xs
xsm
sm
md
lg

ยอม 'เคว้ง' เพื่อหนีจากความคาดหวังคนดู เจาะวิถีผู้กำกับดัง 'จิม-โสภณ'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่ามกลางข้อครหาเรื่อง "การแสดงล้น" หรือแม้แต่ตอนจบของซีซั่นแรกที่ไม่ตอบข้อสงสัยอะไรเลย ทำให้กลายเป็นคำสบประมาทว่าซีรีส์ไทยบน Netflix ออริจินัลเรื่องแรกที่ชื่อว่าเคว้ง สู้มาตรฐานซีรีส์เกาหลีหรือซีรีส์ต่างชาติไม่ได้ และคนที่ให้คำตอบเรื่องนี้ได้ ก็มีแต่ผู้กำกับอย่าง “จิม โสภณ”



เคว้ง = ความรู้สึกคนดู?

“Feedback เอกฉันท์อย่างหนึ่งคือ เขาพูดว่าเคว้งไม่ใช่ชื่อเรื่อง แต่มันคือความรู้สึกของคนดู (หัวเราะ)”

ใบหน้าเปื้อนรอยยื้ม สวมเสื้อสีน้ำเงิน ด้วยท่าทางสบายๆ ที่นั่งอยู่หน้าผู้สัมภาษณ์ ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ “จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์” วัย 37 ปี
 
ผู้กำกับมากฝีมือ เจ้าของผลงาน ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ, แฝด, สี่แพร่ง,โปรแกรมหน้าวิญญาณอาฆาต ,ห้าแพร่ง ,ลัดดาแลนด์ และเพื่อนที่ระลึก ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนการันตีความสามารถ ความหลอนติดตามาแล้วทั้งไทย และต่างประเทศ




และครั้งนี้ก้าวแรกกับการทำออริจินัลซีรีส์ไทย เรื่องแรกบน Netflix เรื่อง “เคว้ง” (The Stranded) เรื่องเล่าแนวไซไฟ ลึกลับ ที่ออกอากาศพร้อมกัน 190 ประเทศทั่วโลก ซึ่งได้รับกระแสตอบกลับมามีทั้งเชิงบวก และเชิงลบ โดยเฉพาะอย่างหลังที่อาจจะรุนแรง ในเรื่องของซีรีส์จบซีซั่นหนึ่งแล้ว ทำให้คนดูเคว้งตามชื่อเรื่อง เหมือนกับไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่คนสงสัยไว้เลย ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เขาได้ให้คำตอบเอาไว้ว่ามันเกิดจากความตั้งใจของผม ที่อยากให้คนดูรู้สึกเคว้ง



“มีความรู้สึกหลังดูซีซั่น 1 จบอาจจะเคว้งได้ ก็เป็นความตั้งใจส่วนหนึ่งอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจนสุดท้ายแล้ว ถ้าให้ติดตามจนจบมันมีกี่ซีซั่น เรายังตอบไม่ได้ว่าจะมีกี่ซีซั่น สุดท้ายพอมันจบแล้ว แน่นอนผมว่าต้องมีคำตอบ คำตอบจะถูกใจหรือไม่ถูกใจ ตรงใจ ชอบไม่ชอบอีกเรื่องนึง แต่ต้องมีอยู่แล้วครับ

เราอยากให้รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นธรรมชาติของมัน เหมือนใครดูซีรีส์ สมมติบางคนบอกว่าดูซีรีส์ต้นๆ รู้สึกเรื่องเดินช้า รู้สึกอยากให้มันเร็วกว่านี้ แต่เขาลืมไปว่าถ้าเราดำเนินเรื่องเร็วตั้งแต่ต้น ความที่สนุกตอนท้ายมันจะไม่เกิด

ลึกๆ แล้วรู้สึกเหมือนกันว่าโครงสร้างที่เขาวางไว้ มีการเฉลยที่ชัดน้อยไปนิดนึง มีการคุยกันระหว่างทีมงานอยู่แล้วว่า ในความเป็นจริงมันสามารถที่จะเฉลยบางอย่างขึ้นมาได้อีกหน่อย ในสิ่งที่คนดูอยู่แล้ว ณ วันนี้ เพียงแต่เราสามารถพูดได้ชัดกว่าเดิมได้อีกหน่อย ก็เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ร่วมกันรหว่างการสื่อสารกับคนดู ในการทำซีรีส์ตรงนี้อยู่แล้ว ถามว่าซีซั่น 2 ผมเชื่อว่ามันจะมีสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น



ความรู้สึกเคว้ง ถามว่ามีได้มั้ย ผมรู้สึกว่ามีได้ เพราะว่ามันคือซีรีส์เคว้งครับ (หัวเราะกับสิ่งที่ตอบออกมา) แต่มันจะมีความจับต้อง หรือมีความน่าสนใจที่คนดูคาดไม่ถึงมากขึ้นกว่าเดิม”

ด้วยความเป็นเรื่องออริจินัลซีรีส์ไทยบนแพลตฟอร์ตระดับโลกอย่าง Netflix เรื่องแรก เขายอมรับว่า Feedback ที่ได้รับถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง และมีความหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือความมรู้สึกเคว้ง เมื่อดูซีรีส์เรื่องนี้จบ

“มี feedback ที่หลากหลายมาก หลากหลายจนตกใจ เหมือนกับว่าเขาดูเรื่องเดียวกันอยู่รึเปล่า (หัวเราะ) เพราะว่าอย่างใครที่ติดตามพวก hashtag จะมีทั้งคนที่ชอบมากๆ และคนที่จะเฟลมากๆ ซึ่งหลังจากเราดูมาเยอะๆ มันจะเห็นความเข้าใจบางอย่างของการรับชมที่มันแตกต่างจากภาพยนตร์

