xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“มาร์ค–ปชป.”ไม่ได้ถอย แค่หลบฉาก รอเดินเกมรุก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการุสดสัปดาห์ -เห็นไม่บ่อยครั้งที่พรรคเก่าแก่อย่างค่ายประชาธิปัตย์จะกลับมติใหม่ หลังเคยเห็นชอบเสนอชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เดดไลน์สุดท้ายกลับถอนสมอ

พรรคประชาธิปัตย์ เลือกใส่ชื่อมวยรุ่นใหญ่อย่าง บัญญัติ บรรทัดฐาน เข้ามาแทน รวมถึงตัวจี๊ดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ, เทพไท เสนพงศ์ และ สุทัศน์ เงินหมื่น

นอกจากเรื่องการกลับมติ ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยครั้งในยุคนี้ ที่พรรคประชาธิปัตย์ยอมถอยให้กับพรรคแกนนำอย่าง พรรคพลังประชารัฐ ที่ผ่านมาไม่ว่าจะต่อรองเรื่องอะไรมักมีชัยอยู่เสมอ ตั้งแต่การจัดสรรโควตากระทรวง และโควตารัฐมนตรี เมื่อครั้งฟอร์มรัฐบาล

ตลอดจนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่สามารถเสนอชื่อ ชวน หลีกภัย มาปาดหน้า สุชาติ ตันเจริญ แคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งปกติแล้วเก้าอี้ตัวนี้ต้องเป็นของพรรคแกนนำรัฐบาล

แม้แต่นโยบายต่างๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์หาเสียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องนโยบายประกันราคาพืชผลทางการเกษตร พรรคพลังประชารัฐ ยอมให้พรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมหมด

เพียงแต่ครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐกลับไม่ยอม ที่สำคัญพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แลกเปลี่ยนกับการเข้าร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับยอมหลบ ไม่ดึงดันเสนอชื่ออภิสิทธิ์ เข้าไปเป็นแม้แต่ในคณะกรรมาธิการฯ

จับจังหวะท่าทีถอยกรูดของค่ายสีฟ้า ไม่ใช่การยอมเพราะพรรคพลังประชารัฐต่อรอง หรือร้องขอ หากแต่รู้ว่า การดันทุรังเสนอชื่ออภิสิทธิ์ไปจะเปล่าประโยชน์

พรรคประชาธิปัตย์ทราบดีว่า ในบรรดา"พี่น้อง 3 ป." ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั้น ไม่อภิรมย์กับชื่อนี้ในชนิดขั้นรุนแรง ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐ ย่อมแข็งกร้าวไปด้วย

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ในสถานะได้เปรียบในกรณีของการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ต่างจากกรณีอื่นๆ ที่แล้วมา จึงทำให้พรรคพลังประชารัฐขึงขังได้

เพราะในคณะกรรมาธิการฯชุดนี้ มีทั้งสิ้น 49 คน แบ่งเป็น สัดส่วนคณะรัฐมนตรี 12 คน สัดส่วนฝ่ายรัฐบาล 18 คน และสัดส่วนฝ่ายค้าน 19 คน และเมื่อแยกย่อยเป็นรายพรรคการเมือง สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มีเพียง 4 คน ไม่รับรวม "ชินวรณ์ บุณยเกียรติ" ที่ไปอยู่ในสัดส่วนคณะรัฐมนตรีแล้ว

เมื่อพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่า โควตาประธานคณะกรรมาธิการฯ ต้องอยู่กับตัวเอง หากพรรคประชาธิปัตย์แข็งขืนจะส่งอภิสิทธิ์ ต่อไป เท่ากับต้องไปโหวตสู้กัน

แน่นอนว่า มีพรรคฝ่ายค้านที่ไม่ขัดข้องพร้อมจะร่วมสนับสนุนอภิสิทธิ์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการฯ เพราะในสัดส่วนคณะรัฐมนตรี และสัดส่วนฝ่ายรัฐบาลที่เหลือ ต่างพร้อมเทคะแนนให้กับตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ ทั้งสิ้น

  เมื่อรู้ว่า สู้ไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์และอภิสิทธิ์จึงต้องเปลี่ยนแผนใหม่ เป็นถอยร่นแทน!

