1.ยิงกันสนั่นศาล! คดีแย่งที่ดินมรดก ดับ 3 ศพ “บัญชา” ทนายดังสิ้นชื่อ ส่วน “พล.ต.ต.” มือยิง ดับเช่นกัน!
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. เวลา 10.00 น. ตำรวจ สภ.จันทบุรี ได้รับแจ้งเหตุยิงกันภายในศาลจังหวัดจันทบุรี มีผู้บาดเจ็บหลายราย หลังรุดไปที่เกิดเหตุ พบเป็นห้องพิจารณาคดี มีผู้บาดเจ็บนอนจมกองเลือด 5 ราย ประกอบด้วย 1.พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์ อดีตรองจเรตำรวจแห่งชาติ 2.นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความชื่อดัง 3.นางสุภาพร ปรมีศณาภรณ์ ภรรยานายบัญชา 4.นายวิจัย สุขรมย์ ทนายความ และ 5.นายวิชัย อุดมธนภัทร ซึ่งทั้งหมดอาการสาหัส และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี และโรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี แต่มีผู้เสียชีวิตในเวลาต่อมา 3 ราย คือ พล.ต.ต.ธารินทร์, นายบัญชา และนายวิจัย
สำหรับนายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ เป็นทนายความชื่อดัง เคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตทนายความคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากนี้ยังเคยเป็นทนายความให้บุคคลสำคัญและบริษัทที่มีชื่อเสียงอีกหลายแห่ง
จากการสอบสวนทราบว่า ผู้ก่อเหตุคือ พล.ต.ต.ธารินทร์ ซึ่งมีคดีความกับฝ่ายนายบัญชาและภรรยาหลายคดี ทั้งคดีแพ่งและอาญาเกี่ยวกับที่ดินของตระกูลโกศลานันท์ 86 แปลง กว่า 3,800 ไร่ ที่อยู่ในพื้นที่บ้านตาเลียว ต.เขาแก้ว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ซึ่งปมพิพาทเรื่องคดีความ เกิดจากทั้งสองฝ่ายต่างต้องการครอบครองที่ดินดังกล่าว
โดยมีรายงานว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสมพล โกศลานันท์ หลังนายสมพลเสียชีวิต พล.ต.ต.ธารินทร์ หลานเขยของนายสมพล ได้ยื่นเรื่องขอครอบครองที่ดินดังกล่าว แต่นางสุภาพร ลูกสาวนายสมพล เห็นว่าที่ดินของบิดาเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาท จึงร่วมกับนายบัญชา สามี ยื่นฟ้องแพ่ง จากนั้นได้ต่อสู้ทางคดีมานานนับสิบปี โดยนายสุภาพรและนายบัญชาตรวจสอบพบว่า พล.ต.ต.ธารินทร์ปลอมแปลงเอกสารหลักฐานบางอย่าง จึงนำข้อมูลไปยื่นให้ดีเอสไอตรวจสอบ กระทั่งพบว่า เป็นเอกสารปลอมแปลงจริง จึงยื่นฟ้องอาญา พล.ต.ต.ธารินทร์ ในข้อหาแจ้งเท็จ เบิกความเท็จ จำนวน 13 คดี ซึ่งในการพิจารณาคดีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายเคยมีการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงบ่อยครั้ง
กระทั่งวันเกิดเหตุ ศาลได้นัดสืบพยานจำเลยนัดแรก ซึ่ง พล.ต.ต.ธารินทร์ เป็นจำเลยที่ 3 หลังสืบพยานฝ่ายโจทก์ คือนางสุภาพรไปแล้ว 20 นัด ขณะที่นายบัญชา สามีนางสุภาพรเป็นโจทก์ที่ 2 ส่วนนายวิจัยและนายวิชัย เป็นทนายฝ่ายโจทก์
