xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกาพลาดที่เปิดศึกกับ‘เทคโนโลยีจีน’ แบบเดียวกับที่เคยผิดครั้ง‘สงครามอิรัก’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟรีย์ ดี แซคส์



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

America’s misguided war on Chinese technology
By Jeffrey D Sachs
08/11/2019

สหรัฐฯเวลานี้กำลังใช้การกระพือและขยายความหวาดกลัว มาสกัดกั้นเทคโนโลยีของจีนอย่างระบบ 5จี ของหัวเว่ย นี่คือการอาศัยวิธีคิดแบบเดียวกันกับที่อเมริกาทำสงครามรุกรานอิรักเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน และถูกถือเป็นการตัดสินใจทางด้านนโยบายการต่างประเทศครั้งเลวร้ายที่สุดของสหรัฐฯ ในรอบ 1 รุ่นอายุที่ผ่านมา

การตัดสินใจทางด้านนโยบายการต่างประเทศครั้งเลวร้ายที่สุดของสหรัฐฯในช่วงรุ่นอายุที่ผ่านมา (หรือบางทีอาจจะในช่วงเวลาที่ยาวนานกว่านั้นด้วยซ้ำ) ก็คือ “การทำสงครามซึ่ง (สหรัฐฯ) เลือกที่จะกระทำ (ไม่ใช่เพราะความจำเป็น)” (war of choice) ด้วยการเปิดฉากบุกเข้าไปในอิรักเมื่อปี 2003 โดยวัตถุประสงค์ซึ่งประกาศออกมาก็คือ เพื่อกำจัดกวาดล้างประดาอาวุธเพื่อการทำลายล้าง (weapons of mass destruction นิยมเรียกเป็นอักษรย่อว่า WMD) ที่มีอยู่ในประเทศนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้มีอยู่เลย การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความไร้ตรรกะความไร้เหตุผลซึ่งอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจอันนำไปสู่ความหายนะครั้งนั้น เป็นสิ่งที่เหมาะสมสอดคล้องอย่างยิ่งสำหรับเวลานี้ เนื่องจากความไร้ตรรกะดังกล่าวกำลังถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่นโยบายที่ดำเนินไปในทางผิดในทำนองเดียวกันของสหรัฐฯ

การตัดสินใจที่จะรุกรานอิรักในคราวนั้น เป็นการกระทำตามความไร้ตรรกะความไร้เหตุผลของ ริชาร์ด เชนีย์ (Richard Cheney) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯในเวลานั้น ผู้ซึ่งประกาศว่า กระทั่งถ้าหากมีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น --อย่างเช่น แค่ 1%-- ว่าอาวุธ WMD กำลังตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย เราก็สมควรลงมือปฏิบัติการเสมือนกับว่าฉากทัศน์ (scenario) ดังกล่าวจะเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอนแล้ว

การใช้เหตุผลในลักษณะเช่นนี้คือหลักประกันว่าจะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างผิดๆ บ่อยครั้งยิ่งกว่าจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง กระนั้นก็ตาม ในเวลานี้สหรัฐฯและชาติพันธมิตรบางรายของสหรัฐฯกลับกำลังใช้ “หลักการเชนีย์” (Cheney Doctrine) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2006/06/20/books/20kaku.html) มาโจมตีเล่นงานเทคโนโลยีของจีน โดยที่รัฐบาลสหรัฐฯกำลังโต้แย้งโดยชูหลักเหตุผลที่ว่า เนื่องจากเราไม่สามารถที่จะแน่ใจได้ว่าเทคโนโลยีต่างๆ ของจีนมีความปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้นเราจึงสมควรปฏิบัติโดยถือเสมือนว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มีอันตรายอย่างแน่นอนและห้ามไม่ให้ใช้

