ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ถ้าวันใดวันหนึ่งพี่หายตัวไป ไม่ต้องเป็นห่วงพี่ ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องตามหาพี่ ให้รู้ว่าพี่ถูกฆ่าไปนานแล้ว"”
นั่นคือข้อความที่ “บิลลี่” หรือ “พอละจีรั กจงเจริญ” นักสิทธิมนุษยชนแกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี” บอกไว้กับ “มึนอ” หรือ “พิณนภา พฤกษาพรรณ” ผู้เป็นภรรยา หลังจากที่เข้าไปช่วยพี่น้องชาวกระเหรี่ยงที่บ้านถูกเผาอย่างไร้ความเป็นธรรม จาก “ยุทธการตะนาวศรี” หรือ “โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานตามแนวชายแดนไทย-พม่า” ครั้งที่ 4 ในผืนป่าแก่งกระจาน ที่มีการรื้อถอนทำลายและเผาสิ่งปลูกสร้างที่พบในพื้นที่ราว 100 หลัง ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2554
“ยุทธการตะนาวศรี” ได้จุดชนวนความขัดแย้งระหว่าง “เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ” และ “ชาวบ้าน กลุ่มชาติพันธ์ชาวกระเหรี่ยงเผ่าปกาเกอะญอ” ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่มาเนิ่นนานนับแต่บรรพบุรุษนับร้อยปี ก่อนมีการประกาศตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความกันมาตั้งแต่ปี 2555 ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา คดีทางการปกครอง นับรวมแล้วมากกว่า 10 คดี ซึ่งบิลลี่นับเป็นแกนนำคนสำคัญในการเรียกสิทธิปกป้องชุมชน
กระทั่ง 17 เม.ย. 2557 “บิลลี่ - พอละจี รักจงเจริญ” แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หายตัวปริศนา หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ 4 นาย หนึ่งในนั้นคือ “นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเป็นหัวหน้าชุดจับกุม หลังจากพบว่าครอบครองน้ำผึ้งป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ระหว่างเดินทางจะไปทำงานที่องค์การบริหารส่วนตำบาล (อบต.) ต่อมา นายชัยวัฒน์ อ้างว่าได้ปล่อยตัว บิลลี่ ไปแล้วหลังจากการควบคุมตัวได้ไม่นาน แต่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆ
เบื้องต้นสรุปได้ว่า “บิลลี่” ก่อนกลายเป็น “ผู้สูญหาย” อยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกันเป็นกลุ่มสุดท้าย
จากนั้น มึนอ ผู้เป็นภรรยาได้เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน หลังการหายตัวไปของ บิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยง ส่งผลให้ นายชัยวัฒน์ ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนจัดการป่าต้นน้ำ จ.ปราจีนบุรี และแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า ที่รู้จักกันว่า “หน่วยฯ พญาเสือ” โดยเบื้องหลังคำสั่งย้ายเป็นนัยเปิดทางให้กับการสอบสวนดำเนินคดีบิลลี่
หลายปีที่ผ่านมา “คดีบิลลี่” ไม่มีความคืบหน้า กระทั่ง 28 มิ.ย. 2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ (DSI หรือ ดีเอสไอ) รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ โดยมี “พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร” รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดี นำทีมสืบข้อมูลสำคัญรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ล่วงเวลา 6 เดือน ขยายผลนำสู่การออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องกับการสูญหายและฆาตกรรมนักสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง
กลางปี 2562 ดีเอสไอ เปิดเผยหลักฐานสำคัญเชื่อมโยงการหายตัวไปของบิลลี่ คือ กระดูกกะโหลกมนุษย์ในถังขนาด 200 ลิตรที่จมอยู่ใต้น้ำ รวมทั้ง ชิ้นส่วนกระดูกหลายชิ้นจมใต้ผิวน้ำ บริเวณสะพานแขวนเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ตรวจสอบกระดูกพบมีสารพันธุกรรม(ดีเอ็นเอ) ตรงกับ “นางโพเราะจี รักจงเจริญ” มารดาของบิลลี่ ทำให้อนุมานได้ว่า “บิลลี่ตายแล้ว”
