มหากาพย์คดีพิพาทระหว่างกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 30 ปี แม้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัย ให้ชดใช้ค่าเสียหายกับบริษัทโฮปเวลล์ฯ วงเงินประมาณ 24,798 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 11,888 ล้านบาท ดอกเบี้ย 12,910 ล้านบาท
แต่ทว่ายุคของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีการมอบอำนาจให้นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือที่รู้จักกันในนาม “ทนายนกเขา” ไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้ดำเนินการฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ฐานกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีรับจดทะเบียนจัดตั้งให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ขัดกับประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 แต่บริษัทโฮปเวลล์ฯ ติดต่อขอเจรจากับกระทรวงคมนาคมและ รฟท.
เมื่อกลางสัปดาห์ หลังร่วมประชุมคณะทำงานโฮปเวลล์ (BEM) ชุดใหญ่ ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ก็มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา โดยนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ออกมา เปิดเผยถึงเงื่อนงำสำคัญในการทำสัญญาการร่วมทุน มีความผิดปกติหลายข้อ
ประเด็นแรก ผู้ลงนามสัญญานี้ เดิมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิงส์ (ฮ่องกง) เป็นผู้ลงนามร่วมทุน แต่ผู้ลงนามสัญญาจริงๆ กลับเป็นบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงสงสัยว่า โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) มาเป็นคู่สัญญาได้อย่างไรและมาฟ้องร้องได้อย่างไร
ประเด็นที่สอง ครม. มีมติให้กระทรวงคมนาคมเป็นตัวแทนรัฐบาลในการลงนามสัญญา แต่กลับพบว่าการรถไฟฯ เข้าไปร่วมเป็นผู้ลงนามสัญญาด้วย ซึ่งถือว่าผิดมติ ครม.
ประเด็นที่สาม การฟ้องร้องการรถไฟฯ ของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) นั้นไม่ถูกต้อง เพราะคนที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโครงการคือกระทรวงการคลัง
การทำสัญญาครั้งนี้ ไม่เป็นไปตามกฎหมายและสัญญาไม่น่าถูกต้องด้วยกฎหมาย ถ้าการลงนามครั้งนี้ผิดฝา หมายถึงผู้ลงนามไม่ใช่ผู้ที่ได้รับอำนาจจากมติ ครม. ก็นำไปสู่การลงนามสัญญาที่เป็นโมฆะ แต่ผู้ที่จะตัดสินเรื่องนี้ คือศาลต้องเป็นฝ่ายตัดสิน
“เราจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดไปให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบก่อน ว่าสัญญามีข้อผิดปกติ ส่วนจะฟ้องศาลหรือไม่ ก็แล้วแต่หน่วยงาน กระทรวงการคลังจะดำเนินการในฐานะรัฐบาล แต่หากแต่ละหน่วยเห็นข้อมูลแล้ว ไม่มีการดำเนินการอะไร ก็ถือว่าผิดกฎหมายตามมาตรา 157 เรื่องการปกป้องทรัพย์สินรัฐ”
พร้อมกันนี้โดยจะไปยื่นหนังสือถึง 4 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย กระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ, กรมบัญชีกลาง และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ดูรายละเอียดในสัญญาร่วมทุนโครงการโฮปเวลล์ ทั้งที่มาของสัญญา การอนุญาตร่วมทุนโครงการ และรายละเอียดของการบอกเลิกสัญญา
เสมือนเป็นเงื่อนงำที่ว่า ในหน่วยงานดังกล่าว มีรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้กุมบังเหียน ดูแล และ รับผิดชอบอยู่ ซึ่งจะต้องออกมาให้คำตอบที่เป็นคุณประโยชน์กับประเทศชาติ อย่ามัวหลบอยู่ในมุมมืด ไม่ออกมาช่วยกันปกป้องภาษีอากรกว่า 2 หมื่นล้านบาทของพี่น้องประชาชน
มิเช่นนั้นสังคมอาจจะตั้งคำถามชวนฉงนเหมือนกันว่า หรือมันมีขบวนการอะไรซ่อนอยู่หลังฉากสำคัญ...ฉาก...นี้