มีรายงานว่า ก่อนเกิดเหตุ ทั้งสองฝ่ายได้มีปากเสียงกัน ก่อนที่ พล.ต.ต.ธารินทร์ จะนำปืนที่ตนเองแอบพกเข้ามาในศาลกราดยิงฝ่ายโจทก์ หลังจากนั้น นายธนากร ธีรวโรดม เสมียนทนายโจทก์ ได้ใช้ปืนของ ร.ต.อ.ขจร บรรจง ตำรวจประจำศาลจังหวัดจันทบุรี ยิงใส่ พล.ต.ต.ธารินทร์ จนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า นายธนากร แย่งปืนจาก ร.ต.อ.ขจร ไปยิง พล.ต.ต.ธารินทร์ หรือ ร.ต.อ.ขจร ให้ปืนนายธนากรไปยิงกันแน่ โดยภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ได้
วันต่อมา 13 พ.ย. ตำรวจ สภ.จันทบุรี ได้ขอศาลออกหมายจับนายธนากร ที่ใช้อาวุธปืนของตำรวจประจำศาลยิง พล.ต.ต.ธารินทร์ เสียชีวิต ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โดยควบคุมตัวนายธนากรได้ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.จันทบุรี หลังนายธนากรเดินทางออกจากศาลไปยังโรงเรียนดังกล่าว
ด้าน น.ส.เขมจิรา บัณฑูรนิพิท อดีตภรรยาของ พล.ต.ต.ธารินทร์ ผู้ก่อเหตุ ได้เดินทางเข้ารับศพอดีตสามีที่สถาบันนิติเวชวิทยา พร้อมเผยเหตุที่อดีตสามีลงมือก่อเหตุครั้งนี้ว่า เพราะถูกกดดันและเกิดความเครียดสะสม ไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมอ้างว่า อดีตสามีถูกฝ่ายโจทก์ไปร้องเรียนว่าจะถอดยศ เนื่องจากเอาเวลาราชการมาทำคดี และว่า ที่ผ่านมา เวลาขึ้นศาล มีการโต้เถียงกันบ่อยครั้ง ส่วนตัวรู้สึกเสียใจที่ต้องสูญเสีย และไม่อยากให้อดีตสามีตายฟรี
ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุยิงสนั่นกลางศาลดังกล่าว หลายฝ่ายต่างพยายามหามาตรการป้องกันเพื่อความปลอดภัยในศาล โดยประธานศาลฎีกาได้สั่งการให้สำนักงานศาลยุติธรรมทบทวนตรวจทานดูระบบรักษาความปลอดภัยทั้งหมดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวบุคคล หรืออุปกรณ์รักษาความปลอดภัย จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข
ขณะที่ ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ตกใจที่ทราบว่า นายบัญชา ทนายความและอนุกรรมาธิการประจำคณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและประพฤติมิชอบ วุฒิสภา เสียชีวิตจากการถูกยิงในศาล นับเป็นเหตุที่ไม่คาดฝันไม่น่าเชื่อ จึงเป็นห่วงสวัสดิภาพของทนายความ และว่า หลังจากนี้สภาทนายความจะประชุมระดมแนวคิดเรื่องที่เคยมีการเสนอให้ทนายความมีอาวุธปืนพกพาไว้ป้องกันตัว เนื่องจากต้องเดินทางไปทั่วประเทศ บางทีมีพกทรัพย์สินไปด้วย และทำงานที่มีความขัดแย้งเข้ามาเกี่ยวข้อง
ด้าน พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผบก.ป. กล่าวว่า จากการตรวจสอบที่ดินปมปัญหาดังกล่าว 3,800 ไร่ ที่ จ.จันทบุรี เจ้าของที่ดินที่แท้จริง อาจเป็นมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งพระกิตติวุฒโฑได้รวบรวมเงินบริจาคของชาวบ้านไปซื้อที่ดินดังกล่าวจากนายสมพล โกศลานันท์ เพื่อใช้ในกิจการของสงฆ์ ไม่ใช่ของคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายตามที่อ้างสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม คดียังอยู่ระหว่างการสอบสวน ซึ่งคืบหน้ากว่า 80% แล้ว
2.ดีเอสไอ ออกหมายจับ “ชัยวัฒน์” พร้อมพวก คดีฆ่า “บิลลี่” เจ้าตัวยัน ไม่ได้ทำผิด พร้อมสู้!
