xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค”เสียฟอร์มส่อวืดเก้าอี้ปธ.กมธ.ศึกษาแก้รธน.!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุชาติ ตันเจริญ
เมืองไทย 360 องศา



จากที่ผ่านมาจนถึงนาทีนี้ยังไม่ได้ยินเสียงตอบรับหรือปฏิเสธแบบชัดเจนของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรีสำหรับการชิงเก้าอี้ประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากมีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางคนพยายามลุ้นอย่างเต็มที่

ทางหนึ่งอาจเป็นเพราะว่ายังไม่มีความมั่นใจ และป้องกันเสียฟอร์มในภายหลัง หากตัวเองต้องวืดจากเก้าอี้ดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับ นายอภิสิทธิ์ ด้วยเหมือนกันว่า ที่ผ่านมาเขาไม่ได้เป็นคนริเริ่มหรือว่าเสนอตัวเองเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฯดังกล่าว หลังจากประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และลาออกจาก ส.ส.หลังจากนำพรรคพ่ายแพ้การเลือกตั้งแบบหมดรูปเมื่อการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา

มีเพียงอดีตลูกน้องเก่าที่เคยมีบทบาทในพรรคในช่วงที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อย่างเช่น นายเทพไท เสนพงศ์ ที่พยายามผลักดันอย่างเต็มที่โดยอ้างถึงความเหมาะสมโดดเด่นของ นายอภิสิทธิ์ แต่หากพิจารณากันตามความเป็นจริงจากบรรยากาศภายในพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาจากระดับแกนนำฝ่ายบริหารพรรคในยุคปัจจุบันก็ต้องบอกว่ายัง “เฉยๆ” กับแรงผลักดัน นายอภิสิทธิ์ เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ถึงแม้ว่าจะมีการเสนอและออกมาเป็นมติพรรคแล้วก็ตาม เพราะในบรรยากาศแบบนั้นคงไม่มีใครออกมาค้าน ความหมายก็คือต้องเลยตามเลย

อีกทั้งก็ต้องยอมรับความจริงว่าเวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคแกนนำรัฐบาลมันก็ย่อมเป็นไปได้ยากพรรคที่พรรคอันดับหนึ่งอย่างพรรคพลังประชารัฐจะยอมง่ายๆ ซึ่งก็เป็นความจริงที่เวลานี้มีแคดิเดตเสนอเข้ามาแข่งขันจำนวนสองสามรายชื่อ เช่น นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ และ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ(ล่าสุดมีรายชื่ออยู่ในโควตาหนึ่งใน12 คนของรัฐบาลแล้ว) ซึ่งทั้งสามคนดังกล่าวมีโอกาสที่จะได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการฯด้วย

สำหรับคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีจำนวนคณะกรรมาธิการจำนวน 49 คน แบ่งเป็นคณะรัฐมนตรี 12 คน พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน พรรคร่วมฝ่ายค้าน 19 คน

ที่ผ่านมาเมื่อพิจารณาจากท่าทีของพรรคพลังประชารัฐแล้วจะเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมานั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการฯ โดยพวกเขามีท่าทีชัดเจนมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าตำแหน่งดังกล่าวนี้ควรเป็นของพรรคแกนนำรัฐบาล อีกทั้งเมื่อพิจารณาเมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวด์ทางการเมืองแล้วก็ต้องถือว่า นายอภิสิทธิ์ ก็ยืนอยู่ตรงข้ามกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

นอกเหนือจากนี้เมื่อสำรวจความเห็นและท่าทีของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆก็ยังไม่มีพรรคไหนที่แสดงท่าทีหนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างชัดเจน แม้แต่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์เองในปัจจุบัน ไมว่าจะเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคที่บอกว่าแล้วแต่ที่ประชุมวิปรัฐบาลว่าจะเห็นอย่างไร หรือแม้แต่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวว่าโควตาของพรรคมีอยู่ 4 คน โดยจะให้ที่ประชุมพรรคเสนอชื่อโหวตกันเข้ามา และแม้ว่าพรรคเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เหมือนเดิมแต่ก็ขึ้นอยู่กับมติของวิปรัฐบาลว่าจะเห็นอย่างไร

ขณะที่ เทพไท เสนพงศ์ ซึ่งถือว่าเป็นคนผลักดัน นายอภิสิทธิ์ เข้ามา เมื่อเห็นท่าไม่ดีก็คาดคั้นเอากับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ หรือไม่ พร้อมทั้งฟาดงวงฟาดงาไปว่าพรรคพลังประชารัฐไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือแสดงท่าทีแบบขอไปทีเท่านั้น เพราะไม่ได้สนับสนุนมาตั้งแต่ต้นแล้ว

อย่างไรก็ดีความหวังของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ต้องดับวูบลงแบบสนิทก็คือหลังจากที่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ นายโภคิน พลกุล เข้ามาแข่งขันเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้หวังลึกๆว่าจะให้การสนับสนุน นายอภิสิทธิ์

เมื่อพิจารณาจากรูปการดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดแล้วโอกาสแทบเป็นศูนย์ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้รับการโหวตให้ได้นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎร เพราะพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐไม่เอาด้วย อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากศักยภาพแล้วเขาก็ยังไม่ถึงขั้นมีบารมีโดดเด่นเหนือกว่าคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญที่ผ่านมายังมีท่าทีอยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาล มันถึงเป็นไปไม่ได้เลย

ดังนั้นเมื่อประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริงแล้วเชื่อว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คงน่าจะประกาศถอนตัว เพราะหากเดินหน้าตามแรงยุของลูกน้องเก่า มันก็มีโอกาสเสียฟอร์มมากกว่าเดิม เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ อีกทั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้เป็นเพียงแค่ “ศึกษาแนวทาง” ว่าจะมีเรื่องใดบ้างที่สมควรแก้ไข ยังไม่ใช่คณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งยังอีกยาวไกลมาก ไม่รู้ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ยังไม่สมควรกระโดดเข้ามาให้เปลืองตัวตั้งแต่เกมยังไม่เริ่ม ถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย !!


กำลังโหลดความคิดเห็น