กาญจนบุรี - เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัว CEO อิตาเลียนไทย มาที่ สภ.ทองผาภูมิ พร้อมห้ามบันทึกภาพ ด้านทนายความขอยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า หลังจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก จับกุม นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้กลางป่าทุ่งใหญ่ฯ ขณะลักลอบตั้งแคมป์พักแรมในจุดบริเวณห้วยปะชิ อยู่ระหว่างหน่วยฯ ทิคอง กับหน่วยฯ มหาราช ค่าพิกัด 47 P 485821 E 1678956 N ซึ่งเป็นจุดที่ ขสป.ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวัน ไม่อนุญาตให้ตั้งแคมป์
พร้อมทั้งพบว่า บริเวณเต็นท์พักมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง คือ ไก่ฟ้าหลังเทา ซากเนื้อเก้ง จึงได้ทำการขยายพื้นที่ตรวจสอบพบอาวุธปืนยาวขนาด .22 จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนไรเฟิลติดลำกล้อง จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนลูกซองแฝด จำนวน 1 กระบอก และเครื่องกระสุนพร้อมใช้งาน และใกล้กับที่พบอาวุธปืนที่ซ่อนอยู่ เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่เพิ่มเติม พบซากเสือดำ ถูกชำแหละ และถลกหนัง บริเวณใกล้เคียงพบเครื่องกระสุนปืนเพิ่มอีก จึงทำการจับกุมเพื่อส่งคดี สภ.ทองผาภูมิ
ล่าสุด วันนี้ (6 ก.พ.) เจ้าหน้าที่ทุ่งใหญ่ได้นำตัว นายเปรมชัย พร้อมพวกรวม 4 คน ส่งตัวดำเนินคดีที่ สภ.ทองผาภูมิ โดยผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงความคืบหน้า พ.ต.อ.วุฒิพงษ์ เย็นจิตต์ ผกก.ทองผาภูมิ แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวบันทึกภาพ แจ้งว่า เป็นสิทธิของผู้ต้องหา และระเบียบปฏิบัติของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีทนายความส่วนตัวของผู้ต้องหาเดินทางมาที่ สภ.ทองผาภูมิ เพื่อขอยื่นประกันตัวผู้ต้องหา
ขณะที่ พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี ชี้แจงว่า จะต้องทำการสอบสวนผู้ต้องหาก่อน จึงจะพิจารณาว่าให้ประกันหรือไม่ให้ประกันตัว หาก ผกก.สภ.ทองผาภูมิ เห็นควรให้ประกันตัว ผู้ต้องหาก็สามารถประกันตัวได้ แต่หากไม่ให้ประกันตัวก็จะต้องส่งเรื่องมาให้ตนพิจารณาต่อไป
ด้าน นายธรรมรัฐ วงศ์โสภา รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า การขออนุญาตเข้าไปในเขตฯ มีขั้นตอนการดำเนินการอยู่แล้ว โดยเราจะนำมาพิจารณาตามระเบียบการขออนุญาตเข้าพื้นที่ เบื้องต้น พบว่ากลุ่มผู้ต้องหายื่นขออนุญาตเข้าพื้นที่มาเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า เอกสารหลักฐานยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และยังต้องขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอนุญาต ดังนั้น การเข้าไปของกลุ่มผู้ต้องหาจึงเป็นการเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษปรับ แต่พฤติกรรมการลักลอบล่าสัตว์ป่าเป็นคนละเรื่องกัน โดยต้องแยกเป็น 2 ส่วน
เมื่อพบการกระทำผิดเบื้องต้นเจ้าพนักงานป่าไม้ก็จะต้องทำการสืบสวนขยายผลต่อ จึงทำให้การส่งบันทึกการจับกุมต้องล่าช้า เบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธในชั้นจับกุม แต่ต้องไปดูกันในชั้นสอบสวนอีกครั้งว่าผู้ต้องหายังคงให้การปฏิเสธอีกหรือไม่ ถึงแม้ผู้ต้องหาไม่รับสารภาพ เราก็ต้องว่ากันไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในขณะจับกุม และพฤติการณ์ในการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ
ทั้งนี้ ทางอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้สั่งการให้มาตรวจสอบการดำเนินการของทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ เพื่อให้ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อสั่งการของกรมอุทยานฯ ในการดำเนินคดี และให้ดำเนินคดีด้วยความรอบคอบต่อผู้กระทำผิดเพื่ออุดช่องว่าง โดยจะนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมในการพิจารณา ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ
สำหรับ 1 ในผู้ต้องหา คือ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทยเดเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) แต่ส่วนผู้ต้องหาอีก 3 ราย เป็นใครนั้นเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน เพราะเราจับกุมผู้กระทำผิดในฐานะผู้เข้าไปล่าสัตว์โดยพฤติกรรมที่ทำผิดกฎหมาย ส่วนสถานภาพทางสังคมเป็นเรื่องที่ต้องไปตรวจสอบอีกครั้ง
สำหรับสำหรับฐานความผิดตามที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก คือ 1.ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 36 และมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
2.ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 16 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
3.ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 19 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
4.ฐานนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามข้อ 1 (1) ของกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2538) ออกตามความตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
5.ฐานรวมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507
6.สำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490