ส่วนมากไม่ค่อยมีคนที่บอกว่าอยากให้เป็นผี แต่ว่าไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ไม่ค่อยมีอย่างนี้ครับ จะมีแต่แบบว่าเข้าใจว่าเป็นผี แล้วไม่กล้าดูมากกว่า แต่มีคนเริ่มพูดว่าไม่ใช่ผี หรือไปดูจริงๆ แล้วเริ่มรับได้ว่าไม่ใช่ผีอย่างที่คิด ยกเว้นบางคนที่เชื่อผมว่าไม่มีผีก็เชื่อจริงๆ เพียงแต่ว่าทำไมดูแล้วน่ากลัวจัง ในบางโมเมนท์มีพูดๆ บ้าง
 
ถ้าเคยเจอคงเป็นเรื่องของความคาดหวัง Netflix ผมเชื่อว่าคนดูมีความคาดหวังอยู่แล้ว เหมือนกับทุกคนมีความคาดหวังว่าซีรีส์ต้องเป็นอย่างนั้นสิ ต้องเป็นอย่างนี้สิ ซีรีส์ต้องเป็นคนติดเกาะ ตัวละครต้องป็นอย่างนี้”

ท่ามกลางกระแสดรามา และถูกพูดถึงไปทิศทางต่างๆ “เคว้ง” เรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นจากโรงเรียนเอกชนชื่อดังที่่รอดชีวิตจากภัยพิบัติสึนามิในเกาะปินตู เหตุการณ์ปริศนามากมายเกิดขึ้น และความช่วยเหลือก็ยังคงมาไม่ถึง  โดยตัวละครจะมีการค้นหา หลีกหนี background ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น หนีจากโชคชะตา ,หนีจากควาามกดดัน ,หนีจากความคาดหวัง ,หนีจากอดีต และหนีจากความทรงจำไปด้วยพร้อมๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น



เมื่อลองถามว่าเคยประสบเหตุการณ์ใกล้เคียงอย่างในซีรีส์หรือไม่ สำหรับผู้ชายที่นั่งอยู่ข้างหน้ารายนี้ เขานิ่งและหยุดคิดไปสักพัก พร้อมเปรยออกมาว่าคงเป็นความคาดหวังจากคนดู เพราะเป็นซีรีส์เรื่องแรกของไทย จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับซีรีส์เรื่องอื่นของต่างประเทศที่เคยดูมา หรือการถูกตั้งคำถามของสิ่งที่คนดูคิด ซึ่งจิมจะหลีกเลี่ยงความต้องการเหล่านั้นแต่ไปโฟกัสสิ่งที่จะเล่า และเรื่องราวที่เหมาะกับซีรีส์มากกว่า

“เมื่อก่อนเคยคิด ว่าเราทำหนังแนวไหน แล้วต้องเคยเป็นแบบนั้นมาก่อน ซึ่งเวลาทำงานแรกๆ ทุกคนจะต้องทวนตัวเอง เช่น ผมเคยสอนนักศึกษาเขียนบทว่า ถ้าทำหนังเรื่องแรกๆ เรามองหาต้นทุนชีวิต ที่เรามีมากกว่าคนอื่นก่อน เช่น ถ้าอยากทำหนังเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว เราลองหันไปมองและเล่าเรื่องครอบครัวตัวเองมั้ย อะไรมั้ย

ถ้าทำหนังเกี่ยวกับความกลัว เจอผี เราเอาเรื่องราวที่เรากลัวผีมาใส่มั้ย เริ่มจากต้นทุนกับตัวเองก่อนเป็นเบื้องต้น แต่พอทำหนังมาจุดหนึ่ง ผมว่าถ้าเรามัวใช้แต่ต้นทุนตัวเองในการทำงาน มันจะเล่าเรื่องเดิมๆ มันจะไม่มีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต

เรื่องเคว้ง ตัวละครมี 10 กว่าตัว คนนู้นมีปัญหาครอบครัว คนนี้เคยขับรถชนตาย คนนี้เคยมีพ่อกดดัน ถามว่าผมต้องไปทำอย่างนั้นมั้ย มันไม่ต้องขนาดนั้น
เพราะการทำงานจริงๆ มันมีสิ่งที่เราเรียกว่า research เราเชื่อว่าเราทำงานกับตัวละครที่เป็นนักว่ายน้ำ เราต้อง research เกี่ยวกับนักว่ายน้ำ อ่านประวัติเขา อ่านบทสัมภาษณ์เขาอะไรก็แล้วแต่ หรือเราทำงานกับตัวละครที่เป็นนักดนตรี เราก็ต้องไปปรึกษากับคนที่เป็นอาจารย์เรื่องดนตรี ไปศึกษาเรื่องของการแข่งขัน การประกวดดนตรีต้องทำอย่างไร มันต้อง research ขึ้นมา

เราคงดึงประสบการณ์ตรงส่วนตัวมาใช้ส่วนหนึ่ง แต่ถามว่าประสบการณ์ส่วนตัว ไม่ได้หมายความว่าต้องเคยเจอเอง คือเราเคยดูข่าว เราเคยรู้จักเพื่อน เราเคยนั่งร้านกาแฟแล้วเห็นคนคุยกันเรื่องนี้ เราเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นต้นทุนได้หมด

