... รายงานพิเศษ
ตลอด 2-3 วัน ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการตรวจสอบที่ดินฟาร์มไก่ “เขาสนฟาร์ม” ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางแสงสปอตไลท์ที่สาดส่องลงมาว่าการตรวจสอบและดำเนินการใดๆกับกรณีนี้ จะโปร่งใสหรือไม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่าทีต่างๆ ที่ออกมาของหลายภาคส่วนที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ทำให้สังคมตั้งคำถามต่อแนวทางการตรวจสอบ โดยเฉพาะในประเด็นที่อาจไม่มีการดำเนินคดีอาญา โดยมีคำอธิบายดังนี้
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ระบุว่า หาก น.ส.ปารีณา ครอบครองที่ดินเฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้ โดยอ้างว่าครอบครองมาประกาศเป็น ส.ป.ก. และยังให้กรมป่าไม้ ไปคุยกับ ส.ป.ก.เพื่อรังวัดพื้นที่ใหม่ ให้ใช้แผนที่ฉบับเดียวกับ ส.ป.ก.
เลขาธิการ ส.ป.ก. อธิบายไว้ว่า “ที่ดินตรงนั้นเรียกว่าที่ดินติดแปลง ที่ไม่เคยผ่านการรังวัด คงไม่ดำเนินคดีใดๆ กับผู้ถือครอง ... น.ส.ปารีณา ยอมรับหลักการให้มีการรังวัดและจัดสรรพื้นที่ใหม่ หรือยอมรับการเข้าระบบบนที่ดิน ส.ป.ก. หรือไม่ ถ้าขัดขืนก็มีโทษเพียงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1 พันบาท”
สองประโยคนี้ ตีความได้ว่า “เขาสนฟาร์ม” คงยากจะรักษาที่ดินไว้ได้แล้ว คงต้องปล่อยให้ยึดคืนกลับเป็นที่ดินของรัฐ แต่ถ้ารังวัดใหม่ จนทั้งหมดไปอยู่ในเขต ส.ป.ก. ก็จะไม่ดำเนินคดีอาญากับ ส.ส.ราชบุรี คนดัง ทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย ...
แต่มีหลักฐานชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ
ก่อนจะดูหลักฐาน ไปทำความเข้าใจกันก่อนว่า ที่ดิน ส.ป.ก. มาจากการประกาศพระราชกฤษฎีกาปฏิรูปที่ดิน โดยที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี มีประกาศพระราชกฤษฎีกาปฏิรูปที่ดินเมื่อปี 2521 และกรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. รังวัด จัดสรรให้เกษตรกรเมื่อปี 2554
มีแผนที่ของ ส.ป.ก. ที่แสดงให้เห็นว่า ที่ดินที่ปัจจุบันเป็น “เขาสนฟาร์ม” อยู่ในเขต ส.ป.ก. เกือบทั้งหมด แต่ยังไม่เคยถูกรังวัดเพื่อจัดสรรให้เกษตรกร แต่ที่ดินรอบข้างล้วนแต่ถูกแบ่งเป็นแปลงเล็กๆ แสดงให้เห็นว่า ผ่านการรังวัดจัดสรรให้เกษตรกรแล้ว ตามหลักเกณฑ์คือ รายละไม่เกิน 50 ไร่ และต้องเป็นเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน
คำถามข้อที่ 1 คือ เหตุใด ที่ดินบริเวณ “เขาสนฟาร์ม” จึงยังไม่เคยถูกรังวัด??
เพราะ ส.ป.ก.เองก็ยอมรับว่า ที่แปลงนี้ไม่เคยถูกรังวัด ทั้งที่มีร่องรอยการเข้าทำประโยชน์ชัดเจน มีรั้วแสดงอาณาเขต มีโรงเรือนกว่า 50 หลัง ... ทิ้งคำถามไว้
คำถามข้อที่ 2 คือ การที่อ้างว่าได้ที่ดินมาก่อนประกาศเป็น ส.ป.ก.??
ก็ต้องตอบด้วยว่า ที่ดินที่ได้มามีสถานะเป็นอะไร เพราะนายทวี ไกรคุปต์ พ่อของ น.ส.ปารีณา ยอมรับเองว่า “ซื้อต่อมา” แต่การซื้อที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ย่อมทราบว่า เป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ ... ดังนั้น ถ้าย้อนกลับไปตรวจสอบ ก็จะพบว่า ก่อนประกาศเป็น ส.ป.ก.ที่ดินบริเวณนั้น ก็อาจมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ หรือ ป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 เพราะย่อมประกาศเขตปฏิรูปที่ดินจากที่ดินของรัฐ
จากข้อนี้ หากมีหลักฐานว่าครอบครองมาก่อนจริง (หมายถึงครอบครองมาก่อนเป็นป่าสงวน) เมื่อมีประกาศส่งมอบพื้นที่ป่าไม้ให้ ส.ป.ก. ผู้ที่ครอบครองอยู่จะต้องไปแจ้งสิทธิ เพื่อคัดค้าน แต่กรณีนี้ ยังไม่พบว่ามีการคัดค้าน
คำถามจึงมาถึงข้อที่ 3 คือ ส.ป.ก.มีอำนาจดำเนินคดีอาญาหรือไม่ ??
คำตอบของคำถามนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะอย่างที่เห็นกันไปแล้ว ทั้งรัฐมนตรี ทั้งหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ต่างบอกว่า “ไม่เป็นคดีอาญา” ... แต่เราจะมาดูหลักฐานกัน
มีหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งถึงอธิบดีกรมป่าไม้ วันที่ 30 เมษายน 2536 ตามที่กรมป่าไม้ขอหารือปัญหาข้อกฎหมายกรณีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 โดยมีเนื้อหาในข้อที่ 2 ระบุว่า
“ผู้ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้เข้าทำประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ หรือประมวงกฎหมายที่ดิน หากเข้ากระทำการใดๆ อันเป็นการแผ้วถางในเขตที่กล่าวไว้ข้างต้น ถือว่ากระทำการฝ่าฝืนมาตรา 54 และมีความผิดตามมาตรา 72 ตรี แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้”
พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 เป็นกฎหมายครอบจักรวาล ผู้ที่เข้าไปครอบครองที่ดินมือเปล่าที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าโดยไม่มีสิทธิ์ ก็มีความผิด มาดูว่า ทั้งสองมาตราว่าอย่างไร
พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 มาตรา 54 คือ ห้ามมิให้ผู้ใด ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น
มาตรา 55 ผู้ใดครอบครองป่าที่ได้ถูกแผ้วถางโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตราก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นผู้แผ้วถางป่านั้น
มาตรา 72 ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 54 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 72 ตรี วรรคสอง ในกรณีความผิดตามมาตรานี้ ถ้าได้กระทำเป็นเนื้อที่ “เกินยี่สิบห้าไร่” ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ความผิดฐานบุกรุก ถือเป็น “คดีอาญา” และหากบุกรุกที่ดินของรัฐ ยังถือเป็น “อาญาแผ่นดิน”
จะไปใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 คือ ฐานบุกรุก มาตรานี้ ยอมความได้
แต่หากลงรายละเอียด เช่น บุกรุกในยามวิกาล ... บุกรุกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ก็จะไปใช้มาตรา 365 ซึ่ง “ยอมความไม่ได้”
ส่วนของกรมป่าไม้ (ถ้ารังวัดใหม่แล้วไม่หายไปอยู่ใน ส.ป.ก.ทั้งหมด) ชี้มาก่อนแล้วว่า “เขาสนฟาร์ม” อยู่ในที่ป่า 46 ไร่ แยกเป็นป่าสงวนแห่งชาติ 30 ไร่ และป่าไม้ 16 ไร่ ก็ดำเนินคดีได้ตามนี้ อยู่ที่จะฟ้องไปถึงมาตราไหนบ้าง (มีส่วนของป่าสงวนแห่งชาติ ที่เกิน 25 ไร่)
แต่ที่กำลังถูกจับตามมอง คือ ส.ป.ก. ซึ่งถูกระบุว่า ครอบคลุมพื้นที่เขาสนฟาร์มมากกว่า 600 ไร่ ... และย้ำว่า ส.ป.ก. ถือเป็นที่ดินของรัฐ
แม้จะมีพระราชกฤษฎีกาปฏิรูปที่ดิน ประกาศเป็นที่ ส.ป.ก. และหากที่ตรงนั้นเป็นป่าสงวนแห่งชาติมาก่อน ก็จะเพิกถอนความเป็น “ป่าสงวน” ไปโดยปริยาย เพราะกลายเป็น ส.ป.ก.แล้ว แต่ ส.ป.ก. ก็ยังถือเป็นที่ของรัฐอยู่
เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 837/2551 ระบุว่า “เมื่อที่ดินพิพาทเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เป็นที่ดินของรัฐ แม้ถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติอันเนื่องมาจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา26(4) ก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่ ...
... การที่ ส.ป.ก.ออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01ก. ให้แก่เกษตรกรจึงเป็นเพียงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของที่ดินนั้น”
และหากมีผู้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ ส.ป.ก.โดยไม่ใช่ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ ถือเป็นการบุกรุกที่ดินของรัฐหรือไม่
เมื่อมีผู้บุกรุก ... “เจ้าทุกข์” ก็คือ เจ้าของที่ดิน ซึ่งก็คือ ส.ป.ก.ใช่หรือไม่
แล้วเจ้าทุกข์ จะแสดงความเดือดร้อน ปกป้องที่ดินของรัฐด้วยการลองดำเนินคดีอาญาดูก่อน หรือจะไม่ลองเลย สรุปไปเลยว่าทำไม่ได้ ...โดยให้เหตุผลว่ากลัวถูกฟ้องกลับ
ถ้าไม่ทำเลย ก็เห็นปลายทางอยู่ 2 ทาง
1 มีคนไปยื่นฟ้อง 157 กับหน่วยงานหรือใครก็ตามที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
2 เป็นบรรทัดฐานใหม่ จากนี้ไป เจ้าผหน้าที่รัฐก็จะดำเนินการกับผู้อื่นในกรณีแบบเดียวกันนี้ไม่ได้เลย
แล้วกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีไปก่อนแล้วล่ะ ??
แต่ถ้าออกอีกหน้าหนึ่งไปเลย คือ ไล่ตรวจสอบทั้งหมด ทุกพื้นที่ โดยเริ่มจาก ส.ส.ในสภา ที่แจ้งบัญชีทรัพย์สินไว้กับ ป.ป.ช. ว่าถือครองที่ดิน ผ่าน ภบท.5 แบบเดียวกับ น.ส.ปารีณา
ก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจ