รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยผลความก้าวหน้าในการปฏิรูปประเทศด้านกฏหมาย ตามที่รัฐธรรมนูญ ม.77 ได้บัญญัติแนวทางในการจัดทำและตรากฏหมายขึ้นใหม่โดยให้มีเท่าที่จำเป็น และต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากกฎหมายอย่างรอบด้าน และประชาชนต้องได้รับทราบและเข้าใจถึงเหตุผลในการตรากฎหมาย
วันนี้ (23 พ.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการปฏิรูปประเทศด้านกฏหมาย ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ได้บัญญัติแนวทางในการจัดทำและตรากฏหมายขึ้นใหม่โดยให้มีเท่าที่จำเป็น และต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากกฎหมายอย่างรอบด้าน และประชาชนต้องได้รับทราบและเข้าใจถึงเหตุผลในการตรากฎหมาย
เพื่อรองรับการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ได้ถูกตราขึ้นและจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พ.ย. นี้ อีกทั้ง ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่ออังคารที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติร่างกฎกระทรวง ร่างคำแนะนำ และร่างหลักเกณฑ์ รวม 11 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมายเสนอ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเข้าใจโดยละเอียดและสามารถปฏิบัติตามพ.ร.บ.หลักเกณฑ์ฯได้อย่างถูกต้อง ประเด็นหลักๆที่หน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติในการจัดทำร่างกฏหมาย เช่น 1) วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย 2) ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย โดยกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินและระยะเวลาที่ต้องทำให้เสร็จ 3) ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น ล้าสมัย หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพของประชาชน 4) กฎหมายใดที่มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 27 พ.ย. 2562 ให้ทำการประเมินผลสัมฤทธิ์ครั้งแรกไม่ช้ากว่าห้าปีนับจากวันที่ 1 ม.ค. 2563 และประเมินครั้งต่อไปทุกๆห้าปี ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายในหนี่งปีหลังเริ่มดำเนินการ 5) รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องโดยรับฟังจากทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านอย่างเท่าเทียมกัน และต้องเปิดกว้างหลายช่องทาง ทั้งเว็บไซด์ การสัมภาษณ์ การเชิญมาให้ข้อมูล และอื่นๆ 6) เผยแพร่กฎหมาย/กฎกระทรวง/ข้อบังคับ/ประกาศ/คำสั่งการในเว็บไซด์กลางที่รับผิดชอบโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) (สพร.) 7) จัดทำคำอธิบายโดยสรุปสาระสำคัญของกฎหมายด้วยภาษาที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ 7) กฎหมายต้องได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ขาวต่างชาติเข้าใจกฎหมายไทย
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านกฎหมายนี้ รัฐบาลได้ยึดแนวทางที่สากลปฏิบัติ และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับความพร้อมของหน่วยงานของรัฐและและบริบทประเทศไทย ซึ่งการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์และมาตรฐานของการดำเนินการในเรื่องนี้ของต่างประเทศ รวมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมากำหนดแนวทางปฏิบัติ และจัดให้มีการอบรมเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวแล้ว