xs
xsm
sm
md
lg

“อุเทน”แถลงไขก๊อก ปชป. เผยภายในพรรคแตกแยก-ยึดติดอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายอุเทน ชาติภิญโญ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า "กระผม นายอุเทน ชาติภิญโญ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา ผ่านการชักชวนของผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผมให้ความเคารพนับถือ และพรรคพวกเพื่อนฝูงที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เพื่อมุ่งหวังที่จะมาร่วมพลิกฟื้น ร่วมกู้ศรัทธาของสถาบันการเมืองเก่าแก่แห่งนี้ให้กลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อีกครั้ง โดยไม่ได้ต้องการที่จะมาพึ่งใบบุญ หรือหวังประโยชน์โภคผลแต่ประการใด

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสกับพรรคการเมืองนี้ได้ไม่นาน นับถึงวันนี้ก็ราว 7 เดือนนี้นั้น ก็ทำให้รู้เช่นเห็นชาติว่า พรรคประชาธิปัตย์ในยุคปัจจุบันหมดหนทางที่จะพลิกฟื้นกลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแน่นอน ด้วยสภาพภายในที่มีแต่ความแตกแยก เต็มไปด้วยพวกดีแต่พูด สร้างวาทกรรม คิดแต่การแก่งแย่ง และยึดติดอำนาจเป็นสำคัญ จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายเพื่อประโยชน์ประชาชนหรือเพื่อสาธารณะใดๆได้เลย ซึ่งเป็นการประมวลจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสหลายๆเหตุการณ์สำคัญ อาทิ

1.ตั้งแต่ที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไม่นาน ผมเคยเสนอแนวทางให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารพรรค โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ว่า หากต้องการที่จะพลิกฟื้นพรรคขึ้นมาโดยเร็ว จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวและเด็ดขาด ไม่ร่วมเป็นนั่งร้านในการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะ 250 เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ตั้งโดย คสช.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 พร้อมที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ดี พรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทิ้งหลักการ และจุดยืนในประชาธิปไตยไปสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. และควรนำจุดแข็งของพรรคในฐานะฝ่ายตรวจสอบกลับมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่จำเป็นต้องไปสนับสนุนอีกซีกฝ่ายที่อ้างหลักประชาธิปไตยให้เกิดความขัดแย้งด้วย

2.การที่บุคคลสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ เลือกที่จะรับตำแหน่งต่างๆในช่วงรัฐบาลชุดนี้ ที่มองได้ว่ายึดติดกับยศถาบรรดาศักดิ์มากกกว่าการให้ความสำคัญของการปฏิรูปพรรค หรือการแสดงสปิริตให้สมาชิกพรรคเห็นว่า การที่ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลนั้นเป็นไปตามที่อ้างว่าเพื่อให้ประเทศชาติเดินต่อได้ ไม่ว่าจะเป็น นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ที่รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่ประกาศว่าไม่สนใจตำแหน่งดังกล่าวได้ไม่ทันข้ามวัน จนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล หรือกรณีของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมถึง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ผ่านการต่อรองผลประโยชน์กับพรรคแกนนำรัฐบาล จนถูกสื่อขนานนามว่า เป็นปรากฎการณ์แย่งชามข้าว อีกทั้งการเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารพรรคภายหลังจากที่ล้มเหลวในการเลือกตั้งเป็นประวัติการณ์ ที่ควรจะทุ่มเทเพื่อพลิกฟื้นพรรค มากกว่าที่จะไปรับตำแหน่งในรัฐบาล

3.กรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อยู่ในความดูแลของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เพียงแต่ไม่สามารถผลักดันนโยบายใดๆให้ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นผลงานของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ยังเข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการทำร้ายเกษตรกร และประชาชน จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย กลับมติเลื่อนกำหนดการห้ามใช้ 2 สารเคมีจำกัดศัตรูพิษ คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส รวมทั้งยกเลิกการห้ามใช้ ไกลโฟเซต ให้เป็นเพียงจำกัดการใช้ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่มองเป็นอื่นไม่ได้ว่า มีผลมาจากการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม มากกว่าการตัดสินใจบนพื้นฐานที่คำนึงถึงสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของเกษตรกรและประชาชน

และ 4.ผมเคยชื่นชมและเคารพการตัดสินใจของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อรับผิดชอบความล้มเหลวจากการเลือกตั้ง และยังลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไรก็ตามความชื่นชมที่เคยมองให้นั้นหมดไปทันที เมื่อมีกระแสข่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องการที่จะเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สภาผู้แทนราษฎร มีกำหนดจะตั้งขึ้นในเร็วๆนี้ เนื่องจากเป็นการสะท้อนความไม่มีจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมทั้งความไม่มีจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ได้เลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งผู้แทนราษฎร ที่สามารถใช้เวทีรัฐสภาในการต่อสู้เพื่อประชาชนและหลักการประชาธิปไตยได้เอง แต่ไม่ทันไรแล้ว กลับมาอ้างว่าสนใจที่จะกลับเข้ามามีตำแหน่งอีกครั้ง เพื่อขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขได้ เพราะเขียนขมวดไว้จนยากที่จะแก้ไขปรับสาระเนื้อหาให้เป็นสากล อีกทั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงผู้มีอำนาจในรัฐบาลไม่ยอมและไม่ต้องการให้มีการแก้ไขอย่างแน่นอน

จากการประมวลประสบการณ์ตลอด 7 เดือนในฐานะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ผมจึงเห็นว่า สมควรแก่เวลาที่ผมจะไม่ยอมผิดหวังกับพรรคประชาธิปัตย์ยุคปัจจุบัน ที่ไร้จุดยืน ยึดติดอำนาจ มากกว่าหลักการประชาธิปไตย อีกต่อไป ที่สำคัญยังไม่เห็นหนทางที่สถาบันการเมืองเก่าแก่แห่งนี้จะกลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ จึงขอลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สุดท้ายขอฝากไปถึงพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งว่า ยังไม่สายเกินไปที่จะกลับความคิด ลดละความลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจ และหันกลับมาปรับตัวให้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง ตามคำขวัญที่พรรคประชาธิปัตย์เคยใช้หาเสียงว่า ประชาชนต้องมาก่อน อย่าให้เป็นเพียงวาทกรรมที่สวยหรูเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา"