xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เปิดพิรุธ 9 ข้อ ปิดมหากาพย์ 30 ปี “โฮปเวลล์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โฮปเวลล์” หรือโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับ ในกรุงเทพมหานคร นับเป็นโครงการมหากาพย์ข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ที่ค้างคามานานหลายรัฐบาล รวมระยะเวลาแล้วครบอายุ 30 ปี ซึ่งจุดเริ่มต้นของโครงการ เกิดขึ้นจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย.32 ในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับไปแล้ว มีมติเห็นชอบในหลักการ ตามโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯ ช่วงกรุงเทพฯ- บางซื่อ,ยมราช- มักกะสัน และมักกะสัน-แม่น้ำ สั่งการให้คมนาคมไปดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง โจทย์คือต้องแล้วเสร็จโดยเร็ว

ต่อมาโครงการถูกขับเคลื่อนในสมัยนายมนตรี พงษ์พาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น โดยได้ทำการออกประกาศเชิญชวน และพิจารณาคัดเลือกเอกชน มาร่วมลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ผลปรากฏว่ามีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว คือ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้งส์ Hopewell Holdings Ltd.(Hong Kong) ของ นายกอร์ดอน วู จึงเกิดเป็นสัญญาร่วมทุนระหว่างรัฐโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชนซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติ มีการลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 9 พ.ย.33

โดยโครงการความร่วมมือนี้ เอกชนที่ชนะการประมูลจะต้องสร้างถนนยกระดับ คู่ขนานกับทางรถไฟ ยกระดับ และยังได้รับสัมปทานเดินรถบนทางรถไฟยกระดับ รวมทั้งได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ทางรถไฟยกระดับ และอสังหาริมทรัพย์ 2 ข้างทาง ประมาณการณ์ทั้งโครงการใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท ให้ผลตอบแทนรายปีตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี รวม 53,810 ล้านบาท โดยมีกำหนดก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค.34 ถึง 5 ธ.ค.42


หลังจากลงนามสัญญาร่วมทุน กลับพบว่างานก่อสร้างล่าช้ากว่าแผน ซึ่งปัญหาสำคัญคือเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ทำให้ในปี 34 รัฐบาลไทยบอกเลิกสัญญา ก่อนกลับมาฟื้นโครงการต่อในรัฐบาลของ นายชวน หลีกภัย (ชวน 1) ในปี 35 ซึ่งโครงการมีความคืบหน้าไปได้เพียง 3.1% ท้ายที่สุดก็เป็นเหตุให้มีการบอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 20 ม.ค.41 สมัยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

จากมหากาพย์การลงนามสัญญา จนถึงช่วงเวลาบอกเลิกสัญญา ก็จะเห็นได้ว่ากินเวลายาวนานกว่า 10 ปี ท้ายที่สุดเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการ โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จึงฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคมและ รฟท. เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลงทุน 5.6 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ รฟท.ก็เรียกร้องค่าเสียโอกาส เป็นเงิน 2 แสนล้านบาท


โดยขั้นตอนของศาล ไทม์ไลน์เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 51 คณะอนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยชี้ขาด ให้คมนาคมและ รฟท. คืนเงินชดเชยให้โฮปเวลล์ โฮลดิงส์ เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มี.ค.57 ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว และท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 22 เม.ย.62 ศาลปกครองสูงสุด กลับคำพิพากษา สั่งกระทรวงคมนาคม และ รฟท.จ่ายค่าบอกเลิกสัญญาให้ โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีภายใน 180 วัน

ตลอดช่วงเวลา 180 วันของกำหนดชำระค่าเสียหายให้โฮปเวลล์ ถือเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (1) ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลประยุทธ์ (2) ที่ปัจจุบันมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งการสานต่อช่วงเวลาทำคดีมหากาพย์ข้อพิพาทนี้ นายศักดิ์สยาม ได้กล่าวย้ำนับตั้งแต่วันแรกขงการรับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 31 ก.ค.62 ว่าตนจะเดินหน้าสู้คดีโฮปเวลล์ทุกวิถีทาง

