xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ปารีณา” เกษตรกรขาใหญ่ “รอด-ไม่รอด” “ส.ป.ก.” แบะท่า “ไม่เอาผิด” รุก “ป่าสงวน” คงหาช่องกันเหนื่อย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพถ่ายทางอากาศแสดงที่ตั้งของ “เขาสนฟาร์ม”
 ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่า “งานเข้าครั้งใหญ่” สำหรับ “สาวเอ๋-ปารีณา ไกรคุปต์” ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จ.ราชบุรี เพราะอยู่ๆ ก็ดันไปทำ “ปืนลั่น” ใส่ตัวเองด้วยการไปแจ้ง “บัญชีทรัพย์สิน” กับ “สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)” ว่ามีที่ดินอยู่ในครอบครองผืนเบ้อเริ่ม จำนวนราว 1,700 ไร่ ที่หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

แล้วปัญหาก็คือ ที่ดินผืนใหญ่ของ “สาวเอ๋” มิได้มี “เอกสารสิทธิ” หากแต่จัดอยู่ในประเภท “ภ.บ.ท.5” หรือ “ภาษีบำรุงท้องที่” หรือที่ศัพท์ในแวดวงที่ดินเขาเรียกว่า “ภาษีดอกหญ้า” ซึ่งไม่สามารถ “ครอบครอง” ได้ จนเจอ “นักร้องรุ่นเก่า” อย่าง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ได้ส่งเอกสารคำร้องไปยัง ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบการถือครองพื้นที่

เรื่องนี้ “เอ๋-ปารีณา” ได้ออกมาชี้แจงผ่านสื่อแล้วว่า ที่ดินดังกล่าวได้มานานมากแล้ว เป็นที่ดินที่กรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าทำกินได้ จึงได้เข้าไปทำประโยชน์ โดยเสียภาษีบำรุงท้องที่มากว่า 10 ปีแล้ว... ก่อนหน้านี้ก็ ปลูกอ้อย ปลูกส้ม เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว ปัจจุบันก็เลี้ยงไก่

แล้วการเลี้ยงไก่ของเธอก็มิใช่กระจอกงอกง่อย แต่หากทำในลักษณะ “ฟาร์มขนาดใหญ่” โดยตั้งชื่อเอาไว้ว่า “เขาสนฟาร์ม”

คงไม่ต้องขยายความต่อกระมังว่า เขาสนฟาร์มของสาวเอ๋นั้นเป็น “ลูกเล้า” ของใคร

ทั้งนี้ ฟาร์เลี้ยงไก่ของ “เอ๋-ปารีณา” จดทะเบียนในชื่อ “บริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด” เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2561 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 99/9 ม.3 ต.บางโตนด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี แจ้งประกอบธุรกิจกิจการฟาร์มไก่และรับจ้างเลี้ยงไก่ มี น.ส.ปารีณา เป็นกรรมการรายเดียว ปัจจุบันยังมิได้แจ้งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแต่อย่างใด

ที่น่าสนใจคือ จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า อาคารเลี้ยงไก่ 7 หลัง อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2554 และ 1 หลังอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี พ.ศ. 2527

คำถามก็คือ เอ๋-ปารีณาไปทำมาหากินในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างไร และ “คุณสมบัติ” ของเธอ “สอดคล้อง” กับการได้มาซึ่งที่ดินทั้ง 2 ประเภท เช่นนั้นหรือ

“เอ๋-ปารีณา” บอกว่าไม่ได้เข้าไปครอบครอง เพราะที่ดินยังเป็นของหลวง เธอเพียงเข้าไปทำประโยชน์ แล้วเสียภาษีให้รัฐโดยถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น และที่ ภบท.5 ก็มีอยู่มากมายทั่วประเทศ ที่เกษตรกรก็เข้าไปทำประโยชน์ โดยไม่ได้สิทธิ์ครอบครอง... ส่วนที่ต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ก็เพราะป.ป.ช. ขอความร่วมมือมาว่า ถ้ามีที่ดินประเภทของกรมป่าไม้ ที่เข้าไปทำกินอยู่ให้แจ้งด้วย จึงได้แจ้งไป เพื่อความบริสุทธิ์ใจ ให้มีการตรวจสอบได้ แต่ไม่ได้ประเมินราคา เพราะกรมที่ดิน ไม่รับประเมิน...