พยานหลักฐานเชื่อมโยง นำสู่การออกหมายจับเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 ราย โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้อนุมัติหมายจับ “นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” พร้อมด้วย “นายบุญแทน บุษราคัม นายธนเสฏฐ์ หรือไพฑูรย์ แช่มเทศ และนายกฤษณพงษ์ จิตต์เทศ” ใน 8 ฐานความผิด ดังนี้
1. ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้
2. ร่วมกันหน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย
3. ร่วมกันมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น
4. ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดติดตัวไปด้วยเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
5. ร่วมกันโดยทุจริตหรือเพื่ออำพรางคดีกระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
6. ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต
7. ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น
8. ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ทั้งนี้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 289 (4)(7), 309, 310, 33, 340, 340 ตรี ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 50 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 147, 148 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 172
จากนั้นนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร พร้อมพวกรวม 4 ราย เข้ามอบตัวพนักงานสอบสวนตามหมายจับ เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ต่อมา ศาลอาญาคดีทุจริตฯ อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์คนละ 800,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้มารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 25 พ.ย. 2562 เนื่องจากเป็นวันครบกำหนดฝากขังผลัดแรก
“ทุกอย่างก็ว่าไปตามขั้นตอน... ผมไม่ได้กังวลเพราะบอกแล้วว่าไม่ได้ทำและไม่รู้เรื่อง เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่รู้เรื่อง ผมสงสารเจ้าหน้าที่ของผม เขาไม่รู้เรื่องอะไรด้วย ทุกคนทำตามหน้าที่ วันนี้มีกระแสอย่างนี้ก็อยากให้สังคมเข้าใจว่าพวกผมไม่ได้หนีไปไหน และขอให้ว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม หลักฐานชัดเจนแค่ไหนก็ให้ว่าไปตามนั้น ไม่อยากให้มีอะไรที่เป็นเท็จ หรือถูกสร้างขึ้นมา” นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กล่าวเปิดใจขณะเข้ามอบตัวต่อสู้คดี
นายชัยวัฒน์ ยังบอกด้วยว่าคดีนี้มีขบวนการกลั่นแกล้งใส่ร้ายป้ายสีตนเองและลูกน้อง จากการจับกุมคดีใหญ่ๆ หลายคดี อย่างไรก็ตาม ไม่เฉพาะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เขายังประกาศสาบานจุดพบกระดูกบิลลี่คือบริเวณสะพานเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี แต่มีเหตุต้องยกเลิกไปก่อน ด้วยทีมทนายความเกรงว่าจะถูกมองว่าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน จนทำให้ศาลพิจารณาถอนประกันตัวได้
ขณะที่ดีเอสไอ นำนักประดาน้ำเข้าตรวจค้นภายใน “ไร่ชัยราชพฤกษ์” ตำบลสองพี่น้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นบ้านพักนายชัยวัฒน์ ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พุ่งเป้าค้นหารถมอเตอร์ไซค์ของบิลลี่ที่หายไปในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่สงสัยว่าอาจถูกนำมาทิ้งในบึงขนาดใหญ่ภายในไร่ เบื้องต้นยังไม่พบหลักฐานเพิ่มเติม
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงพยานหลักฐานต่างๆ สู่การออกหมายจับผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมบิลลี่ โดยดีเอสไอดำเนินการสืบสวนสอบสวนมาตลอด ทั้งพยานบุคคลที่สอบไปแล้วกว่า 100 ปาก พยานนิติวิทยาศาสตร์ พยานวัตถุ ภาพจากกล้องวงจรปิด พยานหลักฐานทางเทคนิค และบันทึกการใช้โทรศัพท์ รวมทั้งสำนวนคดีจาก ป.ป.ท. พบว่านายชัยวัฒน์และพวกทำการจับกุมนายบิลลี่ แต่ไม่มีหลักฐานในการปล่อยตัว จากนั้นนายบิลลี่ได้หายตัวไป