อย่างเช่นมีคนพูดว่า ติดเกาะต้องตัวสกปรกสิ ติดเกาะต้องใส่เสื้อผ้าขาดๆ นำไปเปรียบเทียบกับเรื่องอื่น มันมีความคาดหวัง หรือต้นทุนของแต่ละคนที่ดู สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เวลาทำงาน เราจะไม่พยายามโฟกัสว่าคนดูอยากดูอะไร เขาคาดหวังอะไร เราจะไม่พยายามโฟกัสตรงนั้น

เราจะโฟกัสว่าเราควรจะเล่าอะไรที่เหมาะกับเรื่องเรา หรือแม้กระทั้งที่ตัวละครเราติดเกาะ แต่เราไม่อยากโฟกัสเรื่องของความดิ้นรน เอาชีวิตรอด จากการที่ไม่มีใครมาช่วย เราโฟกัสตัวละคร


ผมจึงสร้างโลกที่มันเป็นเด็กที่อยู่บนเกาะของโรงเรียนไฮโซ มีอาหารสต๊อกไว้ มีโรงเรียน มีหอพัก มีเสื้อผ้าดีๆ พอตัวละครเราสร้างเป็นแบบนั้นมันก็จะเกิดความเป็นตัวเองของซีรีส์ขึ้นมา ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังของคนอื่น”



“การแสดงล้น” เพราะคาแรกเตอร์



อีกหนึ่งสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คือเรื่องการแสดงที่ล้น จนคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะบทของอนันต์ ที่ "มาร์ช - จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล” เป็นคนแสดง เขามองเรื่องนี้เป็นเพียงแค่เรื่องคาแรกเตอร์

“เวลาที่คนเราไม่ชอบ หรือชอบตัวละครไหน มันมี 2 อย่าง คือเราไม่ชอบ เพราะไม่ชอบคาแรกเตอร์นั้น อย่างเช่นมีคนพูดหลายคนมากกว่าเกลียดตัวละครของมาร์ชมาก ถามว่าเกี่ยวกับตัวมาร์ชมั้ย หรือเกี่ยวกับการแสดงมาร์ชมั้ย จริงๆ มันไม่เกี่ยว มันเกี่ยวกับว่าเขาไม่ชอบคาแรกเตอร์แบบที่มาร์ชแสดง 

ส่วนตัวผมมองว่าได้ผลนะ คือเวลาที่เราเกลียดตัวละครไหนมากๆ ผมว่าเป็นเพราะว่าเขาเล่นดี คนดูเลยอินกับตัวละครนั้นๆ ก็เลยเกลียด ซึ่งถูกแล้ว

คนดูที่ดูเรื่องนี้จะเกลียดตัวละครอนันต์อยู่แล้ว ส่วนเรื่องการแสดงผมรู้สึกว่ามันแล้วแต่คนมอง ซึ่งแบ่งได้ 2 อย่าง คือ วิเคราะห์จากมุมมองเขาเองในฐานะของคนดู หรือของคนที่มีความรู้เรื่องนี้ คนก็จะมองแตกต่างกันมันมี feedback หลายแบบ 



อีกส่วนต้องบอกก่อนว่าตัวละครซีรีส์มันไม่จบแค่นั้น มันไม่จบแค่ซีซั่น 1  คือถ้าใครดูตัวละคร ดูซีรีส์มาหลายซีซั่นของซีรีส์อื่นๆ จะเข้าใจอย่างหนึ่ง คือมันเป็นเรื่องการพยายามของคนทำที่ให่้คนดูรู้สึกแบบนี้ ณ ซีซั่นนี้ โดยที่เราไม่ได้เฉลยปมบางอย่างของเขา

มันเลยทำให้บางครั้งเราอาจจะไม่เข้าใจว่าเขาเป็นคนแบบนี้เพราะอะไร เขาเป็นคนเล่นใหญ่แบบนี้ เพราะอะไรเขาพูดจาไม่ดีอย่างนี้เพราะอะไร ถึงจุดหนึ่งผมเชื่อว่ามันจะมีการคลี่คลายบางอย่าง ซึ่ง ณ วันนี้ ถ้าคนดูชอบหรือไม่ชอบมันไม่ผิด เพราะเขายังไม่รู้จักตัวตนของคนๆนั้นจริงๆ"

ในฐานะเป็นผู้กำกับ ที่ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกำกับนักแสดงล้นเกินไป เขายอมรับว่าที่ทำซีรีส์ออกมา ไม่ได้หมายความว่าเขาทำออกมาดีทุกอย่าง หรือนักแสดงแสดงดีทุกฉาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของคนดู ความชอบและไม่ชอบ

“เราทำงานตอนนี้เราทำจบแล้ว ผมไม่ได้บอกว่าทำออกมา perfect ดีทุกอย่าง หรือว่านักแสดงคนนี้เล่นดีทุกซีน แน่นอนมันมีซีนที่ดีบ้าง น้อยบ้างอยู่แล้ว 
มันมีซีนที่เราบอกว่านักแสดงซีนนี้เล่นดีจัง มีซีนที่เรารู้สึกว่าเขาสามารถเล่นได้ดีกว่านี้อีก หรือรู้สึกว่าเขาเล่นเยอะเกินไป มันมีมากมีน้อยอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเรามองภาพรวม หรือภาพที่เป็นซีนๆ นั้น  มันทำให้เรารู้สึกว่าการที่คนดูรู้สึกว่าเล่นเยอะไปน้อยไป มันแล้วแต่คนดู มันเป็นสิทธิที่เขาจะตัดสินในมุมมองเขาอยู่แล้ว เพราะเขาไม่ได้มาบอกเราว่าเขารู้สึกกับซีนไหน หรือเขารู้สึกกับทั้งหมดเลย”