ความคืบหน้าการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อปี 2557 ต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนและตรวจสอบพบชิ้นส่วนกระดูกในถังน้ำมัน 20 ลิตร ถูกทิ้งในเขื่อนแก่งกระจาน ผลตรวจสอบเบื้องต้นระบุว่าเป็นนายพอละจี ซึ่งถูกฆ่าและมีร่องรอยการเผาทำลายศพนั้น
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ได้เรียกประชุมชุดพนักงานสอบสวนคดีฆาตกรรมนายพอละจี ก่อนมอบหมายให้พนักงานสอบสวนขอศาลอาญาเพื่อออกหมายจับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมพวกอีก 4 ราย ประกอบด้วย นายบุญแทน บุษราคำ, นายธนเสฏฐ์ หรือนายไพฑูรย์ แช่มเทศ และนายกฤษณะพงษ์ จิตต์เทศ ซึ่งต่อมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้อนุมัติหมายจับตามที่ขอ ทั้งนี้ พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า หากผู้ต้องหาเข้ามอบตัว พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนและให้ความเป็นธรรม
วันต่อมา 12 พ.ย. นายชัยวัฒน์ พร้อมพวกที่ตกเป็นผู้ต้องหารวม 4 คน ได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหารวม 8 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนฯ ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ฯลฯ
โดยนายชัยวัฒน์กล่าวก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนว่า ทำไมถึงเร่งรีบสอบสวนภายใน 6 เดือน ก็ทราบสาเหตุเรื่องราวทั้งหมด พบหัวกะโหลก ดีเอ็นเอ จนถึงขนาดขอศาลอาญาคดีทุจริตฯ ออกหมายจับ ทั้งที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ชื่อก็บอกอยู่ว่ามีอำนาจสอบสวนคดีทุจริต ไม่ใช่คดีอาญา “ผมและลูกน้องพร้อมจะสู้ ไม่คิดหนีไปไหน เพราะครอบครัวทุกคนอยู่ที่นี่ ผมเป็นข้าราชการ รักเกียรติ รักศักดิ์ศรี จะให้ความร่วมมือกับดีเอสไอ ผมกับลูกน้องทุ่มเทรักษาป่ามาตลอดชีวิต รักสถาบัน แต่ต้องมายืนอยู่ตรงนี้ เพราะข่าวที่สื่อสร้างเรื่องราว ทำให้ผมได้รับความเสียหาย ทุกคนยังไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ”
ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ อธิบดีดีเอสไอ ยืนยันว่า ดีเอสไอไมได้กลั่นแกล้งผู้ใด แต่เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและพยานหลักฐาน โดยคดีนี้ ดีเอสไอสอบพยานบุคคลไปแล้วกว่า 100 ปาก มีพยานนิติวิทยาศาสตร์ พยานวัตถุ ภาพจากกล้องวงจรปิด พยานหลักฐานทางเทคนิค และบันทึกการใช้โทรศัพท์ รวมทั้งสำนวนคดีจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พบว่า นายชัยวัฒน์มีการจับกุมนายพอละจีไป แต่ไม่ได้หลักฐานในการปล่อยตัว และนายพอละจีได้หายตัวไป นอกจากนี้นายชัยวัฒน์ยังมีข้อพิพาทกับกลุ่มกะเหรี่ยงในพื้นที่ และเป็นคู่กรณีขัดแย้งกันมาตลอด ทั้งปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาผู้นำชุมชนที่ถูกยิง และยังมีข้อมูลจากศาลปกครองที่มีคำสั่งให้ชดใช้กรณีบ้านกะเหรี่ยงถูกเผาเสียหาย
พ.ต.อ.ไพสิฐ ยังชี้แจงด้วยว่า เหตุที่ดีเอสไอขอออกหมายจับต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ด้วย ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตฯ
ต่อมา พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งสี่ไปขอศาลฝากขัง พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และเกรงว่าครอบครัวนายพอละจีจะไม่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ศาลได้อนุญาตให้นายชัยวัฒน์และพวกประกันตัว โดยตีราคาประกันคนละ 8 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และนัดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ที่กำหนดฝากขังครั้งแรก
ด้านนายชัยวัฒน์ กล่าวหลังศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยขอบคุณศาลที่ให้ความเมตตา พร้อมยืนยันว่า ตนไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ยืนยันมาตลอดว่า เมื่อมีการจับกุมนายพอละจีเรื่องน้ำผึ้งแล้ว ได้ปล่อยตัวนายพอละจีทันที และว่า วันที่ 16 พ.ย. ตนจะเดินทางไปที่สะพานแขวน จุดที่ดีเอสไออ้างว่าเป็นจุดที่พบถังและกระดูกของนายพอละจี เพื่อสาบานยืนยันความบริสุทธิ์ หากใครทำในสิ่งที่ตนไม่ได้ทำ ก็ขอให้บุคคลนั้นมีอันเป็นไป ส่วนตัวคิดมาตลอดว่า อาจจะมีประเด็นเรื่องการถูกกลั่นแกล้งจากการทำงานที่มีการจับกุมคดีใหญ่ๆ หลายคดี