“นอกจากนี้ นายชัยวัตน์ ยังมีข้อพิพาทกับกลุ่มกะเหรี่ยงในพื้นที่ และเป็นคู่กรณีขัดแย้งกันมาตลอด ทั้งปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาผู้นำชุมชนที่ถูกยิง และยังมีข้อมูลจากศาลปกครองที่มีคำสั่งให้ชดใช้บ้านเสียหายกะเหรี่ยงที่ถูกเผา สำหรับประเด็นการสอบสวนจะเน้นการเชื่อมโยงหลักฐานที่มีทั้งหมด แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ส่วนจะมีการออกหมายเรียกหรือหมายจับผู้ใดอีกหรือไม่ต้องดูพยานหลักฐาน ขอยืนยันว่าดีเอสไอไม่ได้กลั่นแกล้งผู้ใด แต่เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและพยานหลักฐานที่มี”
ขณะนี้พนักงานสอบสวนกำลังรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมสรุปสำสวนสั่งฟ้อง นายชัยวัฒน์ กับพวกอีก 3 คน ตามขั้นตอน ยังพอมีเวลาก็จะทยอยเก็บหลักฐานให้ครบถ้วน ไม่อยากให้มีช่องว่างช่องโหว่
สำหรับ ความคืบหน้าตรวจพิสูจน์หาสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) เพิ่มเติมนั้น พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงการตรวจพิสูจน์หาดีเอ็นเอ จากวัตถุพยานชิ้นกระดูก 8 ชิ้น ซึ่งดีเอสไองมขึ้นมาได้จากร่องน้ำลึกในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบเปรียบเทียบดีเอ็นเอชิ้นส่วนกระดูก ซึ่งเป็นขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ ยังตอบไม่ได้ว่าดีเอ็นเอที่พบจะเพียงพอและสามารถนำไปเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของนายบิลลี่ได้หรือไม่
“เบื้องต้นบอกได้เพียงว่า วัตถุพยานสามารถสกัดสารพันธุกรรมได้มากกว่าชิ้นส่วนกะโหลกชิ้นแรก ที่นำไปตรวจสอบเปรียบเทียบไมโทรคอนเดรียตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ แม่ของนายบิลลี่”
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ถูกจับตาอย่างมาก ขณะที่คดีฆาตกรรมบิลลี่มีความคืบหน้า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีคำสั่งย้าย “พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร” รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หัวหน้าชุดสืบสวนคนสำคัญ ไปเป็น “ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม” ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยกระทบความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เพราะก่อนหน้านี้ คดีการหายตัวไปของบิลลี่แทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ กระทั่งดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ จึงเป็นที่วิพากษ์ทำนองว่าอาจเกิดการแทรกแซง “วิ่งเต้นล้มคดี” หรือไม่
แต่ในประเด็นนี้ได้รับการอธิบายว่า คำสั่งย้ายดังกล่าวเป็นการโยกย้ายไปรับตำแหน่งที่สูงขึ้น จากตำแหน่ง “รองอธิบดี” เทียบเท่า “ราชการระดับ 9" ไปเป็น “ผู้บริหารระดับสูง” ระดับ ซี10 เป็นการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น
อีกทั้ง พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวย้ำขอให้สาธารณชนให้มั่นใจการทำงานแบบสหวิชาชีพของกรมสอบสวนคดีพิเศษในรูปแบบคณะกรรมการโดยปราศจากแทรกแซง
ทั้งนี้ ภายหลังศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย นายสุรพงษ์ กองจันทึก ทนายความในฐานะประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นำ “มึนอ” หรือ “น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ” ภรรยาของ “บิลลี่” หรือ “นายพอละจี รักจงเจริญ” แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย เข้ายื่นหนังสือต่อ “นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประเด็นสำคัญเพื่อขอให้ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับผิดชอบสอบสวนคดีฆาตกรรมนายบิลลี่ต่อไป โดยมีเนื้อหาดังนี้