ไม่เพียงแค่นั้น ในการทำงานที่ถูกกังขา ไม่ว่าจะกำกับภาพยนตร์หรือซีรีส์ถูกมองว่าจะต้องมีการสร้างตัวละคร เพื่อแทนค่าใครไหนในสังคม ดังนั้นจึงต้องใช้นักแสดงมากหรือน้อย เพื่อความง่ายต่อการกำกับ และสร้างซีนให้เป็นที่จดจำ

“ผมว่าตอนนี้ตัวละครเยอะ หรือน้อย มันไม่เกี่ยวว่าอันไหนยาก หรือว่าง่าย คือเวลาเราทำซีรีส์มาหนึ่งเรื่อง เหมือนเวลาเราทำหนัง
เมื่อก่อนเราทำหนังผี คนดูบอกตัวละครมีแค่ 3-4 คนเองเล่าง่าย อันนี้น่าจะควบคุมง่าย แต่ความเป็นจริงแล้วการที่มีตัวละครน้อยหรือเยอะ ในแต่ละเรื่องในทุกๆ งานมันไม่เกี่ยว เพราะว่ามันง่ายหรือยาก มันเกี่ยวกับว่าโลกที่เราสร้างขึ้นมา หรือบทที่สร้างขึ้นมา เรากำลังพูดถึงคนกี่คน

มันไม่ได้หมายความว่าพอพูดถึงหนังของทอมแฮงค์ติดเกาะ Cast Away มีคนเดียวจะกลายเป็นง่าย มันไม่ใช่ อาจจะยากกว่าด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าตอนนี้เรากำลังพูดถึงเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่ง ของเด็กโรงเรียนหนึ่งที่พบกันในงานปาร์ตี้ ซึ่งง่ายๆ ปาร์ตี้มันไม่ได้มี 3-4 คน มันคือคนกลุ่มหนึ่ง

ผมรู้ว่ามันควรจะมีคนเยอะเป็นปกติ หรือโดยทางไอเดียของเรื่อง เรากำลังพูดถึงกลุ่มคนวัยรุ่นที่มาติดเกาะอยู่ร่วมกัน ถูกทิ้งอยู่ร่วมกัน มันต้องเกิดเคมีระหว่างตัวละคร
การเกิดเคมีระหว่างตัวละคร มันต้องมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่มันเหมือนกลุ่มตัวแทนของคนในหลายๆ แบบในสังคมเราอยู่แล้ว มันเลยต้องเยอะ เราไม่เคยมีโจทย์ในการทำงานตั้งต้นว่าอย่าเยอะ หรืออยากน้อยมาก่อน เราคิดแค่ว่าเรื่องเกี่ยวกับอะไรมากกว่า”



ผลงานเรื่องแรกที่ไม่ใช่ “หนังผี”



ถ้าไม่นับหนังสั้นที่ทำขำๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย เคว้งถือเป็นผลงานเรื่องแรกที่ไม่มีผี ไม่เกี่ยวข้องตามลายเซ็นต์ของเขา และสาเหตุที่ทำให้เป็นอย่างนั้น เขามองว่าแนวผีและแนวลึกลับ มีความเหมือนกันตรงต้องบิวต์คนให้รู้สึกร่วมได้

เมื่อถามถึงการทำแนวลึกลับ เทียบกับแนวผีและกดติดวิญญาณที่ทำมาตลอด มีความแตกต่างของอารมณ์ของการกำกับมากน้อยแค่ไหน จิมตอบไดัทันทีว่า หนังทั้ง 2 แนวคล้ายกันมาก ในเรื่องของการบิวต์อารมณ์ ทำให้เขาสามารถใส่ลายเซ็นต์ไปได้อย่างเต็มที่

“ผมว่าด้วยทางมันจะมีความใกล้เคียงอยู่นิดนึง คืออย่างที่บอก หนังแต่ละประเภทในโลกนี้เลย มันไม่มีหนังเรื่องไหนที่มีชองเดียวอยู่แล้ว มันจะมีความคาบเกี่ยว อย่างเช่น หนังรักมันจะมีความคาบเกี่ยวกับหนัง Comedy 

หรือว่าหนังดรามา จะมีความคาบเกี่ยวกับเรื่อง Action ลุ้นระทึก มันมีได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่เราลุ้นเรื่องของน่ากลัวแบบผี หรือน่ากลัวแบบเร้นลับ วิธีการทำมีความใกล้เคียงกัน คือทำให้คนดูรู้สึกหวาดระแวง ที่จะได้ค้นพบสิ่งที่กำลังเกิดตรงหน้า

เพียงแต่ว่าอันนี้ผมเดาเองนะ คิดว่าสำหรับคนดูแล้ว ความรู้สึกมันจะแตกกันนิดนึง ตรงที่ว่าถ้าเป็นผี เราจะมีความลุ้นว่าเฮ้ย!! ตัวละครอย่าเข้าไป มันจะมีผีนะ เดี๋ยวฉันจะเห็นผี ฉันไม่อยากให้ตัวละครเข้าไป

แต่เรื่องของลึกลับมันจะมีความลุ้นของความที่ไม่รู้จะเจออะไรก็จริง แต่อยากรู้มากกว่า อยากรู้มันคืออะไร อยากที่จะเข้าไปถึงเราจะกลัวก็ตาม แต่อยากเข้าไปดูว่าคืออะไรกันแน่”

ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาอยู่วงการหนังผี เริ่มจากการทำหนังสั้นเพื่อฉายในกิจกรรมต่างๆ ของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬามหาวิทยาลัย

ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่อยู่ในรั้ว หนังทุกเรื่องของจิม ทั้งหนังรัก หรือหนังตลก ก็ล้วนแล้วแต่มีเรื่องของความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง หลังจากนั้นความชัดเจนด้านหนังแนวนี้ ของเขายิ่งฉายชัดยิ่งขึ้น



“ที่ผมทำหนัง คนชอบถามว่าชอบทำหนังผีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ยังไง ผมก็ไม่เคยสังเกตเหมือนกัน คือผมทำหนังสั้นในมหา’ลัยในปี 1 จนถึงปี 4
จนกระทั่งปี 4 ถึงมีคนทักผมว่าทำไมหนังสั้นของจิมมักจะมีคนตาย ต้องมีการสูญเสีย ต้องมีเรื่องตกใจ ต้องมีจังหวะน่ากลัว ผมถึงเพิ่งรู้

เพราะเราทำไปตามธรรมชาติเรา เราก็ไม่รู้ว่านี่คืองาน ผมเชื่อว่าแม้กระทั่งเวลาคนเขียนตำรา เขียนหลักสูตร การเขียนบน หรือการทำภาพยนตร์ก็แล้วแต่ ผมเชื่อว่าทั้งหมดเขาก็ไม่ได้คิดมาเอง 

มันเกิดจากการที่มีคนๆหนึ่ง หรือคนหลายๆ คนทำสิ่งซ้ำๆกัน หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา แล้วมีอาจารย์มาจับเป็นทฤษฎี รวบรวมเป็นหนังสือทีหลัง มันจะไม่เกิดการตั้งใจทำขนาดนั้น เวลาทำงาน ว่าต้องทำอย่างงี้ อย่างนั้น”

โดยสำหรับจิม เขามองการทำภาพยนตร์แนวนี้ คือความสุขของเขาไปแล้ว และไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องทำหนังผีเท่านั้น หากแต่มันเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้น และมองว่าหนังผีสามารถสอดแทรกเรื่องราวต่างๆ ทั้งเรื่องครอบครัว หรือการตีแผ่ปัญหาสังคมได้เหมือนกัน

“เราสนุก เรา enjoy กับหนังแนวนี้ ยิ่งพอเรามีอยู่มหา’ลัย เราได้ทำหนังแนวนี้ แนวสยอมขวัญ ตื่นเต้น ตกใจ แล้วเราเห็นรีแอคของคน เรา enjoy กับการที่เขาเข้าใจเรา เขารู้สึกไปกับจังหวะหนังที่เรา design ขึ้นมา มันมีความสนุก เหมือนเวลาสร้างบ้านผีสิงอะไรแบบนี้ มันก็เลยเหมือนกับเราทำโดยที่รู้สึกว่าไม่มีใครมาบังคับ

ผมเคยรู้สึกเหมือนกันนะว่าเวลาที่เราทำหนังแนวเดิมๆ มันเหมือนย่ำอยู่กับที่มั้ย มันดูเราทำได้แค่แนวเดียวรึเปล่า

แต่ผมรู้สึกว่ามันมีสิ่งที่เรากลับมาคิด คือผมรู้สึกว่าการทำหนังผี ไม่ได้หมายความว่ามันต้องเป็นหนังป๊อปคอร์นอย่างเดียว หรือหนังน่ากลัวอย่างเดียว เราสามารถที่่สอดแทรกบางสิ่งบางอย่างลงไปในหนังได้ อย่างเช่น ลัดดาแลนด์ เป็นหนังผีที่หลอกกัน ตุ้งแช่ แต่จริงๆแล้วในโดยเนื้อหา ตัวละคร มันมีชีวิตของมันครับ



มันสามารถเล่าเรื่องของครอบครัว เล่าเรื่องพ่อแม่ได้ ซึ่งตอนนั้นที่ผมทำเรื่องนี้เสร็จ มันถึงค้นพบว่ามันมีเด็กหลายๆ คนที่มาคุยกับเราว่าพี่จิมดูหนังลัดดาแลนด์แล้ว ทำให้เข้าใจพ่อมากขึ้น รู้สึกรักครอบครัวมากขึ้น เรารู้สึกว่าหนังแนวไหนมันก็สามารถที่จะเล่า สิ่งที่เราอยากจะสื่อสารกับสังคมได้เหมือนกัน เพียงแต่เราเลือกเล่าในรูปแบบของหนังที่เราถนัด ที่่เราชอบ แล้วพยายามสอดแทรกสิ่งต่างๆ เข้าไปมากกว่า”


ไม่เพียงแค่เขาที่ชอบ และให้ความสนใจกับสิ่งลี้ลับ จิมยังบอกอีกว่าแรกเริ่มเดิมที เกิดขึ้นจากที่บ้านเป็นคนชอบดูแนวนี้ เพราะรู้สึกมีความสุขทุกครั้งเวลาได้คุมผ้าห่มดูหนังผีด้วยกัน จิมเล่าย้อนพร้อมเสียงหัวเราะให้ฟัง

