xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประกาศ11 ฉบับ“ทีมพัฒนากฎหมาย” ความคาดหวัง ปฏิรูปกฎหมายประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการุสดสัปดาห์ -ประกาศใช้แล้วสำหรับ "กฎกระทรวง คำแนะนำ และหลักเกณฑ์ รวม 11 ฉบับ" ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ไว้ ณ วันที่ 22 พ.ย.62

โดยรัฐบาล เชื่อว่าถือเป็นความก้าวหน้าในการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ได้บัญญัติแนวทางในการจัดทำและตรากฎหมายขึ้นใหม่โดยให้มีเท่าที่จำเป็น และต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์

รวมถึงต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากกฎหมายอย่างรอบด้าน และประชาชนต้องได้รับทราบและเข้าใจถึงเหตุผลในการตรากฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ได้ถูกตราขึ้นและได้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา

อีกทั้ง ในการประชุมครม. เมื่ออังคารที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติร่างกฎกระทรวง ร่างคำแนะนำ และร่างหลักเกณฑ์ รวม 11 ฉบับ ตามที่ "คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย" เสนอ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเข้าใจโดยละเอียดและสามารถปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์ฯได้อย่างถูกต้อง ประเด็นหลักๆ ที่หน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติในการจัดทำร่างกฎหมาย เช่น

1. วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย 2. ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย โดยกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินและระยะเวลาที่ต้องทำให้เสร็จ 3. ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น ล้าสมัย หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพของประชาชน 4. กฎหมายใดที่มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 27 พ.ย.62 ให้ทำการประเมินผลสัมฤทธิ์ครั้งแรกไม่ช้ากว่าห้าปีนับจากวันที่ 1 ม.ค.63 และประเมินครั้งต่อไปทุก ๆ ห้าปี ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายในหนี่งปีหลังเริ่มดำเนินการ

5. รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องโดยรับฟังจากทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านอย่างเท่าเทียมกัน และต้องเปิดกว้างหลายช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ การสัมภาษณ์ การเชิญมาให้ข้อมูล และอื่น ๆ 6. เผยแพร่กฎหมาย/กฎกระทรวง/ข้อบังคับ/ประกาศ/คำสั่งการในเว็บไซด์กลางที่รับผิดชอบโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) (สพร.) 7. จัดทำคำอธิบายโดยสรุปสาระสำคัญของกฎหมายด้วยภาษาที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ 8. กฎหมายต้องได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจกฎหมายไทย

ขณะที่ การขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านกฎหมายนี้ รัฐบาลได้ยึดแนวทางที่สากลปฏิบัติ และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับความพร้อมของหน่วยงานของรัฐและและบริบทประเทศไทย ซึ่งการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์และมาตรฐานของการดำเนินการในเรื่องนี้ของต่างประเทศ รวมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมากำหนดแนวทางปฏิบัติ และจัดให้มีการอบรมเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวแล้ว

"กฎกระทรวง คำแนะนำ และหลักเกณฑ์"11 ฉบับ มีอะไรบ้าง

ฉบับแรก เป็น "กฎกระทรวงกำหนดกฎหมายตามมาตรา 29 (6) พ.ศ. 2562 ให้รวมถึง กฎมณเฑียรบาลทุกฉบับและที่แก้ไขเพิ่มเติม และกฎหมายเกี่ยวกับกิจการในพระมหากษัตริย์ , การบริหารการศาสนา , การบริหารงานบุคคลของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และกฎหมายเกี่ยวกับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย

ฉบับที่สอง กฎกระทรวงกำหนดรอบระยะเวลการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ว่าด้วย กฎหมายใดที่มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 27 พ.ย.62 ให้ทำการประเมินผลสัมฤทธิ์ครั้งแรกไม่ช้ากว่าห้าปี นับจากวันที่ 1 ม.ค.63 และประเมินครั้งต่อไปทุกๆ ห้าปี ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายในหนี่งปีหลังเริ่มดำเนินการ

ฉบับที่สาม กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการไม่เผยแพร่ข้อมูลในระบบกลาง พ.ศ. 2562 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ตัวบทกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบที่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันไว้ในระบบกลาง แต่หากการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยหรือประโยชน์ของประเทศหรือเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคล หน่วยงานของรัฐจะไม่เผยแพร่รายละเอียดบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ฉบับที่สี่ แนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ว่าด้วยการวิเคราะห์ปัญหา ความจำเป็นก่อนเสนอตรากฎหมายกับ "คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย" ก่อนจะจัดทำรายงานวิเคราะห์ความพร้อมและต้นทุนของรัฐค่าใช้จ่ายที่คาดว่าต้องใช้ในระยะสามปีแรก เสนอหน่วยงานกลาง เช่น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อมีมติส่งร่างกฎหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

