ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก ศึกษาจากงานวิจัยนับพันชิ้น จึงสรุปว่าไกลโฟเซตคือสารที่น่าจะก่อมะเร็ง (2A)
และเหตุที่สรุปเช่นนั้น ก็เพราะมีหลักฐานเพียงพอ (Sufficient evidence) ว่าสารไกลโฟเซตก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง และหลักฐานที่หนักแน่น (Strong Evidence) ว่าก่อให้เกิดความผิดปกติของสารพันธุกรรม (ทำลายยีนและ/หรือโครโมโซม) และมีหลักฐานว่าก่อมะเร็งในมนุษย์อย่างจำกัด [1],[6]
โดยหลังจากการที่สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศว่าไกลโฟเสตน่าจะเป็นสารก่อมะเร็งประเภท 2A ก็ได้มีบทรายงานการวิคราะห์ผลการวิจัย (Review Article) ที่น่าสนใจหลายรายงาน [2]-[4],[6] ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่า การที่สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) องค์การอนามัยโลก ได้จัดให้ไกลโฟเซตเป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งในกลุ่ม 2A หรือ Probable carcinogen) นักวิทยาศาสตร์จะต้องเร่งศึกษากลไกการออกฤทธิ์ที่อธิบายว่า ไกลโฟเซตเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ และแม้ว่าไกลโฟเซตจะมีประโยชน์ด้านเศรษฐกิจการเกษตร แต่สารนี้มีศักยภาพที่จะก่อผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพอย่างมาก
แม้สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก จะถูกกล่าวหาจากสื่อว่าบิดเบือนข้อมูลอย่างไม่โปร่งใสเพราะตัดข้อความ “ไกลโฟเซตไม่ก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองออก” แต่ สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ได้เปิดเผยเมื่อเดือนมกราคม 2561 ว่าข้อความที่ถูกตัดออกนั้นเพราะนอกจากขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือแล้ว ยังมาจากบทความวิชาการที่ถูกเปิดโปงว่าเขียนขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์มอนซานโต้แต่ใส่ชื่อนักวิทยาศาสตร์คนอื่นเป็นผู้เขียนแทน เพื่อตบตาว่ารายงานนั้นมาจากนักวิชาการอิสระที่ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน [5],[6]
และเมื่อย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2554 ได้มีงานวิจัยของนักวิชาการชาวฝรั่งเศสนำโดย Gilles-Eric Séralini ได้ทำการศึกษาผลกระทบต่อข้าวโพดตัดแต่งพันธุกรรม GMO กับสารไกลโฟเซต ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่าราวด์อัพ (Roundup) ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านพิษวิทยาทางด้านอาหารและเคมีที่มีชื่อว่า Food and Chemical Toxicology (FCT) ซึ่งพบว่าเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อตับและไต และรบกวนการทำงานของระบบฮอร์โมนเมื่อหนูทดลองได้รับข้าวโพดตัดแต่งพันธุกรรมและสารไกลโฟเซต ทั้งๆที่อยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำดื่มมาตรฐานที่อนุญาตในสหภาพยุโรป [7]-[8]
ภายหลังจาการตีพิมพ์ในสัปดาห์เดียว ปรากฏว่าได้มีการโจมตีและวิจารณ์อย่างหนักจากนักชีววิทยาด้านพืชที่ไม่มีประสบการณ์ทางด้านพิษวิทยามาก่อน ซึ่งนักวิจัยก็ได้มีการตอบกลับไปในข้อสงสัยด้วยหลักฐานทางวิชาการและวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังมีนักวิจารณ์ที่ไม่เปิดเผยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอีกด้วย
Gilles-Eric Séralini หัวหน้าคณะวิจัยยังได้เปิดโปงด้วยว่า ในขณะนั้นวารสาร Food and Chemical Toxicology (FCT) ได้มีการจ้างผู้ช่วยบรรณาธิการคนใหม่ทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีชีววิทยา ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างของบริษัทมอนซานโต้ ภายหลังจากคนเดียวกันนี้ได้ส่งหนังสือร้องเรียนมายังวารสาร Food and Chemical Toxicology (FCT) ถึงการตีพิมพ์งานวิจัยดังกล่าวนี้ [7]
ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 หัวหน้าบรรณาธิการวารสาร Food and Chemical Toxicology (FCT) ได้ตัดสินใจถอนการเผยแพร่งานวิจัยชิ้นดังกล่าวนี้ ทั้งๆที่ไม่สามารถระบุได้ว่ามีการวิจัยผิดพลาดอย่างไร หรือมีการทุจริต หรือการตีความผิดอย่างไร ซึ่งทางบรรณาธิการได้โต้แย้งเพียงแค่ว่าการถอนการตีพิมพ์เพราะไม่มีข้อสรุปที่จะตีพิมพ์ได้ ทางคณะวิจัยจึงได้แสดงความเห็นว่าการถอนการเผยแพร่งานวิจัยในครั้งนั้นไม่ได้อยู่บนเหตุผลอันสมควรทั้งในด้านวิทยาศาตร์และทางจริยธรรม
การวิจัยที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการวิจัยในหนูทดลองเป็นวลานานถึง 2 ปี แบ่งหนูทดลองเป็นกลุ่มละ 10 ตัว ซึ่งพบความเป็นพิษทั้งจากการเลี้ยงด้วยข้าวโพดตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) อย่างเดียว เช่นเดียวกับการเกิดพิษจากการให้ไกลโฟเซต (ราวด์อัพ)เพียงอย่างเดียว และรวมถึงการเลี้ยงด้วยข้าวโพดตัดแต่งพันธุกรรมร่วมกับไกลโฟเซตด้วย
อย่างไรก็ตามแม้งานวิจัยชิ้นนี้จะไม่ได้วิจัยในเรื่องมะเร็ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมโดยที่ไม่ได้คาดคิดก็คืออัตราการเจริญเติบโตของเนื้องอกและอัตราการตายสูงขึ้นในหนูที่ได้รับสารพิษเหล่านี้ (ตามภาพประกอบบทความ)
และภาพที่สร้างความน่าสะพรึงกลัวนี้ ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนทั้งการใช้สารพิษไกลโฟเซตต้องทำทุกวิถีทางเพื่อถอนภาพและงานวิจัยดังกล่าวออกจากสารบบให้ได้จริงหรือไม่? และงานวิจัยดังกล่าวนี้ก็ถูกถอนออกไปเป็นผลสำเร็จหลังจากเผยแพร่มาเป็นเวลา 2 ปีเศษ
อย่างไรก็ตามคณะวิจัยได้มีความพยายามในการเผยแพร่งานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้อีกครั้งในวารสารอื่น และความพยามเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมของยุโรป ชื่อว่า Environmental Sciences Europe ซึ่งก็รายงานผลการวิจัยและข้อสรุปเหมือนเดิมทุกประการ จึงทำให้ภาพที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยดังกล่าวได้กลับมาถูกเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง [9]
และวารสาร Environmental Sciences Europe กล่าวถึงเหตุผลการตีพิมพ์ว่าความเห็นที่แตกต่างจากงานวิจัยและการโต้แย้งไม่ควรจะถูกลบออกจากสารบบ แต่ควรจะเป็นเสรีภาพจากทุกฝ่าย วารสารดังกล่าวจึงเปิดช่องให้คณะวิจัยดังกล่าวได้แสดงความเห็นถึงความผิดปกติในการถูกตัดตอนงานวิจัยก่อนหน้านี้ด้วย โดยคณะวิจัยเห็นความจำเป็นว่าต้องพิมพ์เผยแพร่อีกครั้งเพราะเหตุว่า
“การตัดตอนงานวิจัยที่เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพ เป็นการบ่อนทำลายคุณค่าและความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นทางคณะวิจัยจึงต้องตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง” [7]
ไม่ว่าการโต้เถียงกันทางวิชาการในเรื่องผลประโยชน์อาจจะเกิดขึ้นได้หลายมิติ แต่อย่างน้อยก็ยังพบว่านักวิจัยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Food and Chemical Toxicology (FCT) เมื่อเดือนกันยายน 2556 พบว่า ไกลโฟเซตสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดที่อาศัยฮอร์โมนเอสโตรเจน [10]
