ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงจะเป็นมหากาพย์ยืดเยื้อยาวนาน แต่พอถึงไฮไลท์สำคัญก็ขับเคี่ยวกันชนิดห้ามกระพริบตา เกมพลิกกลับไปมาหลายตลบและยังจบไม่ลง สำหรับ “โครงการโฮปเวลล์” ซึ่ง ณ เวลานี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดูเหมือนจะถือแต้มต่อพบข้อพิรุธเพียบ หลังจากเมื่อไม่นานมานี้ ฟากฝั่งโฮปเวลล์ เฮลั่นกันไปแล้วจากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ที่สั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยกว่า 2.4 หมื่นล้าน
ที่ว่านายศักดิ์สยาม ผู้ซึ่งลั่นวาจาจะสู้คดีถึงที่สุดและจะเป็นคนที่ปิดฉากตำนานโฮปเวลล์ ถือแต้มต่อก็เพราะคณะทำงานชุดพิเศษที่กระทรวงคมนาคม ตั้งขึ้นมาสะสางคดี พบพิรุธในกระบวนการทำสัญญาโครงการที่อาจนำไปสู่ “สัญญาโมฆะ” ตั้งแต่ต้น เสมือนไม่เคยทำสัญญากันมาก่อน เท่ากับรัฐไม่ต้องจ่ายค่าโง่แม้สักแดงเดียว
นั่นเป็นเป้าหมายของการต่อสู้สูงสุดในยกสุดท้ายของฝ่ายรัฐ คล้ายกับ คดีค่าโง่บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่สู้ในประเด็นสัญญาเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น เพราะฝ่ายรัฐสำคัญผิดในคู่สัญญาจากการที่เอกชนปกปิดข้อเท็จจริงและมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ทำให้รัฐไม่ต้องเสียค่าโง่ในที่สุด
แต่คำถามมีอยู่ว่า รัฐมนตรีคมนาคมจากพรรคภูมิใจไทย พรรคการเมืองที่มี Political Marketing ที่โดดเด่นที่สุด จะประสบความสำเร็จในการต่อสู้หรือไม่ เพราะพิเคราะห์จากสถานการณ์แล้ว ไม่ใช่เรื่อง “ง่าย” ที่จะพลิกกลับมาชนะและไม่ต้องควักเงินภาษีอากรก้อนมหึมาของประชาชนไปเสีย “ค่าโง่” อย่างที่ไม่ควรจะเป็น
ที่เห็นกันชัดๆ ว่า “ไม่ง่ายอย่างที่คิด” ก็คือ การที่สั่งเบรก นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ “ทนายนกเขา” ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้ชะลอการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ที่จะฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ไปรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งบริษัทมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ขัดกับประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ที่ห้ามคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าวประกอบกิจการขนส่งทางบกที่ระบุไว้ในบัญชี ข. ท้ายประกาศดังกล่าว
“ทนายนกเขา” เตรียมตัวพร้อมเต็มที่ แต่พอถึงวันนัดหมายวันที่ 18 ตุลาคม 2562 เวลา 11.00 น. นายนิติธรเดินทางถึงศาลปกครองกลาง ยื่นคำฟ้องไปแล้ว ปรากฏว่ามีคำสั่งจากกระทรวงคมนาคม ให้ชะลอการยื่นคำฟ้องไว้ก่อน เนื่องจากทางบริษัทโฮปเวลล์ ติดต่อขอเจรจากับกระทรวงคมนาคม และ รฟท. โดยบริษัทยินยอมให้ รฟท.ยื่นคำร้องขอขยายเวลาชำระเงินชดเชยตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดออกไปได้อีกไม่เกิน 180 วัน โดยบริษัทจะไม่คัดค้าน
“ทนายนกเขา” ก็หอบสำนวนฟ้องกลับสำนักงานตามระเบียบ
นายศักดิ์สยาม ให้เหตุผลที่ชะลอการฟ้องคดีว่า บริษัททำหนังสือมาขอเจรจา “...จึงจำเป็นต้องชะลอการดำเนินคดีเอาไว้ เพื่อฟังข้อมูลทั้งหมดให้รอบด้านก่อน...” และนัดฟังผลเจรจาอีกครั้งในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562
งานนี้ เห็นได้ชัดว่า ทางบริษัทโฮปเวลล์ออกลูก “ยื้อ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า มีอะไรในกอไผ่หรือไม่ อย่างไร
และเมื่อถึงวันดังกล่าว “ทนายนกเขา” ก็ร่ายยาวถึงพิรุธ 9 ข้อที่ค้นพบ และส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปว่ากันต่อ ขณะที่นายศักดิ์สยาม ก็ฮึ่มฮั่ม เอาผิดได้แน่ๆ โดยยืนยันว่า มีหลักฐานเกือบสมบูรณ์พร้อม
จนมาถึงล่าสุดวันที่ 4 ธันวาคม 2562 นายศักดิ์สยาม ออกข่าวอีกครั้งว่า ประสานกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงการจดทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์ฯ ถูกต้องหรือไม่ คาดว่าต้องใช้เวลารอ 30 วัน ได้เรื่องหรือไม่ได้ยังจะส่งเรื่องทวงถามอีกครั้ง
รูปการณ์คล้ายๆ วนกลับมาที่เดิม เพิ่มเติมคือ เห็นหัวรัฐมนตรีพรรคร่วม ให้เข้ามาช่วยตรวจสอบด้วยกันหน่อย ไม่งั้นจะแลดูคล้าย “หน่วยพิเศษ” ลงพื้นที่กวาดล้าง ข้ามหัว “ท้องที่” เป็นภาพไม่ค่อยสวย เอาชื่อมาร่วมแปะร่วมทีมเดียวกันดีกว่า เพราะคดีมหากาพย์โฮปเวลล์นี้ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งเดินหน้าสู้ และให้ “เนติบริกร” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เข้ามาช่วยดูด้วย