ฉบับที่ห้า แนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ว่าด้วย การประเมินผลสัมฤทธิ์ "หน่วยงาน" ที่ตรากฎหมาย อย่างรอบด้าน ว่าการบังคับใช้กฎหมายได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์ของการตรากฎหมายนั้นมากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับภาระที่เกิดขึ้นแก่รัฐและประชาชนหรือไม่ หรือมีผลกระทบอื่นอันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนหรือไม่ เพียงใด โดยกำหนดประเมินอย่างน้อย 1 ปี รวมไปถึงการการรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลาง และจะใช้วิธีการอย่างหนึ่งของหน่วยงานที่เสนอตรากฎหมาย

ฉบับที่หก คำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย ว่าด้วย เพื่อให้หน่วยงานของรัฐทราบถึงปัญหา สาเหตุของปัญหา และผลกระทบต่าง ๆที่อาจเกิดขึ้น และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนจนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้ มิได้มุ่งหมายที่จะสำรวจจำนวนคนที่สนับสนุนหรือคัดค้านร่างกฎหมาย โดยใหดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน ไม่ปกปิดข้อมูลต่อประชาชน รวมถึงใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นและเหตุผลประกอบ และระยะเวลาอย่างเท่าเทียมกัน

"โดยการรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลาง อาจไม่สามารถเข้าถึงผู้เกี่ยวข้องได้ครบถ้วนทุกกลุ่ม จึงควรใช้เป็นวิธีการพื้นฐานควบคู่กับการรับฟังความคิดเห็นผ่านวิธีการอื่นด้วย เช่น การสัมภาษณ์ การเชิญมาให้ข้อมูล หรือการประชุม"

ฉบับที่เจ็ด คำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การใช้ระบบอนุญาตในกฎหมาย ว่าด้วย การกำหนดให้ในการจัดทำร่างกฎหมาย หน่วยงานของรัฐพึงใช้ระบบอนุญาตเฉพาะกรณีที่จำเป็น เพราะการใช้ระบบอนุญาตเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลขั้นสูง โดยห้ามมิให้กระทำการที่ต้องขออนุญาตนั้นจนกว่าจะได้รับอนุญาตและมุ่งหวังให้หน่วยงานของรัฐมีการพิจารณาอย่างรอบคอบในการใช้ระบบการควบคุม กำกับดูแลหรือการที่รัฐจะเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจกรรม การดำเนินชีวิต หรือการประกอบธุรกิจของประชาชนเท่าที่จำเป็นโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ฉบับที่แปด คำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การใช้ระบบคณะกรรมการในกฎหมาย ว่าด้วย การกำหนดให้ในการจัดทำร่างกฎหมาย หน่วยงานของรัฐพึงใช้ระบบคณะกรรมการเฉพาะกรณีที่จำเป็น และไม่ใช้ระบบคณะกรรมการ เว้นแต่เพื่อกำหนด นโยบาย หรือกำกับ หรือกำหนดหลักเกณฑ์ หรือเพื่อการอื่นที่จำเป็น

"ควรหลีกเลี่ยงการกำหนดให้ "นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ" เว้นแต่กฎหมายนั้น เป็นกำรกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับนโยบายที่สำคัญหรือนโยบายระดับชาติ"

ฉบับที่เก้า คำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การกำหนดโทษอาญาในกฎหมาย ว่าด้วย ให้หน่วยงานของรัฐพึงกำหนดโทษอาญาในกฎหมายเฉพาะความผิดร้ายแรง และให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ ดังนี้

(1) การกระทำนั้นต้องกระทบต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง หรือมีผลกระทบต่อส่วนรวม และ (2) เป็นกรณีที่ ไม่สามารถใช้มาตรการอื่นใดเพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายได้

ให้มีการกำหนดโทษอาญาในกฎหมาย ต้องยึดหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

เป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประเทศ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง หรือมีผลกระทบต่อส่วนรวมในวงกว้าง อาจกำหนดเป็นโทษอาญาได้ เช่น อาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงทำงเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมืองการปกครอง

ให้ถือหลัก เป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน (public order) หรือ กระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง (good morals) หรือมีผลกระทบต่อส่วนรวมในวงกว้าง ซึ่งต้องคำนึงถึงสภาพสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในการพิจารณาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีการกำหนดตัวอย่างของการกระทำที่ไม่ควรกำหนดเป็นโทษอาญา เช่น

1.การกระทำความผิดเล็กน้อย เช่น ผิดกฎจราจรเล็กน้อย โดยการจอดรถในที่ห้ามจอด ขับรถทับเส้นทึบ (เครื่องหมายจราจรบนผิวทาง) หรือก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญที่กระทำต่อปัจเจกชน

อาจกำหนดเป็นโทษปรับเป็นพินัยได้ ซึ่งต่างจากการกระทำผิดกฎจราจรที่อำจกระทบต่อความปลอดภัยของผู้อื่นซึ่งต้องกำหนดเป็นโทษอาญา เช่น การขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต การขับรถฝ่าไฟแดง (สัญญาณไฟจราจร)

2. กระทำกำรฝ่าฝืนกฎหมายเศรษฐกิจที่ไม่มีผลกระทบรุนแรง อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองหรือมาตรการบังคับอื่นแทน เช่น สั่งให้หยุดหรือแก้ไขให้ถูกต้อง หรือการใช้มาตรการบังคับทำงแพ่ง ในกรณีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ได้มีความมุ่งหมายทางการค้า

3. การฝ่าฝืนไม่ต่ออายุใบอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาตเกินกำหนด ไม่แจ้งเปลี่ยนสถานที่ประกอบการ

4. ความผิดเกี่ยวกับการแต่งเครื่องแต่งกายโดยไม่มีสิทธิ เช่น แต่งกายแสดงวิทยฐานะของสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่มีสิทธิ แต่การแต่งเครื่องแบบเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายโดยไม่มีสิทธิควรกำหนดเป็นโทษอาญาเพราะจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นเจ้าพนักงาน

ฉบับที่สิบ หลักเกณฑ์การจัดทำคำอธิบายสรุปสาระสำคัญของกฎหมาย ว่าด้วย การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ต้องจัดให้มีคำอธิบายสรุปสาระสำคัญของกฎหมายในลักษณะที่ประชาชนจะสามารถเข้าใจได้ โดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นสองหน่วยงานประสาน ให้แล้วเสร็จภายใน "หนึ่งร้อยแปดสิบวัน" นับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ

"หากหน่วยงานของรัฐมีกฎหมายที่รับผิดชอบไม่เกินห้าฉบับ ให้จัดทาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 พ.ย.2563 และ หากหน่วยงานของรัฐมีกฎหมายที่รับผิดชอบเกินห้าฉบับ ให้จัดทาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 พ.ย.2564"

ฉบับที่สิบเอ็ด หลักเกณฑ์การจัดทาและเผยแพร่ข้อมูลในระบบกลางเพื่อประโยชน์ในการให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้อย่างทั่วถึง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เช่นกันกับฉบับที่สิบ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ ต้องจัดให้มีและเผยแพร่ข้อมูลในระบบกลาง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้อย่างทั่วถึงมีหน้าที่ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน จัดทำข้อมูลเป็นหมวดหมู่ให้สะดวกต่อการสืบค้นและใช้งาน และจัดทาข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งสามารถอ่าน สืบค้น และนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ด้วยเครื่องมือทางเทคโนโลยี รวมถึง การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นตัวบทกฎหมายและกฎเกณฑ์ ให้หน่วยงานดำเนินการ ทั้งในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย และพระราชกำหนด

ให้เผยแพร่เป็นรายฉบับทั้งฉบับแรกและฉบับแก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งให้จัดทำและ เผยแพร่ฉบับ ซึ่งมีการนาบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมไปแทนที่บทบัญญัติซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในฉบับเดียว หรือ "ฉบับอัพเดต"

ทั้งนี้ ตามตัวอย่างกฎหมายฉบับอัพเดทที่สานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำ สองฉบับสุดท้ายนั้น ระบุว่า ในกรณีที่ยังไม่อาจใช้ระบบกลางได้ ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ข้อมูล ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐไปพลางก่อน

ทั้ง 11 ฉบับ ที่รัฐบาล เชื่อว่า เป็นการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย มีผลใช้แล้วกับหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ ที่ต้องการเสนอร่างกฎหมาย.




กำลังโหลดความคิดเห็น