ทั้งนี้งานวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พบว่าไกลโฟเซตมีฤทธิ์เป็นเอสโตรเจนอย่างอ่อน (Xenoestrogen) [10] [11] ซึ่งในเวลาต่อมาในเดือนมิถุนายน 2561 ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานของคณะวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พบว่าไกลโฟเซตสามารถเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งทางเดินน้ำดีชนิดที่มีเอสโตรเจนรับเอสโตรเจนได้ สอดคล้องกับผลงานของคณะนักวิจัยชาวอังกฤษเมื่อปี 2560 ยืนยันว่าไกลโฟเซตกระตุ้นตัวรับเอสโตรเจนชนิดอัลฟาได้ เป็นสารกระตุ้นเซลล์มะเร็งเต้มชนิดพึ่งฮอร์โมนให้เจริญเติบโตเร็วขึ้น [12]
นอกจากนั้น สำนักงานประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมรัฐแคลิฟอเนีย (Office of Environmental Health Hazard Assessment; OEHHA) ประกาศให้สารไกลโฟเซตเป็นสารก่อมะเร็งที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมของกฎหมาย California’s Safe Drinking Water and Toxic Enforcement Act of 1986 (Prop 65) ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้เฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งจะบังคับใช้สินค้าที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็งตามรายชื่อที่กำหนดไว้ต้องแสดงคำเตือนบนฉลากตามประมวลกฎหมายแรงงาน (Labor Code) ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560
ข้อเท็จจริงข้างต้นได้ปรากฏในรายงานของประเทศไทยอย่างเป็นทางการผ่าน คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร, ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และหลักฐานเชิงประจักษ์ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม: พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต
รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯไม่ได้รายงานแต่เพียงผลกระทบของสารไกลโฟเซต่อโรคมะเร็งเท่านั้น แต่ยังได้รายงานถึงผลกระทบของไกลโฟเซตต่อการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ไตเรื้อรัง เบาหวาน อัลไซเมอร์ และยังมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์มารดา และมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกอีกด้วย [6]
สำหรับการตกค้างของสารไกลโฟเซตนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้รายงานว่า
“การตกค้างของไกลโฟเซตในแหล่งน้ำของไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ตรวจพบในดินที่จังหวัดน่าน 145.04 - 3,311.69 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และตะกอนดินพบไกลโฟเซตที่ 132.65-3,913.86 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่แม่น้ำน่าน จังหวัดน่านได้มีการพบในน้ำประปาหมู่บ้านในทุกตัวอย่าง (21 ตัวอย่าง) ในช่วง 3.09-54.12 ไมโครกรัมต่อลิตร” [6], [13]
นอกจากในน้ำแล้วคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังได้รายงานด้วยอีกว่า
“การตกค้างของไกลโฟเซตในพืชและสัตว์ได้ถูกรายงานไว้โดย ไกลโฟเซตพบในพืชผักท้องถิ่นจังหวัดน่าน มีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐาน Codex จำนวน 17 ตัวอย่างจาก 45 ตัวอย่าง” [6],[13]
“และรายงานของ Thai PAN ตรวจพบในผักผลไม้ระดับเกินมาตรฐานสูงถึง 6 ตัวอย่างจาก 76 ตัวอย่าง ผักผลไม้ในโมเดิร์นเทรด นอกจากนี้การตรวจพบในสัตว์ ได้มีการรายงานการตรวจพบไกลโฟเซตในกบ หนอง ปูนา ในพื้นที่เกษตรหอยกาบน้ำจืดในอ่างเก็บน้ำ ปลาะกระมังในแม่น้ำน่าน ที่อำเภอเวียงสาจังหวัดน่านอีกด้วย” [6]
ความน่ากลัวและอันตรายของสารไกลโฟเซตข้างต้น ส่งผลทำให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีข้อเสนอการควบคุมไกลโฟเซตด้วยการให้“ยกเลิกการใช้ไกลโฟเซต” ด้วยเหตุผลสรุปว่า
“จากงานศึกษาวิจัยที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ (Scientific evidence) ในประเด็นเป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งได้ (2A) รวมทั้งเป็นสารที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (DEC)โรคเบาหวานและโรคไต อีกทั้งพบวการตกค้างในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดา และการตกค้างในสิ่งแวดล้อม
ภายใต้หลักป้องกันเอาไว้ก่อน (precaution approach)ซึ่งเป็นหลักการข้อที่ 15 ที่ได้รับการรับรองภายใต้คำประกาศขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Rio Declaration from the UN Conference on Environment and Development : Principle 15) และการปกป้องสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิขององค์การสหประชาชาติมาตราที่ 24 ให้เด็กได้รับการคุ้มครองภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สนับสนุนการยกเลิกการใช้ นอกจากนี้ ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ และข้อมูลที่ชัดเจนว่าในการยกเลิกการใช้ไม่กระทบต่อการเกษตรกรรม สามารถใช้สารทดแทนที่มีความปลอดภัยมากกว่า” [6]
โดยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 รายงานของกรรมาธิการวิสามัญฯดังกล่าวได้ถูกนำเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ปรากฏว่าทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลได้ลงมติเห็นชอบกับรายงานดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์ 423 เสียงต่อ 0 ซึ่งสอดคล้องกับมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายก่อนหน้านั้น คือเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ให้ยกเลิก พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562
ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย พลิกมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายแต่เดิมให้เลื่อนการแบน 2 สารพิษ คือ พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส แต่ให้ใช้สารไกลโฟเซตต่อไปอย่างจำกัด พรรคภูมิใจไทยก็ได้แต่บ่นว่าไม่เห็นด้วยแต่ก็ร่วมรัฐบาลที่ดำรงนโยบายเช่นนี้ต่อไป อีกทั้งยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการติดฉลากสารพิษเพื่อแก้เกมเหมือนกับที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียหรือไม่ หลังจากนั้นพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังจัดเลี้ยงด้วยบรรยากาศชื่นมื่น ส่งเสียงไชโยกระชับความสัมพันธ์และความมั่นคงของรัฐบาลอีกด้วย
ในที่สุดบทเรียนข้างต้นก็แสดงให้เห็นว่า “กาลเวลาพิสูจน์คน” นักการเมืองมองเห็นความสำคัญของผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจเหนือกว่าชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนจริงหรือไม่? และเห็นแก่การรักษาอำนาจและตำแหน่งเป็นสิ่งที่สำคัญเหนือกว่าชีวิตคนไทยหรือไม่?
เราจะได้เห็นบรรยากาศอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะมาถึงเร็วๆนี้อีกครั้ง หากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้พี่น้องประชาชนจับตาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติซึ่งเคยลงมติเห็นชอบด้วยกับรายงานของกรรมาธิการวิสามัญฯอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าสารไกลโฟเซตอันตรายต่อชีวิตประชาชนเพียงใด จะลงมติไว้วางใจนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หรือไม่?
ถึงวันนั้นเราจะได้เรียนรู้ว่านักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนจะทรงเกียรติและเห็นแก่ชีวิตประชาชนหรือไม่ หรือน้ำเน่าน่าสะอิดสะเอียดเพียงใด?
