหมายให้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีดำเนินการรวบรวมติดตามผลการดำเนินการของหน่วยบ่มเพาะฯ ภายใต้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยศึกษาแนวปฏิบัติและกรณีศึกษาของนานาประเทศในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบและกระบวนการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะฯ


“การยกระดับขีดความสามารถของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีด้วย Maturity Model เป็นการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการดำเนินงานของหน่วยบ่มเพาะฯ อย่างเป็นระบบทั่วประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล วิธีการยกระดับขีดความสามารถด้วย Maturity Model จากข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมกิจกรรมด้านการบ่มเพาะธุรกิจให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เชี่ยวชาญระดับสูงระดับโลก ซึ่งมีประสบการณ์กว่า 30 ปี เป็นที่ปรึกษามามากกว่า 50 ประเทศ จะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยบ่มเพาะฯ ทุกแห่งในการยกระดับการบริหารจัดการในอนาคตอันใกล้ต่อไป”

ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้แทนสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สอว.สนับสนุนการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 16 แห่ง ทั่วประเทศผ่าน 5 แผนงานหลัก ได้แก่ แผนงานพัฒนาบริการอุทยานวิทยาศาสตร์ แผนงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน แผนงานพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ แผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และแผนงานการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)

“ปัจจุบันกระทรวง อว.มีมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั้งสิ้น 16 แห่ง ซึ่งทั้ง 16 แห่งมีการดำเนินหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีอยู่ด้วย และจากนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวง อว. ในอนาคตจะให้เพิ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเป็น 40 แห่ง จึงมีแนวโน้มว่าถ้าทั้ง 40 แห่งดำเนินการอุทยานวิทยาศาสตร์แล้ว จะมีการทำหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีไปด้วย เท่ากับจะเพิ่มมาอีก 24 แห่ง เพราะฉะนั้น Maturity Model ที่ได้ทำและเรียนรู้ไปจะมีประโยชน์ สามารถนำผลลัพธ์ที่ได้จากความร่วมมือในโครงการมาปรับใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ วทน.ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคต่อไป”


ด้านผู้เชี่ยวชาญระดับโลก นางธีอา อลิซ เชซ (Ms. Chase TheaAlice) ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาธุรกิจ (Director of Business Development) สถาบัน CREEDA กล่าวว่า ในการประเมินหน่วยบ่มเพาะธุรกิจจะมีหัวข้อหรือเกณฑ์ในการประเมินด้วยกัน 76 ข้อ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ Selection Process หรือกระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะมาบ่มเพาะ ส่วนที่ 2 คือ Services หรือการบริการต่างๆ ที่หน่วยบ่มเพาะฯ มีให้ผู้ประกอบการ และส่วนที่ 3 คือ Governance หรือการบริหารจัดการ ซึ่งจะพิจารณาคุณภาพทั้งในด้านการให้บริการ การตลาด การเงิน ธุรกิจระหว่างประเทศ และเทคโนโลยี

จากการลงพื้นที่ประเมินขีดความสามารถของหน่วยบ่มเพาะฯ ด้วย Maturity Model พบว่า หน่วยบ่มเพาะของประเทศไทยมีจุดแข็งที่มีนโยบายดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันกับมหาวิทยาลัยต้นสังกัดที่ดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และมหาวิทยาลัยเองมีทรัพยากรที่ให้หน่วยบ่มเพาะฯ ใช้ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ และนักวิจัย มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน มีการนำงานวิจัยลงมาจากหิ้งได้เป็นอย่างดี ขณะที่โอกาสสำหรับการพัฒนาแล้วมองว่าควรที่จะให้ความสำคัญต่อแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) ของหน่วยบ่มเพาะฯ ให้มีส่วนสำคัญในนโยบายของมหาวิทยาลัยและของประเทศ โดยให้มองถึงรายละเอียดจริงๆ ว่าศูนย์บ่มเพาะมีไว้เพื่ออะไร มีบทบาทหน้าที่ใด และควรกำหนดทิศทางดำเนินงานในอนาคตอย่างชัดเจน เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์ที่ว่านี้สร้างให้หน่วยบ่มเพาะฯ เกิดประโยชน์ต่อส่วนภูมิภาค ภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพจังหวัด เศรษฐกิจจังหวัด และเศรษฐกิจประเทศ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น