เอเอฟพี - แม้อยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรมาหลายทศวรรษ แต่อิหร่านกลับประสบความสำเร็จในการพัฒนาคลังแสงขีปนาวุธของพวกเขา ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าประเทศใดๆ ในตะวันออกกลาง ในนั้นรวมถึงอิสราเอล เพนตากอนระบุในผลการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (19 พ.ย.)
“อิหร่านมีโครงการพัฒนาขีปนาวุธที่ใหญ่โต ขนาดและความล้ำสมัยของกองกำลังขีปนาวุธของพวกเขายังคงเติบโตขึ้น แม้มีความพยายามตอบโต้การแพร่ขยายมาหลายทศวรรษ ซึ่งมีเป้าหมายจำกัดความก้าวหน้าของพวกเขา” สำนักงานข่าวกรองกระทรวงกลาโหมระบุ
ผลศึกษาระบุอิหร่านมองว่าขีปนาวุธคือความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ สืบเนื่องจากข้อจำกัดต่างๆของกองทัพอากาศของพวกเขา ซึ่งยังคงใช้งานเครื่องบินบางรุ่นของสหรัฐฯ ที่สั่งซื้อมาตั้งแต่ยุคพระเจ้าชาห์ ผู้ฝักใฝ่ตะวันตก ก่อนถูกโค่นล้มในปี 1979
“ด้วยไม่มีกองทัพอากาศที่ทันสมัย อิหร่านจึงโอบอุ้มขีปนาวุธในฐานะแสนยานุภาพโจมตีพิสัยไกล ไว้สำหรับป้องปรามเหล่าอริศัตรูในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ, อิสราเอล และซาอุดีอาระเบีย จากการโจมตีอิหร่าน” รายงานระบุ
รายงานระบุว่าอิหร่านมีกองกำลังขีปนาวุธใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง ด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯคนหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามบอกว่าผลการประเมินดังกล่าวได้นับรวมอิสราเอลอยู่ในนั้นแล้ว
ในรายงานยังบอกด้วยว่าอิหร่านได้พัฒนาขีปนาวุธต่างๆนานา ซึ่งอาจโจมตีได้ไกลถึง 2,000 กิโลเมตร เป็นแสนยานุภาพที่สามารถเล่นงานได้ทั้งอิสราเอลหรือซาอุดีอาระเบีย
เมื่อปี 2017 อิหร่านเคยอวดโฉมขีปนาวุธโครัมชาห์ พิสัยการโจมตี 2,000 กิโลเมตรและสามารถบรรทุกหัวรบได้หลายลูก ผลการศึกษาของเพนตากอนระบุ ซึ่งมันเป็นไปตามข้อความบนทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในเวลานั้น ที่เขาบอกว่าขีปนาวุธดังกล่าวดูเหมือนจะใช้เทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของเพนตากอนพบว่าอิหร่านใช้จ่ายด้านการทหารลดลงเล็กน้อย ด้วยมีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ 20,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจของอิหร่านก็กำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันหนักหน่วงขึ้น นับตั้งแต่ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อปีที่แล้ว และกลับมาคว่ำบาตรเตหะรานรอบใหม่
คริสเตียน ซอนเดอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านอิหร่านของสำนักงานข่าวกรองกลาโหม เตือนถึงผลกระทบหากว่าปีหน้ามีการยกเลิกมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายอาวุธ (arms embargo) ที่กำหนดเล่นงานอิหร่าน
“ข้อจำกัดเหล่านี้มีกำหนดหมดอายุลงในเดือนตุลาคม 2020 ซึ่งอาจมอบโอกาสแก่เตหะรานในการครอบครองแสนยานุภาพล้ำสมัยบางอย่างที่อยู่เหนือระดับที่พวกเขาเข้าถึงมาหลายทศวรรษ” ซอนเดอร์สบอกกับพวกผู้สื่อข่าว
อิหร่านอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติกี่ยวกับการนำเข้าอาวุธมาตั้งแต่ปี 2006 แต่มาตรการห้ามเคลื่อนย้ายอาวุธดังกล่าวมีกำหนดหมดอายุลงใน 5 ปี หลังมีการบังคับใช้ข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015
ข้อตกลงปี 2015 ซึ่งอิหร่านเห็นชอบกับรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เช่นเดียวกับอังกฤษ, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และรัสเซีย กำลังอยู่ในภาวะสั่นคลอน หลังทรัมป์ถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่เตหะรานกำลังดำเนินการต่างๆ ในการค่อยๆ ลดระดับปฏิบัติตามข้อตกลง ส่วนหนึ่งในมาตรการประท้วงสหรัฐฯ ที่กลับมาคว่ำบาตรพวกเขาอีกรอบ
เจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ รายหนึ่งคาดหมายว่าอิหร่านจะมุ่งให้ความสนใจไปที่การจัดซื้อฝูงบินรบและรถถังประจัญบาน โดยมีความเป็นไปได้มากที่สุดว่ารัสเซียและจีนจะเป็นผู้ส่งมอบ
อิหร่านอ้างว่าพวกเขาจำเป็นต้องยกระดับป้องกันตนเอง โดยชี้ให้เห็นเมื่อครั้งที่ตะวันตกให้การสนับสนุนซัดดัม ฮุสเซน ระหว่างสงครามอิหร่าน-อิรัก และโครงการนิวเคลียร์ลับของอิสราเอล