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] IARC Monographs Volume 112: evaluation of
five organophosphate insecticides and herbicides, 20 March 2015
https://translate.googleusercontent.com/translate_c?anno=2&depth=1&hl=th&rurl=translate.google.co.th&sl=en&sp=nmt4&tl=th&u=https://www.iarc.fr/wp-content/uploads/2018/07/MonographVolume112-1.pdf&xid=17259,15700021,15700186,15700190,15700256,15700259,15700262,15700265,15700271,15700283&usg=ALkJrhgDZREt-z8gwhLAe1YRgcjtptdWvw
[2] Davoren, M.J., Schiestl, R.H. ,Glyphosate-based herbicides and cancer risk: a post-IARC decision review of potential mechanisms, policy and avenues of research., Carcinogenesis, Volume 39, Issue 10, October 2018, Pages 1207–1215, https://doi.org/10.1093/carcin/bgy105
https://academic.oup.com/carcin/article/39/10/1207/5061168
[3] Myerex et al., Concerns over use of glyphosate-based herbicides and risks associated with exposures: a consensus statement. Environmental Health, Published 17 February 2016.
https://ehjournal.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12940-016-0117-0
[4] Tarazona et al., Glyphosate toxicity and carcinogenicity: a review of the scientific basis of the European Union assessment and its differences with IARC. Arch Toxicol. 2017 Aug;91(8):2723-2743. doi: 10.1007/s00204-017-1962-5. Epub 2017 Apr 3.
https://link.springer.com/article/10.1007%2Fs00204-017-1962-5
[5] IARC response to criticisms of the Monographs and the glyphosate evaluation, Prepared by the IARC Director January 2018
https://translate.google.com/translate?anno=2&depth=1&hl=th&rurl=translate.google.co.th&sl=en&sp=nmt4&tl=th&u=https://www.iarc.fr/wp-content/uploads/2018/07/MonographVolume112-1.pdf&xid=17259,15700021,15700186,15700190,15700256,15700259,15700262,15700265,15700271,15700283
[6] รายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร, ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และหลักฐานเชิงประจักษ์ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม: พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต หน้า 21-25
[7] Gilles-Eric Séralini et al., Conflicts of interests, confidentiality and censorship in health risk assessment: the example of an herbicide and a GMO, Environmental Sciences Europe. Published 24 June 2014
https://enveurope.springeropen.com/articles/10.1186/s12302-014-0013-6
[8] Oliver Tickell, Seralini republished: Roundup-ready GMO maize causes serious health damage, Ecologist, 25th June, 2014
https://theecologist.org/2014/jun/25/seralini-republished-roundup-ready-gmo-maize-causes-serious-health-damage
[9] Gilles-Eric Séralini et al.,Republished study: long-term toxicity of a Roundup herbicide and a Roundup-tolerant genetically modified maize., Environmental Sciences Europe., 2014; 26(1): 14. Published online 2014 Jun 24. doi: 10.1186/s12302-014-0014-5
https://enveurope.springeropen.com/articles/10.1186/s12302-014-0014-5
[10] Thongprakaisang et al., Glyphosate induces human breast cancer cells growth via estrogen receptors, Food Chem Toxico. 2013 Sep; 59, 129-136.doi:10.1016/j.fct.2013.05.067. Epub 2013 Jun 10.
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0278691513003633?via%3Dihub
[11] Sritana el al., Glyphosate induces growth of estrogen receptor alpha positive cholangiocarcinoma cells via non-genomic estrogen receptor/ERK1/2 signaling pathway.Food Chem Toxicol. 2018 Aug;118:595-607. doi: 10.1016/j.fct.2018.06.014. Epub 2018 Jun 8.
https://linkinghub.elsevier.com/retrieve/pii/S0278691518303880
[12] Mesnage el al., Facts and Fallacies in the Debate on Glyphosate Toxicity. Front Public Health. 2017 Nov 24;5:316. doi: 10.3389/fpubh.2017.00316. eCollection 2017.
http://www.frontiersin.org/article/10.3389/fpubh.2017.00316/full
[13] พวงรัตน์ และคณะ, แผนงานวิจัยเรื่องการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพหน่วยงานท้องถิ่นในการจัดการและป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษที่ต้นน้ำน่าน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2555