xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คลี่ปมสังหาร “ทนายบัญชา” กลางศาล คดีพิพาทที่ดินมรดกเลือด 3,800 ไร่ 2 คู่เขย “โกศลานันท์”ตระกูลใหญ่จันทบุรี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คงไม่มีใครคาดคิดว่า หลังจากเกิดเหตุ “นายคนากร เพียรชนะ” ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลา ได้ใช้อาวุธปืนพกสั้นก่อเหตุพยายามฆ่าตัวตาย แต่ไม่ตาย หลังพิพากษาคดีความมั่นคง ณ ห้องพิจารณา 4 ศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา จะเกิดเหตุในทำนองเดียวกันขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้องพิจารณาคดีของศาลจังหวัดจันทบุรี

เมื่อผู้ก่อเหตุคือ “พล.ต.ต.ธารินทร์ จันทราทิพย์” ใช้อาวุธปืนกล็อก 22 จุด 40 ยิง “นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์” ทนายความชื่อดัง “เสียชีวิต” พร้อมกับ “นายวิจัย สุขรมย์” ทนายความ ก่อนที่ พล.ต.ธารินทร์จะถูก “นายคนากร ธีรวโรดม” เสมียนทนายโจทก์ ผู้ใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลยิงใส่เพื่อระงับเหตุและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บประกอบด้วย “นางสุภาพร ปรมีศณาภรณ์” ซึ่งเป็นภรรยาของทนายบัญชา และ “นายวิชัย อุดมธนภัทร” ทนายโจทย์ ซึ่งเป็นฝ่ายของนายบัญชา

แน่นอน ความน่าสนใจของ “คดีฆ่าหน้าบัลลังก์” คดีนี้ มีอยู่ในหลายประเด็นด้วยกัน ทั้งในแง่เงื่อนปมแห่งคดี ทั้งในเรื่องส่วนตัวด้วยเพราะ “ผู้เสียชีวิต” ทั้ง 2 คนคือ พล.ต.ต.ธารินทร์และทนายบัญชา ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีชื่อเสียง และทั้งในแง่ระบบรักษาความปลอดภัยของศาลที่ถูกตั้งคำถามเนื่องจากไม่ใช่ “ครั้งแรก” ที่เกิดเหตุทำนองนี้

ปมเหตุพิพาทที่ดินมรดก
จาก “พระกิตติวุฑโฒ” สู่พี่น้อง “โกศลานันท์”
กล่าวสำหรับ “ทนายบัญชา” นั้น ต้องใช้คำว่า เป็นทนายที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ และมี “คอนเนกชัน” ในทุกระดับ ทั้งทางการเมืองและทางธุรกิจ ซึ่งคงไม่เกินเลยไปนักที่จะสรุปว่า “ไม่ธรรมดา”

“ทนายบัญชา” นอกจากจะเคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แล้ว ยังรับว่าความให้บริษัทขนาดใหญ่ และบุคคลที่มีชื่อเสียงมามากมาย

ที่โด่งดังคือเป็นทนายความให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ภายหลังพบว่าเจ้าตัวได้ถอนตัวออกไป และแต่งตั้ง “นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง” มาว่าความแทน

เคยว่าความให้ “พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์” อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง “เสธ.แดง” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล

เคยเป็นทนายความให้กับ “รศ.รังสรรค์ แสงสุข” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

และที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ เคยว่าความให้ “บิ๊กป๊อด”-พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ น้องชาย “ลุงป้อม”-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

นอกจากนี้ “ทนายบัญชา” ยังเป็นทนายความให้กับหน่วยงานรัฐ อย่างกระทรวงพลังงาน ฟ้อง “หม่อมกร”-ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี” หรือ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่ม “บริษัท คิง เพาเวอร์” ยื่นฟ้องหมิ่นประมาท นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รวมถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) อย่างน้อย 2 คดี เป็นต้น

ขณะที่ตัว “ผู้การธารินทร์” ซึ่งขณะก่อเหตุมีอายุ 67 ปีนั้น ในอดีตเคยเป็น ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในเก้าอี้ รองจเรตำรวจ (สบ7) ถือเป็น “นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่” ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวในหน้าที่การงานมาพอสมควร

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ อะไรคือ “ชนวนเหตุ” ของการสังหารโหดในครั้งนี้

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ต้นสายปลายเรื่องมาจาก “ข้อพิพาทในเรื่องที่ดินมรดก 3,800 ไร่” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณในพื้นที่บ้านตาเลียว ต.เขาแก้ว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โดยมีความเกี่ยวพันกับ “ตระกูลโกศลานันท์” ซึ่งเป็นตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี และเป็นที่รู้จักของคนเมืองจันทน์อย่างกว้างขวาง