3.ศาล รธน.ชี้ “นวัธ” พ้นสภาพ ส.ส. หลังศาลพิพากษาประหาร-ถูกคุมขัง ไม่ต้องรอคดีถึงที่สุด!
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น เขต 7 พรรคเพื่อไทย สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 82 (6) หรือไม่ หลังจากถูกศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาลงโทษประหารชีวิต และถูกคุมขัง โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา
ซึ่งในการวินิจฉัยคดีนี้มีข้อพิจารณาว่า คำพิพากษาที่ให้ประหารชีวิตมีความหมายเช่นคำพิพากษาให้จำคุกตามมาตรา 98 (6) หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การต้องโทษประหารชีวิตหนักกว่าโทษจำคุก แม้ต่อมาจะได้รับการลดส่วนโทษก็ยังคงได้รับโทษจำคุกอยู่ดี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายนวัธจึงเป็นผู้ถูกคุมขังตามหมายของศาล สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายนวัธจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 ประกอบมาตรา 98 (6)
ส่วนที่นายนวัธแย้งว่า สมาชิกภาพ ส.ส. อยู่ภายใต้การคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (13) ที่กำหนดว่า ต้องเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ซึ่งถือเป็นหลักประกันการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 โดยไม่คำนึงถึงข้อหานั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพโดยใช้ถ้อยคำแตกต่างกันในหลายลักษณะ เช่น มาตรา 101 (6) ใช้คำว่า ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังตามหมายของศาล หรือมาตรา 98 (7) เคยได้รับโทษจำคุก โดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง หรือมาตรา 98 (9) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เพราะกระทำผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต แสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญต้องการให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลง ด้วยสาเหตุหลายประการตามบริบทที่แตกต่างกัน ในกรณีนี้ รัฐธรรมนูญใช้คำว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังตามหมายของศาล” ซึ่งไม่มีคำว่า “ถึงที่สุด” สมาชิกภาพของนายนวัธจึงสิ้นสุดเมื่อต้องคำพิพากษา โดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด
และเมื่อสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สมาชิกสภาพสิ้นสุดลงตั้งแต่เมื่อใด ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 (2) กำหนดว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นตำแหน่งนับแต่วันที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกรณีนี้ศาลได้มีคำสั่งให้นายนวัธหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2562 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง และเป็นเหตุให้ตำแหน่ง ส.ส. เขต 7 ขอนแก่นว่างลง จึงต้องตรา พ.ร.ฎ.ให้มีการจัดเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลงภายใน 45 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 (1) ประกอบมาตรา 102 จึงให้ถือว่าวันที่ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง คือวันที่ 13 พ.ย. ที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังโดยชอบ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน
สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 7 จ.ขอนแก่นแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น กกต.จะต้องประสานไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้มีการตรา พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ฎ เลือกตั้ง ส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่างแล้ว กกต.จะมีการประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งต่อไป คาดว่าจะมีการกำหนดวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 22 ธ.ค. เนื่องจากเป็นวันอาทิตย์สุดท้ายของกรอบเวลา 45 วัน
4.“เสรีพิศุทธ์” ขู่ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ไม่เข้าชี้แจงปมถวายสัตย์ฯ รอบที่ 4 จะดำเนินคดี ด้าน “ปารีณา” เตือนสติ ทำเกินอำนาจ ระวังติดคุก!
