xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : พลิกปูมชีวิต "ชัยวัฒน์ ลิ้ม "จากวีรบุรุษแก่งกระจาน สู่ผู้ต้องหาคดีอุ้มฆ่า"บิลลี่"

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ตอน พลิกปูมชีวิต "ชัยวัฒน์ ลิ้ม "จากวีรบุรุษแก่งกระจาน สู่ผู้ต้องหาคดีอุ้มฆ่า"บิลลี่"




เส้นทางคดีความของ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9อุบลราชธานี ในฐานะอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในช่วงเกิดเหตุ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่ง-บางกลอย ที่หายตัวไปหลายปี

กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ มีการสอบสวน จนทำสำนวนออกมาเป็นคดีอุ้มฆ่า แจ้งข้อหาชัยวัฒน์และพวกร่วมกันฆ่า และอีกหลายข้อหาหนักๆ

หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
น่าสนใจมากตรงที่กระบวนการต่อสู้คดี ซึ่งดีเอสไอเชื่อมั่นในพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็น ผลการสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง ร่วม 100 ปาก –วัตถุพยานนิติวิทยาศาสตร์ -บันทึกการใช้โทรศัพท์ เป็นต้น

จนดีเอสไอ เห็นว่า หลังนายชัยวัฒน์กับพวก จับตัวนายบิลลี่ไปเมื่อ 17 เมษายน 2557  โดยตั้งข้อหา ว่าพกพาของป่า คือน้ำผึ้งป่าห้าขวด แต่กลับไม่ปรากฏหลักฐานในการปล่อยตัวนายบิลลี่หลังถูกควบคุมตัวและต่อมาจากนั้น นายบิลลี่ก็ได้หายตัวไปหลายปี

ดีเอสไอรับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษ และบ่งชี้ว่านายบิลลี่ โดนฆ่าเผายัดถังน้ำมัน ทิ้งไว้บริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน จนมีการเอาผิดนายชัยวัฒน์กับพวก ดังกล่าว

หลังจากนี้ ทุกอย่างก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม หากสุดท้าย อัยการมีการยื่นฟ้องเอาผิดนายชัยวัฒน์กับพวกต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ นายชัยวัฒน์กับพวก ก็จะได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเอง คงสู้กันจนถึงฎีกาเป็นหนังยาวแน่

สอบสวนย้อนความไปก่อนที่นายบิลลี่จะหายตัวไป พบว่านายบิลลี่ ผู้ตายมีเรื่องราวระหองระแหง มีข้อพิพาท กับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติเขื่อนแก่งกระจาง มาตลอด เป็นปมเหตุมาตั้งแต่เกิดกรณี ปู่คออี้ มีมิ  อดีตผู้นำจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ออกมาร้องเรียน

เรื่องที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ขึ้นไปเผาบ้านและยุ้งข้าว ที่บ้านบางกลอยบน  เมื่อปีพ.ศ.2554 โดยอ้างเหตุกลุ่มกระเหรี่ยง บ้านบางกลอย  บุกรุกที่อุทยานฯ  ทั้งยังถูกกล่าวหาว่าเป็นชนกลุ่มน้อยจากฝั่งพม่า จึงถูกกดดันให้อพยพออกจากป่า

การที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ขึ้นไปปฏิบัติการผลักดันกลุ่มกระเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มาหลายชั่วคน ตั้งแต่ยังไม่มีการสร้างเขื่อนแก่งกระจานด้วยซ้ำว่า เกิดจากแนวนโยบายของกระทรวงทรัพยากรฯ ตั้งแต่ช่วงปี 2552-2554

เป็นห้วงเวลาที่คาบเกี่ยวช่วงรัฐบาลพรรคพลังประชาชนกับรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ซึ่งช่วงนั้น ฝ่ายการเมือง ในกระทรวงทรัพยากรฯ มีการผลักดันให้รัฐบาลเตรียมประกาศ กลุ่มผืนป่าแก่งกระจาน เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของยูเนสโก

จึงทำให้มีการมองกันว่าจากนโยบายของฝ่ายการเมืองดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ จึงพยายามผลักดันให้ชาวกระเหรี่ยงในพื้นที่ออกนอกผืนป่า จนเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวกระเหรี่ยงกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เรื่อยมา