ขณะที่ “ทวี ไกรคุปต์” ผู้เป็นพ่อออกโรงมาชี้แจงว่า ที่ดินนี้ครอบครองมานาน โดยซื้อมาจากชาวบ้าน ไม่ได้บุกรุก ตอนออกประกาศเป็นที่ดิน ส.ป.ก. เมื่อปี 2537 พื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่เขต ส.ป.ก. เพราะเขาเห็นว่ามีการเข้าทำประโยชน์อยู่แล้ว จึงไม่ประกาศให้เป็นที่ ส.ป.ก. ต่อมาปี 2554 กรมป่าไม้ ได้ยกที่ดินบริเวณดังกล่าวให้เป็น ส.ป.ก. และทาง ส.ป.ก. ก็ประกาศเป็นเขตปฏิรูปในปีเดียวกัน

น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์
“สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เพราะเอ๋ เล่นแรง พูดถึงสองนายกฯ หนีคดี ติดคุก เสวยสุขต่างประเทศ ลูกน้องติดคุกหัวโต เขากล้าพูด จึงสะท้อนว่าที่โดนร้องเรียน เพราะเป็นเกมการเมือง เป็นการดิสเครดิตกัน จึงขอความเป็นธรรมให้กับลูกสาวด้วย และคนที่ร้องก็รู้กันอยู่ ว่าเป็นแกนนำของพรรคการเมืองใด เอ๋ เขาไม่ได้บุกรุก เขาเป็นเกษตรกรจริงๆ ไม่ใช่เกษตรกรเถื่อน”ทวี ไกรคุปต์อ้างไปโน้น

ยิ่งชี้แจงก็ยิ่งกลายเป็น “วัวพันหลัก” ดิ้นไม่หลุด เพราะทำให้เห็นชัดว่า ที่ดินผืนงามของ “เอ๋-ปารีณา” น่าจะมีปัญหาอยู่ไม่น้อย

ย้อนไปดูบทสัมภาษณ์เก่าๆ จะเห็นว่า “เอ๋-ปารีณา” ยอมรับว่า ได้เข้าไปครอบครองที่ดินผืนดังกล่าวนานนับสิบปีมาแล้ว โดยอ้างว่าเป็นที่ดินที่รัฐบาล โดยกรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าไปทำกินได้ และได้เสียภาษีดอกหญ้ามามากกว่า 10 ปี เสียทุกครั้งที่มีการเรียกเก็บอย่างถูกต้อง

ทว่า ต่อมาเธอแก้ไขข้อมูลว่า การเข้าครอบครองที่ดินของเธอนั้นไม่ได้รับอนุญาตจากใคร เพียงแต่เป็นการเข้าไปครอบครองทำกินเฉยๆ แต่ย้ำว่า ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถตรวจสอบได้จากการเสียภาษีบำรุงท้องที่แก่องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ทุกปี ซึ่งมีใบ ภบท.5 เป็นหลักฐาน

แต่เมื่อฟัง อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบายในคลิปที่กรมป่าไม้จัดทำไว้เพื่อให้ความรู้และเตือนประชาชนไม่ให้หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อคนหลอกขายที่ดิน ภ.บ.ท.5 จะเข้าใจทันทีว่า “อะไรคืออะไร” เพราะใบเสียภาษี ภ.บ.ท.5 ก็มิได้เป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิในที่ดินแต่ประการใด

“กรมการปกครองได้มีหนังสือแจ้งเวียนตั้งแต่ปี 2551 ว่าที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินของรัฐ ไม่สามารถแจ้งการเสียภาษีบำรุงท้องที่ได้ และเอกสารดังกล่าวไม่สามารถนำมารับรองสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินได้ด้วย ซึ่งเป็นการแอบอ้างว่าที่ดินแปลงนี้ได้มาถูกต้อง ทั้งที่ไม่สามารถนำมาแอบอ้างได้เลย”

จะว่าไปก็สอดคล้องกับสิ่งที่ “นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน ภบท.5 เอาไว้ในบางช่วงบางตอนว่า

“ใบ ภ.บ.ท.5 คือ ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ได้เป็นหลักฐานว่าผู้ครอบครองมีสิทธิครอบครองโดยชอบอะไรหรอก มันเป็นหลักฐานมัดตัวผู้ครอบครองเสียด้วยซ้ำหากรัฐต้องการพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้บุกรุกที่ดิน...ใครมีใบ ภ.บ.ท.5 อยู่ในมือ จึงอาจถือได้ว่าเป็นดาบ 2 คมได้เหมือนกัน คือถือว่าบุกรุกที่ดินรัฐอยู่โดยไม่อาจปฏิเสธได้ และภ.บ.ท.5 นั่นแหละจะมาบาดคอตัวเองได้สักวันหนึ่ง”