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน กมธ. โดย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นำเอกสารเข้าชี้แจงต่อ กมธ.เป็นรอบที่ 3 โดยข้อมูลในเอกสารเป็นการยืนยันว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณครบถ้วนตามกฎหมาย
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวหลังรับเอกสารชี้แจงว่า กมธ.มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญกับบุคคลที่เชิญมาแสดงความคิดเห็น เมื่อเชิญนายกฯ หรือรองนายกฯ ได้ระบุชื่อไปด้วย ดังนั้นเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง กมธ.กับบุคคลที่ได้รับเชิญ เพราะต้องรับฟังข้อเท็จจริงต่างๆ ไม่สามารถชี้แจงแทนกันได้ ดังนั้นจะขอมติต่อ กมธ. เพราะไม่ใช่เรื่องของตนคนเดียว เพราะเชิญทั้งสองมาแล้ว
เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กำลังกล่าวอยู่นั้น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะ กมธ.พยายามยกมือพูดขัดจังหวะ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์จึงยกมือให้หยุดพูด พร้อมชี้หน้าและกล่าวว่า “ตอนมอบหมายงานให้ ยังไม่รับ ขอให้ผมพูดจบก่อน ผมยังไม่จบประเด็นที่จะพูด เข้าใจนะ คุณอยู่ในสภา คุณก็รู้อยู่แล้วว่า ถ้าประธานยังไม่เรียกให้พูด ท่านก็ยังพูดไม่ได้”
จากนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เปิดโอกาสให้ น.ส.ปารีณาพูด โดย น.ส.ปารีณา กล่าวว่า “ดิฉันมองว่า ท่านเปิดรัฐธรรมนูญอ่าน ดิฉันไม่ต้องเปิด เพราะว่าการที่ท่านพูดว่า จะต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรมาเอง กำลังใช้อำนาจเกินขอบเขต เพราะการเรียกคนมาชี้แจง เป็นเรื่องของความร่วมมือที่จะมาหรือไม่มาก็ได้ แต่การที่บังคับให้มา เป็นการทำผิดกฎหมาย อาจจะติดคุกนะคะ ท่านต้องเข้าใจกฎหมายด้วยว่า แม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดนเรียกมาก็ไม่มา ก็มอบคนอื่นมา เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ ส.ส.ใหม่อาจจะไม่รู้เรื่อง”
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ สวนกลับว่า “คุณขู่ผมหรือ คุณจบอะไรมา ผมมอบหมายงานให้ คุณยังไม่รับเลย หากผมทำผิดกฎหมาย ผมก็รับผิดชอบ”
หลังจากนั้น พล.อ.ชัยชาญชี้แจงว่า การสืบหาข้อเท็จจริง ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของสภา ส่วนการถามเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้สรุปแล้วว่า การถวายสัตย์ฯ ไม่อยู่ในอำนาจของการตรวจสอบขององค์กรใด ส่วนเรื่องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นั้น เมื่อการถวายสัตย์เป็นไปอย่างถูกต้อง ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่มีมติในสภา ก็อยู่ในขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ ทั้งสองเรื่องจึงไม่เกี่ยวข้องกับการประพฤติมิชอบ
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า ความจริงไม่มีเหตุผลต้องรับฟังอะไรจากผู้แทน เพราะไม่ใช่บุคคลลที่เชิญ ถ้า กมธ.ไม่มีอำนาจ จะเชิญมาทำไม
ต่อมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เผยผลประชุมกับ กมธ.ว่า ที่ประชุมมีมติ 6 ต่อ 3 ให้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร มาชี้แจงต่อ กมธ.เป็นครั้งที่ 4 ในวันที่ 20 พ.ย.นี้ หากยังไม่มา คงจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
