xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายเรื่อง 5จี คือ “ความหายนะทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

5G policy ‘biggest strategic disaster in US history’
By David P. Goldman
04/11/2019

ที่ปรึกษาคนสำคัญรบเร้าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ปรับเปลี่ยนนโยบายว่าด้วย 5จี ที่กำลังประสบความล้มเหลว โดยแทนที่จะมุ่งหน้าสกัดกั้นขัดขวางหัวเว่ย ก็ให้หันมาเร่งรัดผลักดันเทคโนโลยีสำคัญนี้ภายในบ้านของตัวเอง

สมาชิกพรรครีพับลิกันคนสำคัญผู้หนึ่งซึ่งคอยให้คำปรึกษาแก่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้พูดถึงยุทธศาสตร์ 5จี ของอเมริกา โดยเรียกว่าเป็น “ความหายนะทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ” ความพยายามต่างๆ ของสหรัฐฯที่จะสกัดขัดขวาง หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่เทเลคอมของจีน ไม่ให้สามารถสร้างฐานะครอบงำตลาดโลกในด้านบรอดแบนด์ไร้สายเจเนอเรชั่นที่ 5 กำลังประสบความล้มเหลว ในเวลาเดียวกันนั้น ระเบียบกฎกติกาที่ไร้สมรรถภาพ ตลอดจนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของภาคบริษัทอเมริกัน ก็กำลังเป็นตัวเหนี่ยวรั้งความพยายามด้าน 5จีของสหรัฐฯในบ้านของตัวเอง นักการเมืองผู้นี้กล่าวในการประชุมแบบปิดประตูพูดคุยกันของพวกผู้บริจาคและนักเคลื่อนไหวของพรรครีพับลิกัน

ที่ปรึกษารายนี้ได้รบเร้าประธานาธิบดีทรัปม์ให้ดำเนินการปรับเปลี่ยนทางนโยบายอย่างแรงๆ เพื่อให้แน่ใจว่าสหรัฐฯจะยังไม่ล่าช้าเกินไปในการกระโจนเข้าสู่เทคโนโลยี 5จี เวลานี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้ ที่ปรึกษาผู้นี้กล่าว ฝ่ายทหารของสหรัฐฯเป็นผู้ที่ควบคุมแถบสเปกตรัมเกือบทั้งหมดซึ่งบรอดแบนด์ 5จี ของพลเรือนจะต้องใช้ ส่วนพวกผู้ให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมของสหรัฐฯรายใหญ่ๆ ก็กำลังถอยห่างไม่อยากจะให้คำมั่นสัญญาอย่างเต็มปากเต็มคำในเรื่อง 5จี ที่ปรึกษาผู้นี้กล่าวต่อ

ในอีกด้านหนึ่ง ได้มีพัฒนาการที่แยกต่างหากออกไปบังเกิดขึ้นมา นั่นคือ รัฐมนตรีพาณิชย์ วิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross) บอกกับโทรทัศน์บลูมเบิร์ก (Bloomberg Television) เมื่อตอนเช้าวันอาทิตย์ (3 พ.ย.) ว่า ภายในเวลา “ที่สั้นมากๆ” สหรัฐฯจะออกไลเซนส์ซึ่งเปิดทางให้พวกบริษัทผู้ผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ สามารถขายส่วนประกอบต่างๆ ให้แก่หัวเว่ยและกิจการเทคของจีนรายอื่นๆ ได้ ตัวประธานาธิบดีทรัมป์นั้นได้พูดเอาไว้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมว่า เขาสามารถที่จะรื้อฟื้นหวนกลับไปอนุญาตให้ส่งออกเทค “ได้อย่างง่ายดาย” ภายในบริบทของการทำข้อตกลงการค้ากับจีน และได้แจ้งให้กระทรวงพาณิชย์เริ่มต้นการอนุมัติไลเซนส์ส่งออก ในระหว่างที่มีการประชุมหารือที่ทำเนียบขาวเมื่อต้นเดือนตุลาคม ทั้งนี้ตามรายงานของนิวยอร์กไทมส์ในเวลานั้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asiatimes.com/2019/11/article/5g-policy-biggest-strategic-disaster-in-us-history/licenses%20would%20be%20coming)

ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับโทรทัศน์บลูมเบิร์กคราวนี้ รัฐมนตรีพาณิชย์รอสส์ได้กล่าวทำนายว่าเฟสแรกของข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนอาจจะสามารถลงนามกันได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งก็เป็นการพูดคล้ายๆ กับพวกเจ้าหน้าที่คณะบริหารทรัมป์คนอื่นๆ

ดูเหมือนว่าคณะบริหารทรัมป์อาจจะพรักพร้อมแล้วที่จะตัดการขาดทุนของตนในยุทธศาสตร์ที่กำลังพ่ายแพ้ปราชัย หัวเว่ยนั้นได้ลงนามด้านเครื่องมืออุปกรณ์กับพวกผู้ให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมทุกๆ เจ้าบนมหาทวีปยูเรชียไปแล้ว ถึงแม้ฝ่ายอเมริกันจะออกมารณรงค์อย่างเอะอะเกรียวกราว ในการข่มขู่คุกคามจะตัดการแบ่งปันแลกเปลี่ยนด้านข่าวกรองกับพวกพันธมิตรรายที่นำเอาเครื่องมืออุปกรณ์หัวเว่ยเข้าไปติดตั้งในเครือข่ายเทเลคอมของพวกตน

ประเทศจีนได้ประกาศเปิดตัวเครือข่าย 5จีของตน ซึ่งจะเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อตอนสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา [1]

เป็นที่คาดหมายกันว่า หัวเว่ยจะขายสถานีฐานของระบบ 5จี ได้เป็นจำนวน 600,000 สถานีภายในสิ้นปี 2019 นี้ และเพิ่มเป็น 2 ล้านสถานีภายในสิ้นปี 2020 ทั้งนี้ตามการประมาณการของบริษัทเอง ถึงแม้อเมริกาได้ประกาศคว่ำบาตรห้ามจำหน่ายส่วนประกอบใดๆ ของอเมริกันให้แก่หัวเว่ยตลอดจนบริษัทจีนรายอื่นๆ อีก 28 แห่งก็ตามที

ในช่วงปีที่ผ่านมา หัวเว่ยยังได้เปิดตัวชิปเซตของตนเอง ซึ่งจะเป็นตัวให้พลังแก่สมาร์ตโฟนของบริษัท โดยที่จะมีศักยภาพทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ เอไอ) ตลอดจนชิปโปรเซสเซอร์ซึ่งมีความเร็วสูงอย่างยิ่ง ไม่เพียงเท่านั้น ในรอบครึ่งแรกของปี 2019 รายรับของหัวเว่ยเพิ่มสูงขึ้น 24% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยที่บริษัทยังขายสมาร์ตโฟนได้มากขึ้น 24% อีกด้วย ถึงแม้รัฐบาลสหรัฐฯประกาศปิดกั้นไม่ให้สมาร์ตโฟนของหัวเว่ยสามารถเข้าถึงพวกแอปพลิเคชั่นยอดนิยมของกูเกิลก็ตามที

สำหรับราคาหุ้นของพวกบริษัทเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯนั้น เพิ่มสูงขึ้นไปกว่า 11% นับจากวันที่ 9 ตุลาคม ถือเป็นภาคอุตสาหกรรมซึ่งทำผลงานได้ดีที่สุดของตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ โดยที่พวกนักลงทุนมองแง่ดีว่าวอชิงตันกับปักกิ่งจะสามารถแก้ไขคลี่คลายเรื่องห้ามส่งออกกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ พวกกิจการออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดเอเชียอย่างหนัก และเหล่าบริษัทไฮเทคสหรัฐฯก็พยายามล็อบบี้ทำเนียบขาวอย่างแข็งขันเพื่อให้ยินยอมอนุญาตให้พวกเขายังคงสามารถส่งออกไปยังจีนได้ต่อไป ทั้งนี้ส่วนประกอบเกือบทั้งหมดซึ่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จำหน่ายให้หัวเว่ยและกิจการจีนรายอื่นๆ เป็นสิ่งที่สามารถจัดซื้อจัดหาทดแทนได้จากญี่ปุ่น, ไต้หวัน, หรือเกาหลีใต้, หรือกระทั่งสามารถตั้งโรงงานผลิตขึ้นภายในจีนเอง