การตัดสินใจในเรื่องหนึ่งๆ นั้น ย่อมมีผลต่อโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดการประมาณการซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติการที่แตกต่างออกไป เมื่อช่วง 1 อายุคนที่ผ่านมา พวกผู้วางนโยบายของสหรัฐฯควรที่จะพิจารณาไม่เพียงแค่เฉพาะความเสี่ยง (ที่กล่าวหากันว่ามีอยู่) 1% ของการที่อาวุธWMD อาจตกอยู่ในมือพวกผู้ก่อการร้ายเท่านั้น หากพวกเขายังควรต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอีก 99% ที่จะเกิดสงครามขึ้นมาสืบเนื่องจากสมมุติฐานอันผิดพลาดบกพร่องอีกด้วย ทว่าด้วยการมุ่งโฟกัสไปที่ความเสี่ยง 1% เท่านั้น เชนีย์ (และคนอื่นๆ อีกจำนวนมาก) ก็ได้หันเหความสนใจของสาธารณชนให้ออกไปจากความเป็นไปได้อันใหญ่หลวงยิ่งกว่านั้น ความเป็นไปได้ที่ว่าสงครามอิรักเป็นสิ่งที่ขาดไร้ความชอบธรรม และความเป็นไปได้ที่ว่าสงครามนี้จะบ่อนทำลายเสถียรภาพอย่างร้ายแรงทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและทั้งในการเมืองโลก

ปัญหาของหลักการเชนีย์ ไม่ได้อยู่เพียงแค่ตรงที่ความคิดแบบนี้บงการให้ต้องลงมือปฏิบัติการสืบเนื่องจากการสรุปยืนยันถึงความเสี่ยงเล็กๆ น้อยๆ โดยปราศจากการคำนึงถึงต้นทุนที่สูงลิบลิ่วซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ แท้ที่จริงแล้วพวกนักการเมืองทั้งหลายมักมีความโน้มเอียงที่จะถูกล่อใจชักนำให้เร่งกระพือโหมความหวาดกลัวเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่พวกเขาซ่อนเร้นเอาไว้

นี่คือสิ่งที่ประดาผู้นำสหรัฐฯกำลังกระทำอีกครั้งหนึ่งในเวลานี้ ซึ่งได้แก่ การสร้างความตื่นตระหนกเกี่ยวกับพวกบริษัทเทคโนโลยีของจีน ทั้งด้วยการโหมกระพือ และการขยายความเสี่ยงที่มีอยู่เพียงเล็กๆ น้อยๆ ให้ใหญ่โตจนเกินความเป็นจริง กรณีที่ตรงกับสิ่งซึ่งพูดถึงนี้มากที่สุด (แต่ไม่ใช่มีอยู่เพียงกรณีเดียวเท่านั้น) ได้แก่การที่รัฐบาลสหรัฐฯโจมตีเล่นงานบริษัทบรอดแบนด์ไร้สาย “หัวเว่ย” สหรัฐฯกำลังพยายามที่จะปิดตลาดต่างๆ ของตนไม่ให้บริษัทจีนแห่งนี้เข้ามาได้ รวมทั้งกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อปิดธุรกิจของหัวเว่ยในที่อื่นๆ ทั่วโลก เฉกเช่นเดียวกับเมื่อคราวอิรัก เมื่อถึงตอนจบมันอาจกลายเป็นว่าสหรัฐฯกำลังสร้างความหายนะทางภูมิรัฐศาสตร์ขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผลสมควรอะไรเลย

ผมนั้นเฝ้าติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของหัวเว่ยและผลงานของบริษัทนี้ในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ เนื่องจากผมเชื่อว่าเทคโนโลยีเจเนอเรชั่นที่ 5 (5จี) และเทคโนโลยีดิจิตอลอื่นๆ สามารถเปิดโอกาสอย่างใหญ่หลวงให้แก่การดำเนินการเพื่อยุติความยากจน และการบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals ใช้อักษรย่อว่า SDGs) ข้ออื่นๆ ผมยังมีปฏิสัมพันธ์ในทำนองเดียวกันนี้กับพวกบริษัทเทเลคอมแห่งอื่นๆ และได้กระตุ้นส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ให้ยกระดับการปฏิบัติการต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้งหลายของสหประชาชาติ เมื่อตอนที่ผมเขียนคำนำสั้นๆ (โดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน) ให้แก่รายงานฉบับหนึ่งของหัวเว่ยเกี่ยวกับหัวข้อนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.huawei.com/minisite/accelerating-malaysia-digital-smes/img/sme-corp-malaysia-huawei.pdf) และถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยพวกศัตรูของประเทศจีน ผมได้สอบถามเจ้าหน้าที่ระดับท็อปทั้งของอุตสาหกรรมนี้และของรัฐบาลเพื่อขอหลักฐานซึ่งแสดงถึงกิจกรรมอันไม่ชอบมาพากลของหัวเว่ย ปรากฏว่าผมได้ยินซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าหัวเว่ยประพฤติตนไม่ได้แตกต่างอะไรจากเหล่าผู้นำทางอุตสาหกรรมที่เชื่อถือไว้วางใจได้ทั้งหลาย

อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐฯยังคงโต้แย้งด้วยเหตุผลที่ว่า อุปกรณ์ 5จี ของหัวเว่ยอาจบ่อนทำลายความมั่นคงของทั่วโลก เจ้าหน้าที่สหรัฐฯหลายรายอ้างว่า “ประตูหลัง” ที่ซ่อนอยู่ในซอฟต์แวร์หรือในฮาร์ดแวร์ของหัวเว่ย อาจทำให้รัฐบาลจีนสามารถกระทำการสอดแนมทั่วโลกได้ ยิ่งกว่านั้นพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯชี้ว่า กฎหมายต่างๆ ของประเทศจีนกำหนดให้บริษัทจีนทั้งหลายต้องร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงแห่งชาติ

ทีนี้ ลองพิจารณาข้อเท็จจริงเหล่านี้กันดู อุปกรณ์ 5จี ของหัวเว่ยนั้นราคาต่ำและคุณภาพสูง ซึ่งปัจจุบันนำหน้าพวกคู่แข่งอื่นๆ จำนวนมาก และกำลังนำออกมาสู่ตลาดเรียบร้อยแล้วด้วย ผลงานที่สูงเด่นของบริษัทนี้ เป็นผลลัพธ์จากการใช้จ่ายอย่างเป็นกอบเป็นกำมาเป็นปีๆ ในเรื่องการวิจัยและการพัฒนา, ความประหยัดอันเนื่องจากขนาด, และการเรียนรู้จากการลงมือทำในตลาดดิจิตอลของจีนเอง เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ที่มีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบรรดาระบบเศรษฐกิจรายได้ต่ำตลอดทั่วโลก ประเทศเหล่านี้ย่อมจะกลายเป็นพวกบ้าระห่ำงี่เง่าไปเลยถ้าหากพวกเขาปฏิเสธไม่รีบนำเอา 5จี มาใช้กันตั้งแต่เนิ่นๆ

กระนั้นทั้งๆ ที่ไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับเรื่องประตูหลัง แต่สหรัฐฯก็กำลังบอกกับโลกให้ถอยห่างออกมาจากหัวเว่ย การกล่าวอ้างของสหรัฐฯนั้นอยู่ในลักษณะการกล่าวอ้างทั่วๆ ไป ไม่ได้มีการยืนยันอย่างเฉพาะเจาะจง อย่างที่กรรมาธิการคนหนึ่งของคณะกรรมาธิการการสื่อสารคมนาคมของสหรัฐฯ (Federal Communications Commissioner) พูดเอาไว้ว่า “ประเทศที่เป็นเจ้าของ 5จี จะเป็นเจ้าของนวัตกรรมต่างๆ และเป็นผู้กำหนดมาตรฐานต่างๆ สำหรับประเทศอื่นๆ ในโลก และประเทศดังกล่าวนี้ในปัจจุบันไม่น่าที่จะเป็นสหรัฐฯ” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-10-31/u-s-officials-warn-of-danger-posed-by-china-s-huawei-and-zte) แต่ประเทศอื่นๆ นั้นโดยรายที่น่าสนใจที่สุดได้แก่ สหราชอาณาจักร กลับพบว่าไม่มีประตูหลังใดๆ ในฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของหัวเว่ย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-huawei-europe-britain/britain-managing-huawei-risks-has-no-evidence-of-spying-official-idUSKCN1Q91PM) กระทั่งถ้าหากมีการค้นพบประตูหลังในเวลาต่อไปข้างหน้า ก็แทบแน่ใจได้เลยว่ามันจะถูกปิดทันทีที่ถูกพบเห็น

การถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับหัวเว่ย ยังลุกลามไปในเยอรมนี ที่ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯข่มขู่ว่าจะตัดทอนความร่วมมือทางด้านข่าวกรอง ยกเว้นแต่ทางผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของประเทศนั้นประกาศตัดขาดไม่ให้ใช้เทคโนโลยี 5จี ของหัวเว่ย บางทีอาจเป็นผลจากแรงบีบคั้นของสหรัฐฯก็เป็นได้ เมื่อเร็วๆ นี้ หัวหน้าหน่วยสปายสายลับของเยอรมนี จึงได้ออกมากล่าวอ้างในลักษณะทำนองเดียวกับหลักการเชนีย์ โดยเขากล่าวว่า “โครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่แวดวงที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มใดๆ ก็ตามที่ไม่สามารถให้ความเชื่อถือไว้วางใจอย่างเต็มที่” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ft.com/content/f97731da-fa6f-11e9-a354-36acbbb0d9b6) เขาไม่ได้เสนอหลักฐานที่แสดงถึงการกระทำอันไม่ถูกต้องอย่างเฉพาะเจาะจงใดๆ ทั้งนั้น อย่างไรก็ดี ในทางตรงกันข้าม นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล กลับกำลังต่อสู้อยู่หลังฉากเพื่อให้เยอรมนียังคงเปิดตลาดต้อนรับหัวเว่ย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.yahoo.com/angela-merkel-intervenes-allow-huawei-162239835.html?guccounter=1)

มันช่างเป็นการย้อนแย้งเอาการอยู่ ถึงแม้เป็นสิ่งที่สามารถคาดเดาทำนายได้อยู่แล้ว เนื่องจากอันที่จริงการร้องโวยวายของสหรัฐฯในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งคือผลสะท้อนจากกิจกรรมการสอดแนมต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศของอเมริกาเอง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theverge.com/2019/10/8/20905678/fbi-violated-americans-privacy-rights-court-ruling-fisc-surveillance-nsa) อุปกรณ์ของจีนอาจทำให้การปฏิบัติการสอดแนมสืบความลับของรัฐบาลสหรัฐฯกระทำได้ยากลำบากมากขึ้นก็เป็นได้ แต่การสอดแนมโดยปราศจากเหตุผลรองรับไม่ว่าจะโดยรัฐบาลไหนก็ตามที ย่อมเป็นสิ่งที่ควรต้องยุติลง การเฝ้าติดตามอย่างเป็นอิสระของสหประชาชาติเพื่อขจัดกิจกรรมทำนองนี้ ควรที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการสื่อสารโทรคมนาคมทั่วโลก กล่าวโดยสรุปก็คือ เราควรที่จะเลือกใช้การป้องกันในทางการทูตและการป้องกันเชิงสถาบัน ไม่ใช่การป้องกันด้วยสงครามเทคโนโลยี

ภัยคุกคามของสหรัฐฯเป็นสิ่งที่ออกมาจากความสนใจที่จะสกัดกั้นหัวเว่ย มากกว่าออกมาจากความสนใจที่จะนำเอาเครือข่าย 5จี ออกมาใช้งานกันโดยเร็ว ด้วยเหตุนี้ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับระบบการค้าชนิดที่อิงอยู่กับกฎกติกาจึงเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่โตหยั่งรากลึก เวลานี้เมื่อสหรัฐฯไม่ได้เป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของโลกอย่างไร้ข้อกังขาอีกต่อไปแล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และเหล่าที่ปรึกษาของเขาก็ไม่ต้องการที่จะแข่งขันกันตามระบบซึ่งอิงกฎกติกาอีก เป้าหมายของพวกเขาอยู่ที่การมุ่งปิดล้อมควบคุมการก้าวผงาดทางเทคโนโลยีของจีน ในอีกด้านหนึ่ง ความพยายามในเวลาเดียวกันนี้ของพวกเขาที่จะทำให้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization ใช้อักษรย่อว่า WTO) ไร้สมรรถภาพ ด้วยการทำให้ระบบการแก้ข้อพิพาทขององค์การนี้กลายเป็นอัมพาต ก็แสดงให้เห็นถึงการดูหมิ่นเหยียดหยามกฎกติกาโลกในทำนองเดียวกัน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.prospectmagazine.co.uk/world/thanks-to-donald-trump-a-crucial-component-of-the-world-trade-organisation-could-soon-cease-functioning)