การฟ้องศาลปกครองกลาง ที่ “ทนายนกเขา” รวบรวมหลักฐานต่างๆ และเชื่อมั่นว่าแน่นหนา เด็ดสุดแล้ว ก็มีอันต้องชะลออกไป ขณะที่การเจรจากับบริษัทโฮปเวลล์ เรื่องค่าโง่จะเอายังไงก็ว่ากันไป และการตรวจสอบการจดทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์ ก็ทำกันไป
นั่นเป็นฉากการต่อสู้ล่าสุดในตำนานคดีค่าโง่โฮปเวลล์ที่เกิดขึ้นมาร่วม 30 ปี นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการสมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เสนอแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ โดยเสนอโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกทม. โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2532 และเชิญชวนเอกชนมาลงทุนแต่ไม่มีผู้สนใจ
กระทรวงคมนาคม จึงปรับโครงการใหม่ และเปิดประมูล “โครงการลงทุนระบบขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกทม.และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟฯ” เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2532 ปรากฏว่ามีผู้มาซื้อซอง 4 ราย แต่ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว คือ บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ของนายกอร์ดอน วู จากนั้นมีการตั้งคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอทั่วไป กระทั่งได้ข้อสรุปและเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ลงนามในสัญญาโครงการกับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีสัญญาสัมปทาน 30 ปี วงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท ให้ผลตอบแทนรายปีตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี รวม 53,810 ล้านบาท โดยมีกำหนดก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2534 ถึง 5 ธันวาคม 2542
ทว่า 5 ปี ในการก่อสร้าง งานคืบหน้าแค่ 5% จากที่ควรทำได้ไม่น้อยกว่า 67% เนื่องจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่ การก่อสร้างล่าช้า และเศรษฐกิจชะลอตัว และเป็นปัญหาที่ทำให้ในที่สุด มีการบอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2541 สมัยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ทำหนังสือตอบโต้กันไปมา กระทั่งเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 บริษัทโฮปเวลล์ ยื่นคำร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ขอให้กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟฯ ชดใช้ค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญา คิดเป็นเงิน 58,979 ล้านบาท ต่อมาโฮปเวลล์ ขอแก้ไขเหลือ28,334 ล้านบาท
ปี 2551 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 ให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์ ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างโครงการ 9,000 ล้านบาท, เงินค่าตอบแทนจากการใช้ที่ดินที่บริษัทชำระให้กับ รฟท. แล้ว 2,850 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประมาณ 38 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ภายใน 180 วัน กระทรวงคมนาคม และ รฟท.จึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ต่อมาในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ศาลปกครองกลาง ได้ตัดสินให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. เป็นฝ่ายชนะ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2557 โดยศาลพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ 2 ฉบับ ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายค่าโง่ให้กับบริษัทโฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย บริษัทโฮปเวลล์ ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
มาถึงช่วงปลายสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 กลับคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ยกคำร้องกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ และให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่ให้จ่ายค่าโง่ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับจากวันที่คดีถึงที่สุด