สุดท้ายเลยเกิดกรณี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เผาบ้านและยุ้งข้าว ของชาวกระเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยบน ดังกล่าว ผลักดันให้ ปู่คออี้ ออกป่ามาร้องเรียนสภาทนายความและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดยยืนยันว่าตนเองเป็นกระเหลี่ยงดั้งเดิม อาศัยอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน  ไม่ใช่คนที่ข้ามมาจากฝั่งพม่า และไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่าเหมือนที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

เป็นเหตุทำให้เริ่มเกิดความคุกรุ่นขึ้นระหว่าง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับกลุ่มชาวกระเหรี่ยงแก่งกระจาน จนมีการยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง และต่อมา  ศาลปกครองสูงสุด  ตัดสินให้ กรมอุทยานฯ ชดใช้เงินค่าเสียหายกับปู่คออี้ และชาวบ้าน

รวมถึงตัดสินว่า การขึ้นไปเผาบ้านดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจ เกินความจำเป็น ไม่สมควรแก่เหตุ

ด้วยเหตุนี้ ทางด้านดีเอสไอจึงมองว่า นายชัยวัฒน์กับกลุ่มผู้ต้องหาร่วม มีปัญหากับกลุ่มกะเหรี่ยงในพื้นที่ และเป็นคู่กรณีขัดแย้งกันมาตลอด โดยที่นายบิลลี่ ก็คือหลานชายของ ปู่คออี้ ที่มีบทบาทในฐานะเป็นคนสำคัญ

เป็นคนที่คอยประสานงานกับนักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน  ในการยื่นฟ้อง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานภายใต้การนำของนายชัยวัฒน์  จนสุดท้าย ฝ่ายนายชัยวัฒน์ ก็แพ้คดี

สำหรับ นายชัยวัฒน์ ถือเป็นข้าราชการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ซึ่งหลายคนคุ้นชื่อ คุ้นหน้าเป็นอย่างดี ต่างกรรมต่างวาระ

ไม่ว่าจะในด้านบวกอย่างเช่น การบุกเข้าไปช่วยกู้เฮลิปคอปเตอร์และผู้เสียชีวิต จากแหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จนได้รับประกาศนียบัตรข้าราชการพลเรือนดีเด่น ในปี 2554จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จนถูกขนามนาม วีรบุรุษแก่งกระจานมาแล้ว

เช่นเดียวกับในช่วง เดือน พ.ย.2555 นายชัยวัฒน์ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกรวบขบวนการ ลักลอบล่าสัตว์ได้ที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ-ใต้ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ตัวผู้กระทำผิด 9 คนพร้อมอาวุธครบมือ

หนึ่งในนั้นเป็นตำรวจยศ พ.ต.ท. แต่ต่อมาภายหลังตำรวจคนดังกล่าว กลับไม่ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ มีกระแสชื่นชมนายชัยวัฒน์กับทีมงาน อย่างมาก

ขณะที่ข่าวในเชิงที่ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์นายชัยวัฒน์ก็มีเช่นกัน ในช่วงสมัยเป็น หัวหน้าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรณีที่มีปัญหาข้อพิพาทกับกลุ่มกระเหรี่ยง จนเกิดการฟ้องร้องคดีที่ศาลปกครอง ซึ่งสุดท้ายฝ่ายนายชัยวัฒน์ก็คือแพ้คดี  

หรือกรณีเมื่อช่วง มกราคม พ.ศ.2555 ที่เกิดเหตุการณ์เผานั่งยางช้างป่าเพื่อเอางา โดยจับผู้ต้องหาได้ 5 คน ประกอบด้วยลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ต่อมานายชัยวัฒน์ได้เดินทางเข้าช่วย โดยใช้ตำแหน่งยื่นประกันตัว แต่ปฏิเสธไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้นกับเรื่องที่เกิดขึ้น

แต่ทั้งหมด ถึงวันนี้ วิบากกรรมหนักสุดของนายชัยวัฒน์ ก็คือคดีนายบิลลี่ ที่ถูกดีเอสไอเอาผิดในเวลานี้นั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น