1. ขอให้แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ พ.ต.ท.กรวัชร์ เป็นหัวหน้าชุดสืบสวน หรือเป็นผู้รับผิดชอบทำคดีฆาตกรรมนายบิลลี่ต่อไป แม้ผู้ที่รับช่วงต่อจะมีความสามารถแต่ไม่เคยทำคดีนี้มาก่อน อาจต้องใช้เวลาศึกษาทำให้คดีมีความล่าช้าไม่ต่อเนื่อง
2. ขอให้นำร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายเข้าสู่การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมให้เร่งตราเป็นกฎหมายโดยเร็ว
และ 3. ขอให้มีมาตรการป้องกันและคุ้มครองนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยจัดทำข้อมูล white list เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยดูแล เนื่องจากก่อนหน้านี้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเคยยกร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว แต่หลังจากมีการเปลี่ยนอธิบดีคนใหม่เรื่องก็เงียบหายไป จึงอยากให้เร่งดำเนินการ
มึนอ บอกว่ารู้สึกดีใจที่ พ.ต.ท.กรวัชร์ ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น แต่ตนและชาวบ้านบางกลอยต้องการให้ พ.ต.ท.กรวัชร์ ทำคดีฆาตกรรมนายบิลลี่ต่อจนกว่าคดีความจะถึงที่สุด ในส่วนผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมบิลลี่ถูกออกหมายจับไม่ได้ติดใจอะไร หากทำผิดต้องรับสารภาพรับผิดชอบในสิ่งที่ทำลงไป
“อยู่ในหมู่บ้านบางครั้งก็กลัว บางครั้งก็ไม่กลัว เมื่อชาวบ้านถามว่าออกมาเรียกร้องสิทธิให้บิลลี่ ไม่กลัวถูกอุ้มหายหรือ ถูกถามแบบนี้ก็รู้สึกกลัว แต่ตอนนี้คดีมีความคืบหน้าก็ไม่กลัวแล้ว และดีใจที่ดีเอสไอทำให้คดีมีความคืบหน้า แตกต่างจากความรู้สึกเมื่อก่อนที่ไม่มีความหมายอะไรเลย ...ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็เชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรม” มึนอ ภรรยาของบิลลี่ เปิดเผยความรู้สึก
นอกจากนี้ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง ฝากความห่วงใยถึงภรรยาของบิลลี่ด้วยว่า หากกังวลว่าจะถูกคุกคามหรือไม่ปลอดภัยจากกลุ่มผู้ต้องหาที่ได้รับการประกันตัว สามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอให้พิจารณาการถอนประกันตัวได้ เพราะเงื่อนไขในการให้ประกันตัว ผู้ต้องหาจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หรือข่มขู่พยาน เป็นหลักเกณฑ์ปกติในทุกคดี
ด้าน บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกลาโหม ก็ยืนยันอย่างหนักแน่นเช่นกันว่า ให้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องพิสูจน์ข้อเท็จจริง
“ผมไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม แม้นายชัยวัฒน์จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงก็ตาม ยืนยันไม่มีใครช่วยใครได้ แม้จะรู้จักกับใครหรือจะมาบอกว่ารู้จักกับผมก็ตาม ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวถึงการออกหมายจับบุคคล ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวและฆาตกรรม บิลลี่ - พอละจี นักปกป้องสิทธิชุมชนชาวกระเหรี่ยง
“การดำเนินการโดยดีเอสไอในการนำผู้ต้องหาที่อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมบิลลี่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นก้าวที่สำคัญในการยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่ได้เกิดขึ้นกับคดีนี้ในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา” ซินเทีย เวลิโก้ ผู้แทนประจำภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนฯ ประจำกรุงเทพฯ กล่าว
อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่า ณ เวลานี้ นายชัยวัฒน์ และพวกยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ และสามารถต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมในฐานะ “ผู้ต้องหา” ซึ่งท้ายที่สุด ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ยังคงต้องรอการพิสูจน์กันในชั้นศาล...