ส.ว.กับการชี้ขาดทางการเมืองจริงหรือ? “ทนายวันชัย” ชี้ 3 ปัจจัย ตัดสิน 1. พรรคร่วมรัฐบาลทะเลาะกัน แตกกัน 2. ทุจริตโกงกินคอร์รัปชั่น 3. ไม่มีผลงาน คนเบื่อ หมดหวังหมดศรัทธา ส.ว.ก็เชียร์ไม่ขึ้น เอาไม่อยู่!
วันนี้(1 ธ.ค.62) เฟซบุ๊ก ทนายวันชัย สอนศิริ ของ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โพสต์หัวข้อ “ส.ว.กับการชี้ขาดทางการเมือง”
ระบุว่า เสียงปริ่มน้ำได้ออกฤทธิ์ออกเดชในการประชุมสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงขั้นแพ้มติและสภาล่มถึงสองครั้งสองครา ก็อย่างที่ว่านั่นแหละ การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอยากมีอยากเป็นหรือการรักษาอำนาจก็จะเป็นการเล่นเกมชิงไหวชิงพริบกันทางการเมือง เสียงปริ่มน้ำก็จะเกิดอาการอย่างที่เห็น ทั้งการต่อรองและการเล่นเกมทางการเมือง ทำให้ประชาชนรู้สึกเอือมระอากับการเมืองถึงขนาดโจมตีด่าทอกันสารพัด ทั้งเชียร์และแช่งตามอารมณ์ของความชอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนรู้สึกหวั่นไหวว่ารัฐบาลจะไปรอดหรือไม่
มาดูคณิตศาสตร์ทางการเมืองกันสักหน่อยดีไหม ใครจะเป็นรัฐบาลต้องมีเสียงจากรัฐสภา 376 เสียง แต่การดำรงอยู่ของรัฐบาลต้องใช้เสียงของสภาผู้แทนราษฎร 251 เสียงขึ้นไป มันถ่วงดุลกันอยู่อย่างนี้ จะตั้งรัฐบาลต้องใช้ทั้งสองสภา จะล้มรัฐบาลใช้สภาเดียว 251 เสียงขึ้นไป
ดูแล้วถ้าจะล้มรัฐบาลในขณะที่เสียงปริ่มน้ำนั้นง่ายมาก ห่างกันอยู่ไม่กี่เสียง ดูทีท่าว่าจะล้มเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ปัญหามีอยู่ว่าล้มแล้วจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ สมมติว่าพรรคพลังประชารัฐรวมกับพรรคของคุณสุเทพและพรรคประชาธิปัตย์รวมกันได้ 170 เสียง ให้พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่และพรรคอื่นๆรวมกันได้ 330 เสียง ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้อยู่ดี จะหมุนซ้ายหมุนขวาหมุนหน้าหมุนหลังก็ไม่ได้ 376 เสียง
ก็รัฐธรรมนูญเขาออกแบบมาแล้วว่าการเมืองมันก็เป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์แล้วก็ต่อรองกัน บ้านเมืองก็มีปัญหา ประชาชนก็แย่ เขาจึงเอาส.ว.มาช่วยถ่วงดุล ประคับประคองให้ บ้านเมืองมันเดินไปในระยะเปลี่ยนผ่าน ไม่ให้มาเล่นเกม มาต่อรองมาชิงไหวชิงพริบทางการเมืองอย่างที่เป็น จึงให้ทุกฝ่ายหันมาทำหน้าที่กันมากกว่าที่จะมาแย่งอำนาจแย่งผลประโยชน์ ส.ว.จึงมีส่วนสำคัญในการปกป้องพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าอำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง
รัฐบาลจะล้มหรือดำรงอยู่ได้หรือไม่นั้นก็มาจากเหตุ 3 ประการคือ 1. พรรคร่วมรัฐบาลทะเลาะกันแล้วก็แตกกัน 2. ทุจริตโกงกินคอร์รัปชั่น 3. ไม่มีผลงาน คนเบื่อ หมดหวังหมดศรัทธา