เมื่อเดือนมีนาคม 2018 สหรัฐฯได้สั่งห้ามบริษัทควอลคอมม์ (Qualcomm) ของอเมริกา ซัปพลายชิปที่ใช้ในการให้พลังแก่เครื่องโทรศัพท์มือถือซึ่งผลิตโดย แซดทีอี บริษัทอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมใหญ่อันดับ 2 ของจีน เพื่อตอบโต้แก้เผ็ดการที่ แซดทีอี ละเมิดมาตรการในเรื่องการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่าน ปรากฏว่าการเล่นงานของอเมริกาคราวนั้นแทบจะทำให้แซดทีอีต้องปิดกิจการไปเลยในทางเป็นจริง อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงสิ้นปี 2018 หัวเว่ยซึ่งเป็นคู่แข่งที่ใหญ่กว่ามากๆ ของแซดทีอี สามารถพัฒนาชิปเซต “คิริน” (Kirin) ที่มีความสามารถในการทำงานพอฟัดพอเหวี่ยงกับของควอลคอมม์

ถ้าหากประธานาธิบดีทรัมป์ถอยห่างออกมาจากการรณรงค์ต่อต้านหัวเว่ยในทั่วโลกซึ่งเป็นสิ่งที่พวกสำนักงานด้านข่าวกรองของสหรัฐฯผลักดันอย่างกระเหี้ยนกระหือรือ แล้วหันกลับมาโฟกัสที่การเร่งมือเพื่อให้ 5จี ของอเมริกาเองสามารถออกมาได้โดยเร็วแล้ว ลู่ทางโอกาสที่จะสามารถยุติสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนกันได้แต่เนิ่นๆ ก็จะสูงขึ้นเป็นอันมาก

จีนนั้นไม่ชอบที่ถูกอเมริกากดดันบีบคั้นเพื่อให้ลดการได้เปรียบดุลการค้าทวิภาคี แต่มีความยินดีที่จะซื้อผลิตผลการเกษตรและสินค้าพลังงานจากอเมริกาเพิ่มมากขึ้น เพื่อปลอบโยนประธานาธิบดีสหรัฐฯที่เป็นนักลัทธิกีดกันการค้าผู้นี้ อย่างไรก็ดี การที่ฝ่ายอเมริกันพยายามอุดปากบีบคอหัวเว่ยให้หายใจไม่ออก ถูกฝ่ายจีนมองว่านี่เป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการดำรงคงอยู่ของแดนมังกร กล่าวคือ ถ้าสหรัฐฯไม่สามารถยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าจีนได้แซงหน้าครองความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีสาขาสำคัญสาขาหนึ่งได้แล้ว นี่ย่อมหมายความว่าอเมริกาต้องการที่จะอุดปากบีบคอการพัฒนาของจีนให้ด่าวดิ้นสิ้นใจไป ในกรณีเช่นนี้ปักกิ่งก็พร้อมที่จจะนั่งขัดสมาธิสติตั้งมั่นพร้อมต่อสู้ในสงครามการค้ากันอย่างยืดเยื้อยาวนาน

จีนนั้นมีการโฟกัสนโยบายภายในประเทศของตนไปที่การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อชดเชยการตกต่ำทางด้านการส่งออกสืบเนื่องจากสงครามการค้า พวกนักลงทุนก็ได้ตอบสนองด้วยการดันราคาหุ้นของพวกบริษัทสินค้าผู้บริโภครายหลักๆ ของจีนให้สูงขึ้น จนกลายเป็นหมวดที่มีผลประกอบการสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับหมวดอื่นๆ ของดัชนีตลาดหุ้น เซินเจิ้น 300


การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนกำลังชะลอตัวลงสู่ระดับราวๆ 6% ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ถึงแม้ยังคงถือว่าเป็นระดับที่สูงที่สุดไม่ว่าจะเป็นประเทศใดในโลกก็ตามที เมื่อสิ้นเดือนตุลาคม ดัชนีไฉซินว่าด้วยกิจกรรมภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีน (Caixin index of Chinese manufacturing activity) แสดงให้เห็นการดีดตัวขึ้นมาอย่างน่าประหลาดใจ ถึงแม้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของรัฐบาลเองยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งหมายความว่ายังคงอยู่ในพื้นที่ติดลบ ทั้งนี้ ดัชนีของไฉซินมาจากการสำรวจซึ่งรวมเอาข้อมูลจากพวกบริษัทเอกชนเข้าไว้ด้วย


หมายเหตุผู้แปล

[1] เรื่องที่จีนประกาศเปิดตัวเครือข่าย 5จี เมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เอเชียไทมส์ได้เสนอเอาไว้ในข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่ง จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้



‘บิ๊กทรี’ของจีน เปิดยุค 5จี แดนมังกร
โดย เดฟ มาคิชุค

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

China’s ‘big three’ launch the 5G era
By Dave Makichuk
01/11/2019

3 บริษัทผู้ให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของจีน เปิดตัวระบบ 5 จีพร้อมๆ กัน ตามแผนการซึ่งรัฐบาลวางแผนตระเตรียม ด้วยเป้าหมายที่จะทำให้จีนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการให้บริการเครือข่ายใช้งาน 5จี ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวคราวนี้เท่ากับทำให้ความพยายามของสหรัฐฯที่จะสกัดกั้นขัดขวาง เป็นอันประสบความล้มเหลวอย่างชัดเจน

จีนเขี่ยลูกเริ่มต้นให้บริการเครือข่าย 5จีในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม ด้วยการที่บริษัทผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมรายยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 รายของประเทศ ต่างออกมาแถลงแผนการให้บริการด้านนี้ของพวกตน ทั้งนี้ตามรายงานของ ไชน่าเดลี่ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของทางการจีน

ความเคลื่อนไหวคราวนี้เป็นการประกาศว่า ในที่สุดแล้วผู้บริโภคในแดนมังกรก็จะสามารถชำระเงินแล้วได้เข้าถึงเครือข่ายการสื่อสารไร้สายอันรวดเร็วระดับซูเปอร์ฟาสต์ของระบบ 5 จี โดยที่มีการติดตั้งสถานีฐาน 5 จีในประเทศจีนจำนวนมากกว่า 86,000 สถานีรอให้บริการเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนั้น นี่ยังเป็นความเคลื่อนไหวซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความพยายามของสหรัฐฯที่จะขัดขวางสกัดกั้นความสำเร็จของจีนในเรื่องนี้ กลับกำลังส่งผลให้อเมริกาตกอยู่ในฐานะล้าหลังสำหรับการปฏิวัติฝ่าทะลุทะลวงทางเทคโนโลยี 5จี ซึ่งมีบางคนเปรียบเทียบว่ามีความสำคัญยิ่งในระดับเดียวกับนวัตกรรมของการประดิษฐ์สร้างเครื่องจักรไอน้ำและกระแสไฟฟ้าในยุคอดีตทีเดียว

เฉิน เจ้าสย์ง (Chen Zhaoxiong) รองรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (vice-minister of industry and information technology) ซึ่งเป็นผู้กำกับตรวจสอบอุตสาหกรรมด้านนี้ของแดนมังกร แถลงว่าจีนกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะขยายเครือข่าย 5จีให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก โดยภายในสิ้นปีนี้ สถานีฐาน 5 จีจำนวนรวมมากกว่า 130,000 สถานีจะสามารถให้บริการเพื่อสนับสนุนเครือข่ายเทคโนโลยีนี้ อันจะทำให้จีนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการให้บริการเครือข่าย 5จี ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก

รายงานข่าวของไชน่าเดลี่ระบุว่า นี่ยังเป็นครั้งแรกที่ ไชน่าโมไบล์ (China Mobile), ไชน่ายูนิคอม (China Unicom), และ ไชน่าเทเลคอม (China Telecom) 3 ผู้ให้บริการเทเลคอมระดับบิ๊กของจีน เลือกที่จะคิดราคาค่าธรรมเนียมด้วยการดูที่ความเร็วของอินเทอร์เน็ต แทนที่จะเป็นปริมาณข้อมูลที่อนุญาตให้รับ-ส่ง

ตัวอย่างเช่น ไชน่ายูนิคอมกำหนดราคาในแผนการของบริษัทว่าจะคิดราคา 199 หยวนสำหรับการอนุญาตให้ใช้ความเร็วอินเทอร์เน็ตสูงสุดที่ 500 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ความเร็วสูงสุดที่ระดับ 1 จิกะบิตต่อวินาที (Gbps) จะต้องจ่ายเงินอย่างน้อยที่สุด 299 หยวน

หลี่ว์ ติงเจีย (Lyu Tingjie) อาจารย์การสื่อสารโทรคมนาคมอยู่ที่ มหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมปักกิ่ง (Beijing University of Posts and Telecommunications) กล่าวว่า ถึงแม้ค่าธรรมเนียมเริ่มต้นสำหรับการใช้บริการข้อมูล 5จี จะสูงกว่าบริการ 4จี มาก แต่เมื่อคิดเป็นราคาต่อข้อมูลแต่ละจิกะไบต์แล้ว 5จีจะกลับมีราคาต่ำกว่า

ขณะที่ข้อมูลจากบัณฑิตยสภาทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจีน (China Academy of Information and Communications Technology) แสดงให้เห็นว่า มีการจัดส่งเครื่องโทรศัพท์สมาร์ตโฟนที่ใช้ระบบ 5จี เป็นจำนวนประมาณ 497,000 เครื่องกระจายไปในจีนแผ่นดินใหญ่แล้วในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา

สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานว่า บริการ 5จี เชิงพาณิชย์ในตอนนี้เปิดให้ใช้งานได้ในเมืองใหญ่ๆ ของแดนมังกรรวม 50 เมือง เป็นต้นว่า ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, กว่างโจว, และเซินเจิ้น โดยที่ในเซี่ยงไฮ้นั้น มีสถานีฐานระบบ 5จี จำนวนเกือบ 12,000 สถานีเปิดทำงานแล้ว เพื่อสนับสนุนให้ใช้เครือข่าย 5จี กันได้ทั่วทั้งพื้นที่กลางแจ้งสำคัญๆ ของมหานครแห่งนี้

ทางด้านผู้ให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 ก็ได้โปรโมตผลักดันให้มีการลงทะเบียนใช้บริการ 5 จีล่วงหน้า ด้วยวิธีให้ส่วนลดกันมากๆ และพากเพียรจนประสบความสำเร็จในการดึงดูดความสนใจโดยมีผู้สมัครเข้ามากว่า 10 ล้านคนแล้วภายหลังผ่านช่วงวันหยุดยาววันชาติจีน (1 ตุลาคม)

สำหรับหัวเว่ย ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นแบรนด์โทรศัพท์สมาร์ตโฟนชั้นนำแบรนด์หนึ่ง จึงทำให้บริษัทกำลังแสดงบทบาทสำคัญเช่นกัน ในการทำให้เครือข่าย 5จี ของจีนสามารถเริ่มต้นให้บริการในเชิงพาณิชย์ รายงานของโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นระบุ

ทั้งนี้ บริษัทซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองเซินเจิ้นแห่งนี้ มีการติดต่อกับทำธุรกิจอยู่กับ “บิ๊กทรี” ผู้ให้บริการด้านเทเลคอมรายใหญ่ของจีน โดยที่ ไชน่าโมไบล์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายรายใหญ่ที่สุดของแดนมังกรนั้น ได้เซ็นสัญญามอบหมายให้หัวเว่ยเป็นผู้รับเหมาจัดทำเครือข่าย 5 จีของตนเกือบๆ ครึ่งหนึ่งทีเดียว ทั้งนี้รายงานของไชน่าเดลี่ ระบุ สำหรับที่เหลือตกเป็นของพวกคู่แข่งอย่างเช่น อิริคสัน, โนเกีย, และ แซดทีอี