นับจนถึงขณะนี้ก็ถือว่าครบกำหนด 180 วัน ของชำระเงินค่าเสียหายแก่โฮปเวลล์แล้ว กลับพบว่ามีเรื่องที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เพราะเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา โฮปเวลล์ได้ติดต่อมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อขอเจรจาข้อพิพาทดังกล่าว ทำให้ขั้นตอนของการชำระค่าเสียหายถูกชะลอออกไป โดยเรื่องนี้เกิดขึ้นภายหลังที่นายศักดิ์สยาม สั่งการให้คณะทำงานรื้อหลักฐานทุกส่วน เพื่อสู้คดีอีกครั้ง และก็พบว่าหลักฐานที่มีอาจชี้ไปถึงปมการทำสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจเป็นเหตุให้สัญญาร่วมทุนนี้เป็นโมฆะ


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แถลงภายหลังเข้าชี้แจงต่อ กรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กรณีการจ่ายค่าชดเชยแก่ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า หลังจากที่ตนเข้ามารับตำแหน่ง ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษากรณีการจ่ายค่าชดเชยให้บริษัทโฮปเวลล์ ซึ่งได้รับข้อมูลจากผู้ที่หวังดีต่อประเทศชาติ เพราะเล็งเห็นว่าหากจะจ่ายเงินให้โครงการดังกล่าว ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง อีกทั้งยังพบข้อพิรุธหลายประการที่หน่วยงานของรัฐ ไม่นำไปเป็นคู่ต่อสู้คดีในช่วงที่ผ่านมา
ซึ่งพิรุธที่ว่านี้ พบว่ามี 9 ข้อ คือ 1.วันที่ 6 ต.ค.32 รายละเอียดโครงการไม่ตรงตามมติ ครม. 2. วันที่ 16 ต.ค.32 การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ รวดเร็วผิดปกติ และให้สิทธิประโยชน์มากกว่าตามหลักการที่เป็นมติ ครม. 3. วันที่ 15 ม.ค.33 มีการแทรกแซงรายละเอียดโครงการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในขณะนั้น และคณะกรรมการฯ มีการเอื้อประโยชน์ให้โฮปเวลล์ฮ่องกง 4. วันที่ 31 พ.ค.33 โฮปเวลล์ฮ่องกง เสนอเงื่อนไขไม่ตรงตามประกาศของคณะกรรมการฯ

5.วันที่ 6 ก.ค.33 มีความผิดปกติในการร่างสัญญาสัมปทาน และการลงนามในสัญญาสัมปทาน 6. ส.ค.-พ.ย.33 มีการเอื้อประโยชน์ในการจดทะเบียน จัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และหลีกเลี่ยงการใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 (ปว.281) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 7. เมื่อวันที่ 9 พ.ย.33 การลงนามในสัญญาสัมปทานไม่เป็นไปตามมติ ครม. 8.วันที่ 4 ธ.ค.33 มีการรายงานเท็จต่อครม. และ 9. บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีสิทธิได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

โดยนายศักดิ์สยาม ยืนยันว่าทั้ง 9 ข้อ เป็นข้อมูลใหม่ที่จะฟ้องต่อศาลให้สัญญาเดิมเป็นโมฆะ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเงินแผ่นดิน หรือค่าโง่ จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคม จะต่อสู้เรื่องนี้จนถึงที่สุด โดยตนได้นำเรื่องดังกล่าวรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รับทราบ โดยนายกรัฐมนตรี กำชับให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ศึกษาข้อมูลควบคู่ด้วย

ท้ายที่สุดนี้ก็ได้แต่หวังว่า พิรุธทั้ง 9 ข้อที่นายศักดิ์สยาม และคณะทำงานฯ ได้รวบรวม จะเป็นหลักฐานใหม่ที่ทำให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท.สามารถพลิกคดีโฮปเวลล์ ปิดตำนานมหากาพย์ข้อพิพาท 30 ปีที่หลายรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้น คือทำให้ประเทศไทยไม่ต้องสูญเสียค่าโง่ 2.4 หมื่นล้านโดยใช่เหตุ
กำลังโหลดความคิดเห็น