และที่ดินพิพาทนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของ “นายสมพล โกศลานันท์” ก่อนที่ “มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย” จะติดต่อขอซื้อด้วยเงิน 12 ล้านบาท เมื่อปี 2513 โดยใช้วิธีผ่อนชำระ ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้งและมีการฟ้องร้องดำเนินคดีระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายต่อหลายคดีด้วยกัน

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้ว พล.ต.ต.ธารินทร์ และทนายบัญชาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทนี้ได้อย่างไร

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า “พล.ต.ต.ธารินทร์” เป็น “อดีตสามี” ของ “น.ส.เขมจิรา บัณฑูรนิพิท” ซึ่ง น.ส.เขมจิรามีศักดิ์เป็น “หลาน” ของ “นายสมพล โกศลานันท์” เจ้าของที่ดินผืนดังกล่าว ขณะที่ “ทนายบัญชา” ก็คือ “สามี” ของ “นางสุภาพร ปรมีศณาภรณ์” ซึ่งเป็น “ลูกสาว” ของ “นายสมพล โกศลานันท์” และได้รับบาดเจ็บจากการลั่นกระสุนสังหารในครั้งนี้ด้วย

เพราะฉะนั้น ทั้ง พล.ต.ต.ธารินทร์และทนายบัญชาจึงมีศักดิ์เป็น “เขยโกศลานันท์” ทั้งคู่

ที่ดินดังกล่าวเป็นของนายสมพล โกศลานันท์ เคยตกลงซื้อขายที่ดินกับพระเทพกิตติปัญญาคุณ หรือพระกิตติวุฑโฒ ภิกขุ ในนาม มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย จำนวนเงิน 12 ล้านบาท เมื่อปี 2513 โดยพระกิตติวุฑโฒได้ขอซื้อผ่อนชำระ โดยเรี่ยไรผู้มีจิตศรัทธามาบริจาคซื้อที่ดิน และได้บริจาคที่ดินบางส่วนให้กับโรงเรียนบ้านตาเลียว เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา

เป็นพระกิตติวุฑโฒที่คนไทยในอดีตรู้จักกันดี โดยเฉพาะประโยคเด็ด “ฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่บาป” ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

กระทั่งนายสมพล เสียชีวิตลง เมื่อปี 2538 โดยทางมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ไม่ได้ชำระเงินอย่างต่อเนื่อง ยังคงค้างผิดชำระอยู่อีก 3 ล้านบาท จนเมื่อปี 2548 พระกิตติวุฑโฒได้มรณภาพ ซึ่งที่ดินทั้งหมด ยังเป็นชื่อนายสมพลแต่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์สาธารณะได้ และต่อมาที่ดินกลับตกอยู่ในนามของเครือญาติพระกิตติวุฑโฒ นำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ศาลจึงสั่งให้ที่ดินทั้งหมดกลับคืนมาเป็นของครอบครัวนายสมพล อีกครั้ง

ดูเหมือนเรื่องนี้จะจบลง แต่กลับกลายเป็นชนวนความขัดแย้งภายในครอบครัวตระกูลโกศลานันท์ ระหว่างฝ่าย พล.ต.ต.ธารินทร์ ซึ่งเป็นหลานเขย ยื่นเรื่องขอครอบครองที่ดิน ทำให้ลูกสาวอีกคนของนายสมพล มองว่าไม่ถูกต้อง จึงร่วมกับสามีคือนายบัญชา ปรมีคณาภรณ์ ยื่นฟ้องพล.ต.ต.ธารินทร์ โดยมีการต่อสู้ฟ้องร้องกันมาตลอด



ขณะนำร่างผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
น.ส.เขมจิรา บัณฑูรนิพิท อดีตภรรยาของ พล.ต.ต. ธารินทร์ ได้เผยเบื้องลึกของมูลเหตุยิงกันในศาลนี้ว่า ที่ดินที่เป็นข้อพิพาทนี้ เป็นที่ดินขนาดกว่า 3,800 ไร่ มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ของนายสมพล โกศลานันท์ คุณตาของตน ยกให้เป็นมรดกลูกหลาน ซึ่งตอนแรก พล.ต.ต. ธารินทร์ ในฐานะหลานของตระกูล ต้องการยกที่ดินให้วัด แต่วัดไม่สามารถส่งค่างวดได้ จึงคืนที่ดินให้ แต่เมื่อคืนที่ดินแล้วก็กลายเป็นว่าที่ดินนี้กลับเข้าสู่กองมรดกอีกครั้ง จึงกลายเป็นข้อพิพาทของคนในตระกูลที่ต้องการครอบครองที่ดินผืนดังกล่าว

ทั้งนี้ พล.ต.ต. ธารินทร์ มีความต้องการนำที่ดินไปพัฒนาและบริจาคที่ดินผืนนี้ให้พระพุทธศาสนาเหมือนเดิม แต่คนในตระกูลไม่เห็นด้วย จนสุดท้ายกลับเกิดการฟ้องร้องกันขึ้น ซึ่งพล.ต.ต. ธารินทร์ เคยเปรยเอาไว้ว่า คดีนี้จะไม่ยอมเด็ดขาด หากแพ้คือเสียศักดิ์ศรี และตนหวังว่าเขาจะไม่ตายฟรี และต้องขอโทษเขาด้วยที่เอาเขามาเอี่ยวกับคดีพิพาทที่ดินในตระกูลของตน

“พี่อยากจะขอโทษเขาค่ะ พี่อยากจะขอโทษ พี่ไม่น่าเอาเขาเข้ามาในคดีนี้ เพราะมันเป็นคดีของตระกูลพี่ พี่ไม่มีความรู้ พี่ไม่ใช่นักกฎหมาย เพียงแต่พี่เห็นเขาเป็นตำรวจ”น.ส.เขมจิรา บัณฑูรนิพิทระบายความรู้สึก

ขณะที่ นายเตชนิธิ ชัยณรงวิทย์ ทนายความของ พล.ต.ต. ธารินทร์ กล่าวว่า เชื่อว่าเหตุที่ พล.ต.ต. ธารินทร์ ลงมือยิงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยนัดที่ 3 นายวิจัย ทนายฝั่งโจทก์ ซึ่งได้ซักถาม พล.ต.ต. ธารินทร์ ได้พาดพิงไปถึงพ่อของ พล.ต.ต. ธารินทร์ เพื่อให้เป็นผลเสียต่อคดี จน พล.ต.ต. ธารินทร์ ไม่พอใจ เพราะคุณพ่อของ พล.ต.ต. ธารินทร์ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศ และ พล.ต.ต. ธารินทร์ ยังขอให้ศาลไม่บันทึกคำให้การในส่วนที่เกี่ยวกับคุณพ่อของตัวเอง แต่ศาลก็ต้องบันทึก นอกจากนี้ นายวิจัยยังได้โชว์หลักฐานเอกสารต่อหน้าผู้พิพากษา และ พล.ต.ต. ธารินทร์ ได้เข้ายื้อแย่งเอกสารกับนายวิจัย จนผู้พิพากษาต้องตักเตือน

ถึงเวลารื้อระบบรักษาความปลอดภัยศาล
เร่งเครื่อง “คอร์ท มาร์แชล”
แน่นอนว่า สิ่งที่ทุกคนสงสัยก็คือ “ทำไมผู้ก่อเหตุจึงสามารถพกพาอาวุธเข้าไปในศาลได้” ซึ่งปกติจะเข้าไปได้ยาก หรือไม่ได้เลย เพราะทุกศาลจะมีเครื่องตรวจสอบโลหะและอาวุธติดตั้งอยู่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ศาลที่ทำงานอย่างเข้มงวด เว้นเสียแต่ว่าอาศัยช่องว่างของการตรวจสอบตรวจค้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ เนื่องด้วยตัวผู้ก่อเหตุเป็น “นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่” ทำให้รู้ระบบและขั้นตอนเป็นอย่างดี

“ถือเป็นเรื่องอุกฉกรรจ์ร้ายแรงที่สุดที่เกิดในศาล และกระทำกับทนายความ นับจากคดีระเบิดซีโฟร์ที่ศาลจังหวัดนครราชสีมาเมื่อสามสิบปีก่อน”ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ที่สำคัญคือ ก่อนหน้านี้ไม่นาน ภายหลังจากที่เกิดเหตุ 3 ผู้ต้องขังชาย-หญิง คดียาเสพติด หนีจากห้องควบคุมตัวในศาลจังหวัดพัทยา โดยมีอาวุธปืนและมีด ที่ลักลอบนำเข้าไปทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัย และความเรียบร้อยบริเวณศาล ได้รับบาดเจ็บไปเมื่อปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมานั้น มาตรการความปลอดภัยบริเวณศาล ก็ถูกยกระดับขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ “นายสราวุธ เบญจกุล” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ลงนามในหนังสือถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดศาลยุติธรรม ให้เพิ่มมาตรการความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาล

“จากการตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดพบว่าผู้ก่อเหตุใช้จังหวะช่วงเคารพธงชาติ เข้าไปด้านใน เนื่องจากทุกคนอยู่ระหว่างยืนตรง ทำให้เดินเข้าไปโดยไม่มีใครสังเกต และในวันเกิดเหตุ พล.ต.ต.ธารินทร์ มาศาลตั้งแต่เวลาประมาณ 07.00 น. น่าจะเตรียมการมาแล้ว ทั้งนี้สะท้อนว่าระบบการดูแลความปลอดภัยของศาลถือว่ามีข้อบกพร่อง ต้องเร่งแก้ไข โดยปัจจุบัน ศาลทั่วประเทศมีทั้งหมด 275 แห่ง มีตำรวจศาลเพียงแค่ 35 นาย เพิ่งเริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2562 จึงไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มจำนวนหากให้ครอบคลุมต้องมีประมาณ 1,000 นาย โดยปัจจุบันศาลในต่างจังหวัดได้ขอความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการดูแลรักษาความปลอดภัยและดูแลตัวผู้ต้องหา”นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักศาลยุติธรรม เปิดเผยรายละเอียด

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน “ระบบการดูแลความเรียบร้อยในศาล” มีด้วยกัน 3 ส่วนคือ ส่วนผู้ต้องขังจะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จากกรมราชทัณฑ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมดูแลความปลอดภัยบริเวณศาล และในส่วนของศาลเองมีเจ้าหน้าที่ รปภ. ที่จัดสรรการจ้างมาจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ซึ่งไม่มีอาวุธประจำกาย จะดูแลความเรียบร้อยทั่วไปบริเวณศาล

ส่วน “เจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือ คอร์ทมาร์แชล (COURT MARSHAL)” นั้น สำนักงานศาลยุติธรรมกำลังดำเนินการพัฒนา โดยปัจจุบันมีข้าราชการที่รับโอนมาผ่านการฝึกอบรมพร้อมปฏิบัติหน้าที่แล้วทั้งสิ้น 35 ราย โดยในปี 2563 สำนักงานศาลยุติธรรมมีเป้าหมายจะคัดเลือกบุคคลให้ได้อย่างน้อย 300 คนเพื่อที่จะนำอัตรากำลังในส่วนนี้ที่ศาลจัดดำเนินการเองกระจายไปประจำการยังศาลภาคต่างๆ ทั่วประเทศที่มีอยู่ 275 แห่ง โดยตั้งเป้าจัดกำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือ คอร์ทมาร์แชล ประจำศาลภูมิภาคแต่ละศาล 1-2 นาย เป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยของศาลต่างๆ ด้วยความเข้มงวดรัดกุมยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์ครั้งนี้ “นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์” ประธานศาลฎีกา รู้สึกไม่สบายใจ และมีความกังวลใจ ทั้งมีความเป็นห่วงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงได้สั่งการให้สำนักงานศาลยุติธรรม ทบทวนตรวจทานดูระบบรักษาความปลอดภัยทั้งหมดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวบุคลากร หรืออุปกรณ์รักษาความปลอดภัย จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข

โดย นายสุรินทร์ ชลพัฒนา เลขาธิการประธานศาลฎีกา เปิดเผยหลังเข้าพบนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เพื่อรายงานเหตุอุกฉกรรจ์ที่ศาลจังหวัดจันทบุรีว่า ได้รับมอบหมายจากประธานศาลฎีกาให้แถลงกับสื่อมวลชนแทน ว่า ประธานศาลฎีการู้สึกไม่สบายใจและมีความกังวลใจ ทั้งมีความเป็นห่วง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในสถานการณ์ขณะนี้ก็ได้สั่งการให้สำนักงานศาลยุติธรรม ทบทวนตรวจทานดูระบบรักษาความปลอดภัยทั้งหมด ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวบุคลากร หรืออุปกรณ์รักษาความปลอดภัย จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข

“เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุร้ายแรงไม่คาดฝัน คนร้ายอาศัยช่องว่างของการตรวจสอบตรวจค้นอาวุธเข้าไปได้ ซึ่งปกติจะเข้าไปได้ยาก ประกอบกับ คนที่จ้องจะกระทำ กับคนที่ระวัง คนที่จ้อง ก็อาศัยโอกาสกระทำ ที่เอื้ออำนวยเหมาะสม เป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ขอฝากยังพี่น้องประชาชนว่า ศาลยังคงเป็นสถานที่ซึ่งมีความปลอดภัยเสมอ”นายสุรินทร์กล่าวย้ำ

เพราะฉะนั้น เชื่อเหลือเกินว่า จากช่องว่างและช่องโหว่ที่เกิดขึ้นจากจากคดีสังหารโหดในศาลจังหวัดจันทบุรี รวมถึงอีกหลายคดีในช่วงที่ผ่านมาจะเป็น “กรณีศึกษา” และเป็น “บทเรียน” เพื่อทำให้ “ศาลเป็นที่ปลอดภัย” ได้อย่างแท้จริง.


กำลังโหลดความคิดเห็น