อย่าลืมว่า ศักดิ์และสิทธิ์ของคนชื่ออภิสิทธิ์นั้น เหนือกว่าทุกคนที่มีชื่อเป็นแคนดิเดต ไม่ว่าจะเป็นในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ตัวตั้งตัวตีไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อครั้งการทำประชามติ และเคยแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 สำเร็จมาแล้ว เมื่อตอนเป็นรัฐบาล

การดันทุรังสู้ เพื่อไปวัดกันในการลงมติของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งเสียงสู้ไม่ได้ ย่อมเป็นการเปลืองตัวและเสียเชิง โดยเฉพาะหากต้องแข่งกับแคนดิเดตที่ชื่อชั้นเป็นรองตัวเองหลายขุม ถือว่าเสียหน้า

นอกจากนี้ คนระดับอภิสิทธิ์จะต้องเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯเท่านั้น หากจะไปนั่งในตำแหน่งอื่น ย่อมถือว่าเป็นการลดตัวทั้งสิ้น พรรคประชาธิปัตย์ จึงเลือกที่จะยอมให้

แต่มันไม่ใช่การยอมอย่างจำนน หากแต่เป็นการยอมแบบจำใจ จะเห็นว่า มีการส่งชื่อตัวชนที่พร้อมวิพากษ์วิจารณ์คนกันเองได้เข้าไปสกัดไม่ให้พรรคพลังประชารัฐ เดินในแนวทางตัวเองได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็น นิพิฏฐ์ หรือ เทพไท

พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ศิโรราบต่อความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ หากแต่เพื่อรักษาหน้าอภิสิทธิ์ ไม่ใช่รักษาเสถียรภาพความเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด

เพราะถ้าวันนี้ในชั้นคณะกรรมาธิการฯ เป็นพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือความได้เปรียบเหมือนเรื่องอื่นๆ พรรคพลังประชารัฐ คงไม่ชนะเหมือนครั้งนี้

ขณะที่ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ในการเสนอชื่อประธานคณะกรรมาธิการฯ มันความพ่ายแพ้ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การชิงเหลี่ยมและไหวพริบ เพิ่งจะเริ่มต้น

พรรคสีฟ้ารู้อยู่เต็มอกว่า แกนนำรัฐบาลไม่ได้เออออห่อหมกเท่าไรนักกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตัวเองเป็นผู้สร้างมา แต่ที่ต้องยอมยัดเข้าไปอยู่ในนโยบายของรัฐบาล เพราะพรรคพลังประชารัฐไม่มีทางเลือกเท่าใด เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จลุล่วง

ความไม่จริงใจของพรรคแกนนำรัฐบาล ยังสะท้อนผ่านตัวบุคคลที่เสนอชื่อของมาเป็นคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนไม่ใช่ “ตัวจริง”ที่มีอำนาจตัดสินใจ แต่เป็นตระกูล“สั่งได้”

พรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมยังรู้ดีว่า แกนนำรัฐบาลพยายามยื้อยุดฉุดกระชากการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป เพราะยังไม่อยากแก้ไขในตอนนี้

และรู้ตั้งแต่การเขียนไว้ในนโยบายแล้ว เพราะเป็นการเขียนว่า ภายใน 1 ปี ให้มีการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เขียนชัดๆ เลยว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญแบบทันที

แต่ที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้โวยวาย เพราะประเมินว่า เป็นช่วงเวลาที่รอได้ เมื่อเทียบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ การเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญทันที อาจจะถูกครหาว่า มุ่งทำเพื่อตัวเองเกินไป

ทว่า ไม่ได้หมายความว่า ความตั้งใจของพรรคประชาธิปัตย์จะลดลง กลับกันมันเป็นการ“รอเวลา”เพื่อให้ไพ่กลับมาอยู่ในมือตัวเองอีกครั้ง

แกนนำรัฐบาลไม่สามารถเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปตลอดรอดฝั่ง เต็มที่สามารถทำได้แค่ 1 ปี ที่เขียนไว้ในนโยบายว่า ให้มีการศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ซึ่งเมื่อพ้น 1 ปีแล้ว จะเป็นแกนนำรัฐบาลเองที่จะต้องเป็นฝ่ายลำบาก เพราะไม่สามารถยึกยักอะไรได้อีกแล้ว และจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ที่พร้อมกลับมาสวมบทตัวตั้งตัวตีได้เต็มที่อีกครั้ง

ยี่ห้อพรรคประชาธิปัตย์ไม่ตายง่ายๆ หากแกนนำรัฐบาลจะใช้ช่องบิดพลิ้วคำสัญญา พวกเขาอาจจะต้องรับชะตากรรม โดยเฉพาะเมื่อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกบรรจุอยู่ในนโยบายรัฐบาล ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า ต้องทำ

เมื่อไม่ทำตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ดาบนี้ก็จะคืนสนองแก่ตัวผู้แถลงนโยบายไว้เอง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะหยิบข้อนี้มาล่อกันเอง

ยี่ห้อพรรคเก่าแก่ เขี้ยวและเก๋า สามารถใช้ช่องทางกฎหมายมาปั่นป่วนฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่พวกเดียวกันมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน หลักฐานในอดีตคือ เครื่องยืนยัน

ยิ่งมีความไม่ลงรอยกันระหว่างสองพรรค และความไม่จำใจเป็นทุนเดิม ชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐในเรื่องตัวประธานคณะกรรมาธิการฯ จึงอาจไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง

แต่เป็นแค่การพลิกแพลงเกมของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น