หน้าทางเข้าเขาสนฟาร์ม
ทีแรก ดูเหมือนเรื่อทำท่าจะจบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง เมื่อ “ผู้กอง-ธรรมนัส พรหมเผ่า” ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำกับ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม(สปก.) ออกมายืนยันว่า น.ส.ปารีณา ได้เข้าชี้แจงกับฝ่ายกฎหมายของส.ป.ก.แล้วยืนยันว่าเนื่องจากที่ดินทั้งหมดทางครอบครัวน.ส.ปารีณา ครอบครองมาก่อนตั้งแต่ปี2489 จากนั้นกรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก.ปี2536 จัดสรรให้ชาวบ้านเขาทำกินไปบางส่วนแล้ว

“ต้องถือว่าครอบครัวคุณเอ๋ อยู่มาก่อนที่จะนำที่ดินแปลงนี้มาประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งนี้เวลากรมป่าไม้ส่งพื้นที่มาให้ส.ป.ก.ส่งพร้อมผู้ครองครอง และย้อนไปปี 2489ประกาศใช้พระราชบัญญัติที่ดินให้ชาวบ้าน มีเรื่องกรรมสิทธิ์ครองครองในที่ดิน ก่อนหน้าที่เป็นที่ดินของคุณเอ๋ ก่อนมาจัดสรรให้ชาวบ้าน ย้อนไปศึกษาว่าครอบครัวคุณเอ๋ ครอบครองมากี่ปี ไม่ใช่บุกรุก ถือว่าไม่ผิด แต่เมื่อพื้นที่นำมาจัดสรรปฏิรูปที่ดิน ต้องยึดตามระเบียบส.ป.ก.เพื่อเกษตร”ร.อ.ธรรมนัส กล่าวและ “เปิดช่องเล็กๆ” กันพลาดให้กับตัวเองด้วยการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียด พร้อมประกาศชัดๆ อีกต่างหากว่า “เอ๋- ปารีณา มีข้อตกลงพร้อมให้ความร่วมมือ ถ้าไม่เข้าระเบียบของส.ป.ก.จำเป็นคืนที่ดินให้หลวง ถ้าเป็นแปลงใหญ่จะนำมาจัดสรรใหม่กระจายสิทธิ”  

ขณะที่ “เดอะท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ยืนยันชัดว่าว่า จะต้องมีการรังวัดใหม่ และพิสูจน์กันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทางกรมป่าไม้ ส.ป.ก. และคณะกรรมการระดับจังหวัดต้องร่วมกันประชุม และดำเนินการเรื่องนี้ พร้อมฟันธงเปรี้ยงลงไปเช่นกันว่า “ใบ ภ.บ.ท.5 ไม่ใช่โฉนด”

และเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมาทุกอย่างก็ “โป๊ะแตก” เมื่อ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้เปิดเผยถึงการตรวจสอบที่ดินผืนดังกล่าวว่า “เขาสนฟาร์ม 1” เนื้อที่ประมาณ 691 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินทั้งหมด ส่วน “เขาสนฟาร์ม 2” อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเนื้อที่ 31-0-12 ไร่และอยู่ในพื้นที่ตามพ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 อีก 15-2-36 ไร่ รวม 46-2-48 ไร่ โดยจากการตรวจสอบไม่พบเอกสารที่ทางราชการออกให้เพื่อเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ตามระเบียบและกฎหมาย

“สำหรับพื้นที่ซ้อนทับในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และซ้อนทับเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น กรมป่าไม้จะรอข้อมูลรูปแปลงจากการตรวจสอบของสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดราชบุรีเพื่อนำส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางเพื่ออ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศว่า ยึดถือครอบครองที่ดินก่อนที่จะประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินหรือไม่ หากพบว่า มีการครอบครองมาก่อนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ก็จะเป็นความรับผิดตามพ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 คณะทำงานจะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายต่อไป” อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

