xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าจะออกจากความขัดแย้ง ต้องสร้างกติกาที่เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

ไม่รู้ว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยะบุตร แสงกนกกุล หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่จะพาประชาชนลงมาเดินถนนขับไล่รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจาก คสช.หรือไม่ แต่ทั้งสองเคยบอกว่า ตั้งแต่ปี 2548 ที่เกิดปรากฎการณ์ขับไล่ทักษิณจนเกิดความแตกแยกขัดแย้งนั้น เป็น “ทศวรรษที่สูญหาย”

แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น ผมคิดว่าสิบกว่าปีมานี้ได้สร้างประชาชนที่มีสำนึกเป็นพลเมืองเพิ่มมากขึ้น คนที่ไม่สนใจการเมืองมาก่อน เข้ามาสนใจการเมืองจนเกินความคาดหมาย เข้ามาสร้างเครือข่ายในการเรียกร้องสิทธิของตัวเอง ของส่วนรวม และของประเทศชาติ เพียงแต่สำหรับผมแล้วหากจะเสียดายอยู่บ้างก็เป็นช่วงที่ คสช.จำเป็นต้องเข้ามายึดอำนาจก่อนที่จะกลายเป็นรัฐล้มเหลว เราก็คาดหวังว่าเขาจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมือง สร้างทางสายใหม่ให้กับชาติบ้านเมือง เข้ามาปฏิรูปประเทศ เขากลับสร้างสะพานในการสืบทอดอำนาจเพียงอย่างเดียว

ระยะเวลาในการอยู่ใต้อำนาจ คสช.จึงเป็น “5ปีที่สูญเปล่า” ในทัศนะของผม

เพียงแต่ว่า ความตื่นตัวแบ่งฝ่ายของประชาชนในทางการเมืองนั้น มันส่งผลเสียให้เกิด “ห้องแห่งเสียงสะท้อน” หรือ Echo chamber คือ มีการรับฟังเครื่องมือสื่อสารและการสื่อสารจากคนและฝั่งที่มีความคิดเดียวกับตัวเอง จนปิดกั้นการรับฟังข้อมูลจากอีกฝ่าย เกิดเป็นอคติและการปิดกั้นโลกของตัวเองให้รับข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว และพัฒนาการตัวเองกลายเป็น “ติ่ง” ของตัวบุคคล

“ติ่ง” หลายคนชอบพูดถึงความชอบธรรม แต่สิ่งที่เขาปฎิบัตินั้นกลับเป็นการเลือกข้างที่ไม่อยู่บนเหตุผลที่ชอบธรรม เพราะเป็นเหตุผลที่เสริมแต่งขึ้นมาเพื่อทำให้ความคิดของตัวเองชอบธรรมเท่านั้นเอง

“ติ่ง” และความขัดแย้งนี้เองที่เป็นเครื่องมือให้คสช.สามารถสร้างสะพานต่อสายอำนาจของตัวเองได้ ถ้าฝ่ายตรงข้ามของตัวเองทำแบบเดียวกันเมื่อไหร่ มโนธรรมและหลักคิดที่มีเหตุผลของติ่งก็จะพรั่งพรูออกมาอย่างมีหลักการ หารู้ไหมว่าการทำตัวเองให้กลายเป็น “ติ่ง” ของตัวบุคคลนั้น มันทำให้ตัวเองกลายเป็นหูดเนื้อส่วนเกินที่บั่นทอนประเทศ

แม้ทุกวันนี้ทุกคนจะมีเครื่องมือในการสื่อสารของตัวเองที่เรียกว่าโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออื่นๆ เราก็พากันขังตัวเองไว้ในห้องที่มีคนที่มีความคิดเหมือนกับเรา และมองว่าความเห็นความคิดหรือการกระทำใดก็ตามของฝ่ายตรงข้ามเราเป็นสิ่งที่ผิด แม้เขาจะทำอย่างที่ฝ่ายที่เราชื่นชอบเคยทำ และถ้าฝ่ายที่เราชอบทำเราก็บอกว่าถูกต้อง แม้เราเคยบอกว่าฝ่ายตรงข้ามที่ทำแบบเดียวกันว่าไม่ถูกต้องก็ตาม

และทุกวันนี้อัลกอริทึ่มของโซเชียลมีเดียยังแสนรู้ เมื่อรู้ว่าเราชอบแบบไหน มีความคิดเห็นไปในทางไหนก็จะส่งให้เรารับรู้รับฟังแต่ในข้อมูลที่เราชอบ ด้วยการจารกรรมความคิดของตัวเรา ไม่กี่วันก่อนผมคุยโทรศัพท์เพื่อนในการเตรียมไวน์ไปใช้ในงานเลี้ยงของรุ่น หลังจากนั้นเฟซบุ๊กก็ป้อนโฆษณาไวน์และเครื่องมือในการดื่มไวน์มาตามหน้าไทม์ไลน์ของผมเต็มไปหมด

ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้ แม้จะมีประโยชน์มหาศาลแต่มันกลายเป็นเครื่องมือที่กดทับความขัดแย้งแบ่งฝ่ายของเราให้จมปลักต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพิ่งพูดเมื่อวันก่อนกับพรรคร่วมรัฐบาลว่า “ผมอยู่ไม่ได้ พวกคุณก็อยู่ไม่ได้” เขาหมายถึง “อำนาจที่เป็นผลประโยชน์ของตัวเอง” นะครับ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประเทศและส่วนรวม แต่อาจจะเป็นเพราะเขารู้ว่า ถ้าไม่มีเขาแล้วประเทศก็อยู่ได้เขาจึงต้องกอดรัดอำนาจเอาไว้

แน่นอนคนที่มีอำนาจก็หวงอำนาจของตัวเอง สร้างกติกาขึ้นมาห่อหุ้มอำนาจของตัวเอง ซึ่งมีแต่ทำให้ความขัดแย้งขยายรุนแรงขึ้น แม้ผู้มีอำนาจจะมีมวลชนหนุน แต่ก็ใช้ความขัดแย้งของประชาชนเป็นเครื่องมือในการเสวยอำนาจของตัวเอง

ดังนั้น ผมคิดว่า ปัจจัยสำคัญของการออกจากความขัดแย้งก็คือ เราต้องสร้างกติกาที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เพื่อให้ทุกฝ่ายกลับมาต่อสู้กันบนเวทีแทนการลงไปเดินไปลงถนนที่ต่อสู้กันมาสิบกว่าปีมาแล้ว ถ้าถามว่าอะไรเป็นหัวใจสำคัญที่เราต้องแก้ สำหรับผมแล้วผมคิดว่า เราต้องแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นหัวใจสำคัญของประเทศให้เกิดความเป็นธรรมและมีความเท่าเทียมกันต่อทุกฝ่าย




มวลชนฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลชุดนี้อาจจะไม่เห็นด้วย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้รัฐบาลได้ประโยชน์ แต่ถามว่า ถ้าเราใช้กฎหมายมาสร้างความได้เปรียบแก่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งมันมีความชอบธรรมไหม ถ้าไม่เราจะเรียกฝั่งตัวเองว่าเป็นฝ่ายชอบธรรมได้อย่างไร

ความจริงสิ่งที่รัฐบาลนี้เจอจากพรรคร่วมก็มาจากรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้มแข็งซึ่งเคยเกิดผลเสียจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทักษิณกลายเป็น Strong Prime Minister ขึ้นมาตาม โมเดลของหมอประเวศ วะสี โดยลืมไปว่าอำนาจนั้นเป็นกิเลสทำให้คนเดินไปสู่เส้นทางของผลประโยชน์มากกว่าเส้นทางของความถูกต้องเที่ยงธรรม

รัฐธรรมนูญ 2560 จึงต้องการทำให้รัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลผสมไม่มีพรรคไหนสามารถได้เสียงข้างมากเด็ดขาดเพราะกลัวว่าใครได้อำนาจแล้วจะใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมอีก กลายเป็นความยุ่งยากที่กำลังกัดกินฝ่ายรัฐบาลเองอยู่ในขณะนี้ เพราะต้องต่อรองผลประโยชน์กับพรรคร่วมรัฐบาลตลอดเวลา

แถมรัฐธรรมนูญ 2560 ยังออกแบบที่พิลึกพิลั่นโดยให้ ส.ว.สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยแล้วคนที่ตั้ง ส.ว.ก็ลงมาแข่งเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองซึ่งจริงแล้วเป็นเรื่องของการขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ซึ่งควรจะขัดต่อกฎหมาย

แต่ข้ออ้างของที่มาของ ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรีก็คือการอ้างความชอบธรรมจากประชามติทั้งๆ ที่จริงแล้วถ้าเราไปดูถ้อยคำในประชามติจะเป็นการทำประชามติที่ซ่อนเงื่อน

ประชามติถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติสมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่าในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

เขาก็ถามตรงๆ นี่ทำไมซ่อนเงื่อนลองดูสิครับว่าคำว่า “ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” นั้นมีชาวบ้านสักกี่คนจะเข้าใจโดยพลันบ้าง

แน่นอนความหมายของรัฐสภาก็คือ ส.ส. และ ส.ว. แต่ถ้าดูเผินๆ มันก็คิดว่าก็ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีกันในรัฐสภาไงมันก็ไม่มีอะไรผิดปกตินี่ทำไมไม่ถามตรงๆละครับว่า “ให้ ส.ว.เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.”

