แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับพรรคอนาคตใหม่เกือบทุกเรื่อง แต่ในกรณีของการเกณฑ์ทหารนั้น ผมเห็นด้วยกับพรรคอนาคตใหม่นะครับ จริงๆ จะบอกว่า ผมเห็นด้วยกับพรรคอนาคตใหม่ตรงๆ ก็อาจจะไม่ถูกนัก เพราะผมเคยแสดงความเห็นทำนองนี้ไว้ในบทความนานแล้ว พูดให้ถูกก็ต้องบอกว่าข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่นั้นสอดคล้องกับความเห็นของผมพอดี
ผมเองเคยมีประสบการณ์ในการเกณฑ์ทหารโดยตรง ตอนนั้นผมทำงานอยู่หนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งเป็นการงานที่มั่นคง ถามว่า ถ้าผมจับใบแดงแล้วต้องไปเป็นทหารลองคิดสิครับชีวิตผมจะเป็นอย่างไร การทำงานของผมจะสะดุดไหม เพราะต้องไปเป็นทหารเกณฑ์ 2 ปี ผมจะมีผลกระทบต่อชีวิตอย่างไร ถ้ากลับมาทำงานใหม่งานผมยังอยู่ไหม แต่พอผมได้ใบดำ ผมทำงานอีกไม่กี่ปีก็ได้เลื่อนตำแหน่ง เพราะผมเป็นหัวหน้าบรรณาธิกรของมติชนในวัย 25 ปีเท่านั้น
แล้วลองคิดดูสิว่า ถ้าผมต้องเป็นทหารเกณฑ์ การเป็นทหารเกณฑ์ที่ไม่เต็มใจจะรับใช้ชาติในด้านนี้นั้น มันช่วยอะไรกองทัพได้บ้าง การเป็นทหารมันควรจะต้องการคนที่มีความพร้อม เต็มใจถึงจะมีประโยชน์ต่อการรับใช้ชาติที่แท้จริงไม่ใช่หรือ
ปัจจุบันกองทัพมีกำลังพลประมาณ 3 แสนคน และมีกำลังพลสำรองประมาณ 2.4 แสนคน ซึ่งผมคิดว่ามีจำนวนเพียงพอแล้ว ผมจึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่ในเกือบทุกด้านในเรื่องนี้ ขณะที่กองทัพมีความต้องการทหารเกณฑ์ปีละประมาณ 1 แสนคน
ผมสมมติว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องรักษากำลังพลไว้ตามนี้ ถ้าไม่เกณฑ์ทหารจะต้องทำอย่างไร ผมคิดว่า หลักการให้ใช้วิธีสมัครใจแทนน่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง ปกติแต่ละปีนั้นมีผู้สมัครใจเข้ารับการเป็นทหารมากถึง 60% ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อความจำเป็นของยุคสมัยอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่พอทำอย่างไรครับ ขั้นแรกก็คือเพิ่มอายุทหารที่สมัครใจให้นานขึ้นตามข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่นั่นแหละครับ เพราะคนเหล่านี้เต็มใจที่จะเข้ามาเป็นทหารอยู่แล้ว ดังนั้นในแต่ละปีก็จะหากำลังทดแทนเพื่อรักษาระดับกำลังพลไว้ให้อยู่ในระดับนี้ได้ไม่ยาก
แล้วมีใครคิดบ้างว่าในการสอบเข้าเรียนทหารแต่ละปีตั้งแต่โรงเรียนนายสิบ โรงเรียนจ่า โรงเรียนนายร้อย แต่ละปีมีคนผิดหวังจากการสอบเข้าเท่าไหร่ คนพวกนี้ไงครับต้องการเข้ามาเป็นทหารรับใช้ชาติทำไมไม่เพิ่มโควตาสอบเข้าเพื่อให้คนที่ต้องการเป็นทหารได้มีโอกาสเข้ามารับใช้ชาติ เพราะคนเหล่านี้มีความพร้อมทั้งหัวจิตหัวใจที่พร้อมจะรับใช้ชาติบ้านเมืองอยู่แล้ว
ข้อเสนอเพิ่มทหารกองประจำการด้วยการขยายอัตราโรงเรียนทหารระดับต่างๆจึงน่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่ดีกว่า จะว่า โรงเรียนทหารไม่เก่งก็ไม่ได้นะครับ เพราะผลิตนายกรัฐมนตรีมาไม่รู้กี่คนแล้ว
แน่นอนครับประเทศชาติต้องมีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์สงคราม ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าสงครามจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าเรามีทหารที่มีความเต็มใจมีความพร้อมที่จะรับใช้บ้านเมือง มันไม่ดีกว่าได้ทหารเกณฑ์ที่ไม่เต็มใจหรือไม่มีความพร้อมหรือ จริงๆ แล้วผมคิดว่า ทุกวันนี้เราไม่จำเป็นต้องมีกำลังพลสำรองขนาดนั้นยังได้เลย เอาที่คนสมัครใจเข้ามาก็น่าจะพอ แม้เราไม่อาจรับรู้ถึงภาวะสงคราม แต่ถามจริงๆ เถอะปัจจุบันนี้ใครไม่มีความเชื่อว่า ภาวะสงครามนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก และที่ไม่มีวันเกิดขึ้นก็คือ การต่อสู้แบบที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่คนไทยต้องสู้กันเองแบบในอดีต