ที่น่าสนใจคือ “โทษ” ไม่ได้มีแค่เพียงยึดที่ดินคืน ถูกปรับเท่านั้น หากยังมีโทษ “ติดคุกติดตะราง” อีกด้วย

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 4 (1) ถ้าได้กระทำผิดเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปี ถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และหากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ก็จะมีความผิดตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 มาตรา 14 ที่ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถางป่า เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ใดฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้ามื่นบาท แต่ถ้าได้กระทำเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท

กรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปผลหลังเข้าตรวจสอบที่ดินในพื้นที่บริเวณฟาร์มเขาสน ของ “ปารีณา”

นายอรรถพล เจริญชันญา อธิบดีกรมป่าไม้
ส่วนในที่ดินที่เป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. ตามขั้นตอนทางกฎหมายจะต้องมีการส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ที่ครอบครองพื้นที่ ซึ่งก็คือ น.ส.ปารีณา ให้นำเอกสารมาชี้แจง โดยมีกำหนดระยะเวลา 15 วัน และถ้าครบกำหนดแล้วผู้ที่ครอบครองที่ดินนั้นยังไม่นำเอกสารมาชี้แจง ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายของ ส.ป.ก. ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

สำหรับการที่ น.ส.ปารีณาแจ้งต่อ ป.ป.ช.ว่ามีการเสียภาษีดอกหญ้าในที่ดินทั้งหมด 1,700 ไร่นั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่า มีแค่ 690 ไร่ ส่วนที่เหลืออีกกว่า 1,000 ไร่ นั้น น.ส.ปารีณา ต้องไปชี้แจงเองว่าที่ดินนั้นอยู่บริเวณใด

เมื่อบทสรุปเป็นเช่นนี้ ฟาร์มไก่ของ “เอ๋-ปารีณา” จึงเกี่ยวข้องกับ 2 กระทรวงคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย

ขณะที่ “เอ๋-ปารีณา” หรือที่สังคมเรียกขานกันใหม่ว่า “เอ๋-MOU” ร่อนจดหมาย “สู้” ถึงเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 1 ฉบับ และ อธิบดีกรมป่าไม้จำนวน 1 ฉบับ โดยเนื้อหาในจดหมายมีรายละเอียด ดังนี้

“ดิฉันได้ครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าว โดยสุจริตและเปิดเผยเป็นเวลานับสิบปีแล้ว โดยมีลักษณะการทำประโยชน์เป็นฟาร์มเลี้ยงไก่ ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการใดตรวจสอบ หรือแจ้งว่าเป็นการกระทำผิด”

“ทั้งนี้ จากการตรวจสอบตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บริเวณที่อาจอยู่นอกป่าสงวนแห่งชาติ โดยหลักฐานที่ดำเนินการเป็นแผนที่ท้ายกฎกระทรวงมีมาตราส่วน 1 ต่อ 4 แสน และแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน มีมาตราส่วน 1 ต่อ 1 แสน จึงขอให้กรมป่าไม้และส.ป.ก.ตรวจสอบแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตปฏิรูปที่ดินโดยละเอียดรอบคอบก่อนการดำเนินคดีใดๆ เนื่องจากบริเวณดังกล่าว นอกจากดิฉัน ยังมีราษฎรตำบลรางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวด้วย จะได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำโดยยังไม่มีการตรวจสอบเขตที่ชัดเจน”

ขณะเดียวกัน “เอ๋-ปารีณา” ก็ใช้วิธีหายหน้าหายตาไม่ยอมไปร่วม “รังวัด” ซึ่งทำให้เกิดข้ออ้างได้ในเรื่องของการใช้ “แผนที่” คนละฉบับ

คำร้องและ “แท็กติก” ของ “เอ๋-ปารีณา” ดูเหมือนจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

กล่าวคือในส่วนของ ส.ป.ก.ที่ทำท่าว่าจะ “รอด” เพราะหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่จัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกรประกาศออกมาแล้วว่าจะ “ไม่ดำเนินคดี” พร้อมร่ายยาวถึงเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพี่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า กรณีที่ดินของน.ส.ปารีณา เป็นพื้นที่ดินแปลง เป็นพื้นที่ที่มีการทำกินก่อนการโอนพื้นที่จากกรมป่าไม้ คือมีการโอนพื้นที่มาให้ส.ป.ก. แล้วติดผู้ทำกินมาด้วย จึงเรียกว่า พื้นที่ติดแปลง ซึ่งในบริเวณใกล้เคียงนั้น มีจำนวนเกษตรกรประมาณ 40-50 ราย ไม่ได้มีเพียง ของ ส.ส.ปารีณา และยังไม่เคยมีการจัดสรร หรือรังวัด

เพราะฉะนั้น ส.ป.ก.คงไม่ดำเนินคดีใดๆ กับผู้ถือครอง

ทว่าจะต้องยินยอมให้มีการรังวัดและจัดสรรพื้นที่ใหม่ หรือยอมรับการเข้าระบบบนที่ดินของส.ป.ก.ซึ่งหากมีการขัดขืนไม่ทำตามกฎหมาย ส.ป.ก.สามารถดำเนินการได้เพียงโทษจำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท และหากส.ส.ปารีณายอมรับที่จะรังวัดที่ดิน สอบแนวเขต ส.ป.ก.ใหม่ ต้องรับเงื่อนไข สามารถถือครอง หรือทำกินบนที่ ส.ป.ก.ได้ไม่เกิน 50 ไร่ต่อราย แต่ต้องดูคุณสมบัติของผู้ที่จะทำกินด้วย

ฟังคำอธิบายจาก ส.ป.ก.แล้ว แม้จะหลุดพ้นจากการติดคุกติดตะรางเพราะคงไม่มีการดำเนินคดีตามคำกล่าวอ้าง แต่ในแง่ของการถือครองแล้ว “เอ๋-ปารีณา” น่าจะต้องสูญเสียที่ดิน 691 ไร่ซึ่งเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.ไปแน่ๆ ส่วนจะเหลือตามกฎหมายคือ 50 ไร่หรือไม่ ก็ต้องดูว่าพอจะมี “ช่องทาง” หรือไม่

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพี่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
ส่วนตามข่าวที่ว่าจะมีการ “ซอยออกเป็นแปลง” เพื่อให้เข้าเงื่อนไขของกฎหมาย ก็ไม่ง่าย เพราะสังคมกำลังเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด ยิ่งเป็นนักการเมืองสังกัดฝากรัฐบาลด้วยแล้วยิ่งต้องระมัดระวัง มิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดผลเสียอย่างไม่คาดฝันตามมาได้

ส่วนการรุกที่ “ป่าสงวนแห่งชาติ” และ “พื้นที่ป่าไม้” อีกราว 46 ไร่นั้น ความจริงก็น่าจะไม่มีช่องให้ “กระเตง” เช่นกัน เพราะที่ดินที่ “ไม่มีเอกสารสิทธิ” ถ้าไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่อยู่ในเขตป่าไม้ถาวรแห่งชาติ ก็เป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484 อยู่ดี แต่ก็ประมาทไม่ได้เพราะดูจากจดหมายที่ “เอ๋-ปารีณา” ร้องก็พอจะเห็นเค้าลางบางประการ โดยเฉพาะเรื่อง “แผนที่” และมี “ใครบางคน” โพล่งออกมาแล้วว่า มีความเป็นไปได้ 90% ที่ที่ดินผืนดังกล่าว สุดท้ายหวยอาจจะออกมาว่าเป็นที่ดิน ส.ป.ก.ซึ่งตามกฎหมายจะต้องมีการยึดคืน เพียงแต่ไม่มีโทษทางอาญาประการใด

และขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่า ทั้ง 2 หน่วยงานคือ กรมป่าไม้และ ส.ป.ก.ได้ตกลงปลงใจที่จะสอบทานหรือรังวัดใหม่ตามที่ “เอ๋-ปารีณา” ทำจดหมายร้องเรียนเข้าไป ซึ่ง นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ก็ให้สัมภาษณ์โดยให้เหตุผลเอาไว้ว่า “เพื่อความรอบคอบ และเป็นธรรม”

ส่วนที่ดินที่ล่องหนหายไปอีกราว 1,000 ไร่ตามที่แจ้งไว้กับ ป.ป.ช. “เอ๋-ปารีณา” ก็คงต้องไปชี้แจงเอาเองว่า เข้าใจผิด หรือหายไปไหน แต่ก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า หลักฐานเอกสารอยู่ในมือ ป.ป.ช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี คำเดียวสั้นๆ ที่สังคมอยากเตือนไว้ก็คือ คุ้มหรือไม่กับความเสี่ยงที่อาจทำให้พังทั้งรัฐบาล.


กำลังโหลดความคิดเห็น