แต่นั่นก็ช่างเถอะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังถูกทำให้แก้ยากด้วยการลงมติต้องมี ส.ว.เห็นด้วยถึง 84 คนและต้องมีพรรครัฐบาลเห็นด้วยร้อยละ 20 เห็นชัดๆ ว่าถ้ารัฐบาลไม่กดปุ่มฝักถั่ว ส.ว.ที่รัฐบาลแต่งตั้งเองไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจตัวเองได้เลยแล้วรัฐบาลก็ไม่มีทางให้แก้เพราะถ้าดูจากเรื่องตั้งครั้งนี้หากไม่มี ส.ว.เป็นกองหนุนพรรครัฐบาลก็ชิงตั้งรัฐบาลไม่ได้แน่ดังนั้นเราต้องทนอยู่กันอย่างนี้ไปอีกเพื่อให้ครบ5ปีที่รัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลให้อำนาจ ส.ว.ไว้

แต่วิงวอนท่าน ส.ว.ที่รักความเป็นธรรมและรักบ้านเมืองช่วยกันแก้วิธีการนับคะแนนเลือกตั้งเถอะครับถ้านับแบบนี้วันไหนไม่มี ส.ว.เลือกได้ฝ่ายที่ได้ประโยชน์คือฝ่ายค้านนะครับเพราะพรรค ส.ส.เขย่งที่ได้คะแนน 3-4 หมื่นได้ต่ำกว่าพึงมีได้ไปคนละ1ที่นั่งจะมีประโยชน์กับพรรคอันดับ 1 ซึ่งจะเชิญชวนพรรคร่วมรัฐบาลได้ก่อน

แล้วการนับคะแนนแบบนี้ไม่มีใครเขาใช้กันในโลกแม้จะอ้างเยอรมันรัฐหนึ่งมาก็ตามเขาเลิกใช้หมดแล้วมันขัดกับหลักความเสมอภาคและหลักยุติธรรมกลายเป็นว่าเลือกตั้งครั้งนี้ค่าเฉลี่ยต่อ 1 ที่นั่งไม่เท่ากันบางพรรคหารด้วย 8 หมื่นบางพรรค 7 หมื่นบางพรรค3-4 หมื่นก็ได้จริงๆ มาตรา 128 ของ พรป.เลือกตั้งก็ไม่ได้มั่วอย่างนี้หรอกครับเพราะหลายคนคิดให้ดูแล้วมันได้เท่ากับแต่ละพรรคพึงมีถูกต้องแต่วิธีคิดแบบกกต.นั่นแหละที่มีปัญหาแต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมก็แก้กันให้กระจ่าง

เอาแบบรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ก็ได้พอคิดตามค่าพึงมีแล้วบัญชีรายชื่อมันโอเวอร์แฮงก์เกิน 150ไปก็ให้มีส.ส.ตามนั้นมันถึงจะเป็นธรรมแต่วิธีคิดแบบกกต.ไม่รู้เอาหลักคณิตศาสตร์ที่ไหนมาที่ให้ค่าเศษส่วนมีน้ำหนักมากกว่าจำนวนเต็มและจริงๆแล้วในทางคณิตศาสตร์เมื่อคำตอบขัดแย้งกับโจทย์มันก็ผิดอยู่แล้วเพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งก็เขียนไว้ชัดว่าจะมีส.ส.เกินกว่าค่าพึงมีไม่ได้

ถ้าวิธีคิดแบบนี้ยังดำรงอยู่เชื่อผมเถอะครับหมดฤทธิ์ 250 ส.ว.วันไหนพรรคที่ได้ประโยชน์ก็คือพรรคอันดับ 1 ที่มีอำนาจต่อรองก่อนเว้นเสียแต่ว่าต่อไปฝั่งรัฐบาลเชื่อว่าในการเลือกตั้งทุกครั้งจะชนะพรรคเพื่อไทยแน่ๆ

นอกจากนี้มีเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องในรัฐธรรมนูญที่ต้องแก้ไข แต่เราต้องหันหน้ามาร่วมกันทบทวนถ้าเชื่อว่ามันเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ผมไม่ลงรายละเอียดว่าเราจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร จะแก้ตรงวิธีแก้รัฐธรรมนูญเสียก่อนหรือขอประชามติ แต่ผมเชื่อว่า ถ้าเราไม่สร้างความเป็นธรรม กติกาที่เท่าเทียมในการต่อสู้ทางการเมือง ความขัดแย้งก็ยากจะหายไปจากสังคมไทย ถ้าเราเป็นประชาชนที่เชียร์รัฐบาลชุดนี้ เราก็คิดว่าไม่ต้องแก้ เพราะฝั่งที่เราเชียร์ได้ประโยชน์ ใช้สามัญสำนึกคิดง่ายๆสิว่า ถ้าความไม่ชอบธรรมยังดำรงอยู่เราจะออกจากความขัดแย้งได้ไหม

แน่นอนประชาชนจำนวนมากกำลังกลัวพรรคการเมืองบางพรรคที่จะนำพาประเทศไทยออกไปสู่เป้าหมายที่ตัวเองคาดหวัง จะเปลี่ยนแปลงระบอบของประเทศ หรือต้องการบั่นทอนอำนาจบางด้านที่คนในสังคมฝั่งหนึ่งศรัทธาลง แต่เราไม่คิดบ้างหรือว่า กติกาที่ไม่ชอบธรรมนั่นแหละมันจะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้ฝั่งเขา

หรือเราคิดว่า ทางออกเดียวของการต่อสู้แบ่งขั้วกันของสังคมไทยคือการทำลายล้างฝั่งตรงข้าม แทนที่จะทำกติกาให้เป็นธรรมเพื่อให้กลับมาต่อสู้กันบนเวทีที่ประเทศจะไม่สูญเสียแตกแยกไปกว่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น