ครั้นศึกเลือกตั้งจบ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จัดสรรปันส่วนเก้าอี้ โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นั่งเป็นรัฐมนตรีคมนาคม พร้อมประกาศลั่นวาจาจะสู้คดีนี้ให้ถึงที่สุด ต่อด้วยคำพูดเท่ๆ ว่า “.... ต่อจากนี้ไปโครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคม จะไม่เกิดกรณีค่าโง่ซ้ำรอยอีก ทุกโครงการจะทำด้วยความโปร่งใสและตรงไปตรงมา เพื่อประโยชน์ของประเทศ”
นายศักดิ์สยาม ได้ตั้งคณะทำงานชุดพิเศษขึ้นมารื้อใหม่หมด และพบข้อพิรุธ 9 ข้อ ที่เด็ดสุดที่เป็นการตรวจพบหลักฐานใหม่ คือ ในช่วงที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท.เข้าทำสัญญาสัมปทานฯในปี 2533 นั้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) มีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ซึ่งอาจขัดกับข้อบังคับตามบัญชี ข. ท้ายประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 (ปว.281) ที่ห้ามคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าวประกอบกิจการขนส่งทางบก
ต่อมา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 กระทรวงคมนาคม จึงมอบหมายให้อัยการ ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอรื้อฟื้นคดีที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินไปแล้วขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยยกประเด็นว่า ศาลปกครองสูงสุด ฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด ไม่ย้อนสำนวนศาลปกครองชั้นต้น และมีหลักฐานใหม่ที่ว่าบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เป็นนิติบุคคลต่างด้าวขณะเข้าทำสัญญา ขัด ปว.281
ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ยกคำร้องรื้อฟื้นคดี โดยประเด็นศาลปกครองสูงสุดไม่ย้อนสำนวนศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยนั้น ถือเป็นดุลพินิจของศาลปกครองสูงสุด ที่จะวินิจฉัยข้อพิพาทตามคำอุทธรณ์เองได้ ไม่ถือเป็นข้อบกพร่องในกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดี
ส่วนประเด็นการเข้าทำสัญญาสัมปทานขณะที่บริษัทโฮปเวลล์ฯ เป็นนิติบุคคลต่างด้าวนั้น ไม่ถือเป็นพยานหลักฐานที่ปรากฏขึ้นใหม่ที่มีผลทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ศาลปกครองกลาง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีศาลปกครองกลาง ไม่รับคำร้องขอรื้อฟื้นคดีใหม่ ขณะนี้ศาลปกครองสูงสุด อยู่ระหว่างการพิจารณา ถ้าไม่รับอุทธรณ์ก็ถือคดีสิ้นสุด แต่ถ้าศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์ ก็ต่อสู้กันอีกยก
นั่นเป็นคดีฟ้องศาลปกครอง ที่กระทรวงคมนาคม และร.ฟ.ท.มอบหมายให้อัยการ เป็นโจทย์ ยื่นคำร้อง แล้วพ่ายแพ้กลับมา และกำลังเดินหน้าสู้ต่อ
ขณะรอลุ้นคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด คณะทำงานนายศักดิ์สยาม กลับมาตั้งหลักกันใหม่ โดยที่ประชุมบอร์ด รฟท. เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ซึ่งมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นประธาน มีมติมอบอำนาจให้ทนายความเอกชน คือ นายนิติธร ล้ำเหลือ ไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง
คราวนี้ ร.ฟ.ท. โดย “ทนายนกเขา” ไม่ได้ฟ้องบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด แต่ฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าวขณะเข้าทำสัญญาสัมปทานทางรถไฟและถนนยกระดับใน กทม. อาจขัดกับประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 หรือ ปว. 281 ซึ่งห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบกิจการขนส่งทางบก ตามที่กำหนดในบัญชี ข.ที่ท้ายประกาศ จึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทดังกล่าว
ตั้งท่าเตรียมฟ้องไว้พร้อมสรรพและไปถึงศาลยื่นฟ้องแล้วด้วยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ก่อนที่นายนิติธรจะเจอคำสั่งให้กลับหลังหัน รอการเจรจาระหว่างคมนาคมกับโฮปเวลล์อีกครั้ง ตามมาด้วยคำถามที่ว่าจะเป็นสัญญาณย้อนมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่อีกครั้งหรือไม่?.
