"ปิยบุตร" อ้างญัตติตั้งกมธ.ศึกษาม.44 สะสางผลพวงรัฐประหาร มุ่งจัดการความเชื่ออวัฒนธรรม ชี้คนพ้นผิดลอยนวลทำประเทศตกในวงจรอุบาทว์ ก่อนมีพลิกฝ่ายค้านโหวตเฉือนชนะ รบ.เดินเกมขอนับใหม่ เจอประท้วงวุ่นจนต้องพักประชุม
วันนี้ (27 พ.ย.) เมื่อเวลา 16.55 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ได้มีการพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช.ตามมาตรา44 โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กล่าวสรุปญัตติว่าการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ขึ้นมาเพื่อการศึกษาผลกระทบคำสั่งคสช. หากเห็นว่าจำเป็นต้องศึกษาคำสั่งชุดอื่นๆตนก็ไม่ขัดข้อง เราไม่มีอำนาจสั่งการรัฐบาล หรือดำเนินคดีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะกบฏ แค่ศึกษาและทำรายงานเสนอสภาเพื่อผลักดันหน่วยงานต่างๆดำเนินการเท่านั้น หลายคนบอกไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพราะมีคณะกรรมาธิการสามัญเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว คือคณะกรรมาธิการกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนที่มีตนเป็นประธาน แต่มีกมธ.เพียง15 คน และมีไม่ครบทุกพรรค หากตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจะเปิดโอกาสให้ทุกพรรคเข้ามาร่วมด้วยอย่างน้อย37คน โดยจะเชิญคนนอกที่มีความรู้ร่วมด้วย
นายปิยบุตรกล่าวว่า ตนเข้าใจดีว่าคำสั่งคสช.หลายเรื่องมีเนื้อหาดีและจำเป็นเร่งด่วนในเวลานั้น หลายเรื่องออกไปแล้วมีบุคคลที่สุจริตได้รับประโยชน์ ระบบราชการตามปกติที่ดำเนินการตามคำสั่งของคสช. ดังนั้นอันไหนดีก็ให้ใช้ต่อ แต่ควรจะมีการศึกษาเพื่อแยกแยะออกมาว่าฉบับไหนดีก็เปลี่ยนเป็นพระราชบัญญัติ ไม่ใช่ปล่อยให้มีคำสั่งรัฐประหารซ่อนอยู่ในระบบกฎหมาย หรือถ้ามีคำสั่งไหนที่มีศักดิ์เป็นลำดับรองก็เปลี่ยนให้เป็นระเบียบ หรือกฎกระทรวง แต่ในส่วนที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิ์อย่างร้ายแรง ที่ยังไม่มีการยกเลิกก็ยกเลิกเสีย ฉบับไหนเลิกไปแล้วแต่ผลร้ายยังดำรงอยู่ มีผู้ได้รับความเสียหายก็ควรจะหามาตรการต่างๆเยียวด้วย หากคณะกรรมการชุดนี้เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์สามารถรับฟังความเห็นจากแวดวงกว้าง เพื่อเป็นข้อเสนอผลักดันให้หน่วยงานต่างๆดำเนินการต่อไป
ที่มีการอภิปรายว่าประกาศคสช.ยกเลิกไปแล้วหลายฉบับ หลงเหลือเพียงนิดเดียว ตนยอมรับว่าจริง แต่ที่ยกเลิกไปแล้วก็ยังไม่ยกเลิกโดยปริยาย ยังมีแง่ปมกฎหมายอยู่ 11 ฉบับยกเลิกไปโดยไม่มีเงื่อนไขใด แต่ผลร้ายเกิดขึ้นไปแล้ว เช่นคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ คำสั่งต่ออายุองค์กรอิสระ ปลดองค์กรอิสระ คำสั่งละเมิดเสรีภาพสื่อมวลชน คำสั่งหลายเรื่องยังมีบุคคลหลายคนถูกดำเนินคดีอยู่ ทั้งประชาชนและสส.ในสภานี้ ที่ยังต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอีกหลายคน และอีกหลายฉบับที่ยกเลิกไปแล้วจะมีเงื่อนไข
“หากให้เหตุผลที่ว่าคสช.หายตัวไปแล้ว ประกาศหลายฉบับสิ้นสุดไปแล้ว ไม่เพียงพอเพราะยังมีผลพวงอย่างต่อเนื่อง การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ขึ้นมาอย่างน้อยที่สุดจะช่วยแสดงออกให้เห็นถึงการจัดการกับความคิดความเชื่ออวัฒนธรรม การพ้นผิดลอยนวลวิธีคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้วก็ให้มันจบไปแล้วอย่าไปรื้อฟื้น หรือเพื่อเดินหน้าไปสู่ความปรองดองเรื่องมันเกิดขึ้นไปแล้วให้เลิกแล้วต่อกัน แม้เรื่องที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องกระทำความผิดกฎหมายสูงสุดของประเทศหรือรัฐธรรมนูญก็ตาม ต่อไปนี้คนที่ตั้งใจกระทำความผิดใช้อำนาจรัฐประหาร ก่อรัฐประหารอีกก็ย่ามใจเพราะทราบว่าทำไปก็ไม่มีผลร้ายสามารถนิรโทษทำตัวเอง สามารถเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องรับโทษเพราะวิธีลอยนวลคนผิดทำให้ประเทศไทยถึงตกอยู่ในวงจรอุบาทว์วงเวียนรัฐประหารซ้ำซาก หลายประเทศที่เคยผ่านรัฐประหารบ่อยครั้งแต่ปัจจุบันไม่มีเลย และนายทหารกลับเข้ากรมกอง ทำหน้าที่ทหารอย่างมืออาชีพ เช่นตุรกี เกาหลีใต้ อาร์เจนตินา เพราะเขาไม่ยอมให้มีวัฒนธรรมแบบลอยนวลผลเกิดขึ้น”