วันเดียวกัน (13 พ.ย.) นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรค พปชร. ในฐานะ กมธ. ป.ป.ช. เผยว่า หลังจากประชุม มี กมธ.หลายคนไม่สบายใจต่อการทำหน้าที่ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ประธาน กมธ. ป.ป.ช. และหากประธานพิจารณาแต่เรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรเท่านั้น ไม่ได้สนใจเรื่องอื่นๆ เช่น การทุจริตของข้าราชการที่มีการร้องเรียนเข้ามาจำนวนมากทุกสัปดาห์ กมธ.เสียเวลากับเรื่องที่จบไปแล้ว และมีนักกฎหมายท้วงติงว่า ทำผิดกฎหมาย จึงเห็นว่าการประชุม กมธ.ครั้งต่อไปในวันที่ 20 พ.ย. จะมีการเสนอให้เปลี่ยนตัวประธาน กมธ. โดยจะเป็นผู้เสนอและมั่นใจว่า มีเสียง กมธ.เกินครึ่งที่จะสนับสนุน ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเสนอใครเป็นประธาน กมธ.แทน นายสิระ กล่าวว่า จะเสนอตนเป็นประธานแทน เรื่องนี้ได้คุยกับผู้ใหญ่ใน พปชร.แล้ว จึงได้ออกมาแถลง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ถาม พล.อ.ประยุทธ์ถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ประธาน กมธ. ป.ป.ช.ยังคงเดินหน้าเชิญนายกฯ ไปชี้แจงเป็นรอบที่ 4 ปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ในวันที่ 20 พ.ย. พร้อมขู่ว่าหากไม่เข้าชี้แจง เตรียมดำเนินคดี พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบด้วยสีหน้านิ่งเฉยว่า “ปล่อยเขา ก็แล้วแต่”
5.“ธนาธร” แถลงก่อนศาล รธน.ชี้ชะตาปมถือหุ้นสื่อ 20 พ.ย. อ้าง โดนคดีเพราะต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.!
จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีการถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ว่าการถือหุ้นสื่อดังกล่าว ทำให้นายธนาธรขาดคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส.หรือไม่ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นายธนาธร ได้แถลงที่พรรค ในลักษณะแถลงปิดคดีผ่านเฟซบุ๊กของตน พร้อมนำนิตยสารที่บริษัท วี-ลัค ผลิตเป็นฉบับสุดท้าย รวม 3 เล่มมาแสดงด้วย
ทั้งนี้ สิ่งที่นายธนาธรแถลงมี 4 ประเด็น ประเด็นที่ 1 บริษัท วี-ลัค มีเดีย เป็นสื่อหรือไม่? ซึ่งนายธนาธร ยืนยันว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย ไม่ใช่สื่อ เนื่องจากบริษัทได้ปิดตัวไปแล้วก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ปิดตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 2561 บริษัทไม่มีรายได้อีกแล้ว จะมีก็แต่เงินรับค้างจ่าย แต่รายได้ที่เกิดจากการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่นับตั้งแต่เดือน พ.ย. ไม่มีอีกแล้ว รายได้เดียวที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย มีในปี 2562 ก็คือรายได้จากการขายทรัพย์สินเพื่อปิดกิจการ