ถ้าหากคณะบริหารทรัมป์ “ประสบความสำเร็จ” ในการแบ่งแยกโลกออกเป็นค่ายเทคโนโลยีหลายๆ ค่ายที่แตกขาดจากกันแล้ว ความเสี่ยงที่จะเกิดการสู้รบขัดแย้งขึ้นในอนาคตก็จะยิ่งเพิ่มทวีตรีคูณ การที่สหรัฐฯเป็นผู้ป่าวร้องเชิดชูระบบการค้าแบบเปิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อเพิ่มพูนความมีประสิทธิภาพของทั่วโลกและการขยายตลาดสำหรับเทคโนโลยีอเมริกันเท่านั้น หากยังเพื่อพลิกกลับฟื้นฟูการค้าระหว่างประเทศซึ่งพังทะลายลงในช่วงทศวรรษ 1930 การพังครืนคราวนั้นมีต้นตอส่วนหนึ่งจากการที่สหรัฐฯขึ้นภาษีศุลกากรแบบนักลัทธิกีดกันการค้าเอากับสินค้าเข้าของชาติอื่นๆ ภายใต้รัฐบัญญัติสมูต-ฮาวลีย์ ปี 1930 (The 1930 Smoot-Hawley Act ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.investopedia.com/terms/s/smoot-hawley-tariff-act.asp) ซึ่งได้ทำให้วิกฤตการณ์ เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ยิ่งบานปลายขยายตัว และกลายเป็นปัจจัยซึ่งมีส่วนทำให้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ก้าวผงาดขึ้นมา ซึ่งในที่สุดแล้วก็นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

ในกิจการระหว่างประเทศ ก็ไม่แตกต่างจากในปริมณฑลอื่นๆ การเติมเชื้อไฟโหมกระพือความหวาดกลัว และการลงมือกระทำการต่างๆ โดยอาศัยความหวาดกลัว แทนที่จะอาศัยหลักฐานข้อเท็จจริง คือหนทางที่นำไปสู่ความพังพินาศ ขอให้เรายึดมั่นอยู่กับหลักเหตุผลเอาไว้ หลักฐานข้อเท็จจริงและกฎกติกาเป็นเส้นทางสำหรับการกระทำการต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยที่สุด และขอให้เราสร้างหน่วยงานเฝ้าติดตามอิสระขึ้นมาเพื่อลดทอนภัยคุกคามของการที่ประเทศใดๆ ก็ตามที ใช้เครือข่ายระดับทั่วโลกมาสอดแนมหรือทำสงครามไซเบอร์เล่นงานประเทศอื่นๆ ด้วยวิธีเช่นนี้แหละ โลกจึงจะสามารถมุ่งมั่นอยู่กับภารกิจอันเร่งด่วนในการกุมบังเหียนการทะลุทะลวงเทคโนโลยีดิจิตอลทั้งหลาย เพื่อประโยชน์สุขโดยรวมของทั่วโลก

(ข้อเขียนนี้มาจาก Project Syndicate)

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

เจฟฟรีย์ ดี แซคส์ ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณสุขและการบริหารจัดการสาธารณสุข ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เป็นผู้อำนวยการศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Center for Sustainable Development) ของโคลัมเบีย และเครือข่ายโซลูชั่นการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Solutions Network)


กำลังโหลดความคิดเห็น