“ผมโชคดีอย่างหนึ่งที่ว่า ผมสนุกกับการทำหนังแนวนี้ หนังตื่นเต้น หนังลึกลับ หนังผี หรืออะไรก็แล้วแต่ โดยที่เราไม่รู้ว่าเป็นโจทย์จากสตูดิโอว่า ต้องทำหนังผีสิ ขายง่าย ขายดี ต้องทำหนังน่ากลัวสิ เมืองนอกชอบอะไรอย่างนี้

คือเราไม่ได้ถูกบังคับอะไรแบบนั้นนะครับ แต่เราทำเพราะเราสนุกกับการทำอะไรอย่างนี้มากกว่า ซึ่งถ้าย้อนไปมันคงเป็นเรื่องของการที่คนถามผมบ่อยมากว่า ผมเริ่มทำหนังผีจากอะไร ยังไง

ส่วนตัวผมรู้สึกว่าผมเริ่มจากการที่บ้านชอบดูหนังแนวนี้อยู่แล้ว เราสนุก enjoy การดูหนังตื่นเต้น การคุมผ้าห่ม คุมโปรงดูกันทั้งครอบครัวอย่างสนุกสนาน มันเลยเหมือนเราโตมากับหนังแนวๆ นี้

ผมชอบทำหนังแนวสยองขวัญ ส่วนหนึ่งเพราะผมเชื่อว่าทุกๆ คน เวลาที่เราอยู่ในชีวิตประจำวัน เราเคยเจอเรื่องเศร้า เคยเจอเรื่องตลก เคยเจอเรื่องตื่นเต้น ลุ้น ตกใจ กันเป็นปกติอยู่แล้ว

แต่ความรู้สึกของการกลัวมันเป็นความรู้สึกที่เราไม่ได้เจอในชีวิตประจำวัน ผมรู้สึกว่าการที่เราได้รู้สึกในอารมณ์หลากหลายแบบนี้ การที่อยู่ในหนังผี แล้วรู้สึกกลัวผี รู้สึกลุ้นไปกับผี กลัว ตกใจ มันเป็นการสำรวจทางด้านอารมณ์ ที่ไม่สามารถหาได้ในชีวิตประจำวัน

ผมรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่หนึ่ง ที่คนมาสนุกได้ เพราะผมสังเกตหลายๆ ครั้ง เวลาที่คนเราตกใจมันมีความสนุกขึ้นมานะ 

อย่างเข้าบ้านพี่สิง แน่นอนมันมีเสียงกริ้ด มาต่อด้วยเสียงหัวเราะเสมอ หรือผมเคยทำพวกหนังผี จังหวะที่คนในโรงตกใจพร้อมกัน มันมักจะตามมาด้วยเสียงหัวเราะ ซึ่งมันน่าแปลกเหมือนกันนะ ผมรู้สึกว่า...แสดงว่าอารมณ์ความกลัว มันเป็นความสนุกอย่างหนึ่งของคน”




“แค่หนังจบ ผมก็ประสบความสำเร็จแล้ว”



ท่ามกลางความกดดัน เราถาม feedback ต่างๆที่ออกมา เขาถือว่าเขาประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง กับซีรีส์เรื่องแรกที่ทำ เขาให้คำตอบเอาไว้ว่า แค่งานที่ทำจบก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

“ส่วนตัวสำหรับผมรู้สึกว่า ทันทีที่เราถ่ายหนังเสร็จ แล้วตัดต่ออกมาได้สมบูรณ์หนึ่งเรื่อง ผมรู้สึกว่าผมสำเร็จแล้วส่วนหนึ่ง

ถ้าคนทำงานมาเยอะๆ คนที่ทำงานสื่อออกมา  ยิ่งปัจจุบันมีนักวิจารณ์ มีทั้งคนดูส่วนบุคคลที่มาคอมเมนท์นู่นนี่  ผมว่าทุกคนจะรู้ว่าความคิดเห็นมันหลากหลายมาก จนเราไม่สามารถเอาตัวเองไปจับใครคนใดคนหนึ่งได้ เราต้องดูภาพรวม

อย่างที่บอกมันมีเป็นธรรมชาติจริงๆ อย่างซีรีส์เคว้ง ตอนฉายใหม่ๆ คนดูดูด้วยความรู้สึกของความไม่รู้อะไรเลย แล้วสนุกมาก ชอบมาก

พอคนดูกลุ่ม 2 ดูด้วยความรู้สึกว่ามีคนพูดว่าชอบมาก ดีมาก เขาจะมีมาตรฐานดูอีกแบบหนึ่ง เขาจะแบบเฮ้ย!! ไม่เห็นชอบเลย ไม่เห็นเป็นอย่างนั้นเลย ก็ว่า
คนดูกลุ่มที่ 3  ดูด้วยการเห็น feedback ของคนกลุ่มที่ 2 ว่าไม่ดี พอเราดูอ้าว!! มันดีเขาก็จะมีความชอบขึ้นมา คือต้นทุนดู ณ วินาทีนั้น ของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน มันส่งผลต่องานเราอยู่แล้ว
มันไม่สามารถบอกได้เลยว่าเราจะวัดความสำเร็จจากตรงไหน เราเลยพยายามเอาตัวเองเป็นหลัก คือถ้างานนั้นเรารู้สึกว่าเราเอาชนะตัวเอง และในอดีตได้


เราเคยทำโปรดักชั่นแบบนี้ เราถ่ายไม่สวยเราไม่ชอบ งานนี้ถ่ายสวยเราชอบ เราก็รู้สึกว่า success ประมาณนึงแล้ว  เหมือนเป็นการเช็กพ้อยส่วนตัว หรือเราไม่เคยทำแนวเลิฟซีนเลยที่ผ่านมา ทำแล้วไม่เวิร์ค พอทำซีนนี้มาแล้วเกิดเวิร์คขึ้นมา มันก็เหมือนเป็นการสำเร็จอีกขั้นหนึ่งเล็กๆ ของเรา เราจะวัดจากตรงนั้นมันได้มากกว่า”