ประเด็นที่ 2 นายธนาธรยังเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย ในวันที่ 6 ก.พ.หรือไม่? นายธนาธรกล่าวว่า มีการอ้างอิงถึง บอจ.5 ว่ายังเป็นผู้ถือหุ้นสื่อ แต่ บอจ.5 ไม่ใช่หนังสือยืนยันการเป็นผู้ถือหุ้น เป็นเพียงหนังสือที่บริษัทแจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ถึงรายชื่อล่าสุดของผู้ถือหุ้น การจะดูว่าการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเกิดผลสัมฤทธิ์ ธุรกรรมเสร็จสิ้นเรียบร้อย ต้องอ้างอิงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 และมาตรา 1141 โดยนายธนาธรย้ำว่า ในวันที่ 6 ม.ค.2562 ตนได้มีการโอนหุ้นคืนให้กับนางสมพร (มารดา) เรียบร้อยไปแล้ว มีตราสารโอน มีสัญญา มีการจ่ายเงินต่อหน้าพยาน 2 คน ต่อหน้าทนายโรตารี่ 1 คน และเปลี่ยนในทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัทครบถ้วนสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1141 และ 1129 ดั้งนั้น ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นอื่น ถ้าไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนักพอ ซึ่งผู้ร้องหรือ กกต. ไม่มี ก็ต้องถือว่าธุรกรรมถูกทำสำเร็จ
เป็นที่น่าสังเกตว่า นายธนาธรกล่าวในประเด็นที่ 2 ว่า ตนเองโอนหุ้นให้แม่ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.2562 ซึ่งก่อนหน้านี้วันที่นายธนาธรยืนยันมาตลอดว่าโอนหุ้นให้แม่ คือ วันที่ 8 ม.ค.2562
ประเด็นที่ 3 การถือหุ้นสื่อ ผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่? นายธนาธรกล่าวว่า เจตนารมณ์บอกว่าไม่ให้นักการเมือง ไม่ให้ผู้มีอำนาจถือหุ้นสื่อ ให้คุณให้โทษกับตัวเองและคู่แข่ง นิตยสาร 3 เล่ม ตั้งแต่วันที่เกิดขึ้นจนถึงวันที่ตายลง ไม่เคยให้คุณกับตน และไม่เคยให้โทษกับคู่แข่งทางการเมืองของตนเลย และนิตยสารปิดตัวลงวันที่ 26 พ.ย.2561 ก่อนจะมี พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง 23 ม.ค.2562
ประเด็นที่ 4 กระบวนการพิจารณาคดีมีความถูกต้อง เที่ยงธรรม และมีความเป็นธรรมกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือไม่ ? นายธนาธรอ้างว่า ผู้ร้อง หรือ กกต. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการมาชุดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีนายปรีชา นาเมืองรักษ์ เป็นประธานกรรมการสืบสวนไต่สวน มีการเรียกพยาน 2 คน ซึ่งเป็นพยานที่ลงชื่อในหนังสือสัญญารวมกับทนายโรตารี่ที่อยู่ในที่เกิดเหตุในวันที่โอนหุ้นเข้าไปให้ถ้อยคำ ซึ่งเกิดข้อสงสัยว่า มีการสอบสวนให้สิ้นกระบวนความหรือไม่ เพราะขณะที่คณะกรรมการสืบสวนไต่สวนทำงานอยู่ กกต. เอาข้อมูลที่ไหนไปฟ้องกับศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนี้เกิดขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง เป็นคดีที่มีมูลเหตุจงใจทางการเมืองหรือไม่ เป็นการฟ้องที่ไม่สุจริตหรือไม่
นายธนาธร ยังกล่าวโดยโยงปัญหาการถือหุ้นสื่อของตนเข้ากับเรื่องที่ตนต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.ด้วย "ทั้ง 4 ข้อ อยากให้ทบทวนนิดหนึ่ง ถ้าถามผมว่า ผมผิดอะไร คำตอบของผมคือ มันไม่ใช่เรื่องหุ้นสื่อ คำตอบบของผมคือ มันไม่ใช่เรื่องให้เงินพรรคกู้ ความผิดของผมคือ การต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ทุกท่านครับ พวกเรามีความฝัน พวกเราฝันเห็นประเทศไทยที่มีประชาธิปไตย พวกเราฝันเห็นประเทศไทยที่คนทุกคนเท่าเทียมกัน ประเทศไทยที่เป็นนิติรัฐ นิติธรรม ที่คนทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน ที่คนทุกคนไม่ว่าจะมีอำนาจหรือไม่มี เมื่ออยู่ต่อหน้ากฎหมายแล้วทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ประเทศไทยที่ไม่มีรัฐประหารอีกแล้ว ความฝันเช่นนี้มันเป็นผิดบาปมากหรือครับในประเทศนี้"