นั่นก็หมายความว่า ไม่ว่าจะในสภาหรือนอกสภาที่คนมาเดินตามท้องถนน จะล้มหรือไม่ล้มก็มาจาก 3 ปัจจัยนี้ เกิดจากทำตัวเองทั้งนั้น ส.ว.ก็เช่นกัน เขาให้มาทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ได้ให้มาปกป้องรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง รัฐบาลใดดีมีผลงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนก็ต้องสนับสนุน แต่ถ้ารัฐบาลใดอยู่ในปัจจัย 3 ประการ ประชาชนก็ไม่เอา หมดหวังหมดศรัทธา เชียร์ไปก็น่าจะเสียผู้เสียคน ดังนั้น รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่หรือเสียงของส.ว. แต่อยู่ที่การทำตัวของตัวเองและอยู่ที่ว่าไปนั่งอยู่ในใจของประชาชนได้หรือเปล่าต่างหากเล่า
สำหรับกรณีสภาล่ม 2 ครั้งที่ ทนายวัยชัยพูดถึง เนื่องจากเมื่อวันที่ 27 พ.ย.62 มีการเสนอญัตติด่วน ให้ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบตามมาตรา 44 โดย ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) 5 คน มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการ อนค. เป็นแกนนำ
ที่น่าสนใจ ต่อมามีส.ส.รัฐบาล 6 คน เห็นชอบกับการตั้ง กมธ. ดังกล่าว จนทำให้รัฐบาลต้องแพ้โหวต
และส.ส. 6 คน ก็คือ นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา, นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก, นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช, นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง และนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ทั้งหมดเป็นส.ส. พรรค ปชป.
ทั้งนี้ลำดับเหตุการณ์ เริ่มจากวันที่ 27 พ.ย. 62
16.50 น. เข้าสู่วาระเสนอตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบ ม. 44 นายปิยบุตรนำทีมอภิปรายปัญหาการใช้มาตรา 44 ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในคราวเป็นหัวหน้า คสช. เป็นเวลา 5 ปีเต็ม
- สภามีมติเห็นชอบให้ตั้ง กมธ. ด้วยคะแนน 236 : 231 งดออกเสียง 2( 6 ส.ส.ปชป.เห็นชอบดังกล่าว)
- ประธานวิปรัฐบาลเสนอนับคะแนนใหม่ ตามข้อบังคับข้อที่ 85 ท่ามกลางเสียงโห่ของฝ่ายค้าน และเกิดการประท้วงนาน 30 นาที
- ประธานสภาสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 15 นาที ตามที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา เสนอ
18.55 น. สภากลับมาประชุมต่อ โดยประธานสภายืนยันคำวินิจฉัยเดิมให้นับคะแนนใหม่ แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเสียงโดยเปิดเผยด้วยวิธีเรียกชื่อ ตามข้อบังคับข้อที่ 83 ระหว่างนี้ ส.ส. ฝ่ายค้านเริ่มวอล์กเอาต์
- นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอให้นับองค์ประชุม ก่อนที่ประธานสภาจะขานองค์ประชุมว่ามี 92 เสียง ถือว่าองค์ประชุมไม่ครบ
19.17 น. ประธานสภาสั่งปิดการประชุม
28 พ.ย. 11.09 น. เข้าสู่วาระเสนอตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบ ม. 44
-ประธานวิปฝ่ายค้านแจ้งว่าฝ่ายค้าน "ไม่ขออยู่นับคะแนน ไม่ร่วมทุกกระบวนการ" ขณะที่ ส.ส. ฝ่ายค้านรายอื่นยืนยันหากจะนับคะแนนใหม่ ต้องขานมติเฉพาะ ส.ส. 467 เสียงที่อยู่ในองค์ประชุมเมื่อวาน
11.19 ประธานสภาสั่งตรวจสอบองค์ประชุม โดย ส.ส. ฝ่ายค้านทยอยวอล์กเอาต์
11.24 น. ประธานสภาสั่งปิดการประชุม(https://www.bbc.com)
สำหรับ นายวันชัย สอนศิริ ถือว่า มีบทบาทอย่างมากในทางสังคม ไม่แต่เฉพาะการเป็นนักการเมืองเท่านั้น
โดยเฉพาะการใช้วิชาชีพ “ทนาย” และความรู้ด้านกฎหมาย ในการมีบทบาทด้านต่างๆนั่นเอง
ปัจจุบัน นอกจากเป็น ส.ว.แล้ว ในอดีตเคยเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนักพูด ผู้บรรยายเรื่องกฎหมายทั่วไปของสภาทนายความ
มีชื่อเสียงมาจากการให้ความรู้ทางกฎหมาย ในวิทยุคลื่นร่วมด้วยช่วยกัน ต่อมาเป็นผู้จัดรายการเล่าข่าว จากข่าวหนังสือพิมพ์ โดยสอดแทรกความรู้ด้านกฎหมาย และเรื่องขำขัน ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และยูบีซี โดยจัดรายการคู่กับ ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ทั้งคู่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในชื่อ "สองทนาย" หรือ "ทนายคู่หู" ในรายการร่วมมือร่วมใจทางทีไอทีวีแต่ได้ออกมาในปี พ.ศ. 2550 หลังการเปลี่ยนโครงสร้างสถานีของไอทีวีเป็นทีไอทีวี
นายวันชัย เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตกรุงเทพมหานคร เขต 1 (เขตพระนคร และ เขตป้อมปราบรศัตรูพ่าย) สังกัด พรรคชาติพัฒนา เมื่อปีพ.ศ. 2544 แต่แพ้เลือกตั้ง และต่อมาเป็นอาจารย์สอนกฎหมายอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และบทบาทของสื่อมวลชนอีกมาก ฯลฯ
แน่นอน, การโพสต์ข้อความทำนองติงเตือนรัฐบาลครั้งนี้ของทนายวันชัย ไม่แต่เฉพาะเหตุการณ์สภาล่ม 2 ครั้งใน 2 วัน ที่เป็นสัญญาณอันตรายให้เห็นเท่านั้น
หากแต่อย่าลืม ขณะเดียวกัน(27 พ.ย.62) ก็มี “ปม” ปัญหาคาใจภายในพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจาก รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์พลิกมติยกเลิกสารพิษ 3 สาร ที่ทำเอาประชาชน ผู้บริโภค เสียความรู้สึกอย่างมาก โดยมีการชะลอการยกเลิก 2 สาร(พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส) ออกไปอีก 6 เดือน และอีก 1 (ไกลโฟเชต) ให้ใช้อย่างจำกัด ขณะที่รัฐมนตรี จากพรรคภูมิใจไทย เป็นคนผลักดันให้ยกเลิกทันที ทั้ง 3 สาร
เรื่องนี้แม้จะยังไม่มีการตอบโต้จากพรรคภูมิใจไทยต่อทั้งสองพรรคร่วมรัฐบาลมากนัก แต่ความไว้วางใจในการที่จะทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นประโยชน์ของประเทศและประชาชน อาจไม่เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น ก็เป็นได้
และหนักเข้าก็ไม่ต้องสงสัยว่าใครจะเสียหาย ไม่นับว่า จะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับรัฐบาลหรือไม่ หรือมีผลต่อการผ่านกฎหมายสำคัญ หรือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในรัฐบาล อย่างที่มีคนเตือนเอาไว้แล้ว
นี่คือ การส่งสัญญาณเตือนของทนายวันชัย ที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง และจะมองข้ามไม่ได้แม้แต่นิดเดียว ไม่เชื่อก็ลองดู!!!