จากประสบการณ์การเป็นผู้กำกับมาหลายปี สิ่งที่เขาคิดว่ามีมากกว่าคนอื่นคือความอดทน และความพยายามที่มากขึ้น โดยการทำงานที่หากจะถามว่าอันไหนคือความประสบความสำเร็จ เขามองว่าขึ้นอยู่กับผ่านสายตาใคร ถ้านายทุนจะดูเรื่องของกำไร แต่ถ้าเรื่องของคนดูจะเป็นความชอบ หรือไม่ชอบ แต่ถ้าสำหรับตัวเอง เพียงแค่ผ่านอุปสรรคต่างๆ หรือผลงานถูกนำมาตัดต่ออย่างสมบูรณ์ เท่านี้คือความสำเร็จของเขาแล้ว



“เวลาเราทำหนังที่ผ่านมา คือแน่นอนว่าเราจะออกงานมาหนึ่งงาน คนดูจะมีต้นทุนความคาดหวังแตกต่างกันอยู่แล้ว ยิ่งเขามีความคาดหวังมาก เราทำมาได้เบอร์ 8 ก็อาจจะน้อยเกินไปสำหรับคาดหวังเขาเหมือนกัน

ผมรู้สึกว่าการที่เราทำงานกับ Netflix เป็นเรื่องแรกของประเทศไทย แน่นอนมีความคาดหวังสูงมากอยู่แล้ว เพราะว่า Netflix เขาทำซีรีส์ดีๆ มาเยอะมาก 

มันจะมีความคาดหวัง เหมือนกับเป็นตัวแทนประเทศไทยลึกๆ เพื่อบอกเขา มันเหมือนฟุตบอลไทย กับบอลโลก คือเอาจริงๆ ทุกคนเขาจะคาดหวังว่าต้องดี เป็นหน้าเป็นตาเขา โน้นนี่ อยู่บ้าง'ประมาณหนึ่ง แต่ว่าหลายๆคนคงคิดอย่างนั้น ซึ่งเรารู้อยู่แล้วแหละว่าต่อให้คนอื่นไม่คิด เราก็ต้องคิดครับ"

อย่างไรก็ดีเมื่อถามถึงแนวทาง ซีรีส์เคว้งในซีซั่น 2 จะเป็นยังไง ความรู้สึก และความตื่นเต้นจะต่างออกไปจากเดิมมั้ยนั้น เขาทิ้งท้าย และสปอยให้ฟังอย่างอารมณ์ดีอีกว่า ความรู้สึกเคว้งมันต้องเกิดขึ้น ตามชื่อซีรีส์ แต่ซีซีน 2 จะออกมาในทิศทางไหน ต้องรอติดตาม



“ถ้าเรื่องทิศทางของซีซั่น 2 ผมเชื่อว่าตอนนี้คนดูเดาไปเยอะมาก คือมีคนดูหลายๆคนที่เดา แล้วเชื่อว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ แล้วคอมเมนท์ว่าดีหรือไม่ดีไปแล้วด้วย
ต้องบอกว่าทิศทางซีซั่น 2 ที่คนดูเห็นกลิ่นๆ มาแล้วถูกต้อง และมีสิ่งที่คนดูเดามาแล้วเชื่อเหลือเกินว่าเป็นอย่างนี้แน่ๆ แต่ว่ามันผิด มันมีอย่างนั้นอยู่

มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งของคนทำ ที่คนดูคาดหวังหรือเข้าใจกันว่าอะไร แต่ต้องบอกว่าแน่นอนเราจะมีการพูดถึงจักรวาลที่กว้างขึ้นกว่าแค่เกาะ 

ในเรื่องที่เขาวางโครงมา มันมากกว่าแค่เด็กติดเกาะ แค่เกาะๆ หนึ่งอยู่แล้ว มันจะมีตัวละครที่มากขึ้นกว่าเดิม มีเรื่องราวน่าสนใจมากขึ้นกว่าเดิม ที่คนดูจะรู้คำตอบมากขึ้นกว่าเดิมแน่ๆ

แต่ทิศทางจะเฉลยแค่ไหน ผมว่าซีซั่น 2 คงเฉลยเยอะมากแน่ๆ แล้วก็มีปริศนาใหม่ๆ ที่เรารอเตรียมการนำเสนอมากขึ้นกว่าเดิม”






ในวันที่ “เคว้ง”



ไม่เกี่ยวกับเราเคยรู้สึกอะไรแล้วมาทำซีรีส์นี้ แต่ถามว่าเราเคยเคว้งมั้ย เราเคยอยู่แล้ว ยิ่งถ้าใครทำงานในสายเป็นฟรีแลนซ์ หรือทำงานในสายใกล้เคียงกับผม มันมีแน่ๆ จุดที่เรารู้สึกว่าเฮ้ย!! เราอยากจะเล่าอะไรดีนะ เราจะทำงานต่อไปงานอะไรดี ความเคว้งที่เป็นแก๊ป ระหว่างรอยต่อของงานมันมีอยู่แล้ว ว่าเราจะเป็นทางไหนต่อดี เราทำงานอะไรต่อดี หรือเราอยากเล่าเรื่องอะไรดี
 