ในส่วนของสมาร์ตโฟนที่ใช้กับระบบ 5จี หัวเว่ยก็อยู่ในฐานะที่จะกลายเป็นผู้ครอบงำตลาด “เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นที่หัวเว่ยมีอยู่กับพวกบริษัทผู้ให้บริการ ทั้งในเรื่องของการจัดทำเครือข่าย 5จี และการควบคุมส่วนประกอบสำคัญๆ” ตามความเห็นของ นิโคล เผิง (Nicole Peng) นักวิเคราะห์ที่ทำงานอยู่กับบริษัทวิจัย คานาลิส (Canalys)

เผิงระบุในรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อวันพุธที่ 30 ตุลาคมว่า พวกผู้ผลิตสมาร์ตโฟนคู่แข่งขันในจีนด้วยกัน เป็นต้นว่า ออปโป, วีโว, และ เสี่ยวมี่ จะ “พบว่าเป็นเรื่องยากมากๆ ที่หาทางเจาะทะลุทะลวง”

ตามรายงานข่าวชิ้นหนึ่งในวอชิงตันโพสต์ หลักหมายทางเทคโนโลยี 5 จี ในประเทศจีนหลักหมายนี้ ถือเป็นการส่งข้อความอย่างชัดเจนไปถึงสหรัฐฯว่า แดนมังกรจะไม่มีทางยินยอมให้การพัฒนาทางอุตสาหกรรมของประเทศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาของซูเปอร์ยักษ์ด้านเทคอย่างหัวเว่ย) ถูกสกัดขัดขวาง

“พวกเขากำลังทำเรื่องนี้โดยถือว่าเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ในระดับชาติ มันเป็นส่วนหนึ่งของความสามารถของพรรค (คอมมิวนิสต์จีน) ในการแสดงให้เห็นว่าทางพรรคกำลังส่งของที่สัญญาเอาไว้ได้ตามกำหนด" พอล ทริโอโล (Paul Triolo) ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีธรณี (geotechnology) ของบริษัทที่ปรึกษา ยูเรเชียกรุ๊ป (Eurasia Group) กล่าว

“และในท่ามกลางข้อพิพาททางการค้าตลอดจนการปฏิบัติการต่างๆ เพื่อเล่นงานหัวเว่ยเช่นนี้ มันก็ยิ่งมีความสำหรับมากขึ้นไปอีกสำหรับจีนที่จะต้องแสดงให้เห็นว่า พวกเขายังคงกำลังเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องถึงแม้เผชิญกับความท้าทายทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้”

ระหว่าง 4จี กับ 5จี มีความแตกต่างกันอย่างไรในเรื่องความเร็ว นักวิเคราะห์หลายรายใช้วิธีเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า 4จีนั้นเหมือนกับเป็นกระดานสเก็ตบอร์ด ขณะที่ 5จีเหมือนกับเป็นเรือท่องอวกาศ ด้วยเหตุนี้จึงมีความได้เปรียบกว่าอย่างมหาศาลในการนำเอา 5จี มาประยุกต์ใช้งาน เป็นต้นว่า ในการเล่นวิดีโอเกม และในการให้บริการด้านสตรีมมิ่ง วอชิงตันโพสต์ยังรายงานด้วยว่า มีผู้สมัครใช้บริการแล้วมากกว่า 10 ล้านรายในแดนมังกร สืบเนื่องจากข้อเสนอแบบลดแหลกถ้าหากยื่นสมัครจดทะเบียนล่วงหน้า

“เทคโนโลยี 5จี นี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติที่กว้างไกลรอบด้าน และมันจะนำเอาความเปลี่ยนแปลงใหม่สดต่างๆ มาสู่สังคมทางเศรษฐกิจ” เค่อ รุยเหวิน (Ke Ruiwen) ประธานบริหารของไชน่าเทเลคอม กล่าวในพิธีเปิดตัวบริการ 5จี เมื่อวันพฤหัสบดี (31 ต.ค.)

ขณะที่บางประเทศอย่างเช่น เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, ตลอดจนพื้นที่บางส่วนของสหรัฐฯได้เริ่มต้นโครงการนำร่องด้าน 5จี กันไปแล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลจีนกระทำในคราวนี้ คือการเริ่มต้นผลักดันแผนการแบบรวมศูนย์เพื่อนำเอาเทคโนโลยีนี้ออกมาใช้งานเชิงพาณิชย์ และทำให้แดนมังกรกลายเป็นผู้นำหน้าอย่างไม่มีจุดอ่อนข้อบกพร่องให้โจมตีได้ ในการแข่งขันระดับโลกเพื่อติดตั้งเครือข่ายสื่อสารไร้สายระบบ 5จี รายงานของวอชิงตันโพสต์ระบุ

“การนำเอาเทคโนโลยี 5จี มาใช้งานในเชิงพาณิชย์เช่นนี้ คือมาตรการอันยิ่งใหญ่ประการหนึ่งในจุดมุ่งหมายทางยุทธศาสตร์ของ (ประธานาธิบดี) สี จิ้นผิง ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงจีนให้กลายเป็นมหาอำนาจทางไซเบอร์รายหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นหลักหมายอันสำคัญหลักหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อสารและสารสนเทศของประเทศจีน” หวัง เสี่ยวชู (Wang Xiaochu) ประธานบริหารของไชน่ายูนิคอม บอก

สี จิ้นผิง เพิ่งกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า โลกของเรากำลังอยู่ระหว่างการก้าวเข้าสู่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยที่จะเป็นการปฏิวัติซึ่งแสดงคุณลักษณะออกมาจากความก้าวหน้าในเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ บริษัทที่ปรึกษา ตริวิอุม ไชน่า (Trivium China) เขียนเอาไว้เช่นนี้ในรายงานการวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน “สีต้องการทำให้เป็นที่แน่ใจว่า จีนกำลังอยู่ตรงแถวหน้าสุดของการปฏิวัติใหม่คราวนี้ – การทำให้ 5จี ใช้งานได้ เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้จีนสามารถก้าวขาขึ้นนำในการแข่งขันนี้” พวกเขากล่าว

บทบรรณาธิการชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่อยู่ในโกลบอลไทมส์ แทบลอยด์ที่อยู่ในเครือของเหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์เดลี่) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์ เขียนเอาไว้ว่า ในเวลาเดียวกับที่จีนกำลังลงแรงเต็มที่ในการพัฒนา 5จี อยู่นั้น สหรัฐฯกลับกำลังวุ่นวายอยู่กับการหาทางกีดกันขัดขวางจีน “ภาวะความคิดจิตใจที่บิดเบี้ยวและอ่อนแอป่วยไข้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ... ประสบความล้มเหลวในการขัดขวางการพัฒนา 5จี ของประเทศจีน”

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ “สหรัฐฯ ซึ่งมัวสาละวนหลงใหลอยู่กับการปิดล้อมจีนราวกับเป็นโรคประสาทหวาดผวา” ทำให้ตนเองพลาดโอกาสที่จะช่วงชิงความเป็นผู้นำในการแข่งขัน 5จี ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องนี้ยังมีแต่จะนำไปสู่ช่วงห่างที่เพิ่มมากขึ้นไปอีกระหว่างจีนกับสหรัฐฯเท่านั้น บทบรรณาธิการนี้ระบุ

น่าสนใจมากว่า เพียง 1 วันก่อนหน้านั้น คณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เพิ่งเห็นชอบกับร่างกฎหมายเกี่ยวกับ 5จี รวม 2 ฉบับ ซึ่งถูกตีความว่าเป็นความพยายามอย่างอ่อนปวกเปียกที่จะรับมือกับอิทธิพลของจีนในเรื่องเครือข่าย 5จี

(ผู้แปลได้เพิ่มเติมข้อมูลซึ่งเก็บความจากรายงานเรื่อง China just launched the world's largest 5G network ของ ซีเอ็นเอ็น บิสซิเนส ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2019/11/01/tech/5g-china/index.html)
กำลังโหลดความคิดเห็น