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ณ บัดนี้ ทีมทำงานชุดพิเศษของกระทรวงคมนาคม ที่รวมเอาหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและหน่วยตรวจสอบภาครัฐ เช่นตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ผู้แทนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันนั้น ได้พบข้อพิรุธในกระบวนการทำสัญญาโครงการโฮปเวลล์ ดังที่นายนิติธรให้สัมภาษณ์สื่อ และนายศักดิ์สยาม แถลงหลังชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กรณีการจ่ายค่าชดเชยแก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า พบข้อพิรุธหลายประการที่หน่วยงานของรัฐ ไม่นำไปเป็นคู่ต่อสู้คดีในช่วงที่ผ่านมาใน 9 ประเด็น คือ
1.วันที่ 6 ตุลาคม 2532 รายละเอียดโครงการไม่ตรงตามมติ ครม. 2. วันที่ 16 ตุลาคม 2532 การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ รวดเร็วผิดปกติ และให้สิทธิประโยชน์มากกว่าตามหลักการที่เป็นมติ ครม. 3. วันที่ 15 มกราคม 2533 มีการแทรกแซงรายละเอียดโครงการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในขณะนั้น และคณะกรรมการฯ มีการเอื้อประโยชน์ให้โฮปเวลล์ฮ่องกง 4. วันที่ 31 พฤษภาคม 2533 โฮปเวลล์ฮ่องกง เสนอเงื่อนไขไม่ตรงตามประกาศของคณะกรรมการฯ
5.วันที่ 6 กรกฎาคม 2533 มีความผิดปกติในการร่างสัญญาสัมปทาน และการลงนามในสัญญาสัมปทาน 6. ระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2533 มีการเอื้อประโยชน์ในการจดทะเบียน จัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และหลีกเลี่ยงการใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 (ปว.281) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 7. เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 การลงนามในสัญญาสัมปทานไม่เป็นไปตามมติ ครม. 8.วันที่ 4 ธันวาคม 2533 มีการรายงานเท็จต่อครม. และ 9. บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีสิทธิได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
นายศักดิ์สยาม ยืนยันว่าทั้ง 9 ข้อ เป็นข้อมูลใหม่ที่จะฟ้องต่อศาลให้สัญญาเป็นโมฆะ เพื่อจะไม่ต้องเสียเงินแผ่นดินหรือค่าโง่ จำนวน 2.4 หมื่นล้าน โดยได้นำเรื่องนี้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รับทราบ ซึ่งนายกรัฐมนตรี กำชับให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาศึกษาข้อมูลควบคู่ด้วย
ขณะที่นายนิติธร ล้ำเหลือ ในฐานะทนายความของการรถไฟฯ ด้านหนึ่งก็ยังเตรียมรอฟ้องศาลเมื่อได้รับไฟเขียวจากกระทรวงคมนาคม อีกด้านหนึ่ง ได้ยื่นหนังสือประสานไปยังกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ข้อมูลสถานะของคดีค่าโง่โฮปเวลล์ และขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับคดีโฮปเวลล์ โดยเฉพาะรายละเอียดของสัญญา ตั้งแต่ที่มาของโครงการ การดำเนินการ การบอกเลิกสัญญา ฯลฯ เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่ามีกระบวนการไม่เป็นตามขั้นตอนของกฎหมาย สัญญาจึงไม่น่าจะมีผลบังคับ
นายนิติธร ชี้เป้าไปที่กระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแก้ไขอย่างไร หน้าที่ของหน่วยงานราชการคือ ปกป้องทรัพย์สินของรัฐ ตรวจสอบความถูกต้อง ทั้ง 4 หน่วยงานต้องทำตามหน้าที่ หากไม่ทำจะเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา 157 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ
ส่วนการเจรจาต่อรองกับโฮปเวลล์ ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลการ และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ให้ ร.ฟ.ท. และกระทรวงคมนาคมต้องชดใช้ชำระเงินให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ จำนวนทั้งสิ้น 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ภายใน 180 วัน นับจากคดีสิ้นสุดนั้น ก็ยังดำเนินการเจรจากันต่อไป ไม่ได้ยุติ
เพราะฉะนั้น คงต้องจับกันต่อไปว่า บทสรุปของมหากาพย์ค่าโง่แห่งชาติที่ยืดเยื้อมานานหลายสิบปี สุดท้ายแล้วจะลงเอยเช่นไร โดยเฉพาะความพยายามของรัฐมนตรีที่ชื่อ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”