ในความรู้สึกของความไม่รู้ทิศทาง ซึ่งส่วนตัวผม ผมชอบความรู้สึกนี้เหมือนกันนะ ผมเคยได้่ยินคนพูดว่าถ้าเราไม่รู้สึกหิว เราจะไม่ enjoy กับการกิน ถ้าใครกินอิ่มมากๆ ไม่กินอาหาร ต่อให้อร่อยแค่ไหน มันไม่อร่อย เหมือนกินบุฟเฟ่แรกๆ อร่อย พอเริ่มกินไปเยอะๆ มันเริ่มไม่อร่อยแล้ว 

ผมรู้สึกว่าความรู้สึกของการที่เรา enjoy กับการทำงาน หรือ enjoy กับการคิดอะไรออกมาอย่างหนึ่ง มันจะมีความสุขก็ต่อเมื่อมีการผ่านโมเมนท์ของการที่คิดไม่ออกมาก่อน ความรู้สึกเคว้งมาก่อน มันถึงจะรู้ความไม่มั่นคงคืออะไร มันคือสิ่งที่มาคู่กันที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ

ไม่ได้หมายความว่าทุกคนไปเสียใจก่อน ไปเคว้งก่อน ไปหิว ไปทรมาณ ถึงมีความสุขได้ ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้นนะ




คนดูต่างแนว ล้วนชอบต่างกัน!!



เมื่อถามถึง feedback ของคนดูว่าจริงๆแล้ว มีทิศทางบวกหรือลบมากกว่ากัน จิมตอบว่าไม่สามารถบอกเหมารวมไปได้ เพราะว่าคนมีความชอบไม่เหมือนกัน

“คือเราคงไม่สามารถไปรับรู้ความรู้สึกคนดูได้ 100 % จริงๆ ของยอดคนที่ดูทั้งหมด เราได้ได้รับรู้เฉพาะคนที่มีการแชร์ มีการพูดถึง มีการรีวิวอะไรก็แล้วแต่ หรือคนใกล้ตัว

มันมีความหลากหลาย ซึ่งสิ่งหลากหลายเหล่านี้ มันเป็นธรรมาติของการดูซีรีส์อยู่แล้ว อย่างที่บอกมันจะมีบางคนที่ชอบตัวละครตัวนี้เป็นพิเศษ ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกไม่ชอบเลยในตัวเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พอเราทำงานสื่อมานานๆ เราจะรู้ว่าคนที่ดูจะชอบ หรือไม่ชอบอะไร อยู่ที่ background ของแต่ละคน

ทั้ง background ครอบครัว background ความชอบส่วนตัว อย่างเช่น background ในเรื่องเพศ ความรัก หรือแม้กระทั่ง background นั่งดูแบบไหน มันมีผลหมดเลยกับการที่เขาจะชอบซีนไหน ไม่ชอบซีนไหน 

ซึ่งถ้าใครได้อ่าน hashtag ทั้งหมด เหมือนผมที่ชอบอ่านจะเห็นว่า มันมีความขัดแย้งกันเยอะมาก จนเราเข้าใจแล้วว่าเพราะคนนี้ไง คนนี้อาจจะชอบสายวาย ก็เลยชอบซีนแบบนี้ คนนี้เป็นพวกแอนตี้ ไม่ชอบแนวนี้เลย เขาก็เลยไม่ชอบแบบนี้ คนนี้เป็นแนวชอบผู้หญิงหวาน ก็ชอบตัวละครนี้ คนนี้ชอบดูซีน sexy ก็ชอบอันนี้”




ฉากเดียว 4 โลเกชั่น เพื่อ “เคว้ง”


เวลาทำงานขึ้นมา มันไม่มีใครบอกหรอกครับว่าเราต้องทำแบบไหน ยังไง เขาจะมีแค่ภาพกว้างๆขึ้นมา ในเรื่องของกล้อง เรื่องของเทคนิเชียน เรื่องของอะไรก็แล้วแต่ แต่สุดท้ายการที่เราจะเลือก จะเล่า ภาพออกมาจะเป็นภาพไหน มันคือสิ่งที่เราต้องคุยร่วมกับช่างภาพ ร่วมทีมงาน

มันไม่มีใครบอกหรอกว่าต้องทำยังไง เพียงแต่ว่าเมื่อมีซีนๆ นี้ ที่เราสร้างภาพเป็นเกาะๆ นี้ เป็นเกาะสวยงาม เพราะฉะนั้นเราอยากจะเล่ามุมต่างๆที่ต่อเนื่องกัน

แต่มันสวยที่มุม ซึ่งจริงๆมันก็เหมือนคนดูซีรีส์ คือโลเกชั่น 1 โลเกชั่น มันไม่สวยทุกมุม ให้เราถ่ายได้ทุกมุม เพราะฉะนั้นเราเลือกที่จะเอาแต่ละโลเกชั่นที่สวยที่สุดมาประกอบต่อกัน มันเป็นซีนที่เรา design ที่เราเล่าเรื่องธรรมดา ซีนที่เราปั้น มันจะมีที่แตกต่างกันอยู่แล้ว

ผมว่ามาตรฐาน Netflix คือการทำซีรีส์ ให้ quality ดีและสนุก แต่เขาไม่จับมือเราถึงขั้นต้องถ่าย ต้องมีบังคับต้องถ่ายหลายโลเกชั่นนะ มันเป็นความบ้าพลังของทีมงานเราเอง












สัมภาษณ์โดย MGR Live
เรื่อง: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ: พลภัทร วรรณดี


กำลังโหลดความคิดเห็น