นายปิยบุตรกล่าวว่า การลงมติเรื่องนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญยิ่งของสภาคือ มีการยึดอำนาจมา 5 ปีไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีผู้แทนประชาชน คสช.ใช้อำนาจเด็ดขาดดำเนินการละเมิดสิทธิเสรีภาพกระทบประชาชนหลายเรื่อง แต่วันนี้มีการเลือกตั้งแล้ว กำลังทยอยกลับเข้าสู่ระบบปกติ แม้จะมีรัฐบาลที่ดูเหมือนจะสืบอำนาจก็ตามแต่สภานี้ถือเป็นชุดแรกหลังจากมีรัฐประหาร เหมือนได้รับมอบหมายจากประชาชน จึงไม่เหตุผลใดที่สภาจะปฏิเสธไม่ใช้อำนาจแทนราษฎร เพื่อเริ่มต้นดำเนินการจัดการมรดกบาปของคสช. หากสภานี้นิ่งเฉยปล่อยผ่านไปถามตรงๆว่าเราจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน เมื่อไปพบปะประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้อำนาจของคสช. จะเอาหน้าไปพบประชาชนที่เป็นฐานคะแนน หรือส่องกระจกมองตนเองที่เดือดร้อนจากการใช้อำนาจของรัฐประหาร พอมีอำนาจกับสยบยอมไม่กล้าทำอะไร แม้แต่ลงมติตั้งกรรมาธิการแค่ศึกษาเท่านั้น
“สภาเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่ง เรามีอาชีพนักการเมืองได้ รับเงินเดือนหลักแสนดีได้ ก็เพราะประชาชนเลือกมา จึงมีภาระกิจสำคัญเอาความต้องการของประชาชนมาแปลงให้เกิดผลในสภา การลงมติครั้งนี้จึงเป็นบทบาทสำคัญของจุดที่ว่าพวกเราคือผู้แทนของราษฎรไม่ใช่ผู้อยู่ผู้ใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐประหาร ถือเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทยและรัฐสภาไทยที่จะบันทึกว่าในช่วงที่อำนาจกลับมาเป็นของประชาชน เลือกผู้แทนเข้ามาแล้ว สมาชิกจะลงมติให้ศึกษาการทบทวนการใช้อำนาจของคสช.หรือจะยอมอำนาจเผด็จการ ที่วันข้างหน้าจะมีรัฐประหารอีก หากลูกหลานมาเปิดอ่านบันทึกการประชุมก็จะเห็นว่าคนไหนลงมติสนับสนุน คนไหนคัดค้าน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องซีกรัฐบาลหรือฝ่ายค้านหรือไม่ใช่มติวิป แต่เป็นการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎร จึงขอให้ทุกคนที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจแทนราษฎรเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจต่างๆของคสช.”นายปิยบุตรกล่าวย้ำ
หลังจากเจ้าของญัตติอภิปรายครบแล้ว นายชวนได้ขอมติ ปรากฎว่ามีสมาชิกจำนวน236-231เสียง งดออกเสียง2 เสียง ไม่ลงคะแนนไม่มี ทำให้ฝ่ายค้านส่งเสียงเฮลั่นห้องประชุมด้วยความดีใจ แต่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล เสนอให้นับคะแนนใหม่ เพราะเกิดความสับสน คะแนนแพ้ชนะกันเฉียดฉิว ทำให้ส.ส.ฝ่ายค้านส่งเสียงโห่แต่นายชวนระบุว่า ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯข้อ 85 ในกรณีมีคะแนนแพ้ชนะกันไม่เกิน 25 เสียง แต่การลงคะแนนใหม่ต้องใช้วิธีการขานชื่อทีละคน พร้อมขอคำยืนยันจากฝ่ายรัฐบาลจะให้ลงคะแนนใหม่ใช่ไหม ซึ่งส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็ยกมือรับรอง แต่ฝ่ายค้านไม่ยอมพากันประท้วงวุ่นวาย โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวว่า หากให้นับคะแนนใหม่เช่นนี้ ก็ต้องนับใหม่ทุกครั้งที่มีการขอ ขณะที่นายปิยบุตรกล่าวว่า ขอให้ประธานวิปรัฐบาลใจเย็นๆ หวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจว่า แพ้ก็คือแพ้ อย่าให้มีปัญหากับสภาแห่งนี้ มิเช่นนั้น สภาจะทำงานต่อไม่ได้
แต่นายชวนยังยืนยันว่า เป็นสิทธิของสมาชิกที่ขอให้นับคะแนนใหม่ ตนไม่มีทางหลีกเลี่ยง ถ้าไม่ให้นับใหม่ตนก็ทำผิดข้อบังคับการประชุม ในฐานะประธานฯไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แต่จะทำให้อย่างไร เพราะต้องวางตัวเป็นกลาง จากนั้นขอให้ตั้งคณะกรรมการนับคะแนนจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่ฝ่ายค้านไม่ยอมส่งตัวแทนเป็นคณะกรรมการนับคะแนน และยังคงรุมประท้วงต่อเนื่อง บางคนตะโกนเสียงดังต่อว่าด้วยความไม่พอใจ จนนายชวนต้องขอให้รักษามารยาทด้วย สภาไม่ใช่โรงเหล้าเถื่อน ในที่สุดนายสมพงษ์ อมรวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เสนอให้พักการประชุม 5 นาที เพราะขณะนี้กำลังมีปัญหากันนิดหน่อย ซึ่งนายชวนก็อนุญาตให้พักการประชุมเป็นเวลา 15นาที