ภาระของกองทัพที่จำเป็นจะต้องมีอีกก็เป็นเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมีภัยคุกคามของการแบ่งแยกดินแดนอยู่ กรณีนี้ผมไม่เห็นด้วยกับความเห็นของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เสนอให้ถอนทหารออกจาก 3 จังหวัดใต้เพื่อแก้ปัญหานะครับ ยกเว้นว่า มันมีเหตุผลสนับสนุนที่มากพอว่า การถอนทหารนั้นจะทำให้เกิดความสงบขึ้นได้จริงๆ แต่ถึงวันนี้ผมยังมองไม่เห็นเหตุผลที่สอดคล้องกับข้อเสนอนั้นของธนาธรเลย เพราะถ้าไม่มีกำลังทหาร เป้าหมายของขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ยิ่งง่ายขึ้น
บอกตรงๆ ผมเศร้าใจทุกครั้งที่กองทัพพยายามจะสร้างภาพโปรปะกันด้า เรื่องกองทัพลงไปดูแลครอบครัวของทหารที่ถูกเกณฑ์ แต่ต้องทอดทิ้งแม่หรือย่ายายให้อยู่ตามลำพัง ลงไปซ่อมบ้านให้ทหาร เพราะคนเหล่านั้นไม่อยากเข้ามารับใช้กองทัพ เพราะต้องการดูแลครอบครัวของตัวเอง แม้จะดูเหมือนดีที่กองทัพเข้ามาดูแลซ่อมบ้านที่หลับที่นอนให้ใหม่ ฝากคนข้างบ้านดูแล แต่ดูแล้วมันเป็นเรื่องเศร้าและหดหู่มากกว่าจะปลาบปลื้มใจ
บางคนบอกว่า การเป็นทหารรับใช้ชาตินั้นเป็นเกียรติยศของชีวิตที่สมบูรณ์ของการเป็นลูกผู้ชาย ผมถามว่ามึงบ้าเหรอ ถ้าอย่างนั้นคงไม่เห็นพลทหารไปเลี้ยงไก่ หรือซักเสื้อผ้าให้เมียทหารที่เราเห็นตามข่าวหรอก เขาต้องการทหารชั้นผู้น้อยไปคอยรับใช้มากกว่าหรือเปล่า อันนี้เป็นคำถามแม้ว่าจะเป็นเรื่องส่วนน้อยไม่ใช่ส่วนใหญ่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันห่างไกลกับคำว่าเกียรติยศมาก
แล้วทุกวันนี้ทหารเกณฑ์ก็ยังต้องวนเวียนไปรับใช้นายทหารที่เกษียณอายุแล้ว แถวบ้านผมมีบ้านหลังหนึ่งที่เรียกกันว่าบ้านทหารที่น่าจะเกษียณอายุไปหลายสิบปีแล้ว แต่ถึงวันนี้ก็ยังมีทหารวนเวียนมารับใช้อยู่ตลอดเวลา คำถามว่านอกจากเบี้ยบำนาญที่ได้จากกองทัพแล้ว ทำไมอภิสิทธิ์เหล่านี้จึงอยู่ติดตัวกับทหารไปตลอดชีวิต แล้วข้าราชการอื่นเขาถึงไม่มีอภิสิทธิ์ เพราะถ้าพูดว่ารับใช้ชาติข้าราชการทุกคนก็รับใช้ชาติเหมือนกันต่างกันแต่หน้าที่เท่านั้น
งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2563 นั้น กระทรวงกลาโหมมีงบประมาณ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนกว่า 6 พันล้านบาท แน่นอนส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงินเฟ้อ มีงบประมาณทหารเกณฑ์ต่อหัว หัวละ 1 หมื่นบาท เท่ากับปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท ถามว่าคุ้มค่าไหมครับ ผมคิดว่าไม่คุ้มเลยที่เอาทหารมาประจำการสำรองปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง เพราะไม่สามารถทำให้ทหารเหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมจริงในกรณีที่เกิดสงคราม และยิ่งยากที่จะมีภาวะสงครามในปัจจุบันก็ยิ่งไม่คุ้มค่ายิ่งขึ้นไปอีก
แต่ถ้าคิดว่างบประมาณสำหรับเพิ่มทหารชั้นผู้น้อยในระดับโรงเรียนไม่พอ ก็ตัดกำลังนายพลลงไงครับ จำเป็นอะไรที่ต้องมีนายพลมากขนาดนี้ไหม ปัจจุบันกองทัพมีอัตรานายพลอยู่มากถึง 1,500-2,000 คน การโยกย้ายในปี 2561 มีชื่อนายพลอยู่ในบัญชีโยกย้ายถึง 935 ตำแหน่ง ขณะที่นายพลของกองทัพอเมริกันนั้นมีเพียง 1,000 นายเท่านั้น ทั้งที่เขามีประชากรมากกว่ามีประเทศใหญ่กว่า และนำตัวเองเข้าสู่สงครามในภูมิภาคต่างๆ มากกว่า
ผมจะไม่แตะความร่ำรวยของทหารระดับนายพลหลังเกษียณ แต่งานนี้ผมยกธงเชียร์พรรคอนาคตใหม่สุดลิ่มเลยครับ
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan